บันทึกสืบพยานก่อนพิพากษา นักกิจกรรม-นักวิชาการ 5 ราย ถูกฟ้อง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เหตุร่วมกิจกรรม “เปิดไฟให้ดาว” เรียกร้อง #ปล่อยเพื่อนเรา ที่สกายวอล์คปทุมวัน

วันที่ 30 มี.ค. 2566 เวลา 10.00 น. ศาลแขวงปทุมวันนัดฟังคำพิพากษาคดีของ นักกิจกรรม-นักวิชาการ จำนวน 5 ราย ซึ่งถูกดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนข้อกําหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และร่วมกันโฆษณาด้วยใช้เครื่องขยายเสียงฯ จากการจัดและร่วมกิจกรรม “LightUp JUSTICE – เปิดไฟให้ดาว ส่องสว่างความยุติธรรม”  เพื่อรณรงค์เรียกร้องให้ #ปล่อยเพื่อนเรา ที่สกายวอล์ค แยกปทุมวัน เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2564 

ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 5 ราย ได้แก่ พริม มณีโชติ นักกิจกรรมกลุ่ม Nitihub (จำเลยที่ 1), ผศ.ดร.ชลิตา บัณฑุวงศ์ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตัวแทนจากเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (จำเลยที่ 2), รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (จำเลยที่ 3), ณัฐพงษ์ ภูแก้ว สมาชิกวงสามัญชน (จำเลยที่ 4) และ “มายด์” ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล นักกิจกรรมกลุ่มราษฎร (จำเลยที่ 5) 

ทั้งนี้ กิจกรรม “เปิดไฟให้ดาว” ที่เป็นเหตุให้ผู้ต้องหาทั้ง 5 ถูกดำเนินคดีเป็นการจัดงานครั้งที่ 2 ซึ่งดำเนินการโดยกลุ่ม “People Go Network” มีวัตถุประสงค์เพื่อรณรงค์ให้มีการปล่อยผู้ชุมนุมที่ถูกคุมขัง และไม่ได้รับประกันตัวในขณะนั้น อาทิ พริษฐ์ ชิวารักษ์, ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์, อานนท์ นำภา, ชูเกียรติ แสงวงค์, ภาณุพงศ์ จาดนอก 

ภายในงานมีกิจกรรมหลากหลาย อาทิ การปราศรัยจากนักวิชาการและนักกิจกรรมในประเด็นกฎหมายและความยุติธรรม การแสดงจากกลุ่มศิลปะปลดแอก การร้องเพลง เป็นต้น โดยไฮไลท์ของงานเป็นการร่วมเปิดแสงแฟลชจากโทรศัพท์ส่องให้กับโคมไฟกระดาษประดิษฐ์ที่มีรูปทรงดาว พร้อมกับร้องเพลง “แสงดาวแห่งศรัทธา” เพื่อแสดงความระลึกถึงผู้ต้องขังที่ยังไม่ได้สิทธิประกันตัวในขณะนั้น 

ย้อนไปเมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2564 ที่ สน.ปทุมวัน นักกิจกรรม-นักวิชาการ ทั้ง 5 ราย ได้เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก มี พ.ต.ท.สมพร อุทัยวรรณ์ สารวัตร (สอบสวน) สน.ปทุมวัน เป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหาและพฤติการณ์ในคดี โดยระบุว่า ผู้ต้องหาแต่ละคนมีพฤติการณ์แตกต่างกันไป ดังนี้ พริม ทําหน้าที่พิธีกร, ณัฐพงษ์ทำการแสดงดนตรี และอีกสามรายได้ขึ้นพูดปราศรัย ได้แก่ ชลิตา, ยุกติ และภัสราวลี

ต่อมาในวันที่ 10 พ.ค. 2565 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 6 สำนักงานอัยการสูงสุด ได้สั่งฟ้องคดีใน 2 ข้อหา ได้แก่ ข้อหาฝ่าฝืนข้อกําหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และร่วมกันโฆษณาด้วยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ

ในชั้นสอบสวนและชั้นศาล นักวิชาการและนักกิจกรรมทั้งห้าได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา 

.

ภาพรวมการต่อสู้คดีและสืบพยาน

คดีนี้ มีการสืบพยานโจทก์ในวันที่ 10-11 พ.ย. 2565 และสืบพยานจำเลยในวันที่ 1, 13 ก.พ. 2566 ที่ผ่านมา 

มีพยานโจทก์เข้าเบิกความทั้งหมดรวม 6 ปาก ได้แก่ เจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวน 2 ปาก, เจ้าหน้าที่เทศกิจ, เจ้าหน้าที่สิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล, พนักงานสอบสวน และผู้ได้รับมอบหมายจากผู้อํานวยการสํานักงานเขตปทุมวันให้มาเบิกความแทน ในขณะที่ฝ่ายจำเลยนำพยานเข้าเบิกความ 7 ปาก ได้แก่ จำเลยทั้ง 5 คน อ้างตนเป็นพยาน, ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ประจักษ์พยาน และอาจารย์ ดร.พัชร์ นิยมศิลป พยานผู้เชี่ยวชาญ

จำเลยทั้ง 5 คน ถูกกล่าวหาว่าได้ร่วมกันเข้าร่วมชุมนุมและทำกิจกรรมรวมกลุ่ม ร่วมกับประชาชนจำนวนมากกว่า 20 คนขึ้นไป เข้าร่วมทำกิจกรรมโดยไม่มีการเว้นระยะห่างทางสังคมระหว่างผู้เข้าร่วมกิจกรรม มีลักษณะเป็นการมั่วสุมกันในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค แต่จากคำเบิกความของพยานโจทก์พบว่า สกายวอล์คเป็นสถานที่เปิดโล่ง มีพยานหลักฐานว่าจำเลยทั้ง 5 ไม่สวมใส่หน้ากากอนามัยแค่ในขณะขึ้นพูดปราศรัยและเล่นดนตรีบนเวที ซึ่งเวทีมีการเว้นระยะห่างจากผู้ชุมนุม และการชุมนุมเป็นไปโดยสงบ ไม่มีความวุ่นวายเกิดขึ้น

จำเลยที่ 1 ถูกกล่าวหาเพิ่มเติมว่าเป็นผู้จัดกิจกรรมในลักษณะมั่วสุมประชุมกัน นำข้อมูลเชิญชวนให้ประชาชนมาร่วมชุมนุมเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ และเชิญชวนให้ประชาชนผู้สัญจรเข้าร่วมกิจกรรม โดยไม่ได้รับอนุญาต แต่พยานโจทก์เบิกความในทำนองเดียวกันว่า ยืนยันไม่ได้ว่าจําเลยที่ 1 เป็นผู้โพสต์ข้อความในเพจ People Go Network หรือไม่ ไม่ทราบว่าผู้ใดเป็นเจ้าของเพจดังกล่าว และไม่ทราบว่าภาคีนิรนามมีความเกี่ยวข้องกับเพจหรือไม่อย่างไร 

.

.

พนักงานสืบสวนผู้กล่าวหาระบุผู้ชุมนุมยืนกระจุกตัวหน้าเวทีปราศรัย ไม่เว้นระยะห่าง เสี่ยงต่อการแพร่โรค

พ.ต.ท.นพดล สินศิริ พนักงานสืบสวนและผู้กล่าวหาในคดีนี้ เบิกความว่า เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2564 เวลา 16.00 น. เศษ ตรวจพบจากสื่อสังคมออนไลน์เพจ People Go Network ซึ่งตั้งค่าเป็นสาธารณะ เชิญชวนให้ประชาชนมาร่วมชุมนุมที่สกายวอล์กแยกปทุมวันในวันเดียวกัน เวลา 18.00 น. ในการชุมนุมมีกิจกรรมตีกลองและการปราศรัย มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งกําลังใจให้กับผู้ต้องขังทางการเมืองและพูดถึงปัญหาของสังคมไทยกับกระบวนการยุติธรรม

เมื่อพยานทราบว่ามีการชุมนุม จึงได้ไปลงบันทึกประจําในเวลา 16.55 น. และแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาทราบ ต่อมาพยานได้นําเจ้าหน้าที่ตํารวจรวม 5 นาย ลงไปในพื้นที่ชุมนุมโดยแต่งกายนอกเครื่องแบบ ปฏิบัติหน้าที่แฝงตัวสืบสวนหาข่าว 

พยานเบิกความว่า ตนเองได้สอบถามสํานักงานเขตแล้วทราบว่าการชุมนุมครั้งนี้ไม่มีการขออนุญาตจัดการชุมนุมและขอใช้เครื่องขยายเสียง รวมถึงไม่มีการขอกําลังเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมาร่วมคัดกรองโควิด-19

พยานเบิกความว่า ในช่วงก่อนเวลา 18.00 น. ผู้ชุมนุมมีจํานวนประมาณ 60 คนเศษ พยานไม่พบเห็นการแจกเอลกอฮอล์และจุดคัดกรองโควิด-19 ต่อมาในช่วงเวลา 18.00 น. มีแกนนําการชุมนุมเริ่มเข้ามาในพื้นที่ชุมนุม พยานจําชื่อได้เพียงแต่ พริม มณีโชติ หรือจําเลยที่ 1 

