5 อาจารย์-นักกิจกรรม เข้ารับทราบข้อหา “ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ” เหตุจัดกิจกรรม “เปิดไฟให้ดาว” เรียกร้องให้ #ปล่อยเพื่อนเรา ที่สกายวอล์ค

วานนี้ (23 สิงหาคม 2564) เวลา 11.00 น. ที่ สน.ปทุมวัน นักกิจกรรม-นักวิชาการ จำนวน 5 ราย ได้เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก หลังจัดและร่วมกิจกรรม “เปิดไฟให้ดาว” เพื่อรณรงค์เรียกร้องให้ #ปล่อยเพื่อนเรา ที่สกายวอล์ค แยกปทุมวัน เมื่อวันที่ 10 พ.ค. ที่ผ่านมา โดยทั้ง 5 ราย ถูกดำเนินคดีใน 2 ข้อหาด้วยกัน ได้แก่ ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ

ก่อนหน้านี้ ทั้ง 5 ราย ได้รับหมายเรียกระบุให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหา ฝ่าฝืน พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ (ไม่สวมหน้ากากอนามัย) ในวันที่ 1 มิถุนายน 2564 แต่ได้ขอเลื่อนนัดหมายเป็นวันที่ 9 มิถุนายน 2564 ต่อมา เนื่องจากพนักงานสอบสวนยังไม่ได้หนังสือตอบกลับจากสำนักงานเขตกรุงเทพฯ ซึ่งได้สอบถามไปในประเด็นที่ว่า การจัดกิจกรรมเปิดไฟให้ดาว ที่แยกปทุมวัน เข้าข่ายความผิดอื่นอีกหรือไม่ จึงเป็นฝ่ายขอเลื่อนนัดผู้ต้องหาออกไปก่อน 

ภายหลังเมื่อพนักงานสอบสวนได้รับหนังสือตอบรับจากสำนักงานเขตกรุงเทพฯ แล้ว จึงได้ออกหมายเรียกให้ผู้ต้องหาทั้งห้ามารับทราบข้อกล่าวหาอีกครั้ง

ผู้ถูกออกหมายเรียกทั้ง 5 ราย ได้แก่ ผศ.ดร.ชลิตา บัณฑุวงศ์ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตัวแทนจากเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง, รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์โครงการบัณฑิตศึกษา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, “มายด์” ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล, พริม มณีโชติ และณัฐพงษ์ ภูแก้ว โดยมี พ.ต.ท.นพดล สินศิริ สว.สส.สน.ปทุมวัน เป็นผู้กล่าวหาในคดี

.

ตร.สน.ปทุมวันแจ้ง 2 ข้อหา “ฝ่าฝืน พรก.ฉุกเฉินฯ – ใช้เครื่องเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต”

ในการรับทราบข้อกล่าวหาวันนี้มี พ.ต.ท. สมพร อุทัยวรรณ์ สารวัตร (สอบสวน) สน.ปทุมวัน เป็นผู้ทำการแจ้งข้อกล่าวหาและพฤติการณ์ในคดีให้ผู้ต้องหาทั้ง 5 ราย ทราบ ดังนี้

เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2564 เวลา 18.00 น. กลุ่มผู้ต้องหาทั้ง 5 ราย ได้มาร่วมกิจกรรมใช้ชื่อว่า “LightUp JUSTICE – เปิดไฟให้ดาว ส่องสว่างความยุติธรรม” ที่บริเวณสกายวอล์ค แยกปทุมวัน โดยมีวัตถุประสงค์เรียกร้องให้ปล่อยตัวแกนนําการชุมนุมที่ถูกควบคุมตัวอยู่ในขณะนั้น และปราศรัยโจมตีการทํางานของสถาบันตุลาการ มีการจัดกิจกรรมโดยติดตั้งลําโพงเครื่องขยายเสียงเพื่อใช้ในการปราศรัย มีการเล่นดนตรี มีการแสดงประกอบการอ่านบทกวี ทํากิจกรรมส่องแสงให้ดวงดาว มีการร้องเพลง และกิจกรรมได้เสร็จสิ้นลงในเวลา 19.54 น.

