วันฮาโลวีน: อัยการสั่งฟ้องคดีชุมนุมตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯ 4 คดีรวด ประชาชนถูกฟ้องรวมกว่า 40 ชีวิต

วันที่ 31 ต.ค. 2565 พนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องคดีจากการชุมนุมทางการเมืองในช่วงปี 2564 ทั้งหมด 4 คดีรวด ต่อศาลแขวงดุสิต ทุกคดีมีข้อหาหลักตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยมีนักกิจกรรมและประชาชนที่ตกเป็นจำเลยมากกว่า 40 ราย ประกอบไปด้วย คดีชุมนุมราษฎรยืนยันดันเพดาน เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2564 อัยการได้ฟ้องคดีแยกสำหรับ อานนท์ นำภา, “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา, “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก และ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ ในฐานะแกนนำ และฟ้องคดีกับประชาชนอีกจำนวน 25 ราย รวม 29 คน ในเหตุเดียวกันนี้

สำหรับกรณีที่สอง อัยการได้สั่งฟ้องคดี #ม็อบ20กุมภา ในกิจกรรมร่วมอภิปรายไม่ไว้วางใจนอกสภา ที่บริเวณหน้าอาคารรัฐสภา เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2564 โดยในคดีนี้ได้มีแกนนำและนักกิจกรรมอาทิ “ไบรท์” ชินวัตร จันทร์กระจ่าง, “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, “ครูใหญ่” อรรถพล บัวพัฒน์ และ “ตี้” วรรณวลี ธรรมสัตยา รวมกับประชาชนที่ถูกดำเนินคดีนี้ รวมทั้งสิ้น 16 ราย 

และกรณีสุดท้าย เป็นเหตุจากการชุมนุม #ม็อบ13กุมภา หรือ #นับ1ถึงล้านคืนอำนาจให้ประชาชน ซึ่งจัดบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2564 อัยการได้ฟ้องคดีของประชาชนและนักกิจกรรมรวมทั้งหมด 7 ราย นำโดย “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก 

ชุมนุมราษฎรยืนยันดันเพดาน หรือ #ม็อบ24มิถุนา64 อัยการแยกฟ้อง 2 คดี ในเหตุเดียวกัน

กิจกรรมชุมนุม “ราษฎรยืนยันดันเพดาน 89 ปี การอภิวัฒน์สยาม” เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2564 บริเวณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งจัดขึ้นโดยกลุ่มราษฎร ในวันนั้นมีการปราศรัยสนับสนุนให้แก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้ง รวมไปถึงการร่างรัฐธรรมนูญที่ยุติการสืบทอดอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาและคณะ และสามารถแก้ไขได้โดยไม่มีข้อยกเว้นในหมวดใด รวมถึงยืนยันข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ กิจกรรมยังมีการจำลองหมุดคณะราษฎร, กิจกรรมจุดเทียนรำลึกถึงการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง และการอ่านแถลงการณ์ของคณะราษฎรร่วมกัน

ทั้งนี้ อัยการศาลแขวงดุสิต 3 ได้สั่งฟ้อง โดยแบ่งแยกคดีเป็น 2 สำนวน ได้แก่ คดีของแกนนำ 4 ราย ในฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 15) โดยร่วมกันชุมนุมในสถานที่แออัด และทำกิจกรรมมั่วสุมที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19  และคดีของนักกิจกรรมและประชาชนอีก 25 ราย ในข้อกล่าวหาเดียวกัน รวมทั้งสิ้น 29 คน

ชุมนุม #ม็อบ20กุมภา กิจกรรมร่วมอภิปรายไม่ไว้วางใจนอกสภา เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2564 

สำหรับกิจกรรม #ม็อบ20กุมภา64 ที่หน้ารัฐสภาเกียกกายนั้น มีการจัดเวทีปราศรัยอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐสภาที่ด้านนอกรัฐสภา โดยมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์การบริหารงานของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รวมไปถึงการเรียกร้องให้ยกเลิกข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยก่อนยุติกิจกรรม ยังมีการอ่านจดหมาย “หมุดหมายการต่อสู้ครั้งต่อไปของพวกเรา” เพื่อชี้ว่าประชาชนไม่สามารถให้ความหวังกับการเมืองในระบอบรัฐสภา พร้อมกับขอให้ยืนยันข้อเรียกร้อง 3 ข้อของคณะราษฎร และโปรย “ตั๋วช้าง” ด้านหน้ารัฐสภา

ในคดีนี้ พนักงานอัยการสั่งฟ้องคดีแกนนำและประชาชน 16 ราย ในข้อกล่าวหาร่วมกันฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ และร่วมกันจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุด

ชุมนุม #ม็อบ13กุมภา หรือ #นับ1ถึงล้านคืนอำนาจให้ประชาชน ที่บริเวณหน้าอาคารรัฐสภา เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2564

การชุมนุม #ม็อบ13กุมภา หรือ กิจกรรมนับ 1 ถึงล้าน คืนอำนาจให้ประชาชน ซึ่งกลุ่มผู้ชุมนุมทั้งผู้ต้องหาได้นัดรวมตัวกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัว 4 แกนนำราษฎรซึ่งถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีมาตรา 112 จากการชุมนุม 19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร โดยมีกิจกรรมห่มผืนผ้าสีแดงขนาดใหญ่ที่มีข้อความจากประชาชนถึงรัฐบาลคลุมรอบอนุสาวรีย์ฯ และกลุ่มผู้ชุมนุมได้เข้าไปรื้อกระถางต้นไม้ที่วางประดับอยู่รอบๆ ฐานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ต่อมามีการเคลื่อนขบวนไปยังศาลหลักเมือง และทำกิจกรรม “เทน้ำ” หน้าประตูศาลหลักเมือง ขอให้คุ้มครองราษฎร ก่อนยุติการชุมนุมเวลา 20.30 น. ในวันดังกล่าว

ในคดีนี้ อัยการได้สั่งฟ้อง “ไมค์” ภาณุพงศ์ และพวก รวม 7 คน ในข้อกล่าวหาร่วมกันฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ  โดยเฉพาะไมค์ ภาณุพงศ์ และรุ้ง ปนัสยา ถูกฟ้องในข้อกล่าวหาร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ด้วย

ในทุกคดีดังกล่าว พนักงานอัยการ จากสำนักอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวงดุสิต 3 เป็นผู้ทำสำนวนสั่งฟ้อง ศาลแขวงดุสิตได้รับฟ้องไว้ และอนุญาตให้ประกันตัวจำเลยทุกคนโดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์ แต่ให้สาบานตนว่าจะมาตามนัด พร้อมกำหนดนัดพร้อมในทุกคดีต่อไปวันที่ 19 ธ.ค. 2565 เวลา 09.00 น.

X