หลังเวลา 18.00 น. ผู้กํากับ สน.ปทุมวัน ได้แจ้งข้อกฎหมายเกี่ยวกับการชุมนุมแก่ผู้ชุมนุมและขอให้ยุติการชุมนุม แต่ผู้ชุมนุมไม่ยอมเลิกและยังคงดําเนินการชุมนุมต่อไป 

ต่อมาเวลา 18.05 น. จําเลยที่ 1 ได้ขึ้นทําหน้าที่พิธีกร มีการแสดงการตีกลองโดยกลุ่มราษดรัม ต่อมามีจําเลยที่ 2 ขึ้นปราศรัยในเรื่องการบังคับให้สูญหายโดยเจ้าหน้าที่รัฐ 

ต่อมายังมี ยิ่งชีพ จาก iLaw และจําเลยที่ 3 ขึ้นปราศรัย ในช่วงเวลาดังกล่าวมีผู้ชุมนุมประมาณ 100 คนเศษ

จนเวลา 19.00 น. มีการแสดงดนตรีโดยจําเลยที่ 4 จากวงสามัญชน เพื่อปลุกเร้าผู้ชุมนุมให้รวมตัวกัน ผู้ชุมนุมยืดเบียดชิดไหล่กัน บางคนไม่สวมใส่หน้ากากอนามัย 

หลังเล่นดนตรีเสร็จ ในเวลาประมาณ 19.00 น. จําเลยที่ 1 เชิญจําเลยที่ 5 ขึ้นมาปราศรัยในหัวข้อเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ขณะนั้นผู้ชุมนุมมีจํานวนประมาณ 130 คนเศษ 

ต่อมามีกิจกรรมการอ่านบทกวีประกอบการแสดง และกิจกรรมส่องแสงไฟจากโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยส่องไปทางศาลอาญาเพื่อให้กําลังใจพริษฐ์และแกนนําคนอื่น 

พยานเบิกความต่อไปว่า เวลา 19.50 น. จําเลยที่ 1 ได้ประกาศยุติการชุมนุม การชุมนุมใช้เวลารวมราว 2 ชั่วโมง ขณะประกาศยุติการชุมนุม มีผู้ชุมนุมจํานวนประมาณ 120 คน ซึ่งไม่มีการเว้นระยะห่าง โดยยืนชิดใกล้กว่า 1 เมตร อันเป็นการเสี่ยงต่อการแพร่โรค 

ในทางสืบสวน พยานทราบว่ากลุ่ม “ภาคีนิรนาม” เป็นเสมือนกลุ่มที่คอยจัดหาเครื่องมือ อุปกรณ์ และสถานที่ให้กับผู้ที่ต้องการจัดการชุมนุม โดยมีชาติชาย แกดํา เป็นสมาชิก แต่ยังไม่ทราบถึงโครงสร้างองค์กรทั้งหมด 

ทนายความถามค้าน

พยานเบิกความตอบว่า ตนทราบว่าสกายวอล์กเป็นพื้นที่โล่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก และเป็นพื้นที่ให้ประชาชนใช้สัญจรไปมา

พยานเบิกความว่า ขณะจัดเตรียมอุปกรณ์และสถานที่ในช่วงก่อนเวลาชุมนุม พยานไม่เห็นจําเลยที่ 1 อยู่ในสถานที่ดังกล่าวด้วย และไม่ทราบว่าผู้ที่มาจัดเตรียมอุปกรณ์และสถานที่เป็นบุคคลใด

พยานรับว่าไม่สามารถยืนยันได้ว่าเพจ People Go Network เป็นผู้จัดให้มีการชุมนุมหรือไม่ เพียงแต่เพจดังกล่าวได้ประกาศเชิญชวนให้ประชาชนเข้าร่วมการชุมนุม รวมทั้งพยานไม่สามารถยืนยันได้ว่าแท้จริงแล้วใครเป็นผู้จัดการชุมนุมครั้งนี้

พยานเบิกความว่า ตนเคยพยายามตรวจสอบเพจ People Go Network ว่าเป็นของผู้ใดแล้ว แต่ไม่สามารถตรวจสอบใด เนื่องจากบริษัทของเฟซบุ๊กตั้งอยู่ในต่างประเทศ 

พยานเบิกความยืนยันว่า ผู้กํากับ สน.ปทุมวัน ไม่ได้เจรจากับผู้ชุมนุมเมื่อมีการประกาศให้เลิกการชุมนุมแล้ว และขณะผู้กํากับลงพื้นที่ ไม่มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขร่วมประเมินเหตุการณ์ด้วย

พยานเบิกความว่า ไม่เห็นเจ้าหน้าที่ตํารวจนําแผงเหล็กมากั้นพื้นที่ชุมนุม ทนายความจึงให้พยานดูภาพแผงเหล็กกั้นและถามว่าเคยเห็นหรือไม่ พยานตอบว่า ไม่แน่ใจว่าแผงเหล็กดังกล่าวเป็นของใคร อาจจะเป็นของเจ้าของพื้นที่ส่วนบุคคลที่อยู่รอบข้างพื้นที่ชุมนุม

ทนายความให้พยานดูภาพจําเลยที่ 1, 2 และ 3 ในรายงานการสืบสวน แล้วถามว่า ขณะดําเนินการทําหน้าที่พิธีกรและผู้ปราศรัย ทั้งหมดสวมใส่หน้ากากเฟสชีลด์ใช่หรือไม่ พยานดูแล้ว ตอบว่า ใช่

ทนายความให้พยานดูภาพจําเลยที่ 5 ในรายงานการสืบสวน แล้วถามว่า จําเลยที่ 5 สวมใส่หน้ากากอนามัยขณะยืนอยู่ด้านหลังจําเลยที่ 1 ใช่หรือไม่ พยานดูแล้ว ตอบว่า ใช่

ทนายความถามพยานว่า ที่พยานเบิกความว่าผู้ชุมนุมบางส่วนไม่สวมใส่หน้ากากอนามัย ไม่ได้หมายถึงจําเลยทั้ง 5 ใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ใช่

พยานเบิกความรับว่า เหตุการณ์การชุมนุมเป็นไปโดยสงบ ไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้น ส่วนสาเหตุที่รายงานการสืบสวนระบุจํานวนผู้ชุมนุม จํานวน 122 คน แตกต่างกับบันทึกประจําที่ระบุจํานวนผู้ชุมนุมว่ามีประมาณ 150 คน เป็นเพราะมีการประมาณการ ซึ่งบางครั้งอาจรวมถึงคนทั่วไปที่เดินผ่านไปมาและสื่อมวลชนที่มาทําข่าว

พยานเบิกความว่า ตนไม่ทราบว่าผู้ใดเป็นเจ้าของเครื่องเสียงที่ใช้ในการชุมนุม และพยานไม่ใช่ผู้ที่จัดทําหนังสือสอบถามถึงสํานักงานเขตเกี่ยวกับการขอใช้เครื่องขยายเสียงของเพจ People Go Network แต่พนักงานสอบสวนเป็นผู้จัดทํา

พยานทราบว่า ตั้งแต่การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี 2563 สํานักงานตํารวจแห่งชาติ ไม่ได้มีแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการชุมนุมในช่วงโควิด-19 แต่สให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับของรัฐบาล ซึ่งขณะเกิดเหตุ ไม่ว่าผู้ใดก็ไม่สามารถขออนุญาตจัดการชุมนุมได้ เนื่องจากขณะนั้น พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผลใช้บังคับ อันส่งผลให้ไม่บังคับใช้ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ

พยานทราบว่า เสรีภาพในการชุมนุมได้ถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 44

พยานทราบว่าตามข้อกําหนดฯ ฉบับที่ 22 ข้อ 1 วรรคสอง หากพบประชาชนไม่สวมใส่หน้ากากอนามัย จะต้องทําการตักเตือน แต่ในคดีนี้ ผู้กํากับ สน.ปทุมวัน ไม่ได้เข้าไปทําการตักเตือนผู้ชุมนุม เพราะเกรงว่าจะเป็นการยั่วยุผู้ชุมนุม

พยานทราบว่าไม่มีการขออนุญาตจัดการชุมนุม เพราะพยานตรวจสอบกับเจ้าหน้าที่รับจดแจ้งที่ สน.ปทุมวัน 

พนักงานอัยการถามติง

พยานเบิกความตอบพนักงานอัยการว่า แม้พื้นที่สกายวอล์ก จะเป็นพื้นที่โล่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก แต่หากคํานวณโดยให้บุคคลยืนห่างกัน 1 เมตร สกายวอล์กจะรองรับคนได้ประมาณ 300 คน ในวันเกิดเหตุผู้ชุมนุมรวมกับสื่อมวลชนมีประมาณ 150 คน แต่ผู้ชุมนุมไม่ได้ยืนกระจาย แต่ยืนกระจุกตัว บริเวณหน้าเวทีปราศรัย