ในระหว่างการชุมนุมเวลา 18.00 น. พ.ต.อ.พันษา อมราพิทักษ์ ผกก.สน.ปทุมวัน ได้อ่านประกาศตามข้อกำหนดออกตามมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ฉบับที่ 22)  

โดยผู้ต้องหาแต่ละคนมีพฤติการณ์กระทําผิด ดังนี้ พริม ทําหน้าที่พิธีกร, ณัฐพงษ์ทำการแสดงดนตรี และอีกสามรายได้ขึ้นพูดปราศรัย ได้แก่ ชลิตา, ยุกติ และภัสราวลี

ในการชุมนุมดังกล่าว มีประชาชนจํานวนมากเข้าร่วมซึ่งเป็นการแออัด ก่อให้เกิดสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ อาจเป็นต้นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายหรือโรคแพร่ระบาด นอกจากนั้น ผู้จัดการชุมนุมยังไม่ได้จัดให้มีมาตรการในการป้องกันโรคติดต่อ ไม่มีการเว้นระยะห่างให้เกิดความปลอดภัย ซึ่งเป็นการกระทําผิดกฎหมาย ผู้กล่าวหาจึงได้มาร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับผู้ต้องหา

พนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน จึงได้แจ้งข้อกล่าวหาพริมฐาน “จัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มมากว่า 20 คน ในพื้นที่ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด และเข้มงวด ฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ฉบับที่ 22), ร่วมกันชุมนุมในสถานที่แออัด ในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ฉบับที่ 15) และประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินฯ และร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต” 

และแจ้งข้อกล่าวหา ชลิตา, ยุกติ, ณัฐพงษ์ และภัสราวลี ต่างไปจากพริม “ร่วมกันชุมนุมในสถานที่แออัด ในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ฉบับที่ 15) และประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินฯ และร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต” 

นักวิชาการและนักกิจกรรมทั้งห้าได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะยื่นคำให้การเป็นหนังสือภายใน 20 วัน

ทั้งนี้ กิจกรรม “เปิดไฟให้ดาว” ที่เป็นเหตุให้ผู้ต้องหาทั้ง 5 ถูกดำเนินคดีเป็นการจัดงานครั้งที่ 2 โดยครั้งแรกงานถูกจัดขึ้นที่หน้าศาลอาญา รัชดาฯ คู่ขนานกับกิจกรรม “ยืน หยุด ขัง” เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 และงานครั้งสุดท้ายถูกจัดที่หอศิลป์กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2564 

ซึ่งดำเนินการจัดโดยกลุ่ม “People Go Network” มีวัตถุประสงค์เพื่อรณรงค์ให้มีการปล่อยผู้ชุมนุมที่ถูกคุมขัง และไม่ได้รับประกันตัวในขณะนั้น อาทิ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์, “แอมมี่” ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์, ทนายอานนท์ นำภา, จัสติน ชูเกียรติ แสงวงค์, “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก 

ภายในงานมีกิจกรรมหลากหลาย อาทิ การปราศรัยจากนักวิชาการและนักกิจกรรมในประเด็นกฎหมายและความยุติธรรม การแสดงจากกลุ่มศิลปะปลดแอก การร้องเพลง เป็นต้น โดยไฮไลท์ของงานเป็นการร่วมเปิดแสงแฟลชจากโทรศัพท์ส่องให้กับโคมไฟกระดาษประดิษฐ์ที่มีรูปทรงดาว พร้อมกับร้องเพลง “แสงดาวแห่งศรัทธา” เพื่อแสดงความระลึกถึงผู้ต้องขังที่ยังไม่ได้สิทธิประกันตัวในขณะนั้น 

โดยปรากฏด้วยว่า ผู้จัดและผู้ร่วมกิจกรรมพยายามระวังป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตามสมควร บางคนสวมหน้ากากอนามัย บางคนใส่เฟซชิลด์ และมีการยืนเว้นระยะห่างกัน 

X