เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2564 ที่ สภ.คลองห้า จ.ปทุมธานี เวลา 10.00 น. นักกิจกรรมจากกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม 5 ราย ได้แก่ “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, เบนจา อะปัญ, วัชรากร ไชยแก้ว, ชลธิศ โชติสวัสดิ์, ชนินทร์ วงษ์ศรี รวมทั้ง “ป้าเป้า” วรวรรณ แซ่อั้ง เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาจากเหตุชุมนุม #ม็อบ2สิงหา เรียกร้องให้ #ปล่อยเพื่อนเรา ที่ด้านหน้า บก.ตชด. ภาค 1
ส่วนที่ สน.ลุมพินี ธานี สะสม และพรพจน์ แจ้งกระจ่าง 2 ผู้ชุมนุมเดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติม จากเหตุชุมนุม #ม็อบ25ตุลา และ #ม็อบ18พฤศจิกา เมื่อปี 63 เนื่องจากอัยการตีสำนวนกลับให้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาเพิ่มเติมอีก ในเรื่องการ “ร่วมกันเป็นผู้จัดชุมนุมสาธารณะ”
5 แนวร่วมฯ มธ. – ป้าเป้า ถูกแจ้ง ‘พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ-ม.215’ เหตุ #ม็อบ2สิงหา หน้า บก.ตชด.
คดีนี้สืบเนื่องมาจากกรณีชุมนุมเรียกร้องให้ปล่อยตัวกลุ่มทะลุฟ้าที่หน้า บก.ตชด. ภาค 1 หลังสมาชิกกลุ่มและประชาชน รวม 32 ราย ถูกจับกุมจากการรวมตัวกันทำกิจกรรม “ปล่อยเพื่อนเรามา คืนประชาธิปไตย” ที่หน้าสโมสรตำรวจ เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 64
คดีนี้ ก่อนหน้านี้มีนักกิจกรรมถูกออกหมายจับและแจ้งข้อหาดำเนินคดีไปแล้ว 9 ราย โดยมี 5 ราย ที่ยังไม่ได้รับการประกันตัวในระหว่างสอบสวน ต่อมาตำรวจยังได้ออกหมายเรียกผู้เข้าร่วมเรียกร้องดังกล่าว อีก 6 ราย ให้มารับทราบข้อกล่าวหา โดยคดีมี พ.ต.ท.อัครภัส จายะวานิช เป็นผู้กล่าวหา
พนักงานสอบสวน สภ.คลองห้า ได้แจ้งข้อกล่าวหาและพฤติการณ์ในคดีต่อผู้ต้องหาทั้ง 6 ราย โดยสรุประบุว่า เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 64 เจ้าหน้าที่ตํารวจกองบัญชาการตํารวจนครบาล ได้จับกุมผู้ต้องหา จํานวน 30 คน มาควบคุมที่ บก.ตชด. ภาคที่ 1 ซึ่งอยู่ในรับผิดชอบของ สภ.คลองห้า
ต่อมาได้มีกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ ได้พากันมาชุมนุมเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องหา เมื่อเจ้าหน้าที่ตํารวจเห็นว่าเป็นการฝ่าฝืนข้อกําหนดที่ออกตามความใน มาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และคําสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 19 จึงได้สั่งให้กลุ่มผู้ชุมนุมยุติการชุมนุม
แต่ผู้ต้องหากับพวกไม่ยอมยุติการชุมนุม เจ้าหน้าที่ตํารวจจึงได้ร่วมกันทําการจับกุมตัวผู้ร่วมชุมนุมโดยได้จับกุมตัวนายปัณณพัทธ์ จันทนางกูล ได้ที่บริเวณที่ชุมนุมดังกล่าว ที่เหลือได้หลบหนีไป
ต่อมาพนักงานสอบสวนได้รวบรวมพยานหลักฐานพบว่า ผู้ต้องหาทั้ง 6 ราย ได้ร่วมกันกระทําความผิด จึงได้ออกหมายเรียกมาพบพนักงานสอบสวน
จากพฤติการณ์ดังกล่าว พนักงานสอบสวนจึงได้แจ้งข้อกล่าวหากับทั้ง 6 คน ได้แก่ ข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร่วมกันจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคฯ, ฝ่าฝืนคำสั่งจังหวัดปทุมธานี และข้อหาตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34 (6)
ด้าน “รุ้ง” ปนัสยา, เบนจา และ “ป้าเป้า” วรวรรณ ยังถูกแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 วรรคสาม “มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือ กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง โดยผู้กระทำผิดเป็นหัวหน้า หรือ เป็นผู้มีหน้าที่สั่งการในการกระทำความผิดนั้น”
ทั้งหมดให้การปฎิเสธ และจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือในภายหลัง โดยพนักงานสอบสวนได้นัดหมายเพื่อส่งตัวให้พนักงานอัยการ ในวันที่ 13 ก.ย. 64 เวลา 09.00 น.
