ฟ้อง 4 นศ.แนวร่วม มธ. #ม็อบ2สิงหา ให้กำลังใจ “ทะลุฟ้า” ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จำเลยถูกจับใส่กุญแจมือหลาย ชม.ก่อนได้ประกัน แม้ไม่ใช่คดีร้ายแรง

17 กันยายน 2564 – พนักงานอัยการจังหวัดธัญบุรีได้มีคำสั่งฟ้องคดี 4 นักศึกษา-นักกิจกรรมกลุ่ม #แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ได้แก่ ปัณณพัทธ์ จันทนางกูล, ชนินทร์ วงษ์ศรี, ชลธิศ โชติสวัสดิ์, และวัชรากร ไชยแก้ว (จำเลย 1 – 4) ในคดีความสืบเนื่องมาจากการเข้าร่วมในการชุมนุมที่ด้านหน้า บก.ตชด.ภาค 1 เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2564 เพื่อให้กำลังใจกลุ่มทะลุฟ้า โดยในคดีนี้ จำเลยทั้ง 4 ถูกฟ้องข้อหา ฝ่าฝืนข้อกำหนดเรื่องการชุมนุมของ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ และมาตรา 34, 35 ของ พ.ร.บ. โรคติดต่อฯ

ในวันดังกล่าว หลังนัดฟังคำสั่งอัยการที่สำนักงานอัยการจังหวัดธัญบุรี พนักงานอัยการได้พาตัวจำเลยที่ 2 – 4 ไปยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดธัญบุรี  ส่วนจำเลยที่ 1 นั้นได้ประกันตัวในชั้นผัดฟ้องฝากขัง (เนื่องจากถูกจับกุมในวันที่มีการชุมนุม โดยเขาถูกดำเนินคดีพร้อมกับกลุ่มทะลุฟ้าที่ถูกจับอยู่ด้านใน) โดยมีนัดรายงานตัวต่อศาลในวันที่ 21 กันยายน 2564 ทนายความจึงยื่นประกันตัวเฉพาะจำเลยที่ 2 – 4 วางหลักประกันรายละ 20,000 บาท โดยใช้เงินจากกองทุนราษฎรประสงค์ และศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว พร้อมทั้งนัดสอบคำให้การจำเลยทั้งสี่พร้อมกันในวันที่ 21 กันยายน 2564

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 21 กันยายน 2564 จำเลยที่ 2 มีภารกิจต้องสอบกลางภาค ทนายจึงยื่นคำร้องขอเลื่อนนัดไปสอบคำให้การในวันที่ 14 ตุลาคม 2564 แทน ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้เลื่อนนัดสอบคำให้การตามคำร้องของทนาย

สำหรับเนื้อหาในคำฟ้องในคดีนี้ ระบุว่า เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2564 เวลากลางวัน จำเลยทั้ง 4 กับพวกอีกหลายคนที่ยังหลบหนีได้ร่วมกันชุมนุมบริเวณสะพานทางเข้า บก.ตชด. ภาค 1 ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มที่มีจำนวนมากกว่า 5 คน มีการพูดผ่านเครื่องขยายเสียงให้ปล่อยผู้ต้องหาที่ถูกควบคุมตัวอยู่ด้านใน ในลักษณะยืนใกล้ชิดกันเป็นเวลานาน เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 โดยไม่ได้รับอนุญาต

ตามวันและเวลาดังกล่าว ภายหลังเกิดเหตุ เจ้าพนักงานได้จับกุมจำเลยที่ 1 ต่อมาเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2564 จำเลยที่ 2 – 4 จึงได้เข้าพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก ในชั้นสอบสวน จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ 

ทั้งนี้ อัยการระบุว่า ขอให้ศาลนับโทษจำคุกของจำเลยที่ 2-4 ในแต่ละคดีนี้เรียงต่อกับโทษจำคุกในคดีอ่านแถลงการณ์ด้านหน้าสถานทูตเยอรมันของศาลอาญากรุงเทพใต้ กรณีของจำเลยที่ 3 (ชลธิศ) เป็นจำเลยในอีกคดีหนึ่ง คือคดีเยาวชนปลดแอก (เซ็ตผู้ชุมนุม) ของศาลแขวงดุสิต ซึ่งอัยการขอให้นับโทษต่อเช่นเดียวกัน

.

