วันที่ 9 ต.ค. 2566 เวลา 9.00 น. ศาลแขวงดุสิตนัดฟังคำพิพากษาคดีของสมาชิกกลุ่ม ‘ทะลุฟ้า’ และนักกิจกรรมรวม 6 ราย ได้แก่ “ยาใจ” ทรงพล สนธิรักษ์ (จำเลยที่ 1), “บอมเบย์” เจษฎาภรณ์ โพธิ์เพชร (จำเลยที่ 2), “หอย” ธนชัย เอื้อฤาชา (จำเลยที่ 3), “คาริม” จิตริน พลาก้านตง (จำเลยที่ 4), “เก่ง” เกวลัง ธัญญเจริญ (จำเลยที่ 5) และ “พี” พีรพงศ์ เพิ่มพูล (จำเลยที่ 6) ซึ่งถูกฟ้องในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กรณีร่วมชุมนุม “#ม็อบ19สิงหา ไล่ล่าทรราช” เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2564 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
ศาลพิพากษาว่าจำเลยทั้ง 6 คนมีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.จราจรฯ, พ.ร.บ.ความสะอาดฯ และ พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ ลงโทษปรับจำเลยทั้ง 6 คนแตกต่างกันไป และลดโทษให้กึ่งหนึ่งเนื่องจากจำเลยทั้งหมดให้การรับสารภาพ โดยสรุปจำเลยที่ 1, 2 และ 3 ปรับรวมคนละ 2,600 บาท จำเลยที่ 4 และ 5 ปรับรวมคนละ 2,500 บาท ส่วนจำเลยที่ 6 ปรับรวม 3,100 บาท
.
เหตุในคดีนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2564 เพจเฟซบุ๊ก “Thalifah-ทะลุฟ้า” ได้โพสต์เชิญชวนประชาชนให้มาร่วมกิจกรรมชุมนุม “#ม็อบ19สิงหา ไล่ล่าทรราช” โดยมีวัตถุประสงค์ต่อต้านการบริหารงานของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย (อ่านรายละเอียดคดีเพิ่มเติมที่ Mob Data Thailand)
ในวันเกิดเหตุ ผู้ชุมนุมได้มีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการนำผ้าดำไปคลุมพานรัฐธรรมนูญ และแขวนป้ายผ้าคำว่า “ทรราชในคราบ(คนดี)” รวมถึงแขวนป้ายที่แผงเหล็กด้านหน้าอนุสาวรีย์ว่า “ประยุทธ์ต้องลาออกโดยทันที” รวมทั้งยังมีการเขียนสีชอล์คและพ่นสีสเปรย์ลงบนพื้นถนนราชดำเนิน และทำกิจกรรมจุดไฟเผาที่กองฟาง ที่วางรูปภาพของส.ว. 250 คน และพรรคร่วมรัฐบาล
หลังจากนั้น มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมในวันดังกล่าวถึง 10 ราย ได้แก่ จำเลยทั้ง 6 คนในคดีนี้, เยาวชนจำนวน 3 คน ซึ่งคดียังคงอยู่ในชั้นสอบสวน และ “ไดโน่” นวพล ต้นงาม ถูกฟ้องแยกที่ศาลอาญาเนื่องจากถูกกล่าวหาในข้อหาที่มีอัตราโทษสูงกว่า ซึ่งคดีอยู่ระหว่างรอสืบพยานในเดือนธันวาคมนี้
เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2565 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 3 สั่งฟ้องคดีนี้ต่อศาลแขวงดุสิตใน 6 ข้อกล่าวหา ได้แก่ ร่วมกันฝ่าฝืนข้อกําหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะ ตาม ป.อ. มาตรา 385, ร่วมกันกีดขวางการจราจร ตาม พ.ร.บ.จราจรฯ, ร่วมกันติดตั้ง ตาก วาง หรือแขวนสิ่งใดๆ ในที่สาธารณะและบนถนนโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ และร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ
คดีนี้มีนัดสืบพยานโจทก์และจำเลยในวันที่ 14-16 มิ.ย. และ 7, 13 ก.ค. 2566 อย่างไรก็ตามในวันที่สองของการสืบพยาน จำเลยทั้ง 6 คนตัดสินใจเปลี่ยนคำให้การจากปฏิเสธเป็นรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา
วันนี้ (9 ต.ค. 2566) ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 510 จำเลยทั้ง 6 คน ได้ทยอยเดินทางมาที่ห้องพิจารณาคดี ก่อนผู้พิพากษาจะออกนั่งพิจารณาคดีและอ่านคำพิพากษาในคดีนี้โดยสรุป ดังนี้
ศาลเห็นว่าจำเลยทั้ง 6 คนมีความผิดตามฟ้อง โดยในความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.ความสะอาดฯ และ พ.ร.บ.จราจรฯ เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักสุด เห็นว่าจำเลยที่ 1 ถึง 5 เป็นผู้ร่วมชุมนุม ลงโทษปรับคนละ 5,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 6 เป็นผู้ร่วมจัดการชุมนุม ลงโทษปรับ 6,000 บาท
ในความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ ลงโทษปรับจำเลยที่ 1, 2, 3, และ 6 ซึ่งเป็นผู้ปราศรัย ลงโทษปรับคนละ 200 บาท
เนื่องจากจำเลยทั้ง 6 คนให้การรับสารภาพ จึงลดโทษลงกึ่งหนึ่ง ในข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คงลงโทษปรับจำเลยที่ 1 ถึง 5 คนละ 2,500 บาท และจำเลยที่ 6 คงลงโทษปรับ 3,000 บาท ส่วนในข้อหาตาม พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ คงลงโทษปรับจำเลยที่ 1, 2, 3 และ 6 คนละ 100 บาท
สรุปแล้ว จำเลยที่ 1,2 และ 3 ลงโทษปรับรวมคนละ 2,600 บาท จำเลยที่ 4 และ 5 ลงโทษปรับรวมคนละ 2,500 บาท และจำเลยที่ 6 ลงโทษปรับรวม 3,100 บาท ส่วนคำขอของโจทก์ที่ให้นับโทษจำคุกต่อจากคดีอื่นนั้น เนื่องจากศาลลงแค่โทษปรับ ไม่มีโทษจำคุก คำขอส่วนนี้ให้ยก