2 ผู้ปราศรัยถูกแจ้งข้อหา ‘ร่วมกันเป็นผู้จัดชุมนุม’ เหตุปราศรัยชุมนุม #18พฤศจิกาไปราษฎรประสงค์ และ #ม็อบ25ตุลา เมื่อปี 63
ในวันเดียวกัน ที่สน.ลุมพินี นายธานี สะสม อายุ 59 ปี และนายพรพจน์ แจ้งกระจ่าง วัย 48 ปี 2 ผู้ชุมนุมเดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติม ตามหมายเรียกในสองคดีที่ สน.ลุมพินี เป็นสถานีตำรวจเจ้าของคดี
ในคดีของธานี ก่อนหน้านี้ (9 ธ.ค. 63) ธานีและผู้ต้องหาอื่นในคดีชุมนุม #ม็อบ25ตุลา ได้เคยเดินทางมาพบพนักงานสอบสวนเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาแล้ว โดยขณะนั้นพนักงานสอบสวนได้แจ้ง 2 ข้อหา ได้แก่ ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 10 “ไม่แจ้งการชุมนุมล่วงหน้า” และฝ่าฝืนข้อกำหนดของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
ในส่วนคดีของพรพจน์ ก่อนหน้านี้ (21 ม.ค. 64) พรพจน์ได้เคยเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาในคดี #18พฤศจิกาไปราษฎรประสงค์ โดยขณะนั้นพนักงานสอบสวนได้แจ้ง 2 ข้อหาต่อพรพจน์ ได้แก่ ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ และฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
ต่อมา ภายหลังที่พนักงานสอบสวน สน.ลุมพินี สรุปสำนวนการสอบสวนส่งพนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญาศาลแขวง 6 พนักงานอัยการได้ตีสำนวนกลับให้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาเพิ่มเติมต่อผู้ต้องหา
พนักงานสอบสวนจึงได้แจ้งข้อหาผู้ต้องหาทั้ง 5 ใหม่ว่า “ร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะ โดยจัดกิจกรรมหรือใช้สิทธิเพื่อการชุมนุมใดๆ โดยขัดต่อกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง และไม่จัดให้มีมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกําหนด”
ผู้ต้องหาทั้งสองให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การเป็นหนังสือภายใน 20 วัน จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ปล่อยตัวไป โดยไม่ได้มีการควบคุมตัวไว้
ทั้งนี้ #ม็อบ25ตุลา ที่ถูกจัดขึ้นที่แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 63 เป็นการชุมนุมหลังจาก “ไผ่” จตุภัทร์ได้รับการประกันตัวจากคดีชุมนุม “ราษฎรอีสาน” ซึ่งมีกิจกรรมอย่างหลากหลาย ทั้งแดร็กควีน คณะราษแดนซ์ และมีผู้เข้าร่วมเปิดปราศรัยเป็นเวทีย่อยอย่างหลากหลาย
ด้านชุมนุม #18พฤศจิกาไปราษฎรประสงค์ หรือ #ม็อบ18พฤศจิกา ถูกจัดขึ้นที่บริเวณแยกราชประสงค์ และหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 63 เป็นการชุมนุมเพื่อแสดงออกถึงความไม่พอใจต่อการใช้ความรุนแรงเข้าสลายการชุมนุมที่ขัดต่อหลักการสากลเมื่อวันก่อนหน้า 17 พ.ย. 63 ที่รัฐสภาเกียกกาย