พยานเบิกความรับว่า จําเลยทั้ง 5 และแกนนําคนอื่นทยอยเดินทางเข้าพื้นที่ชุมนุมภายหลัง สน.ปทุมวัน แจ้งข้อกฎหมายแก่ผู้ชุมนุม โดยตนไม่ทราบว่าทั้ง 5 เกี่ยวข้องกับเพจ People Go Network อย่างไร ทราบแต่เพียงว่าจำเลยทั้ง 5 มาในพื้นที่การชุมนุมตามประกาศดังกล่าว และใช้เครื่องขยายเสียงโดยพูดผ่านไมค์และส่งออกไปที่ลําโพง

พนักงานอัยการให้พยานดูภาพในรายงานการสืบสวน แล้วถามว่า ตามภาพ จําเลยที่ 4 ไม่ได้สวมใส่หน้ากากอนามัยใช่หรือไม่ พยานดูแล้ว ตอบว่า ใช่

พยานเบิกความยืนยันว่า ขณะเกิดเหตุ มีประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง ให้ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าทุกครั้งตลอดเวลาที่ออกนอกเคหสถาน หรือสถานที่พํานัก กําหนดให้ผู้ที่ไม่สวมใส่หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยอย่างถูกต้องหรือถูกวิธีทุกครั้งที่ออกนอกเคหสถาน หรือสถานที่พํานัก ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท ส่วนสาเหตุที่ยังไม่มีการดําเนินคดีกับบุคคลอื่นนอกจากจําเลยทั้ง 5 คน เพราะยังไม่สามารระบุทราบตัวบุคคลได้  และพยานยืนยันว่าไม่มีอคติและการเลือกปฏิบัติต่อจําเลยทั้ง 5 คน

.

ภาพถ่ายกิจกรรมโดย Tawan Pongphat

.

เจ้าหน้าที่เทศกิจระบุช่วงที่ผู้ชุมนุมสูงสุดมีประมาณ 100 คน บางคนไม่สวมใส่หน้ากากอนามัย ไม่มีการเว้นระยะห่าง ซึ่งเสี่ยงต่อการแพร่โรคโควิด-19

ชูเกียรติ ชมกลิ่น เจ้าหน้าที่เทศกิจปฏิบัติการชำนาญการ สํานักงานเขตปทุมวัน เบิกความว่า ตนมีอำนาจหน้าที่บังคับตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยในวันที่ 10 พ.ค. 2564 เวลา 18.00 น. สน.ปทุมวันมีหนังสือถึงสํานักงานเขตปทุมวัน ขอให้จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจลงพื้นที่สังเกตการณ์การชุมนุม ณ บริเวณสกายวอล์ก แยกปทุมวัน พยานและเจ้าหน้าที่อื่นรวม 5 นาย จึงได้ไปสังเกตการณ์การชุมนุม

พยานเบิกความว่า พื้นที่แยกใต้สกายวอล์กปทุมวัน อยู่ในความรับผิดชอบของสํานักงานเขตปทุมวัน แต่พื้นที่ด้านบนเป็นของรถไฟฟ้าบีทีเอส พยานไปถึงที่เกิดเหตุในเวลาประมาณ 17.30 น. แต่เมื่อไปถึง พบผู้ชุมนุมจํานวนไม่เกิน 50 คนและยังไม่มีแกนนํา แต่มีการนําเครื่องเสียงเข้ามาติดตั้งในพื้นที่ พยานตรวจสอบแล้วพบว่าไม่มีการขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงต่อสํานักงานเขต 

พยานเบิกความว่า ตนอยู่บนสกายวอล์ก ห่างจากผู้ชุมนุมประมาณ 10 เมตร โดยเป็นการกระจายกําลังเจ้าหน้าที่สังเกตการณ์โดยรอบพื้นที่ชุมนุม พยานจําไม่ได้ว่ามีผู้ใดขึ้นปราศรัยบ้าง ตนอยู่ในพื้นที่ชุมนุมจนถึงช่วงเวลาทุ่มกว่า แต่การชุมนุมยุติลงในเวลาประมาณ 20.00 น. 

พยานเบิกความต่อไปว่า ช่วงที่ผู้ชุมนุมสูงสุดมีจํานวนประมาณ 100 คน ในการชุมนุมบางคนไม่สวมใส่หน้ากากอนามัย ไม่มีการเว้นระยะห่าง ในช่วงแรกยังไม่มีความอึดอัด แต่เมื่อผู้ชุมนุมมีจํานวนมากขึ้นจึงเริ่มแออัด ซึ่งเห็นว่าเสี่ยงต่อการแพร่โรคโควิด-19

พยานเห็นการชี้แจงข้อกฎหมายการชุมนุมแก่ผู้ชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตํารวจ สน.ปทุมวัน แต่ผู้ชุมนุมไม่เลิกการชุมนุม แต่รับว่าการชุมนุมเป็นไปโดยสงบ ไม่มีความวุ่นวายรุนแรง 

ทนายความถามค้าน

พยานเบิกความตอบทนายความว่า นอกจากการสังเกตการณ์แล้ว พยานยังมีหน้าที่ดูแลความเรียบร้อยและรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ

พยานรับว่า สกายวอล์กเป็นพื้นที่เปิดโล่ง ในการชุมนุมไม่มีการจัดแสดงงานศิลปะ แต่มีการจัดแสดงที่บริเวณหอศิลป์ฯ ด้านล่าง โดยในพื้นที่สกายวอล์กมักถูกใช้เป็นพื้นที่ชุมนุมทางการเมืองเป็นปกตินับตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา

พยานยืนยันว่า ผู้มีหน้าที่ต้องขออนุญาตจัดการชุมนุมต่อสํานักงานเขต คือ ผู้จัดการชุมนุม รวมถึงการขอใช้อนุญาตเครื่องขยายเสียงด้วย

พยานเป็นเจ้าหน้าที่ควบคุมโรค ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ด้วย แต่ไม่มีอํานาจอนุญาตให้บุคคลใดใช้เครื่องขยายเสียง 

ทนายความให้พยานดูภาพแผงเหล็กกั้นและถามว่าทราบหรือไม่ว่าแผงเหล็กกั้นเป็นของใคร พยานตอบว่า ถ้าเป็นแผงเหล็กกั้นสีขาวแดงจะเป็นของ สน.ปทุมวัน แต่ถ้าเป็นสีเหลืองจะเป็นของสํานักงานเขต ซึ่งในภาพเป็นสีขาวแดง

พยานเบิกความว่า ตนจําไม่ได้ว่าในที่ชุมนุมมีจุดคัดกรองโควิด-19 และจุดแจกเจลแอลกอฮอล์หรือไม่ และยอมรับว่า ผู้ปราศรัยยืนห่างจากผู้ชุมนุม ในระยะประมาณหนึ่ง

พนักงานอัยการถามติง

พยานเบิกความว่า “ระยะประมาณหนึ่ง” ที่ตอบทนายความ คือระยะประมาณสองเมตร แต่ผู้ชุมนุมยืนห่างจากผู้ชุมนุมด้วยกันไม่เกิน 1 เมตร

พยานเบิกความว่า จําไม่ได้ว่าขณะนั้นเห็นจุดคัดกรองโควิด-19 และจุดแจกเจลแอลกอฮอล์หรือไม่ แต่ถ้าดูตามภาพในรายงานการสืบสวน พยานไม่เห็น

พยานเบิกความว่า ตนได้ตรวจสอบก่อนการลงสังเกตการณ์การชุมนุมแล้วว่าไม่มีการขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงต่อฝ่ายสิ่งแวดล้อมฯ เช่นเดียวกับการขออนุญาตจัดการชุมนุม 

.

เจ้าหน้าที่สิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาลเห็นว่าการชุมนุมมีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคโควิด-19 เพราะไม่มีการเว้นระยะห่าง ไม่มีการแจกเจลแอลกฮอล์ และไม่มีจุดคัดกรองโควิด-19 

ภูมิพัฒน์ ผิวเหลือง เจ้าหน้าที่สิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล ตําแหน่งนักวิชาการสุขาภิบาล สํานักงานเขตปทุมวัน เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุ สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 มีความรุนแรง มีผู้ติดเชื้อจํานวนมากและมีผู้เสียชีวิต นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกําหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกําหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ฉบับที่ 15 และ ฉบับที่ 22 และมี ประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว ฉบับที่ 25 กําหนดให้ปิดสถานที่บางประเภทในพื้นที่กรุงเทพฯ เช่น สถานศึกษา สถานกวดวิชา และห้ามจัดกิจกรรมที่มีผู้เข้าร่วมเกินกว่า 20 คนในพื้นที่ดังกล่าว เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากสํานักงานเขต 

พยานเบิกความต่อไปว่า นอกจากนั้นยังมีประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง ให้ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าทุกครั้งตลอดเวลาที่ออกนอกเคหสถาน หรือสถานที่พํานัก และกําหนดให้ผู้ที่ไม่สวมใส่หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยอย่างถูกต้องหรือถูกวิธีทุกครั้งที่ออกนอกเคหสถาน หรือสถานที่พํานัก ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท ใช้บังคับอีกด้วย