+++ ถูกจับใส่กุญแจมือเข้าห้องเวรชี้ แม้ถูกฟ้องคดีจากการชุมนุม +++

ภายหลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการและได้รับการประกันตัว วัชรากร ไชยแก้ว จำเลยในคดี ได้ถ่ายทอดประสบการณ์ของเขาและเพื่อนระหว่างที่ถูกควบคุมตัวอยู่ภายในห้องเวรชี้ ใต้ถุนของศาลจังหวัดธัญบุรี โดยเขาเล่าว่า เจ้าหน้าที่ได้ใส่กุญแจมือเขาและเพื่อน ทั้ง ๆ ที่คดีของทั้ง 3 เป็นคดีทางการเมือง ไม่ใช่คดีอุกฉกรรจ์แต่อย่างใด

“ตอนแรกที่ต้องไปอยู่ที่ใต้ถุนศาลเพื่อรอกระบวนการ แล้วเขาพาเรา 3 คน ไปเข้าห้องเวรชี้ เราคิดว่าเคสเราไม่น่าจะต้องใส่กุญแจมือ เพราะเราไม่เคยเห็นเพื่อนเราต้องใส่กุญแจมือเลย แต่วันนี้พวกเราก็โดน ทั้ง 3 คนถูกล็อกข้อมือติดกัน ในห้องเวรชี้ ตอนที่ศาลเรียก ก็ต้องลุกไปพร้อมกัน แต่โพเดี้ยมมีอันเดียว มันลำบากมาก เราต้องเขย่ง พลัดกันพูดใส่ไมค์เพื่อให้ศาลได้ยิน เพราะเราพูดหลายครั้งแล้วศาลไม่ได้ยิน”

“วันนั้นมีคดีเยอะมาก คนเยอะ ในห้องเวรชี้ใต้ถุนศาลเองก็สกปรก มีทั้งคนไอ อ้วก แล้วเจ้าหน้าที่ยังพูดจาแย่ อีกทั้งกระบวนการของเรามันก็ช้า เราไปที่อัยการตั้งแต่ตอนก่อนเที่ยง ต้องถูกขังในห้องเวรชี้จน 4 โมงครึ่ง ตำรวจศาลถึงเดินมาบอกเราว่า ‘เนี่ย หมายปล่อยมาแล้วนะ แต่เอกสารยังมาไม่ถึง’ เรารอจนเกือบ 5 โมง กว่าจะได้ออก โดยที่ทุกคนถูกใส่กุญแจมือคาอยู่อย่างนั้น จากที่เราคุยกับเพื่อนมา คนที่ถูกใส่กุญแจมือจะต้องโดนคดีที่ร้ายแรงมากๆ มา แต่คดีของเราไม่ใช่ เราเป็นคดีจากการชุมนุม ตอนแรกเราจะเอาน้ำเปล่าเข้าไปด้วย แต่พอตอนต้องเข้าห้องเวรชี้ เจ้าหน้าที่กลับสั่งห้าม”

นอกจากการถูกใส่กุญแจมือแล้ว วัชรากรยังเล่าอีกว่า อีกสิ่งที่เขาตั้งคำถามคือเรื่องการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐ ตั้งแต่อัยการจนถึงตำรวจศาล ซึ่งมีการใช้คำพูดบางอย่างที่รบกวนจิตใจ สะท้อนถึงการใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรม

“ตอนที่เราไปพบอัยการ ก็คุยกันไม่รู้เรื่อง เราถามเรื่องกระบวนการ ถามว่า เอาใบนัดมาให้ ต้องเซ็นอะไรไหม? ไปได้หรือยัง? เขาก็พูดขู่ว่า ‘ไม่ทันนะ ต้องรอเป็นรอบบ่าย’ ถามเราว่า ‘จะเข้าไปโดนขังเลยไหมล่ะ?’ เหมือนกับว่าถ้ารีบ ก็เข้าไปรอในห้องเวรชี้เลยซิ เราก็ตอบว่า ตอนแรกพวกเรามาถึงตั้งนานแล้ว แต่อัยการเอาใบนัดของเราไป แล้วก็เดินไปเดินมา ไม่แน่ใจว่าติดกระบวนการอะไร จนเราต้องติดรอบบ่าย ทั้ง ๆ ที่มันอาจจะทันรอบเช้าด้วยซ้ำ”

“อีกเรื่องคือการใช้อำนาจของตำรวจศาลในห้องเวรชี้ เรารู้สึกว่ามันเป็นเรื่องเกินจำเป็น ทำไมเขาต้องพยายามแสดงออกว่าตัวเองมีอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นการคุยกับจำเลยคนไหนก็ตาม คุยกับเราก็ใช้คำพูดไม่ดี พูดว่า ‘ทำไมมานั่งตรงนี้ มานั่งตรงประตูทำไม?’ ซึ่งเราไม่ได้นั่งตรงประตู เรานั่งเลยมาอีก เขาก็ไล่เราให้ไปนั่งตรงอื่น แล้วในห้องคนมันแน่นมาก ม้าหินก็มีคนนั่งทั้งหมด เราเลยต้องนั่งบนพื้นซึ่งสกปรกมาก ทุกคนก็ใส่รองเท้า ห้องน้ำก็อยู่ใกล้ๆ บริเวณนั้น เป็นทางต่างระดับไปนิดเดียว”

X