อานนท์-เพนกวิน พบหน้าญาติในรอบ 70 วัน หลังรอการเบิกตัวกว่า 5 ชั่วโมง ในนัดตรวจพยานหลักฐาน “ม็อบมุ้งมิ้ง” เริ่มสืบพยาน พ.ค. 65


18 ต.ค. 2564 ศาลแขวงดุสิตนัดตรวจพยานหลักฐานในคดี “ม็อบมุ้งมิ้ง” กรณีปราศรัยในกิจกรรมที่หน้ากองบัญชาการกองทัพบก เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 63  คดีนี้มีจำเลยที่ถูกขังอยู่ในคดีอื่นๆ รวม 3 คน ประกอบด้วย อานนท์ นำภา, ‘ไมค์’ ภาณุพงษ์ จาดนอก, ‘เพนกวิน’ พริษฐ์ ชิวารักษ์ นอกจากนี้ยังมี สุวรรณา ตาลเหล็ก และ ‘โตโต้’ ปิยรัฐ จงเทพ เป็นจำเลยร่วมในคดี

มูลเหตุของคดีนี้คือ เมื่อมีการจัดกิจกรรมที่หน้ากองทัพบก เพื่อตอบโต้คำปรามาสของ พ.อ.หญิง นุสรา วรภัทราทร อดีตโฆษกกองทัพบก ว่าการชุมนุมเยาวชนปลดแอกเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 63 เป็น “ม็อบมุ้งมิ้ง” และตั้งคำถามกับการจัดสรรงบประมาณของกองทัพบก หลังมีข่าวว่ากองทัพบกอนุมัติจัดซื้ออาวุธและเครื่องบิน VIP เป็นราคา 1,348 ล้านบาท ในวันนั้นสุวรรณาเป็นพิธีกรดำเนินรายการ ส่วนอานนท์, พริษฐ์, ปิยรัฐ และภาณุพงศ์ ร่วมขึ้นปราศรัย ทั้งหมดถูกฟ้องในข้อหาหลักคือการฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

เวลา 9.30 น. สุวรรณาและปิยรัฐ พร้อมทนายความเดินทางมาถึงห้องพิจารณา 502 โดยบรรยากาศบริเวณห้องพิจารณามีมวลชนและครอบครัวของจำเลยที่ถูกคุมขังจำนวน 20-30 คน มารอพบจำเลย อาทิ รุ้ง ปนัสยา, สมยศ พฤกษาเกษมสุข, ปูน ธนพัฒน์ ด้วยสถานการณ์โควิดและห้องพิจารณาที่มีพื้นที่จำกัด บางส่วนจึงต้องนั่งอยู่หน้าห้องพิจารณา 

อย่างไรก็ดี เมื่อเวลาผ่านไปกว่า 1 ชั่วโมง อานนท์ เพนกวิน และไมค์ ยังไม่ได้ถูกนำตัวมาศาลแต่อย่างใดทำให้ทนายความสอบถามไปยังเจ้าหน้าที่ จึงทราบว่า อานนท์ถูกเบิกตัวไปที่ศาลอาญารัชดา ในนัดถามคำให้การคดีแฮร์รี่ พอตเตอร์ เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2563 นอกจากนี้ทางราชทัณฑ์ยังได้แจ้งเหตุขัดข้องจากสถานการณ์โควิดไม่สามารถเบิกตัวไมค์และเพนกวินมาศาลได้ โดยจะขอเบิกตัวมาทางจอภาพแทน

อย่างไรก็ตาม ทนายความได้แจ้งต่อศาลว่าเนื่องจากในคดีที่ศาลอาญา มีทนายความคนเดียวกันกับคดีที่ศาลแขวงดุสิตจึงได้ให้เสมียนทนายไปยื่นขอเลื่อนนัดพิจารณาไว้ก่อนแล้ว และทนายความได้เขียนคำร้องต่อศาลมีใจความว่า

“จำเลยในคดีนี้ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ตามคำสั่งขังของศาลอาญา ในการติดต่อสื่อสาร ปรึกษาหารือดำเนินไปด้วยความยากลำบาก ทนายความไม่สามารถนำเอกสารคดีให้จำเลยตรวจดูได้โดยสะดวก ส่วนพยานวัตถุต่างๆ ไม่สามารถส่งให้จำเลยตรวจดูได้เลย ทำให้จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดีเป็นอย่างมาก และไม่มีโอกาสแสวงหาพยานหลักฐานมาต่อสู้คดีอย่างเต็มที่และเป็นธรรม