พยานเบิกความว่า ได้รับการประสานงานจาก สน.ปทุมวัน เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2564 เวลา 13.00 น. ขอความร่วมมือให้เจ้าหน้าที่จากสํานักงานเขตไปสังเกตการณ์การชุมนุม ซึ่งผู้บังคับบัญชาได้มอบหมายให้พยานไปปฏิบัติหน้าที่ โดยลงพื้นที่ในเวลาเกือบ 18.00 น. ยืนห่างจากผู้ชุมนุมเยื้องมาทางห้างสรรพสินค้ามาบุญครอง ระยะประมาณ 40 เมตร 

พยานเบิกความว่า ตนเห็นเจ้าหน้าที่ตํารวจแจ้งข้อกฎหมายการชุมนุมแก่ผู้ชุมนุม ภายหลังการแจ้ง ผู้ชุมนุมไม่ได้โต้แย้งแต่ยังจัดการชุมนุมต่อไป 

พยานเบิกความว่า ก่อนเริ่มการชุมนุม พยานพบเห็นการจัดเตรียมเครื่องขยายเสียง แต่ไม่ทราบว่าเป็นของผู้ใดและใครเป็นคนนํามา และจําไม่ได้ว่า จําเลยทั้ง 5 คน ได้ใช้เครื่องขยายเสียงหรือไม่ แต่พยานตรวจสอบแล้วว่า ไม่มีการขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงต่อสํานักงานเขต 

พยานออกจากพื้นที่ชุมนุมในเวลา 18.40 น. ขณะนั้นผู้ชุมนุมมีจํานวนประมาณ 80-100 คน ผู้ชุมนุมยืนห่างจากผู้ปราศรัยประมาณ 2 เมตร แต่ระหว่างผู้ชุมนุมด้วยกันนั้น ผู้ชุมนุมนั่งติดกัน รวมกลุ่ม ไม่เว้นระยะห่าง และบางคนไม่สวมใส่หน้ากากอนามัย

พยานไม่ทราบวัตถุประสงค์ของการชุมนุมครั้งนี้ แต่เห็นว่ามีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคโควิด-19 เพราะไม่มีการเว้นระยะห่าง ไม่มีการแจกเจลแอลกฮอล์ และไม่มีจุดคัดกรองโควิด-19 สําหรับผู้เข้าร่วม แต่รับว่า การชุมนุมเป็นไปโดยสงบ ไม่มีความวุ่นวาย

ทนายความถามค้าน

พยานเบิกความรับว่า สกายวอล์กเป็นพื้นที่เปิดโล่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก และขณะเกิดเหตุมีจํานวนผู้ชุมนุมประมาณ 80-100 คน

พยานทราบว่า ผู้ที่มีหน้าที่ขออนุญาตจัดการชุมนุมและจัดทําแผนดําเนินกิจกรรมต่อสํานักงานเขต เป็นผู้มีหน้าที่จัดการชุมนุม ซึ่งประชาชนทั่วไปที่เข้าร่วมกิจกรรมไม่จําเป็นต้องขออนุญาต สามารถเข้าร่วมได้ทันที เช่นเดียวกับกรณีการขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียง

พยานเบิกความว่า ตนไม่ทราบว่าสํานักงานเขตปทุมวันมีหนังสือให้ดําเนินมาตรการแก่ผู้ชุมนุมที่ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หรือไม่ ภายหลังการชุมนุมพยานได้ให้การต่อพนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน

พยานเบิกความว่า การจัดแผนดําเนินกิจกรรมที่ต้องเสนอต่อสํานักงานเขต หมายถึง รายละเอียดการจัดกิจกรรมและมาตรการป้องกันโควิด-19 โดยต้องจัดทําเป็นหนังสือเสนอต่อสํานักงานเขต โดยในแผนต้องระบุการตั้งจุดคัดกรองโควิด-19 และจุดแจกเจลแอลกอฮอล์

พนักงานอัยการถามติง

พยานเบิกความว่า ตนลงพื้นที่ชุมนุมในช่วงเวลา 17.00-18.00 น. ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนการชุมนุม ขณะนั้นพยานไม่พบเห็นจุดคัดกรองโควิด-19 และจุดบริการเจลแอลกอฮอล์

.

พนักงานสืบสวนระบุภายหลังลงจากเวทีเมื่อปราศรัยเสร็จแล้ว ไม่ทราบว่าจําเลยจะสวมใส่หน้ากากอนามัยหรือไม่ 

ส.ต.อ.วิชัย ประมวล พนักงานสืบสวน ตําแหน่งผู้บังคับหมู่ (สืบสวน) สน.ปทุมวัน เบิกความว่า ในคดีนี้ พยานได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้ตรวจสอบสื่อสังคมออนไลน์และลงพื้นที่ตรวจสอบที่เกิดเหตุ 

พยานทราบว่าจะมีการชุมนุมจากสื่อสังคมออนไลน์ในวันที่ 10 พ.ค. 2564 เวลาประมาณ 12.00-13.00 น. เพจ People Go Network ซึ่งตั้งค่าเป็นสาธารณะ เชิญชวนให้ประชาชนมาร่วมการชุมนุม โดยมีวัตถุประสงค์คือเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาที่ถูกควบคุมตัว โดยมีชื่อกิจกรรมชุมนุมว่า “เปิดไฟให้ดาว” ที่สกายวอล์ก แยกปทุมวัน

พยานไปถึงที่เกิดเหตุในเวลาประมาณ 17.40 น. พร้อมกับ พ.ต.ท.นพดล สินศิริ เพื่อดูที่เกิดเหตุก่อน สกายวอล์กแยกปทุมวัน เป็นพื้นที่เปิดโล่ง กว้าง แต่อาจรองรับคนได้ไม่มาก ประมาณ 200-300 คน เนื่องจากมีพื้นที่ตรงกลางเป็นช่องโหว่ 

เมื่อไปถึง พยานพบเห็นกลุ่มคนผู้จัดกิจกรรมประมาณ 20 คน กําลังติดตั้งเครื่องขยายเสียง 1 ตัวพร้อมเครื่องกําเนิดไฟฟ้า แต่พยานไม่พบเห็นจุดคัดกรองโควิด-19 และจุดบริการเจลแอลกอฮอล์

พยานเบิกความว่า เห็นแกนนําในช่วงประมาณเวลา 18.00 น. แต่จะเป็นใครบ้างพยานจําไม่ได้ โดยแกนนํานั้นเดินทางมาก่อนที่เจ้าหน้าที่ตํารวจจะประกาศแจ้งข้อกฎหมายการชุมนุม ตํารวจที่ทําหน้าที่แจ้งข้อกฎหมายแก่ชุมนุมประกอบด้วย ผู้กํากับ สน.ปทุมวัน รองผู้กํากับฝ่ายป้องกันและปราบปราม สน.ปทุมวัน และสารวัตรฝ่ายป้องกันและปราบปราม สน.ปทุมวัน โดยไม่มีเจ้าหน้าที่ตํารวจอื่นเข้าร่วมด้วย โดยแจ้งว่าการชุมนุมเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ผู้ชุมนุมยังคงชุมนุมต่อไป

พยานเบิกความว่า ตนจําชื่อบุคคลที่แสดงดนตรีไม่ได้ การแสดงดนตรีเป็นไปเพื่อปลุกใจผู้เข้าร่วมชุมนุม แต่ผู้ที่ขึ้นปราศรัยมีจําเลยที่ 1, 2, 3 และ 5 

พยานเบิกความว่า ผู้เข้าร่วมการชุมนุมในช่วงเวลาตั้งแต่ 19.00 น. เป็นต้นไป มีจํานวนประมาณไม่น้อยกว่า 120 คน ไม่มีการเว้นระยะห่าง แต่ผู้ชุมนุมจะอยู่ห่างจากผู้ปราศรัยประมาณ 1.5 เมตร ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่สวมใส่หน้ากากอนามัย แต่ผู้ปราศรัยไม่ได้สวม

พยานรับว่า ตนไม่ทราบว่ากลุ่มภาคีนิรนาม กลุ่มฟรีอาร์ต และกลุ่ม People Go Network เป็นใคร

พยานเบิกความต่อไปว่า การชุมนุมเป็นไปโดยสงบ ไม่มีความวุ่นวาย 

ทนายความถามค้าน

พยานเบิกความว่า ตนเป็นหนึ่งในผู้จัดทํารายงานสืบสวนและถ่ายภาพนิ่งประกอบ โดยพยานและเจ้าหน้าที่สืบสวนแต่งกายนอกเครื่องแบบ และในที่เกิดเหตุมีเจ้าหน้าที่ตํารวจในเครื่องแบบประมาณ 40 นาย ประจําอยู่ในที่ด้านบนและด้านล่างของสกายวอล์ก 

พยานรับว่า ไม่ทราบว่าผู้ที่จัดกิจกรรมเป็นใคร

เมื่อทนายความให้พยานดูภาพผู้ชุมนุมและผู้กํากับ สน.ปทุมวัน พูดคุยกัน และถามว่า เป็นภาพเหตุการณ์ที่ผู้กํากับ สน.ปทุมวัน เจรจากับผู้ชุมนุมก่อนแจ้งข้อกฎหมายและให้ยุติการชุมนุมใช่หรือไม่ พยานดูแล้วรับว่าใช่ 

