ฟ้อง อานนท์-แกนนำราษฎร 5 ราย ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กรณีจัด ‘ม็อบมุ้งมิ้ง’ ตอบโต้รองโฆษกกองทัพบก เมื่อ ก.ค. 63

8 ก.ค. 2564 ‘เพนกวิน’ พริษฐ์ ชิวารักษ์, อานนท์ นำภา, ‘ไมค์’ ภาณุพงศ์ จาดนอก, สุวรรณา ตาลเหล็ก และ ‘โตโต้’ ปิยรัฐ จงเทพ นักกิกรรม แกนนำกลุ่ม “ราษฎร” พร้อมทนายความเดินทางมาตามนัดฟังคำสั่งอัยการฝ่ายคดีศาลแขวงดุสิต ก่อนอัยการมีคำสั่งฟ้อง และยื่นฟ้องต่อศาลแขวงดุสิต ในข้อหา ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และข้อหาอื่นรวม 4 ข้อหา จากกรณี ร่วมปราศรัยในกิจกรรม “ม็อบมุ้งมิ้ง” ที่หน้ากองบัญชาการกองทัพบก เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2563 ทั้งหมดได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์ 

สำหรับคดีปราศรัยหน้ากองทัพบกนี้จัดขึ้นเพื่อตอบโต้คำปรามาสของ พ.อ.หญิง นุสรา วรภัทราทร อดีตรองโฆษกกองทัพบกว่า การชุมนุม “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2563 เป็น “ม็อบมุ้งมิ้ง” และตั้งคำถามกับการจัดสรรงบประมาณของกองทัพบก หลังมีข่าวว่ากองทัพบกอนุมัติจัดซื้ออาวุธและเครื่องบิน VIP เป็นราคา 1,348 ล้าน ในวันนั้นสุวรรณาเป็นพิธีกรดำเนินรายการ ส่วนอานนท์, พริษฐ์, ปิยรัฐ, และภาณุพงศ์นั้นเป็นผู้ปราศรัย โดยทั้ง 5 คนได้ทยอยเดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.นางเลิ้ง เมื่อวันที่ 25 ส.ค. และ 2 ก.ย. 2563

>> 4 ใน 5 ผู้ต้องหาคดี “ม็อบมุ้งมิ้ง” หน้ากองทัพบกรับทราบ 6 ข้อกล่าวหา รวมฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
>> ‘ไมค์ ภาณุพงศ์’ รับทราบ 6 ข้อกล่าวหาคดี “ม็อบมุ้งมิ้ง” ปราศรัยหน้ากองทัพบก 

เวลา 13.00 น. หลังแจ้งคำสั่งฟ้องต่อนักกิจกรรมทั้งห้า สมโชค ศรีถาวร พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวงดุสิต ยื่นฟ้องต่อศาลแขวงดุสิต โดยบรรยายฟ้องใจความว่า

1. เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2563 เวลากลางวันถึงเวลากลางคืนหลังเที่ยงต่อเนื่องกัน จําเลยทั้งห้าซึ่งเป็นแกนนําผู้จัดการชุมนุมกับพวกรวม 40 คน ได้ร่วมกันตั้ง วาง เวทีเหล็ก ลําโพงขยายเสียง ขนาด 800 วัตต์ จํานวน 7 ตัว ลงในช่องเดินรถทางคู่ขนาน บนถนนราชดําเนินนอก บริเวณหน้ากองบัญชาการกองทัพบก ซึ่งเป็นทางสาธารณะในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจร จนรถไม่สามารถวิ่งผ่านได้ โดยไม่จําเป็นและไม่ได้รับอนุญาต จากนั้นได้ร่วมกันจัดให้มีการชุมนุม มั่วสุม เพื่อทํากิจกรรมวิจารณ์โจมตีพันเอกหญิงนุสรา วรภัทราทร รองโฆษกกองทัพบกซึ่งได้แสดงความเห็นทางเฟซบุ๊กว่า การทํากิจกรรมทางการเมืองของกลุ่มนักศึกษาเป็นม็อบมุ้งมิ้ง ในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค เนื่องจากไม่มีมาตรการป้องกันการแพร่เชื้อโรคที่ทางราชการกําหนด และไม่ใช่การทํากิจกรรมภายในครอบครัวที่อยู่ในเคหสถานของตนเองหรือกิจกรรมของทางราชการ 

