กระทรวงดิจิทัลฯ ร้องศาลขอระงับทวิตวิจารณ์ชุดครอปท็อป เกียรติชัยค้าน “ประเทศประชาธิปไตย สถาบันกษัตริย์ต้องวิจารณ์ได้”

วันนี้ (30 มิถุนายน 2564) เวลา 09.30 น. ที่ศาลอาญา รัชดาฯ นายเกียรติชัย ตั้งภรณ์พรรณ หรือ “บิ๊ก” นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักกิจกรรมกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เดินทางมาตามนัดไต่สวนคำร้องของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งร้องขอต่อศาลให้สั่งระงับการเผยแพร่ข้อความในทวิตเตอร์ ซึ่งมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์การแต่งกายของกษัตริย์ 

คดีนี้สืบเนื่องมาจาก เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2564 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมยื่นคำร้องต่อศาล ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 20 ขอให้สั่งระงับการเผยแพร่ข้อความในเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ จำนวน 4 URL ในจำนวนนี้รวมไปถึงทวิตเตอร์ที่มีข้อความวิจารณ์การแต่งกายของรัชกาลที่ 10 ของเกียรชัย โดยเกียรติชัยเปิดเผยว่าได้รับหมายนัดไต่สวนของศาลอาญา ผ่านทางกล่องข้อความ (DM) ในทวิตเตอร์ โดยผู้ใช้บัญชีที่ไม่ระบุตัวตนแน่ชัด 

> ผู้ใช้เฟซบุ๊ก-ทวิตเตอร์ไม่ต่ำกว่า 7 ราย ได้หมายศาลนัดไต่สวนคำร้องของกระทรวงดิจิทัลฯ ขอปิดกั้นเนื้อหา

เดิมหมายดังกล่าว ระบุวันนัดไต่สวนเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2564 แต่ทนายผู้คัดค้านได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนการไต่สวนออกไป เนื่องจากเกียรติชัยซึ่งเป็นผู้คัดค้าน ไม่สามารถเดินทางมาศาลได้นัดหมาย อีกทั้งยังไม่ทราบรายละเอียดเนื้อหาที่จะทำการคัดค้าน ศาลจึงมีคำสั่งอนุญาตเลื่อนนัดไต่สวนคำร้องเป็นวันนี้แทน

ต่อมาพบว่าข้อความในทวิตเตอร์ที่ถูกกระทรวงดิจิทัลฯ ร้องขอให้ระงับการเผยแพร่นั้น เป็นข้อความวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการแต่งกายในลักษณะชุดครอปท็อปของรัชกาลที่ 10 ว่าไม่เหมาะสมกับบทบาทของสถาบันกษัตริย์

 

++ ไต่สวนคำร้องกระทรวงดิจิทัลฯ ขอระงับเนื้อหาหมิ่นสถาบันฯ เกียรติชัยค้าน วิจารณ์ด้วยความหวังดี หวังสถาบันฯ ปรับตัวสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน ++

เวลาประมาณ 09.30 น. ผู้พิพากษาขึ้นพิจารณา กระทรวงดิจิทัลฯ ผู้ร้องแถลงว่าวันนี้เตรียมพยานมานำสืบ จำนวน 1 ปาก เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ของกระทรวงดิจิทัลฯ ซึ่งถูกแต่งตั้งมาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ส่วนผู้คัดค้านแถลงว่าเตรียมพยานมาสืบ 1 ปาก โดยตัวผู้คัดค้านอ้างตนเป็นพยานเอง

พยานผู้ร้องได้แถลงว่า ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 ที่ถูกแต่งตั้งให้เป็นเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เพื่อยื่นคำร้องต่อศาล ขอให้ระงับโพสต์ที่เข้าข่ายดูหมิ่นสถาบันกษัตริย์เป็นการเฉพาะกิจ โดยเป็นการดำเนินงานตามนโยบายของกระทรวงดิจิทัลฯ และตามกฎหมายของประเทศ ตนได้ยื่นคำร้องขอทำการระงับเนื้อหาที่เข้าข่ายหมิ่นสถาบันกษัตริย์ที่เผยแพร่อยู่ทั้งบนเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และสื่อออนไลน์บนช่องทางอื่นๆ โดยยืนยันว่าไม่เกี่ยวข้องกับความเห็นต่างทางการเมืองแต่อย่างใด