เมื่อถามต่อว่า พยานเห็นจําเลยที่ 1 อยู่ในเหตุการณ์ดังกล่าวหรือไม่ พยานตอบว่า ไม่แน่ใจ ทั้งพยานไม่ทราบว่าจําเลยที่ 1 เป็นคนโพสต์ข้อความเชิญชวนในเพจ People Go Network หรือไม่ แต่ทราบว่าจําเลยที่ 1 ทําหน้าที่เป็นพิธีกร

พยานรับว่า ภาพถ่ายจําเลยที่ 2 และ 3 ที่อยู่ในรายงานสืบสวน เป็นภาพถ่ายเฉพาะช่วงที่ทั้งสองอยู่บนเวทีเท่านั้น ภายหลังลงจากเวทีเมื่อปราศรัยเสร็จแล้ว จําเลยทั้งสองจะสวมใส่หน้ากากอนามัยหรือไม่นั้น พยานไม่ทราบ 

พนักงานอัยการถามติง

พยานรับว่า ภาพผู้กํากับ สน.ปทุมวัน เจรจากับผู้ชุมนุมนั้นไม่มีเจ้าหน้าที่รับรองความถูกต้อง และพยานก็ไม่ขอรับรอง แต่ยืนยันว่า ก่อนการแจ้งข้อกฎหมาย ผู้กํากับได้เข้าไปเจรจาก่อน

พยานยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ตํารวจในเครื่องแบบตั้งกําลังอยู่รอบนอก ไม่ได้เข้าในไปพื้นที่ ในระหว่างพื้นที่ชุมนุมไม่มีเจ้าหน้าที่ตํารวจเข้าไปด้านใน แต่มีสื่อมวลชนอยู่ประปราย

พยานเบิกความว่า ไม่ทราบว่าผู้จัดการชุมนุมเป็นใคร

.

ภาพถ่ายกิจกรรมโดย Tawan Pongphat

.

พนักงานสอบสวนระบุยืนยันไม่ได้ว่าจําเลยที่ 1 เป็นผู้โพสต์ข้อความในเพจ People Go Network หรือไม่ และไม่ทราบว่าผู้ใดเป็นเจ้าของเพจ 

พ.ต.ท.สมพร อุทัยวรรณ์ พนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน เบิกความถึงกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น 

พยานเบิกความว่า ในวันที่ 10 พ.ค. 2564 เวลา 16.00 น. พ.ต.ท.นพดล สินศิริ ได้มาลงบันทึกประจําวันว่ามีการเชิญชวนประชาชนให้มาร่วมชุมนุมผ่านเพจ People Go Network โดยนัดผู้ชุมนุมที่สกายวอล์กในเวลาประมาณ 18.00 น. พยานได้บันทึกเรื่องดังกล่าวในบันทึกประจําวันในเวลา 20.00 น.

พยานเบิกความว่า ตนได้สอบปากคําเจ้าหน้าที่สํานักงานเขตและเจ้าหน้าที่เทศกิจ ได้ความว่า การชุมนุมครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมชุมนุมจํานวน 20 คนขึ้นไป แต่ไม่ถึง 1,000 คน โดยชุมนุมระหว่างเวลา 18.00–20.00 น. ผู้ชุมนุมไม่มีการเว้นระยะห่างเกินกว่า 1 เมตร ไม่มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขตั้งจุดคัดกรองโควิด-19 และมีการใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ขออนุญาต

จากการสอบสวน พยานพบว่า ผู้ชุมนุมใช้เครื่องขยายเสียงจํานวน 1 เครื่อง แต่ไม่ทราบจํานวนไมโครโฟน จําเลยที่ 1 ทําหน้าที่เป็นพิธีกรและปราศรัย จําเลยที่ 2, 3 และ 5 ปราศรัยเรื่องการเมืองเรียกร้องให้ปล่อยตัวแกนนําชุมนุมทางการเมือง ส่วนจําเลยที่ 4 ไม่ได้ปราศรัย เพียงแต่แสดงดนตรี 

ตั้งแต่เริ่มจนจบการชุมนุม ผู้ชุมนุมมีประมาณ 122 คน โดยยืนไม่เว้นระยะห่าง บางคนไม่สวมใส่หน้ากากอนามัย และการชุมนุมครั้งนี้ไม่มีการขอกําลังเจ้าหน้าที่สาธารณสุขไปให้บริการตั้งจุดคัดกรอง สาเหตุที่พยานทราบว่าไม่มีการขออนุญาตจัดการชุมนุมและขอใช้เครื่องขยายเสียง เพราะพยานได้ทําหนังสือไปถึงสํานักงานเขตปทุมวันเพื่อตรวจสอบ

พยานเบิกความว่า ตนได้ตรวจสอบประวัติอาชญกรรมของจําเลยทั้ง 5 พบว่า จําเลยทั้ง 5 เคยถูกดําเนินคดีเกี่ยวกับการชุมนุมในหลายท้องที่ พยานได้สรุปสํานวนคดีและมีความเห็นสั่งฟ้องต่อพนักงานอัยการ

พยานเบิกความว่า ตนไม่รู้จักกลุ่มภาคีนิรนามและกลุ่มฟรีอาร์ต แต่เคยส่งหนังสือต่อเฟซบุ๊ก ประเทศไทยให้ตรวจสอบผู้เป็นเจ้าของเพจ People Go Network แต่ไม่สามารถตรวจสอบได้ เพราะเซิฟเวอร์ของเฟซบุ๊กตั้งอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา

ทนายความถามค้าน

พยานเบิกความว่า ตนทราบว่าพื้นที่รับผิดชอบของ สน.ปทุมวัน มีการจัดกิจกรรมรวมกลุ่มต่างๆ เป็นปกติ และทราบว่าการชุมนุมในครั้งนี้เป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เพื่อเรียกร้องสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราว

พยานไม่ได้ลงตรวจสอบพื้นที่เกิดเหตุด้วยตนเอง และไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุขณะเกิดเหตุ แต่ใช้รายงานการสืบสวนของเจ้าหน้าที่สืบสวนเป็นพยานหลักฐาน

พยานยืนยันไม่ได้ว่าจําเลยที่ 1 เป็นผู้โพสต์ข้อความในเพจ People Go Network หรือไม่ และไม่ทราบว่าผู้ใดเป็นเจ้าของเพจดังกล่าว โดยในรายงานสืบสวนระบุไว้ว่าจําเลยที่ 1 สังกัดกลุ่มภาคีนิรนาม แต่พยานไม่ได้สอบสวนกลุ่มภาคีนิรนามเพิ่มเติม

พยานได้จัดทําหนังสือถึงสํานักงานเขตปทุมวันเพื่อตรวจสอบว่าผู้จัดมีการร้องขอกําลังเจ้าหน้าที่สาธารณสุขไปช่วยอํานวยความสะดวกหรือไม่ แต่ได้รับคําตอบว่าไม่มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจากสํานักงานเขตลงพื้นที่เพื่อตรวจคัดกรอง

พยานรับว่า การชุมนุมไม่มีความวุ่นวาย และทราบว่าที่เกิดเหตุเป็นพื้นที่โล่ง แต่ถ้ามีผู้คนจำนวนมาก อากาศอาจถ่ายเทไม่สะดวก

พยานเบิกความว่า ตนทราบว่าในบันทึกประจําวันได้แจ้งข้อกล่าวหาแก่จําเลยทั้ง 5 ว่าฝ่าฝืน พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ เนื่องจากไม่ได้สวมใส่หน้ากากอนามัย แต่ไม่ได้ลงบันทึกประจําวันในข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

ทนายจําเลยถามต่อว่า จําเลยที่ 2 ยืนปราศรัยโดยห่างจากผู้ชุมนุมประมาณ 2-3 เมตรใช่หรือไม่ พยานรับว่าใช่

พยานเบิกความรับว่า ไม่สามารถยืนยันได้ว่าจําเลยทั้ง 5 จะใส่หรือไม่ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาหรือไม่ เนื่องจากไม่ได้ลงพื้นที่ในวันเกิดเหตุด้วยตนเอง แต่จากการสอบสวนจําเลยทั้ง 5 ไม่มีอาวุธในการครอบครอง และมีบุคคลอื่นนอกจากจําเลยทั้ง 5 ขึ้นปราศรัยด้วย แต่ไม่สามารถระบุทราบตัวบุคคลได้

ทนายจําเลยให้พยานดูภาพในรายงานสืบสวน แล้วถามว่าคือใคร พยานดูภาพแล้วตอบว่า ยิ่งชีพ ทนายจําเลยถามต่อว่า ยิ่งชีพได้ปราศรัยหรือไม่ พยานตอบว่า ไม่ได้ปราศรัย เพียงแต่มาพูดบางอย่างกับผู้ชุมนุม

พยานรับว่าตนไม่ทราบว่ายิ่งชีพเป็นผู้ปราศรัยโจมตีตุลาการตามที่ได้เบิกความไว้ก่อนหน้านี้ และไม่ทราบว่ามีสื่อมวลชนจํานวนมากไปทําข่าว