“เพื่อให้โอกาสจำเลยได้มีโอกาสปรึกษาคดีกับทนายความได้อย่างเต็มที่ จึงขอศาลได้โปรดเบิกตัวจำเลยมาพิจารณาที่ศาล โดยจำเลยไม่ประสงค์ที่จะพิจารณาทางจอภาพเพราะไม่สะดวก และทำให้จำเลยเสียเปรียบ 

“อนึ่งในการนำจำเลยมาศาลสามารถกระทำได้ เพราะวันดังกล่าวนี้ เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครได้เบิกตัวอานนท์ นำภา ไปที่ศาลอาญา เพื่อพิจารณาคดี หากเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์มีเหตุขัดข้องประการใด ขอศาลได้โปรดเรียกไต่สวนเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ประจำศาลแขวงดุสิตด้วย”

ภายหลังจากมีการประสานงานกันระหว่างเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ เจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์ที่ศาลอาญาและศาลแขวงดุสิต รวมถึงศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้นำตัวอานนท์ ไมค์ และเพนกวิน มาที่เรือนจำ โดยให้มีการนำตัวอานนท์มาจากศาลอาญา 

อัยการได้แถลงคัดค้านโดยระบุว่า ตนมีงานมากมายที่ต้องทำในช่วงบ่าย หากไม่สามารถเสร็จนัดตรวจพยานได้ในช่วงเช้า ก็ขอให้เลื่อนการพิจารณาไปก่อน 

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากจำเลยในคดีนี้ มีคดีที่รอพิจารณาอยู่อีกหลายคดีและหลายนัด รวมถึงใช้ทนายหลายชุด หากมีการกำหนดวันนัดใหม่ ก็อาจจะชนกับนัดอื่นๆ ที่ได้นัดไว้แล้วของทนายความชุดอื่น ศาลจึงอนุญาตให้พิจารณาคดีนี้ต่อภายในวันนี้ โดยไม่ได้กำหนดเวลานัดในช่วงบ่าย 

ทั้งนี้ศาล ทนายความ และเจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์ รอคอยให้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์นำตัวจำเลยทั้งสามคนมาศาลเป็นเวลาหลายชั่วโมง โดยไม่ได้ออกจากห้องพิจารณาแต่อย่างใด

เวลาล่วงเลยไปถึง 14.20 น. มวลชนที่พักรับประทานอาหารและรออยู่บริเวณลานจอดรถศาลแขวงดุสิต ส่งเสียงต้อนรับรถผู้ต้องขัง ที่นำตัวอานนท์ ไมค์ และเพนกวินมาถึงศาล 

ครอบครัวและเพื่อนสนิททยอยกลับเข้ามาในห้องพิจารณา โดยเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้เข้ามาขอความร่วมมือและประสานงานกับผู้พิพากษาว่าไม่อยากให้มีผู้ใดเข้าห้องพิจารณา โดยอ้างว่าเป็นมาตรการโควิดของเรือนจำ และเกรงจะมีความวุ่นวายหากอนุญาตให้ผู้ที่ไม่ใช่คู่ความเข้าห้องพิจารณา 

นอกจากนี้ยังมีการพยายามจัดที่นั่งของผู้ต้องขังไม่ให้นั่งใกล้กับใครทั้งสิ้น แต่เนื่องจากห้องพิจารณามีขนาดเล็ก ไม่อาจจัดที่นั่งที่จะไม่ติดกับใครได้ ท้ายที่สุดจึงมีการจัดที่นั่งให้ทั้ง 3 คน นั่งบริเวณม้านั่งหลังทนายความจำเลย ทำให้มีคอกกั้นและระยะห่างอยู่ระหว่างผู้เข้าฟังการพิจารณาและจำเลย

ทางด้านทนายความจำเลยแถลงให้การรับประกันต่อศาลว่าจะไม่มีความวุ่นวายเกิดขึ้นในห้องพิจารณา โดยขอให้ศาลเห็นใจผู้ที่ถูกคุมขังเนื่องจากไม่สามารถเจอครอบครัวได้มากว่า 2 เดือนแล้ว  นอกจากนี้ทนายจำเลยยังทำหน้าที่เก็บโทรศัพท์มือถือผู้เข้าร่วมฟังการพิจารณาทุกคนตามที่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ร้องขอ 

เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ยังพยายามพูดคุยกับผู้พิพากษาถึงความกังวลเกี่ยวกับผู้ที่จะมาเข้าฟังการพิจารณา ก่อนเริ่มการพิจารณา ทนายความจำเลยต้องแนะนำกลุ่มคนที่นั่งอยู่ในห้องพิจารณาทีละคนว่าใครมีความเกี่ยวข้องกับจำเลยอย่างไรบ้าง

ท้ายที่สุดในเวลา 15.30 น. เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์กว่า 7 คน จึงนำตัว อานนท์ ไมค์ และเพนกวิน เข้ามาในห้องพิจารณาและนำตัวไปนั่งบริเวณที่นั่งหลังทนายจำเลย โดยมีผู้คุมยืนขนาบข้างด้านละสองคน ทั้งสามสวมรองเท้าแตะ สวมใส่เสื้อ และกางเกงขาสั้นสีน้ำตาล ตัดผมสั้นทรงปกติไม่ได้ถูกตัดผมสั้นเกรียนเหมือนกับการถูกคุมขังครั้งก่อน

ทั้งสามมีหน้าตาที่สดใส วันนี้นับเป็นครั้งแรกในรอบ 70 วัน ที่อานนท์และเพนกวิน ได้ออกจากเรือนจำและได้เจอญาติพี่น้องของตนเอง ทั้งนี้ในห้องมีผู้เข้าร่วมฟังการพิจารณาอีกราว 25 คน ขณะที่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์อีก 3-4 คน ยืนเฝ้าหน้าประตูห้องพิจารณาที่เปิดอยู่ เพื่อไม่ให้ผู้ที่ไม่ได้รับอนุญาตเข้ามาในห้อง

ระหว่างที่กระบวนการตรวจพยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์และจำเลยดำเนินไป ญาติได้พยายามเดินมาคุยกับผู้ที่ถูกคุมขัง แต่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์พยายามควบคุมไม่ให้ใกล้ชิดกันมากเกินไป อย่างไรก็ตามเมื่อเวลาผ่านไป บรรยากาศในห้องพิจารณาผ่อนคลายมากขึ้น ผู้ที่อยู่ในห้องพิจารณาจึงได้ทยอยเข้ามาพูดคุยทักทายกับอานนท์ ไมค์ และ เพนกวิน

สำหรับการตรวจพยานหลักฐานในวันนี้ ฝ่ายโจทก์แถลงขอนำสืบพยานจำนวน 16 คน เป็นประจักษ์พยานจำนวน 4 คน, เจ้าหน้าที่สาธารณสุข, พนักงานสอบสวน, ผู้ถอดเทปการปราศรัย, ผู้รายงานการสืบสวน ขณะที่ฝั่งจำเลยแถลงขอสืบพยานจำนวน 11 คน ได้แก่ ตัวจำเลย นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ รวมถึงเจ้าหน้าที่องค์กรระหว่างประเทศ  

ทั้งนี้พยานคนที่ 11 เป็นแพทย์ที่จะมาช่วยยืนยันเกี่ยวกับสถานการณ์การระบาดของโรคโควิดในขณะเกิดเหตุ แต่ทางด้านทนายจำเลยแถลงว่าแพทย์กำลังอยู่ระหว่างการขออนุญาตต้นสังกัด จึงขอส่งชื่อพยานคนดังกล่าวภายใน 15 วัน 

อัยการโจทก์แถลงติงว่า ทางโจทก์เปิดพยานหลักฐานทั้งหมดแล้ว เหตุใดฝ่ายจำเลยยังไม่เปิดเผยชื่อแพทย์ ไม่สมควรหากจะมีการยื่นบัญชีพยานเพิ่มเติมในภายหลัง อานนท์จึงลุกขึ้นแถลงว่า การพยายามคัดค้านท้วงติงเรื่องการนำแพทย์มาเป็นพยานจำเลยนั้น จะทำให้อัยการถูกมองว่าไม่ส่งเสริมเรื่องการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ของจำเลยเอง จึงอยากให้ระวังในเรื่องดังกล่าว

จากนั้น ศาลได้อนุญาตให้โจทก์สืบพยานรวมทั้งหมด 8 นัด และจำเลยสืบพยานรวม 4 นัด รวม 12 นัด คู่ความจึงตกลงวันนัดสืบพยานระหว่างวันที่ 18-20 พ.ค., 15-17, 22-24, 29-30 มิ.ย. และ 1 ก.ค. 2565


อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

ฟ้อง อานนท์-แกนนำราษฎร 5 ราย ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กรณีจัด ‘ม็อบมุ้งมิ้ง’ ตอบโต้รองโฆษกกองทัพบก เมื่อ ก.ค. 63

X