ยกฟ้อง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ “ลูกเกด” จัด #ม็อบ22สิงหา63 รำลึกถึงผู้สูญหาย ชี้สถานที่ไม่แออัด-ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบฯ ออกโดยไม่มีอำนาจ-ข้อกำหนดฉบับที่ 5 ถูกยกเลิกแล้ว

14 มี.ค. 2566 เวลา 09.00 น. ศาลแขวงดุสิตนัดฟังคำพิพากษาในคดีของ “ลูกเกด” ชลธิชา แจ้งเร็ว นักกิจกรรมทางการเมืองและว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล จากการจัดกิจกรรม “กวี ดนตรี ปลดแอกแหวกหาคนหาย” รำลึกถึงผู้สูญหายหน้าอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2563 

คดีนี้ลูกเกดถูกฟ้องโดยพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 3 ในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกําลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ โดยการสืบพยานในคดีนี้มีขึ้นวันที่ 12, 14 ต.ค. และ 22 ธ.ค. 2565

ลูกเกดให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งในชั้นสอบสวนและชั้นศาล

ในวันนี้ (14 มี.ค. 2566) เวลา 09.00 น. ลูกเกดเดินทางมาที่ห้องพิจารณาคดีที่ 401 ศาลออกนั่งพิจารณาคดี ก่อนอ่านคำพิพากษา มีใจความโดยสรุปดังนี้

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 1 กำหนดว่า ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ ในสถานที่แออัด แต่มิได้ห้ามการชุมนุมในลักษณะแออัด พยานหลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ว่า สถานที่ชุมนุมดังกล่าวเป็นสถานที่แออัด การกระทำของจำเลยจึงไม่ใช่การชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัด

พยานโจทก์เบิกความว่า จำเลยชุมนุมทำกิจกรรมในลักษณะมั่วสุมประชุมกัน เสี่ยงต่อการแพร่โรค ฝ่าฝืนประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เมื่อไม่ปรากฏว่า นายกรัฐมนตรีมอบอำนาจให้หัวหน้าผู้รับผิดชอบออกข้อกำหนดแทน และไม่ปรากฏว่า ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 9, 11 หรือ 13 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ การฝ่าฝืนประกาศฉบับนี้จึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 18 กรณีไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยฝ่าฝืนประกาศดังกล่าวหรือไม่

ข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 5 กำหนดว่า ห้ามจัดให้มีกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากในลักษณะมั่วสุมประชุมกัน หรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่าย เว้นแต่จัดโดยพนักงานเจ้าหน้าที่หรือได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ศาลเห็นว่าการชุมนุมใดๆ ย่อมสามารถกระทำได้ภายใต้ขอบเขตการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ และการใช้สิทธิและเสรีภาพก็ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด พนักงานเจ้าหน้าที่ไม่มีดุลยพินิจในการอนุญาต เพียงแค่แจ้งการชุมนุมให้ทราบตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ เท่านั้น จำเลยแจ้งการชุมนุมต่อหัวหน้าสถานีตำรวจ ระบุว่ามีผู้เข้าร่วมการชุมนุมประมาณ 3,000 คน เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ได้รับแจ้งก็ไม่ได้พิจารณาว่าจะอนุญาตหรือไม่อนุญาต

ข้อกำหนดตามความมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 13 กำหนดว่า การจัดให้มีกิจกรรมรวมกลุ่มหรือการใช้สิทธิของประชาชนเพื่อการชุมนุมใดๆ ย่อมกระทำได้ภายใต้ขอบเขตการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตามกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ ซึ่งข้อกำหนดตามความมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 13 ยกเลิกข้อกำหนดตามความมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 5 จำเลยกระทำความผิดวันที่ 22 ส.ค. 2563 ภายหลังข้อกำหนดฉบับที่ 13 บังคับใช้ 

ส่วนที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทำผิดตามข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นั้น มีรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 วรรคหนึ่ง และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคแรก บัญญัติในทำนองเดียวกันว่าบุคคลไม่ต้องรับโทษอาญา เว้นแต่ได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ กรณีไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำความผิดหรือไม่

พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 18 มีโทษอาญา จึงไม่สามารถใช้โทษอาญามาใช้บังคับได้ เมื่อข้อกำหนดฉบับที่ 13 เป็นเพียงการกำหนดมาตรการในการบริหารสถานการณ์โรคระบาดมิได้ห้ามกระทำการหรือให้กระทำการที่จะมีผลเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดดังกล่าว

ข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยใช้เครื่องขยายเสียง ในหนังสือแจ้งการชุมนุมระบุว่า มีการใช้เครื่องขยายเสียง จำเลยได้เจรจากับตำรวจเรื่องการใช้เครื่องขยายเสียง และจำเลยใช้เครื่องขยายเสียงปราศรัยกับผู้ชุมนุม ซึ่งต้องขออนุญาตกับผู้อำนวยการเขต จำเลยมีเจตนาจัดให้มีเครื่องขยายเสียงสำหรับปราศรัย แม้จำเลยจะต่อสู้ว่า การปราศรัยไม่ใช่การโฆษณาและได้แจ้งกับเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้ว ศาลเห็นว่า การโฆษณารวมถึงการแสดงความคิดเห็นด้วย เมื่อไม่ได้ขออนุญาต จึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ ลงโทษปรับ 200 บาท

ข้อหาอื่นพิพากษายกฟ้อง

.

ย้อนอ่านข่าวรับทราบข้อกล่าวหา >>> ‘ลูกเกด’ นักเจรจาม็อบประชาชนปลดแอกรับทราบข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ – พ.ร.บ.ชุมนุมฯ อีก 2 คดี

X