พยานทราบว่า ในหนังสือตอบกลับของสํานักงานเขตปทุมวัน ไม่มีชื่อของจําเลยที่ 1 เป็นผู้จัดกิจกรรม

พยานทราบว่า คดีอื่นที่จําเลยถูกดําเนินคดีและปรากฎอยู่ในฐานข้อมูลประวัติอาชญากรรม เป็นคดีที่ยังไม่มีคําพิพากษา บางคดีอยู่ในชั้นการพิจารณา บางคดีอยู่ในชั้นสอบสวน บางคดีอยู่ในชั้นอัยการ และคดีทั้งหมดของจําเลยทั้ง 5 เป็นคดีเกี่ยวกับการใช้สิทธิทางการเมือง

พยานไม่ทราบว่าผู้ชุมนุมจะจัดให้มีจัดคัดกรองและจุดบริการเจลแอลกอฮอล์หรือไม่ แต่ไม่ได้สอบปากคําเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเกี่ยวกับความเห็นต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พยานได้สอบปากคําเฉพาะเจ้าหน้าที่เทศกิจและเจ้าหน้าที่สิ่งแวดล้อม

พนักงานอัยการถามติง

พยานเบิกความว่า ตนได้สอบปากคําเจ้าหน้าที่เทศกิจและเจ้าหน้าที่สิ่งแวดล้อม ได้ความว่า ในที่ชุมนุมไม่มีจุดตรวจคัดกรองโควิด-19 และจุดบริการเจลแอลกอฮอล์ ไม่มีการเว้นระยะห่างและไม่จํากัดจํานวนคน ซึ่งเสี่ยงต่อการแพร่โรค

พยานเบิกความต่อไปว่า แม้ไม่มีหนังสือตอบกลับในเรื่องการขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงจากสํานักงานเขตปทุมวัน แต่พยานได้ซักถามเจ้าหน้าที่สํานักงานเขตแล้ว ได้ความว่าไม่มีการอนุญาต

พยานได้สรุปการสอบสวนว่าจําเลยทั้ง 5 กระทําความผิด ข้อกําหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ. 2548 ฉบับที่ 15 และ ฉบับที่ 22 ซึ่งนายกรัฐมนตรีประกาศให้ข้อกําหนดทุกฉบับมีผลใช้บังคับอยู่ ตราบที่ไม่ขัดหรือแย้งกับฉบับล่าสุด

.

ผู้ได้รับมอบอำนาจให้มาเบิกความแทน ผอ.เขตปทุมวัน ระบุผู้ร่วมกิจกรรมไม่มีหน้าที่ต้องยื่นแผนจัดกิจกรรม เช่นเดียวกับกรณีของการใช้เครื่องขยายเสียง

ประจวบ น้อยอามาตย์ ผู้ได้รับมอบหมายจากผู้อํานวยการสํานักงานเขตปทุมวันให้มาเบิกความแทน เบิกความว่า สำนักงานเขตปทุมวันได้รับการประสานงานจาก สน.ปทุมวัน ว่าจะมีการจัดการชุมนุม ขอให้ทางสํานักงานเขตปทุมวันส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบและสังเกตการณ์ในการชุมนุม 

พยานเบิกความว่า ได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ว่ามีจํานวนผู้ชุมนุม 80 คนขึ้นไป ซึ่งเป็นจํานวนเกินกว่า 20 คน แต่ไม่ถึง 1,000 คน อันเป็นการชุมนุมที่ต้องขออนุญาตต่อสํานักงานเขตก่อน และประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว ฉบับที่ 25 กําหนดให้ปิดสถานที่บางประเภทในพื้นที่กรุงเทพฯ เช่น สถานศึกษา สถานกวดวิชา และห้ามจัดกิจกรรมที่มีผู้เข้าร่วมเกินกว่า 20 คนในพื้นที่ดังกล่าว เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากสํานักงาน

พยานเบิกความว่า ตนไม่ทราบจํานวนที่แน่นอนของผู้ชุมนุม ในการชุมนุมครั้งนี้ไม่มีการขออนุญาตสํานักงานเขต และขณะเกิดเหตุ สถานการณ์โควิด-19 มีการระบาดอย่างหนักในพื้นที่กรุงเทพฯ มีผู้ป่วยจํานวนมากและมีผู้เสียชีวิต จึงมีประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง ให้ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าทุกครั้งตลอดเวลาที่ออกนอกเคหสถาน หรือสถานที่พํานัก โดยไม่อนุโลมให้ใช้หน้ากากเฟสชีลด์แทนหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย

ทนายความถามค้าน

พยานเบิกความว่า ตนรับราชการในตําแหน่งผู้ช่วยผู้อํานวยการเขต พยานเกี่ยวข้องกับหนังสือตอบกลับจากสํานักงานเขตปทุมวันถึง สน.ปทุมวัน ในฐานะผู้ตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารดังกล่าว ก่อนเสนอผู้อํานวยการเขตลงนาม ซึ่งผู้จัดทําเอกสารเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของพยาน

พยานรับว่า ในวันเกิดเหตุ พยานไม่ได้ลงพื้นที่ด้วยตนเอง แต่ทราบเรื่องมาตรการป้องกันโควิด-19 ของการชุมนุมเท่าที่มีเจ้าหน้าที่รายงานมา

พยานเบิกความว่า สน.ปทุมวัน ได้มีหนังสือถึงสํานักงานเขตปทุมวันให้ตรวจสอบว่ามีการยื่นแผนจัดการชุมนุมและแผนมาตรการป้องกันโควิด-19 หรือไม่ โดยปกติแล้วแผนการจัดกิจกรรมที่ผู้จัดกิจกรรมต้องจัดทําและเสนอมาถึงสํานักงานเขต จะต้องจัดทําโดยทําเป็นหนังสือขออนุญาตถึงสํานักงานเขต แล้วจะมีเจ้าหน้าที่จากสํานักงานเขตลงไปตรวจสอบการทํากิจกรรม ว่ามาตรการป้องกันโควิด-19 ที่มีอยู่เพียงพอและเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งเป็นไปตามประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว ฉบับที่ 25

พยานเห็นว่า มาตรการโควิด-19 และการบริการเจลแอลกอฮอล์เป็นเพียงมาตรการส่วนหนึ่งเท่านั้น ในการชุมนุมยังจําเป็นต้องมีมาตรการอย่างอื่น เช่น การเว้นระยะห่าง การหลีกเลี่ยงการสัมผัส และการสวมใส่หน้ากากอนามัย เพราะหากไม่สวมใส่หน้ากากอนามัยและพูดคุยโดยใกล้ชิดน้อยกว่า 1 เมตร เกินกว่า 5 นาทีก็อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้

พยานเห็นว่า ผู้ร่วมกิจกรรมไม่มีหน้าที่ต้องยื่นแผนจัดกิจกรรมต่อสํานักงานเขต เช่นเดียวกับกรณีของการใช้เครื่องขยายเสียง

พยานเบิกความว่า ตนไม่แน่ใจว่าเจ้าหน้าที่กรุงเทพฯ มีอํานาจจับกุมผู้ที่ไม่สวมใส่หน้ากากอนามัยหรือไม่ แต่โดยปกติหากพบเห็น พยานจะตักเตือนและอธิบายให้เห็นถึงความจําเป็นในการสวมใส่

พนักงานอัยการถามติง

พยานเบิกความรับว่า ในการชุมนุมที่มีผู้ไม่สวมใส่หน้ากากอนามัยจํานวน 100 คนขึ้นไป พยานคงไม่สะดวกในการเข้าไปตักเตือนผู้ชุมนุมให้สวมใส่หน้ากากอนามัยทุกราย

พยานมีหน้าที่ดูแลฝ่ายเทศกิจและสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาลโดยตรง และไม่ทราบว่าผู้ใต้บังคับบัญชาอยู่สังเกตการณ์ในที่ชุมนุมจนจบการชุมนุมหรือไม่

.

.