2. ตามวันเวลาดังกล่าวจำเลยทั้งห้า ได้ร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงทำการปราศรัยบนเวทีเพื่อประกอบการวิจารณ์โจมตี พันเอกหญิงนุสรา วรภัทราทร รองโฆษกกองทัพบก โจมตีการทำงานของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล ให้แก่ผู้เข้าร่วมชุมนุมและประชาชนทั่วไป โดยไม่ได้รับอนุญาต

อัยการระบุว่า การกระทำของจำเลยทั้งห้าเป็นความผิดรวม 4 ข้อหา ได้แก่

  1. ร่วมกันจัดให้มีการชุมนุมจัดกิจกรรมหรือมั่วสุม ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัดในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่ของเชื้อโรค ฝ่าฝืนประกาศและข้อกำหนดที่ออกตามมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 
  2. ร่วมกันจัดให้มีการชุมนุมกีดขวางทางสาธารณะ จนอาจเป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัยหรือความสะดวกในการจราจร เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385 
  3. วาง ตั้ง ยื่น หรือแขวนสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือกระทำประการใดๆ ในลักษณะเป็นการกีดขวางจราจรเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 114 
  4. ร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ มาตรา 4 

พนักงานอัยการได้ขอให้ศาลนับโทษจำคุกของ อานนท์ นำภา (จําเลยที่ 1) ในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกในคดีหมายเลขดําที่ 649/2562 ของศาลอาญา (คดีแกนนำคนอยากเลือกตั้ง- ARMY57), นับโทษพริษฐ์ ชิวารักษ์ (จําเลยที่ 2) ในคดีนี้ต่อจากโทษในคดีหมายเลขดําที่ 767/2563 ของศาลแขวงปทุมวัน (คดีชุมนุม #ไม่ถอยไม่ทน ที่สกายวอล์ค แยกปทุมวัน), นับโทษภาณุพงศ์ จาดนอก (จําเลยที่ 3) ต่อจากโทษในคดีหมายเลขดําที่ 1061/2564 ของศาลแขวงระยอง (คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กิจกรรมทวงความเป็นธรรมให้วันเฉลิม) และนับโทษปิยรัฐ จงเทพ (จําเลยที่ 4) ต่อจากโทษจำคุกในคดีหมายเลขดําที่ 3089/2562 ของศาลอาญา (คดีแกนนำคนอยากเลือกตั้ง-UN62) กับหมายเลขดําที่ 1130/2563 ของศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ (คดีวิ่งไล่ลุงกาฬสินธุ์)

ภายหลังศาลรับฟ้อง เจ้าหน้าที่ได้ให้นักกิจกรรมทั้งห้าเข้าห้องเวรชี้เพื่อฟังศาลอ่านคำฟ้องและถามคำให้การ เบื้องต้นทั้ง 5 คน ให้การปฏิเสธ ศาลได้กำหนดนัดพร้อม สอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 18 ต.ค. 2564 เวลา 9.00 น.

เวลา 14.45 น. หลังทนายความยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดีโดยไม่วางหลักประกัน ศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่ต้องวางหลักประกัน เพียงแต่ให้จำเลยทั้ง 5 คนทำประวัติ และสาบานตนว่าจะมาตามนัดของศาล  

นับตั้งแต่วันจัดกิจกรรมคือเมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2563 จนถึงวันที่อัยการยื่นฟ้องเป็นเวลาเกือบ 1 ปี โดยคดีนี้ อัยการไม่ได้ยื่นฟ้องในกำหนดผัดฟ้อง 30 วัน จึงต้องขออนุญาตฟ้องต่ออัยการสูงสุด โดยรองอัยการสูงสุด ซึ่งได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุดมีคำสั่งอนุญาตให้ฟ้องนักกิจกรรมทั้งห้าเมื่อวันที่ 6 ก.ค. 2564 ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่า มีข้อกล่าวหาบางข้อหามีเพียงอัตราโทษปรับ เช่น พ.ร.บ.จราจรฯ มาตรา 114 และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ ซึ่งมีอายุความไม่เกิน 1 ปี ทำให้อัยการต้องยื่นฟ้องก่อนที่คดีจะครบ 1 ปี นับตั้งแต่วันเกิดเหตุ 

.

X