ยกฟ้อง “ลูกเกด” อีกคดี ร่วม #ม็อบ18ตุลาไปอนุสาวรีย์ชัย ไม่ผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ศาลชี้เป็นการชุมนุมโดยสงบตาม รธน. ไม่ปรากฏจำเลยยุยงหรือก่อความรุนแรง

14 มี.ค. 2566 เวลา 13.30 น. ศาลแขวงดุสิตนัดฟังคำพิพากษาในคดีของ “ลูกเกด” ชลธิชา แจ้งเร็ว นักกิจกรรมทางการเมืองและว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล กรณีร่วมชุมนุม #ม็อบ18ตุลาไปอนุสาวรีย์ชัย เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2563 เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก รวมถึงเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งขณะเกิดเหตุเป็นช่วงเวลาที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง

คดีนี้ลูกเกดถูกฟ้องโดยพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 3 ในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยการสืบพยานในคดีนี้มีขึ้นวันที่ 19-20 ม.ค. 2566

ลูกเกดให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งในชั้นสอบสวนและชั้นศาล

ในวันนี้ (14 มี.ค. 2566) เวลา 13.30 น. ลูกเกดเดินทางมาที่ห้องพิจารณาคดีที่ 408 ศาลออกนั่งพิจารณาคดี ก่อนอ่านคำพิพากษาในคดีนี้ มีใจความโดยสรุปดังนี้

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร เนื่องจากมีบุคคลหลายกลุ่มปลุกระดมและดำเนินการให้มีการชุมนุมสาธารณะโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ ก่อให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นวายและความไม่สงบเรียบร้อย มีการกระทำที่กระทบต่อขบวนเสด็จพระราชดำเนิน มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า มีการกระทำที่มีความรุนแรง กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยในชีวิตหรือทรัพย์สินของรัฐหรือบุคคล อันมิใช่การชุมนุมโดยสงบที่ได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย อีกทั้งยังกระทบโดยตรงต่อมาตรการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 และส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อแก้ไขกรณีดังกล่าวให้ยุติลงอย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที

ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ประกอบมาตรา 11 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ลงวันที่ 15 ต.ค. 2563 ข้อ 1 กำหนดว่า ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย เพื่อแก้ไขสถานการณ์ซึ่งมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเป็นการชุมนุมที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ข้อกำหนดดังกล่าวจึงมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขสถานการณ์การชุมนุมที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ การชุมนุมที่ถูกห้ามจึงเป็นการชุมนุมมั่วสุม ทำให้เกิดความปั่นป่วน ยุยงให้เกิดความไม่สงบ กระทบต่อชีวิตหรือทรัพย์สินของรัฐหรือบุคคล

ข้อเท็จจริงปรากฏตามภาพถ่ายว่า จำเลยเข้าร่วมชุมนุมและให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ไม่มีการใช้ความรุนแรงหรือกระทำการในลักษณะที่ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย กรณีที่จำเลยให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนก็ไม่ปรากฏว่า จำเลยยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ความรุนแรง และมั่วสุม ที่จะทำให้การชุมนุมไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ

กรณีไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยการกระทำอื่นของจำเลย พิพากษายกฟ้อง 

.

การชุมนุมที่อนุสาวรีย์ชัยเมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2563 เป็นการชุมนุมในระหว่างการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง โดยผู้ชุมนุมไม่ได้มีการตั้งเวทีปราศรัย และไม่ได้มีแกนนำชัดเจน เกิดขึ้นเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวแกนนำหลักที่ถูกจับกุมคุมขังในช่วงดังกล่าว รวมทั้งยืนยันข้อเสนอ 3 ข้อของการเคลื่อนไหว การชุมนุมมีเพียงการใช้ลำโพงขนาดเล็กหลายจุดในที่ชุมนุม และเปิดโอกาสให้ผู้ชุมนุมร่วมกันขึ้นพูด

ภายหลังการชุมนุมมีนักกิจกรรมที่ถูกดำเนินคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ รวม 3 คน นอกจากลูกเกดยังมี “บอย” ธัชพงศ์ หรือชาติชาย แกดำ และสมบัติ ทองย้อย ซึ่งศาลแขวงดุสิตมีคำพิพากษายกฟ้องทั้งสองคดีไปแล้วก่อนหน้านี้ โดยวินิจฉัยในทำนองเดียวกันว่า จำเลยเพียงเข้าร่วมชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ตามรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่การชุมนุมมั่วสุม

.

ย้อนอ่านข่าวแจ้งข้อกล่าวหา >>> คดีพุ่งต่อเนื่อง แจ้งข้อหาพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 3 นักกิจกรรม จากชุมนุม #ม็อบ18ตุลาไปอนุสาวรีย์ชัย

X