จำเลยทั้ง 5 คนอ้างตัวเองเป็นพยาน ยืนยันไม่ใช่ผู้จัดการชุมนุม การชุมนุมเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย และมีการประกาศมาตรการป้องกันโควิด 

จำเลยทั้ง 5 คนในคดีนี้ ยังได้อ้างตัวเองขึ้นเบิกความในฐานะพยานจำเลย และเบิกความไปในทำนองเดียวกัน ดังนี้

ในประเด็นเรื่องผู้จัดการชุมนุม พยานจำเลยทั้ง 5 คนเบิกความว่า ตนเองเป็นเพียงผู้เข้าร่วมการชุมนุม โดยได้รับการชักชวนจากทีมงานกลุ่ม People Go Network และเพื่อนนักกิจกรรมด้วยกันให้มาเป็นพิธีกร ผู้ปราศรัย และเล่นดนตรี 

ในประเด็นเรื่องการชุมนุมแออัดเสี่ยงต่อการแพร่โรค พยานจำเลยทั้ง 5 คนเบิกความว่า สถานที่ชุมนุมเป็นสถานที่เปิดโล่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก การชุมนุมเกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ เริ่มตั้งแต่ประมาณ 16.00 น. ถึงเวลาไม่เกิน 20.00 น. ผู้ชุมนุมก็แยกย้ายกัน 

ในที่ชุมนุมมีจุดคัดกรองที่ผู้จัดการชุมนุมจัดไว้ มีจุดวัดอุณหภูมิ แจกจ่ายหน้ากากอนามัย และแจกจ่ายแอลกอฮอล์ ซึ่งอยู่ตรงข้ามเวทีปราศรัย เป็นจุดเดียวกับจุดแจกดาวและอุปกรณ์ในการทำกิจกรรมให้กับผู้ร่วมชุมนุม และจำเลยที่ 1 ในฐานะพิธีกรก็มีการประกาศให้สวมใส่หน้ากากอนามัยและใช้แอลกอฮอล์ 

เวทีปราศรัยยังตั้งเว้นระยะห่างจากผู้ร่วมชุมนุม 2 เมตร พิธีกรและผู้ปราศรัยทุกคนขณะทำหน้าที่บนเวทีก็สวมใส่หน้ากากเฟสชีลด์ และในขณะที่ไม่อยู่บนเวทีก็สวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา 

ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่สวมใส่หน้ากากอนามัย และไม่ได้ยืนกระจุกตัวไหล่ชิดไหล่กันตลอดเวลา มีเพียงแค่ตอนทำกิจกรรมเปิดไฟให้ดาวเท่านั้นที่ผู้ชุมนุมขยับเข้ามาชิดกันเพื่อทำกิจกรรม และมีสื่อมวลชนมาเข้าร่วมถ่ายภาพ ส่วนในเวลาอื่นๆ ผู้ชุมนุมอยู่อย่างกระจายตัว ระหว่างผู้ชุมนุมยังมีช่องว่างให้สัญจรผ่านได้ 

ในประเด็นเรื่องการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ พยานจำเลยทั้ง 5 คนเบิกความว่า การชุมนุมเป็นไปโดยสงบเรียบร้อย ไม่มีความวุ่นวาย เป็นการชุมนุมโดยใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ 

ขณะที่เจ้าหน้าที่ประกาศแจ้งข้อกฎหมายการชุมนุม ก็มีเพียงการประกาศแจ้งเท่านั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจมิได้มีพฤติการณ์ห้ามมิให้ชุมนุม และยังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาดูแลความสงบเรียบร้อย ไม่มีความรุนแรงหรือการกระทบกระทั่งกันระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ในประเด็นเรื่องเครื่องขยายเสียง พยานจำเลยทั้ง 5 คนยอมรับว่า มีการใช้เครื่องขยายเสียงในการปราศรัยและทำหน้าที่พิธีกร แต่เครื่องขยายเสียงนั้นเป็นผู้จัดการชุมนุมจัดหาและติดตั้งไว้อยู่ก่อนแล้ว พยานจำเลยทั้ง 5 คนไม่ทราบว่าเจ้าของเครื่องขยายเสียงคือใคร และไม่ทราบว่าได้มีการขออนุญาตต่อหน่วยงานรัฐแล้วหรือไม่

.

ประจักษ์พยานระบุในที่ชุมนุมมีจุดคัดกรอง ออกไปชุมนุมเพราะเห็นว่าข้อกำหนดฯ ฉบับที่ 15 ข้อ 3 ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ หรือ “เป๋า” ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน ประจักษ์พยานฝ่ายจำเลย เบิกความว่า ในวันเกิดเหตุคดีนี้ ได้เข้าร่วมการชุมนุมและพูดปราศรัยบนเวทีในหัวข้อ “ส่องสว่างยุติธรรม” โดยกลุ่มดินสอสีซึ่งอยู่ในเครือข่ายของ People Go Network เป็นผู้ติดต่อเข้ามาให้เป็นขึ้นปราศรัย  

พยานเบิกความว่า ตนทราบว่าช่วงเวลาจัดกิจกรรม มีประกาศตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ห้ามจัดกิจกรรมรวมกลุ่ม แต่ตัดสินใจไปเข้าร่วมชุมนุมเพราะสถานการณ์ตอนนั้นมีผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองที่ถูกคุมขัง ไม่ได้ประกันตัวจำนวนมาก และตนมีความรู้ในเรื่องดังกล่าว จึงคิดว่าควรไปพูดปราศรัยในการชุมนุมครั้งนี้ และตนเห็นว่าข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 15 ข้อ 3 ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

พยานเบิกความว่า ตนมาถึงที่เกิดเหตุในเวลา 17.00 น. และอยู่จนจบกิจกรรมประมาณ 20.00 น. พื้นที่จัดกิจกรรมมีตำรวจในชุดสีกากีนำรั้วมากั้นโดยรอบ และพยานเห็นจุดที่มีคนแจกแอลกอฮอล์และหน้ากากอนามัย ซึ่งเป็นบริเวณเดียวกับที่แจกอุปกรณ์รูปดาว

ทนายความนำพยานเอกสารซึ่งเป็นข่าวของวันเกิดเหตุให้พยานดู ซึ่งสื่อมวลชนมีการไล่เรียงไทม์ไลน์กิจกรรม และรายงานว่า “มีจุดวัดอุณหภูมิและบริการเจลแอลกอฮอล์”

พยานเบิกความว่า ตนใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาและผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ก็สวมใส่หน้ากากอนามัยด้วยเช่นกัน ในขณะปราศรัยพยานสวมใส่หน้ากากอนามัยขึ้นปราศรัยเพราะมีลวดลายสอดคล้องกับข้อเรียกร้องทางการเมือง

พยานเบิกความว่า ขณะนั้นหน้ากากอนามัยเมื่อสวมใส่แล้วจะไม่สามารถออกเสียงได้ชัดเจน ในการทำกิจกรรมทั่วไปหรือผู้สื่อข่าวเองก็นิยมสวมใส่เฟสชีลด์

พยานเบิกความว่า ตนไม่ทราบว่าเครื่องขยายเสียงเป็นของใคร

พยานเบิกความว่า ที่ตนเห็นว่าข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 15 ข้อ 3 ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะการห้ามกิจกรรมมั่วสุมที่ไม่จำเป็นสามารถทำได้ แต่การห้ามมิให้ใช้เสรีภาพในการชุมนุมเลย ไม่สามารถกระทำได้ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เองก็ไม่ได้ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีสั่งห้ามการชุมนุม จึงเห็นว่าข้อกำหนดดังกล่าวออกเกินอำนาจนายกรัฐมนตรี

พยานเบิกความต่อไปว่า ตนได้ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งขอให้เพิกถอนข้อกำหนดฉบับดังกล่าว

พนักงานอัยการถามค้าน

พยานเบิกความตอบพนักงานอัยการว่า คดีที่ตนยื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง ศาลนัดสืบพยานในวันที่ 7-9 มี.ค. 2566 และยังไม่มีคำพิพากษา คดีที่พยานยื่นฟ้องเป็นคนละกรณีกับที่ภัสราวลียื่นฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง 

พยานเบิกความว่า กลุ่มดินสอสีเป็นส่วนหนึ่งของ People Go Network แต่ไม่เกี่ยวข้องกับภาคีนิรนาม

พยานเบิกความว่า ตนทราบว่ามีประกาศเกี่ยวกับการออกนอกเคหสถานต้องสวมใส่หน้ากากอนามัย แต่ไม่ทราบว่าใช้บังคับในช่วงเวลาใด

พนักงานอัยการให้ดูพยานเอกสารเกี่ยวข้องกับข้อกำหนดซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น พยานเบิกความว่า ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 13 มิได้ห้ามการชุมนุมโดยเคร่งครัด แต่ถูกข้อกำหนดฯ ฉบับที่ 15 ยกเลิกไป 

ทนายความถามติง

พยานเบิกความตอบทนายความระบุถึงจุดคัดกรองที่แน่ชัดอีกครั้ง และเบิกความว่า เท่าที่ตนจำได้ บุคคลที่แจกแอลกอฮอล์ก็มีการเดินแจกด้วย ไม่ได้ยืนอยู่กับที่

.

