ศาลยกฟ้องคดี “โตโต้-รุ้ง-เพนกวิน” ร่วมชุมนุมต้านรัฐประหารเมียนมา ชี้สถานที่ไม่แออัด เป็นการแสดงออกตามวิถีทางประชาธิปไตย

วันที่ 30 ม.ค. 2566 เวลา 10.00 น. ศาลแขวงพระนครใต้นัดฟังคำพิพากษา คดีชุมนุม #StandWithMyanmar หน้าสถานเอกอัครทูตสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาประจำประเทศไทย ถนนสาธรเหนือ เพื่อต่อต้านการรัฐประหารของ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 ของสามนักกิจกรรมคือ ‘โตโต้’ ปิยรัฐ จงเทพ, ‘รุ้ง’ ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และ ‘เพนกวิน’ พริษฐ์ ชิวารักษ์ 

คดีนี้ทั้งสามคนถูกกล่าวหาใน 2 ข้อหา ได้แก่ ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต กล่าวหาว่าทั้งสามคนได้เข้าร่วมการชุมนุมดังกล่าว และได้ใช้เครื่องขยายเสียงที่ติดตั้งบนรถกระบะกล่าวปราศรัยกับผู้ชุมนุม ซึ่งเป็นการใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน 

ในวันดังกล่าวยังมีการสลายการชุมนุมและการจับกุมผู้ชุมนุม หลังเจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชนได้พยายามเดินเข้ายึดพื้นที่บนถนนในช่วงท้ายของการชุมนุม

คดีนี้อัยการมีการสั่งฟ้องคดีเมื่อเดือนมกราคม 2565 และศาลแขวงพระนครใต้นัดสืบพยานทั้งหมด 4 นัด ในช่วงเดือนตุลาคม 2565 ก่อนนัดฟังคำพิพากษาในวันนี้

.

ย้อนอ่านข่าวการแจ้งข้อกล่าวหา >>> แจ้งข้อหา 10 ประชาชน-เยาวชน คดีชุมนุมหน้าสถานทูตเมียนมา พบ 1 ในผู้ได้รับหมายเรียกไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ

.

ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 6 ศาลออกนั่งพิจารณาคดี อ่านคำพิพากษาให้ฟังโดยย่อว่า ศาลยกฟ้องข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เนื่องจากบริเวณที่ชุมนุมไม่ใช่สถานที่แออัด และไม่ได้ยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย และยกฟ้องข้อหาตาม พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ เนื่องจากโจทก์ไม่ได้นำสืบให้ทราบว่าจำเลยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยศาลวินิจฉัยใน 3 ประเด็น ดังนี้

1. ฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในประเด็นห้ามร่วมกันชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุม ณ ที่ใดๆ ในสถานที่ที่แออัด

ศาลวินิจฉัยว่า ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต้องปรากฏว่าการชุมนุมเกิดในสถานที่แออัด ข้อเท็จจริงปรากฎว่าเกิดการชุมนุมหน้าสถานทูตเมียนมา ผู้ชุมนุมรวมตัวอยู่บนทางเท้าและช่องทางจราจร แต่ยังเหลือ 2 ช่องทางจราจรซึ่งรถสามารถสัญจรได้ บริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่สาธารณะที่มีลักษณะเปิดโล่ง ผู้ชุมนุมเว้นระยะห่างพอสมควร สามารถเคลื่อนไหวไปมาได้สะดวก สถานที่ชุมนุมจึงไม่เป็นสถานที่แออัด

2. ฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในประเด็นห้ามกระทำการอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย

ศาลเห็นว่า จำเลยโพสต์เชิญชวนให้ประชาชนมาชุมนุมเท่านั้น ไม่ได้ยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย การมีข้อเรียกร้องให้ต่อต้านการรัฐประหารเป็นการแสดงออกทางการเมืองตามวิถีทางประชาธิปไตย และจำเลยทั้งสามไม่อยู่ในที่เกิดเหตุตอนสลายการชุมนุม จึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยในประเด็นอื่น

3. ฝ่าฝืน พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ 

ศาลวินิจฉัยว่า พยานโจทก์และจำเลยแถลงว่าเจ้าพนักงานตำรวจไม่ใช่ผู้มีอำนาจอนุญาตให้ใช้เครื่องขยายเสียง และโจทก์ไม่ได้นำบุคคลที่เกี่ยวข้องมานำสืบให้ทราบว่าจำเลยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ศาลพิพากษายกฟ้อง

.

ทั้งนี้ คดีนี้นับเป็นคดีจากการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ปี 2563 ที่ถูกฟ้องในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คดีที่ 54 แล้ว ที่ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องออกมา (ดู สถิติคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ศาลยกฟ้อง-อัยการสั่งไม่ฟ้อง)

X