วันที่ 19 มี.ค. 64 เวลา 10.00 น. ร.ต.ท.รณกร วัฒนกุล รอง สว.(สอบสวน) สถานีตำรวจนครบาลสําราญราษฏร์ ได้เดินทางเข้าแจ้งข้อกล่าวหา ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 “ทำให้เสียทรัพย์” และข้อหาอื่น ๆ อีก 5 ข้อหา จากกรณี #ม็อบ13กุมภา หรือ #นับ1ถึงล้านคืนอำนาจให้ประชาชน ซึ่งจัดบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2564
คดีนี้มีผู้ถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 9 ราย ได้แก่ “ครูใหญ่” อรรถพล บัวพัฒน์, “ตี้-พะเยา” วรรณวลี ธรรมสัตยา, “แอมป์” ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา, ชนินทร์ วงษ์ศรี นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, เกียรติชัย ตั้งภรณ์พรรณ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, “แหวน” ณัฏฐธิดา มีวังปลา, ธนาธร วิทยเบญจางค์ นักศีกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่, “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก และ “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล
โดยอรรถพล, วรรณวลี, ณวรรษ, ชนินทร์, เกียรติชัย, ณัฏฐธิดา และธนาธร ได้เดินทางไปรับทราบข้อหาแล้วเมื่อวันที่ 4 มี.ค. 64 ปนัสยาเดินทางไปรับทราบข้อหาในวันที่ 7 มี.ค. 64 ส่วนภาณุพงศ์ยื่นหนังสือต่อพนักงานสอบสวน ขอเลื่อนนัดรับทราบข้อหาเป็นวันที่ 10 มี.ค. แต่ภายหลังถูกคุมขังในเรือนจำระหว่างพิจารณาคดี ในคดีมาตรา 112 จากการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค. 64 ทำให้ไม่สามารถไปรับทราบข้อกล่าวหาได้ตามนัดหมาย
ในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาได้อธิบายพฤติการณ์ของคดีไว้ว่า ภาณุพงศ์ (ผู้ต้องหาที่ 1) ได้เข้าร่วมการชุมนุม และมีการขึ้นปราศรัย โดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต กลุ่มผู้ชุมนุมได้มีการนำผ้าแดงขนาดใหญ่ลงไปปูพื้นถนนผิวการจราจร เพื่อร่วมกันเขียนข้อความ และกลุ่มผู้ชุมนุมจำนวนมากลงไปทำกิจกรรมบนถนน มีการปิดเส้นทางการจราจรโดยไม่รับอนุญาต
นอกจากนี้ผู้ต้องหายังได้ร่วมกันปราศรัยและสั่งให้กลุ่มผู้ชุมนุมเข้าไปรื้อกระถางต้นไม้ที่วางประดับอยู่รอบๆ ฐานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งปนัสยา และกลุ่มผู้ชุมนุมได้เข้าไปรื้อกระถางต้นไม้ที่วางประดับอยู่รอบ ๆ ฐานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่อยู่ในความดูแลของกรุงเทพมหานครได้รับความเสียหายคิดเป็นเงิน 5,968,000 บาท
สำหรับข้อหาที่พนักงานสอบสวนแจ้งต่อภาณุพงศ์มีทั้งหมด 6 ข้อกล่าวหา ได้แก่
- ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 358 ทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์ของผู้อื่นหรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร่วมกันจัดให้มีกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากในลักษณะมั่วสุมกัน หรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันง่าย ชุมนุมทำกิจกรรมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ ในสถานที่แออัด หรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34 (6) กระทำการหรือดำเนินการใด ๆ ซึ่งอาจก่อสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายหรือโรคแพร่ระบาดออกไป ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ โทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท
- ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 385 ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะจนอาจเป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัยหรือความสะดวกในการจราจร โดยวางหรือทอดทิ้งสิ่งของ หรือโดยกระทำด้วยประการอื่นใด โทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท
- พ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาตรา 39 ร่วมกันติดตั้ง ตาก วาง หรือแขวนสิ่งใด ๆ ในที่สาธารณะโดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ โทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
- พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ มาตรา 4 ร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ โทษปรับไม่เกิน 200 บาท
เบื้องต้นภาณุพงศ์ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และปฏิเสธจะลงลายมือชื่อในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา โดยจะส่งคำให้การเป็นหนังสือเพิ่มเติมภายใน 30 วัน
ปัจจุบัน ภาณุพงศ์ยังคงถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เป็นเวลา 15 วันแล้ว