พยานผู้เชี่ยวชาญระบุการชุมนุมของจำเลยเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ข้อกำหนดฯ ฉบับที่ 15 ข้อ 3, ฉบับที่ 22 และประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบฯ ฉบับที่ 3 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย 

ดร.พัชร์ นิยมศิลป อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พยานผู้เชี่ยวชาญ เบิกความว่า คดีนี้ตนเคยให้ความเห็นยื่นต่อศาล ในวันที่ 1 ก.พ. 2566 

พนักงานอัยการถามค้าน

พยานเบิกความว่า ในช่วงเวลาเกิดเหตุ กรุงเทพมหานครมีประกาศให้บุคคลสวมใส่หน้ากากอนามัยขณะออกนอกเคหสถาน ใช้บังคับเป็นการทั่วไป

พยานเบิกความว่า การยืนของผู้ชุมนุมในลักษณะไหล่ชนไหล่ พยานดูข่าวเหตุการณ์ดังกล่าวผ่าน Voice TV เห็นว่าเจ้าพนักงานตำรวจก็ยืนในลักษณะเดียวกัน

ทนายความไม่ถามติง

ทั้งนี้ คำให้การในฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งยื่นต่อศาล ในวันที่ 1 ก.พ. 2566 ระบุว่า พยานเห็นว่าข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 15 ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรมหรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัดหรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย และข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 22 จำกัดเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบที่ได้รับการรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่จำเป็น และไม่ได้สัดส่วน

พยานให้การใน 8 ประเด็น สามารถสรุปได้ดังนี้

1. พยานเห็นว่า การชุมนุมของกลุ่มจำเลยเป็นการแสดงออกทางการเมืองโดยสงบ มีการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคพอสมควรแก่เหตุ ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่สวมหน้ากากอนามัย และเว้นระยะห่าง การชุมนุมเกิดขึ้นในที่แจ้ง มีอากาศถ่ายเทสะดวก ไม่ได้ดำเนินไปอย่างแออัด อีกทั้งไม่ปรากฎเหตุการณ์การใช้ความรุนแรงของผู้ชุมนุมในลักษณะที่จะทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและร่างกายของบุคคลอื่น หรือทำให้ทรัพย์สินได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง 

2. พยานเห็นว่า การที่รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. 2563 และขยายระยะเวลาการบังคับใช้จนถึงวันที่จำเลยถูกกล่าวหา เป็นการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่ไม่สอดคล้องกับหลักความจำเป็น เพราะบรรดากฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นก็เพียงพอแล้วที่จะแก้ไขสถานการณ์ได้ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ใช้กับการจัดการโรคระบาดเป็นการเฉพาะ

พยานเห็นว่า รัฐบาลก็ยังสามารถใช้กฎหมายในระดับปกติทั่วไปจัดการปัญหาโควิด-19 ได้ เช่น พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ รัฐบาลจึงไม่อาจอ้างความจำเป็นที่จะต้องใช้กฎหมายฉุกเฉินเพื่อป้องกันและจัดการการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ดังนั้น การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินโดยพลการจึงเป็นการพรากสิทธิและเสรีภาพที่พลเมืองพึงมีโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นการทำลายหลักการกระทำของรัฐต้องชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเป็นหลักพื้นฐานในการปกครองระบอบประชาธิปไตย

นอกจากนี้ พยานยังเห็นว่า เหตุที่ยกขึ้นอ้างในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและการต่ออายุแต่ละครั้งนั้น ไม่อาจฟังได้ว่าเป็นภัยที่รุนแรงถึงระดับคุกคามต่อความอยู่รอดของชาติ การออกประกาศ ข้อกำหนด และคำสั่งที่ออกมาตามมาจึงไม่สอดคล้องกับหลักสากล ภายใต้กรอบกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

3. พยานเห็นว่า แม้จะอยู่ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รัฐก็ไม่อาจจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมและเสรีภาพในการแสดงออกในลักษณะทั่วไปและอย่างสิ้นเชิงจนถึงขนาดที่ประชาชนไม่สามารถใช้สิทธิและเสรีภาพดังกล่าวได้ หากแต่ต้องกำหนดเงื่อนไขในการชุมนุมที่ชัดเจนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยที่ประชาชนยังคงใช้เสรีภาพในการชุมนุมและการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นได้ การห้ามการชุมนุมจะต้องพิจารณาเป็นรายกรณีบนพื้นฐานของข้อเท็จจริงเฉพาะกรณีอย่างเพียงพอว่าการชุมนุมสามารถทำได้หรือไม่

4. พยานเห็นว่า ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 1 ข้อ 5, ฉบับที่ 15 ข้อ 3 และฉบับที่ 22 สร้างข้อจำกัดเสรีภาพโดยไม่จำเป็น ไม่ได้สัดส่วน เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่มีดุลยพินิจอย่างกว้างขวางโดยไม่มีการกำหนกเกณฑ์ควบคุมหรือตรวจสอบดุลยพินิจที่ชัดเจนจนนำไปสู่การใช้อำนาจตามอำเภอใจของเจ้าหน้าที่

5. เมื่อมีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นระยะเวลานานติดต่อกันก็ส่งผลให้มีประกาศ ข้อกำหนด และคำสั่งต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกันออกมาเป็นจำนวนมาก ทั้งในระดับประเทศและในระดับจังหวัด กฎและมาตรการเหล่านี้มีลักษณะที่มีความซับซ้อนและอ้างอิงโยงกันไปมา มิได้รวมอยู่ในฉบับล่าสุดเพียงฉบับเดียว ยิ่งไปกว่านั้น ประกาศหรือคำสั่งที่ออกมาในภายหลังก็มิได้ยกเลิกประกาศหรือคำสั่งที่มีมาก่อนหน้า เว้นแต่จะได้ระบุไว้อย่างชัดแจ้ง

พยานเห็นว่า การวางเกณฑ์ข้อกำหนดที่อ้างอิงไปมาและคลุมเครือเช่นนี้ก่อให้เกิดความสับสนอย่างยิ่งเมื่อต้องนำมาบังคับใช้ เป็นการขัดต่อหลักการใช้และการตีความกฎหมายปรกติที่หากตัวบทขัดกัน กฎหมายเฉพาะจะยกเว้นกฎหมายทั่วไป และกฎหมายฉบับใหม่จะยกเว้นกฎหมายฉบับเก่า ข้อกำหนดฯ ต่างๆ เหล่านี้ขัดต่อหลักกฎหมายอาญาที่ฐานความผิดทางอาญาจะต้องมีความชัดเจนและแน่นอน ไม่อยู่บนความรู้สึกที่เป็นอัตวิสัยหรือตัดสินตามอำเภอใจของผู้พิจารณา

ดังนั้น พยานเห็นว่า ศาลจะต้องพิจารณาว่า ข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีลักษณะที่อยู่ในวิสัยที่คนทั่วไปสามารถเข้าใจและปฏิบัติตามได้โดยสุจริตหรือไม่ การบังคับใช้กฎเหล่านี้โดยมิได้คำนึงถึงคุณลักษณะที่กฎและกฎหมายจะต้องชัดแจ้งเพียงพอที่จะปฏิบัติตามได้ จะทำให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายโดยไม่เป็นธรรม

6. พยานเห็นว่า เมื่อการชุมนุมเป็นการชุมนุมโดยสงบ เจ้าหน้าที่รัฐก็มีหน้าที่รักษาเจตนารมณ์ของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หากผู้จัดการชุมนุมไม่ปฏิบัติตามมาตรการที่รัฐกำหนด เจ้าหน้าที่ก็มีหน้าที่โดยตรงในการประสานงานจัดให้มีมาตรการต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนด มิใช่เลือกดำเนินคดีกับผู้จัดการชุมนุมสาธารณะ ภายใต้ข้อกำหนดฯ โดยปฏิเสธหน้าที่ในการกระทำการตามพันธกรณีระหว่างประเทศในการอำนวยความสะดวกให้การชุมนุมเป็นไปอย่างสงบและปลอดภัย

พยานเห็นว่า รัฐบาลมิได้มีข้อสันนิษฐานไว้ก่อนว่าการชุมนุมจะเกิดขึ้นได้โดยสงบ แต่รัฐบาลกลับมีข้อสันนิษฐานในทางตรงกันข้ามโดยสันนิษฐานไปก่อนว่าการชุมนุมไม่สามารถทำได้เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่

7. พยานเห็นว่า การตีความฐานความผิด “เป็นผู้ร่วมกระทำการให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน” และ “การยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย” จะต้องตีความอย่างเคร่งครัด ไม่ตีความอย่างกว้างขวางหรือตีความอย่างคลุมเครือเพื่อสร้างฐานความผิดในการปราบปรามผู้ใช้เสรีภาพที่ได้รับการคุ้มครองตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

8. พยานเห็นว่า ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 15 ข้อ 3 มิได้ให้อำนาจหัวหน้าผู้รับผิดชอบฯ กำหนดองค์ประกอบความผิดของการชุมนุมเพิ่มเติมนอกเหนือไปจากที่ข้อกำหนดฯ ระบุไว้ อ้างอิงจากคำพิพากษาศาลแขวงลพบุรี หมายเลขแดงที่ อ.633/2565 วันที่ 25 เม.ย. 2565 ศาลได้วินิจฉัยว่า การออกประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง ฉบับที่ 9 ลงวันที่ 3 ส.ค. 2564 ในส่วนที่ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค เป็นการกำหนดองค์ประกอบความผิดของการห้ามชุมนุมเพิ่มเติมโดยไม่มีอำนาจ ประกาศดังกล่าวย่อมไม่มีผลบังคับใช้

พยานเห็นว่า ด้วยเหตุผลเดียวกันกับคำพิพากษาในข้างต้น ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม ที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ฉบับที่ 3 ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับประกาศฯ ฉบับที่ 9 จึงไม่มีผลบังคับใช้

ด้วยเหตุผล 8 ประการในข้างต้น พยานจึงเห็นว่า จำเลยทั้งห้ามิได้กระทำความผิดตามที่โจทก์กล่าวหา

.

X