ก่อนจะยื่นคำร้องต่อศาล กระทรวงดิจิทัลฯ ได้ร่วมตรวจสอบอย่างละเอียดถี่ถ้วนกับอีก 3 หน่วยงาน ได้แก่ เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.), ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) และกองป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (ปท.) เพื่อให้มั่นใจว่าโพสต์ดังกล่าวที่ถูกร้องเรียนมาจากประชาชนนั้น เข้าข่ายสร้างความเสื่อมเสียต่อสถาบันกษัตริย์จริง ก่อนจะรวบรวมพยานหลักฐาน และเข้ายื่นคำร้องขอระงับการเผยแพร่เนื้อหาดังกล่าวต่อศาล

ทนายผู้คัดค้านได้ถามพยานผู้ร้องว่า มีขั้นตอนการพิจารณาว่าเนื้อหาดังกล่าวทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติอย่างไร และถูกพิจารณาโดยอีก 3 หน่วยงานที่เหลือแล้วหรือไม่

พยานผู้ร้องแถลงว่า ในการยื่นคำร้องต่อศาลให้ระงับโพสต์ทวิตเตอร์ของเกียรติชัยครั้งนี้ คณะเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งถูกแต่งตั้งมาเป็นการเฉพาะกิจเช่นเดียวกับตนนั้น ได้ทำหน้าที่ตรวจสอบโดยไม่ได้ผ่านการพิจารณาจากอีก 3 หน่วยงานแต่อย่างใด 

ต่อมาเกียรติชัยได้ขึ้นให้การ ก่อนจะสาบานตน ศาลถามว่า “ศาสนาพุทธหรือเปล่า” เกียรติชัยตอบกลับว่า ตนไม่นับถือศาสนาใดๆ ศาลจึงให้ปฏิญาณตนตามความเชื่อ เกียรติชัยจึงปฏิญาณตนว่า “ถ้าข้าพเจ้าเบิกความเท็จ ขอให้ประเทศไม่เป็นประชาธิปไตยและเป็นเผด็จการแบบที่เป็นมา” ก่อนศาลจะทักท้วงว่า “แบบนี้ไม่ใช่แล้ว” เกียรติชัยจึงได้แก้คำปฏิญาณเป็น “ถ้าเบิกความเท็จ ขอให้ได้รับความผิดตามกฎหมาย”

เกียรติชัยได้แถลงว่า ปัจจุบันตนเรียนอยู่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เริ่มใช้บัญชีทวิตเตอร์ดังกล่าวตั้งแต่ปี 2563 โดยได้เปิดเผยตัวตนในทวิตเตอร์อย่างชัดเจน ผ่านการระบุคำอธิบายบัญชีทวิตเตอร์ว่า “สภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักศึกษาคนหนึ่งที่ต้องการประชาธิปไตย ยืนหยัดสู้เพื่อรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า I need democratic socialism!!! สอนไทย, สังคม”

เกียรติชัยแถลงอีกว่า ตนทราบข้อกำหนดในการใช้งานของทวิตเตอร์เป็นอย่างดี ซึ่งข้อกำหนดหลักเกี่ยวข้องกับการห้ามสร้างความรุนแรง สร้างความเกลียดชังต่อชาติพันธุ์ เพศ และอื่นๆ  โดยได้ยกกรณีตัวอย่างการดำเนินการตามข้อกำหนดของทวิตเตอร์ เป็นการที่บัญชีทวิตเตอร์ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ถูกสั่งระงับการใช้งาน เนื่องจากยุยงให้เกิดความรุนแรงในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งล่าสุด 

เกียรติชัยแถลงต่อว่า ตั้งแต่ใช้งานทวิตเตอร์มา ตนไม่เคยถูกทวิตเตอร์สั่งปิดบัญชี ระงับการเผยแพร่เนื้อหา หรือได้รับการแจ้งเตือนในทำนองเดียวกันเลย

จากนั้นทนายผู้คัดค้านได้ยื่นหนังสือต่อศาลเป็นรายละเอียดเกี่ยวกับข้อบังคับของทวิตเตอร์ และศาลได้รับไว้

