กรณีทิวากร กับปัญหาการบังคับใช้ “พ.ร.บ.สุขภาพจิต” และการบังคับให้กลายเป็น “ผู้ป่วย”

จากกรณีเมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 63 นายทิวากร วิถีตน ชายวัย 47 ปีชาวจังหวัดขอนแก่น ได้แสดงออกโดยการสวมใส่เสื้อ ‘เราหมดศรัทธา​สถาบันกษัตริย์​แล้ว’ พร้อมโพสต์ภาพและอธิบายเหตุผลไว้ในเฟซบุ๊กของเขาว่า “หมดศรัทธา” ไม่ได้แปลว่า “ล้มเจ้า” “หมดศรัทธา” มันคือความรู้สึกที่อยู่ในใจ ที่มีต่ออะไรสักอย่าง ในทำนองเดียวกับ “หมดรัก”, “หมดเยื่อใย”, “หมดใจ”, “หมดความไว้ใจ” มันเป็นเรื่องที่มนุษย์ทุกคน สามารถพูดและแสดงออกมาได้ ตราบใดที่คนที่พูดและแสดงออกไม่ได้ไปทำความเสียหายให้กับทรัพย์สิน ไม่ได้ไปทำร้ายร่างกายคนที่ยังศรัทธา และไม่ได้ทำผิดกฏหมายอย่างอื่น 

ต่อมา ทิวากรได้ถูกเจ้าหน้าที่ กอ.รมน., เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ท่าพระ จ.ขอนแก่น และคาดว่ามีเจ้าหน้าที่ไม่ทราบสังกัดจากส่วนกลาง เข้าติดตามถึงบ้าน โดยเจ้าหน้าที่ได้พยายามพูดโน้มน้าวให้เขาไม่ใส่เสื้อตัวนี้ อ้างว่าถ้าใส่แล้ว อาจทำให้คนในประเทศเกิดการกระทบกระทั่งกัน แล้วเกิดความวุ่นวาย ด้านทิวากรเองยืนยันว่าจะยังคงสวมใส่เสื้อดังกล่าวต่อไป 

จนกระทั่งล่าสุดเมื่อวันที่ 13 ก.ค. 63 มีรายงานข่าวว่านายทิวากร​ได้ถูกควบคุมตัว และนำตัวส่งโรงพยาบาล​จิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์​เพื่อตรวจวินิจฉัยอาการทางจิต ตั้งแต่ในวันที่ 9 ก.ค. 63 โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างน้อย 6 นาย เป็นผู้ควบคุมตัว อีกทั้งระหว่างที่ถูกควบคุมตัวในโรงพยาบาลยังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสภ.เมืองขอนแก่น คอยเฝ้าตลอด 24 ชั่วโมง มีการตรวจบัตรประชาชน​ผู้เข้าเยี่ยม​ และคอยสังเกต​การณ์​ตลอดเวลา​ขณะที่ญาติเข้าเยี่ยมทิวากร

อ่านแถลงการณ์ของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เรียกร้องให้ตรวจสอบและยุติการควบคุมตัวทิวากร กรณีสวมเสื้อเราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว


หลักเกณฑ์และการวินิจฉัย “บุคคลที่มีความผิดปกติทางจิต” ต้องใช้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ข้อมูลเบื้องต้น ทิวากรไม่น่าเข้าข่าย

ประเด็นแรกที่ต้องพิจารณา คือเรื่องหลักเกณฑ์ในการระบุว่า “บุคคลใดอาจมีอาการผิดปกติทางจิต” และบุคคลนั้นต้องเข้ารับการตรวจสอบ วินิจฉัย หรือบำบัดรักษา ภายใต้พระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ. 2551 ประกอบกับระเบียบที่ออกโดยคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติ 12 ฉบับ และประกาศคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติ 5 ฉบับ ยังไม่พบหลักเกณฑ์ในทางกฎหมายที่ชัดเจนนักในการระบุว่าบุคคลใดบ้างอาจมีอาการผิดปกติทางจิต เพียงแต่ระบุเรื่องการอาจมีภาวะอันตราย และมีความจำเป็นต้องได้รับการบำบัดรักษา 

