ยกฟ้อง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 5 นักกิจกรรม-นักวิชาการ ร่วมชุมนุม “เปิดไฟให้ดาว” ใช้เสรีภาพตาม รธน.-ไม่พบการกระทำที่เสี่ยงแพร่โรค แต่ปรับคนละ 200 เหตุใช้เครื่องขยายเสียงฯ 

วันที่ 30 มี.ค. 2566 เวลา 10.00 น. ศาลแขวงปทุมวันนัดฟังคำพิพากษาคดีของนักกิจกรรมและนักวิชาการ จำนวน 5 ราย ซึ่งถูกดำเนินคดีในข้อหา ฝ่าฝืนข้อกําหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต จากการจัดและร่วมกิจกรรม “LightUp JUSTICE – เปิดไฟให้ดาว ส่องสว่างความยุติธรรม” เพื่อรณรงค์เรียกร้องให้ #ปล่อยเพื่อนเรา ที่สกายวอล์ค แยกปทุมวัน เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2564  

ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 5 ราย ได้แก่ พริม มณีโชติ นักกิจกรรมกลุ่ม Nitihub (จำเลยที่ 1), ผศ.ดร.ชลิตา บัณฑุวงศ์ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตัวแทนจากเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (จำเลยที่ 2), รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (จำเลยที่ 3), ณัฐพงษ์ ภูแก้ว สมาชิกวงสามัญชน (จำเลยที่ 4) และ “มายด์” ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล นักกิจกรรมกลุ่มราษฎร (จำเลยที่ 5) 

ทั้งนี้ กิจกรรม “เปิดไฟให้ดาว” ที่เป็นเหตุให้ผู้ต้องหาทั้งห้าถูกดำเนินคดีเป็นการจัดงานครั้งที่ 2 ซึ่งดำเนินการโดยกลุ่ม “People Go Network” มีวัตถุประสงค์เพื่อรณรงค์ให้มีการปล่อยผู้ชุมนุมที่ถูกคุมขัง และไม่ได้รับประกันตัวในขณะนั้น อาทิ พริษฐ์ ชิวารักษ์, ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์, อานนท์ นำภา, ชูเกียรติ แสงวงค์, ภาณุพงศ์ จาดนอก

ภายในงานมีกิจกรรมหลากหลาย อาทิ การปราศรัยจากนักวิชาการและนักกิจกรรมในประเด็นกฎหมายและความยุติธรรม การแสดงจากกลุ่มศิลปะปลดแอก การร้องเพลง เป็นต้น โดยไฮไลท์ของงานเป็นการร่วมเปิดแสงแฟลชจากโทรศัพท์ส่องให้กับโคมไฟกระดาษประดิษฐ์ที่มีรูปทรงดาว พร้อมกับร้องเพลง “แสงดาวแห่งศรัทธา” เพื่อแสดงความระลึกถึงผู้ต้องขังที่ยังไม่ได้สิทธิประกันตัวในขณะนั้น 

.

ย้อนอ่านบันทึกสืบพยาน >>> บันทึกสืบพยานก่อนพิพากษา นักกิจกรรม-นักวิชาการ 5 ราย ถูกฟ้อง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เหตุร่วมกิจกรรม “เปิดไฟให้ดาว” เรียกร้อง #ปล่อยเพื่อนเรา ที่สกายวอล์คปทุมวัน

.

ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 710 จำเลยทั้งห้าเดินทางมาฟังคำพิพากษา ต่อมา ปุญญิศา สุวัณณะสังข์ ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนออกนั่งพิจารณาคดี ก่อนอ่านคำพิพากษา มีใจความโดยสรุปดังนี้

เห็นว่า คดีนี้มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดกิจกรรมในลักษณะมั่วสุมประชุมกัน โดยไม่ได้รับอนุญาต และจำเลยทั้ง 5 คน ร่วมกันเข้าร่วมชุมนุมและทำกิจกรรมรวมกลุ่มร่วมกับประชาชนจำนวนมากกว่า 20 คนขึ้นไป โดยไม่เว้นระยะห่างทางสังคม มีลักษณะเป็นการมั่วสุมกันในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคหรือไม่

พยานโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ เบิกความฟังได้ว่า เพจ People Go Network ประกาศเชิญชวนให้เข้าร่วมชุมนุม จำเลยที่ 1 เป็นพิธีกร จำเลยที่ 2, 3 และ 5 ขึ้นพูดปราศรัยบนเวที จำเลยที่ 4 เล่นดนตรี ในที่ชุมนุมไม่มีจุดคัดกรองโรคโควิด-19 ผู้ชุมนุมเว้นระยะห่างระหว่างกันน้อยกว่า 1 เมตร เป็นการชุมนุมที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค

พยานนักวิชาการสุขาภิบาลเบิกความฟังได้ว่า ไม่มีการขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียง

ศาลเห็นว่า ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ฉบับที่ 15) ข้อ 3 ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ ในสถานที่แออัด หรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย มีวัตถุประสงค์เพื่อสกัดยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคที่รวดเร็วเด็ดขาด การพิจารณาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดหรือไม่ ต้องพิจารณาการกระทำของจำเลยทั้ง 5 เป็นสำคัญ การตีความกฎหมายที่มีโทษอาญาต้องตีความโดยเคร่งครัด

จำเลยทั้งห้าพูดปราศรัยตามหัวข้อปรากฏตามรายงานการสืบสวน อีกทั้งได้ความจากพยานโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า ไม่สามารถตรวจสอบว่าบุคคลใดเป็นเจ้าของเพจ people go network จึงไม่สามารถฟังว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการชุมนุม พยานหลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการชุมนุม จำเลยที่ 1 จึงไม่มีหน้าที่ต้องจัดมาตรการควบคุมโรค

พยานจำเลยเบิกความว่า การชุมนุมใช้เวลาไม่นาน ผู้ชุมนุมไม่ได้อยู่กันอย่างแออัดตลอดเวลา สกายวอล์ค แยกปทุมวัน เป็นพื้นที่เปิดโล่ง จำเลยทั้งห้าขณะขึ้นพูดปราศรัยเว้นระยะห่างจากผู้ชุมนุม และเบิกความว่ามีจุดคัดกรองโรคโควิด-19

การชุมนุมมีวัตถุประสงค์เพื่อวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของรัฐบาล เป็นการใช้เสรีภาพในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 44 ในการชุมนุมไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้น เมื่อพยานหลักฐานโจทก์ไม่ปรากฏว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยที่ 1 และจำเลยทั้งห้า

เมื่อประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม ที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ฉบับที่ 3 ออกโดยอาศัยอำนาจตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 (ฉบับที่ 15) ข้อ 3 เมื่อการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามข้อกำหนดดังกล่าว จึงไม่เป็นความผิดตามประกาศดังกล่าวด้วยเช่นกัน พิพากษายกฟ้อง

ในส่วนประเด็นใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยทั้งห้าร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ลงโทษปรับคนละ 200 บาท เนื่องจากศาลลงโทษปรับสถานเดียว จึงไม่สามารถนับโทษต่อจากคดีอื่นตามที่พนักงานอัยการร้องขอได้ คำขอส่วนนี้ให้ยก

หลังจากอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้น จำเลยทั้งห้าได้ชำระเงินค่าปรับคนละ 200 บาท ด้วยเงินส่วนตัว

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในคดีข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง ศาลต่างๆ ยังมีแนวโน้มจะมีคำพิพากษายกฟ้องเป็นส่วนใหญ่ หากนับรวมคำพิพากษาในคดีนี้แล้ว พบว่ามีคดีที่ศาลยกฟ้องหลังการต่อสู้คดีไปแล้ว ไม่น้อยกว่า 63 คดี แต่จำเลยในแต่ละคดีก็มีต้นทุนและภาระในการต่อสู้คดีเหล่านี้กว่าคดีจะถึงที่สุด ทั้งยังสร้างภาระในกระบวนการยุติธรรมให้กับภาครัฐเองในการดำเนินคดีกับการกระทำที่ไม่เป็นความผิดอีกแล้วในปัจจุบันหลังจากมีการยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

X