ต่อมาเกียรติชัยได้แถลง 5 เหตุผลเพื่อคัดค้านการระงับเนื้อหาบนทวิตเตอร์ดังกล่าว โดยได้เกริ่นนำว่า “เรียนศาลที่เท่าเทียม” ก่อนจะกล่าวถึงเหตุผลที่ยกมาคัดค้านในวันนี้ ซึ่งมีเนื้อหายาวกว่า 3 หน้า 

ศาลได้ให้เกียรติชัยกล่าวโดยสรุป และให้นำเนื้อหาฉบับเต็มจัดทำเป็นหนังสือแถลงการณ์และนำส่งศาลในวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 โดยเหตุผลที่ยกมาคัดค้านสรุปได้เป็นดังนี้

1. เจตนาของข้อความในทวิตเตอร์ดังกล่าว มุ่งให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่คู่กับการปกครองระบอบประชาธิปไตยได้อย่างสถาพร

2. ประเทศสากลโลกที่เป็นประชาธิปไตยต้องสามารถวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ได้ เกียรติชัยอ้างว่า ก่อนหน้าการทวิตดังกล่าว ตนได้เคยทวิตภาพการแต่งกายของราชินีเอลิซาเบธ พร้อมเขียนข้อความทำนองวิจารณ์การแต่งกายเช่นกัน

3. เมื่อประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจประชาธิปไตย สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ทุกสถาบันทางการเมือง โดยเฉพาะสถาบันกษัตริย์ที่ประชาชนไม่ได้เป็นผู้เลือกมาด้วยตนเอง แต่มาจากการสืบทอดทางสายเลือด

4. ตุลาการมีหน้าที่คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ถ่วงดุลตรวจสอบการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ ขอให้ศาลช่วยคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนผู้หวังดีต่อประเทศนี้ด้วย

5. กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งประเทศไทยได้ร่วมลงนามเป็นภาคี รองรับสิทธิในการแสดงออกและการแสดงความคิดเห็น โดยในข้อบทที่ 19 ข้อ 1 ความว่า “ทุกคนมีสิทธิในการแสดงออกโดยปราศจากการแทรกแซง” หรือข้อ 2 “ทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพแห่งการแสดงออก สิทธินี้รวมถึงเสรีภาพที่จะแสวงหา รับ และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและความคิดทุกประเภท โดยไม่คำนึงถึงพรมแดน ทั้งนี้ ไม่ว่าด้วยวาจาเป็นลายลักษณ์อักษรหรือการตีพิมพ์ ในรูปของศิลปะ หรือโดยอาศัยสื่อประการอื่นตามที่ตนเลือก”

จากนั้นเกียรติชัยได้แถลงความคิดเห็นถึงการถูกกระทรวงดิจิทัลฯ ร้องให้ระงับเนื้อหาบนทวิตเตอร์ในครั้งนี้ว่า นับเป็นการปิดกั้นเสรีภาพของประชาชน และไม่ได้ทำหน้าที่ของตนเองอย่างที่ควรจะเป็น

ในช่วงท้ายของการไต่สวน ฝ่ายผู้ร้องได้ซักถามประเด็นเกี่ยวกับการเรียนและประวัติการเข้าร่วมกิจกรรมเคลื่อนไหวทางสังคมของเกียรติชัย โดยเขาได้แถลงว่าไม่ได้สนใจเข้าร่วมแต่เพียงกิจกรรมที่ต่อต้านรัฐบาลและเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เท่านั้น แต่ยังสนใจทำงานเรื่องเกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศ และอื่นๆ อีกด้วย 

อีกทั้ง เกียรติชัยยังได้แถลงว่า การโพสต์วิจารณ์การแต่งกายของกษัตริย์ตามที่ถูกร้องให้มีการระงับเนื้อหานั้น เป็นการแนะนำด้วยความหวังดีด้วยใจจริง และหวังจะได้เห็นสถาบันกษัตริย์ไทยปรับตัว และสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนอีกครั้ง

เมื่อการไต่สวนเสร็จสิ้น ศาลอาญาได้กำหนดนัดฟังคำสั่งในวันที่ 8 กรกฎาคม 2564 เวลา 09.00 น. 

 

X