ดังนั้นเมื่อพิจารณาเพียงตัวบทกฎหมายเพียงอย่างเดียว จึงยังเป็นการกำหนดเพียงบทบัญญัติกว้างๆ  ประชาชนทั่วไปหรือกระทั่งเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ไม่ได้มีความรู้ความเชี่ยวชาญทางการแพทย์เฉพาะด้าน ไม่สามารถจำแนกออกมาได้ ต้องอาศัยการวินิจฉัยที่กระทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวช ผ่านกระบวนการรวบรวมข้อมูล แบบประเมิน และการทดสอบทางการแพทย์อย่างละเอียด จนมีผลสรุปออกมาชี้ชัดว่าบุคคลนั้นเป็น “ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทางจิต” หรือไม่ ซึ่งในท้ายที่สุดแพทย์อาจมีความเห็นสรุปออกมาว่าบุคคลที่ถูกนำตัวไปตรวจสอบเหล่านั้น ไม่มีความผิดปกติทางจิตใจ เป็นเพียงคนปกติธรรมดาก็ได้ 

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงที่ปรากฎจากข่าวสารและพฤติการณ์เท่าที่สังคมรับรู้เกี่ยวกับ “ทิวากร” สิ่งที่เขาได้แสดงออกมาอย่างชัดเจนจนถึงปัจจุบัน อาทิ การใส่เสื้อ “เราหมดศรัทธา​สถาบันกษัตริย์​แล้ว”, การประกาศจุดยืนและอธิบายเหตุผลที่ตัวเองกระทำ, การแชร์ข่าวสาร, โพสต์แสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ 

หากพิจารณาการแสดงความคิดเห็นต่างๆ ของทิวากร ก็เป็นไปอย่างมีลำดับความคิดและเป็นเหตุเป็นผล สื่อสารพูดคุยอย่างมีสติสัมปชัญญะ ไม่ได้ลอยอยู่เหนือสามัญสำนึก หรือหลุดกรอบของตรรกะจนไม่สามารถเข้าใจได้แต่อย่างใด อีกทั้งยังไม่มีข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ที่บ่งชี้ว่าทิวากรมีภาวะการแสดงออกซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกายและทรัพย์สินของตนเองและผู้อื่น ทำให้จากข้อมูลเหล่านี้ ในสายตาของคนทั่วไปแล้ว ทิวากรไม่น่าจะมีส่วนใดที่เข้าข่าย “บุคคลที่น่าเชื่อว่าจะมีความผิดปกติทางจิต” ตาม พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ. 2551 จนถึงกับต้องนำไปวินิจฉัยและบำบัดรักษา 

อีกทั้ง จนถึงปัจจุบันเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้มีการตั้งข้อกล่าวหาทิวากรในฐานความผิดใดๆ ทำให้เกิดคำถามตามมาว่าการควบคุมตัวเขาเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่

 

 

อำนาจหน้าที่ และข้อสังเกตใหญ่ 3 ประการต่อช่องว่างของ พ.ร.บ.สุขภาพจิต  

อย่างไรก็ดี หากเป็นกรณีที่ปรากฎว่าบุคคลใดมีพฤติการณ์ที่น่าเชื่อได้ว่ามีความผิดปกติทางจิต และจำเป็นต้องได้รับการตรวจวินิจฉัย เพื่อบำบัดรักษาแล้ว กฎหมายให้อำนาจและหน้าที่แก่เจ้าพนักงานของรัฐในการปฎิบัติต่อกรณีดังกล่าว คือ พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ. 2551 โดยมีรายละเอียดดังนี้

ประการแรก ตามหลักการแล้วการรักษาบำบัดรักษา “ผู้ป่วย” ตามพ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ. 2551 จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อ “ผู้ป่วย” ได้รับการอธิบายเหตุผลความจำเป็นในการบำบัดรักษา รายละเอียด และประโยชน์ของการบำบัดรักษา และได้รับความยินยอมจาก “ผู้ป่วย” เท่านั้น และความยินยอมดังกล่าวจะต้องทำเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อผู้ป่วยเป็นสำคัญ (มาตรา 21) กระบวนการบำบัดรักษาโดยแพทย์ จิตแพทย์ พยาบาล หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจึงจะสามารถทำการรักษาได้ 

แต่หลักการดังกล่าว ได้ถูกยกเว้นไว้ 2 กรณีด้วยกันคือ

1. กรณีที่ผู้ป่วยมีอายุไม่ถึงสิบแปดปีบริบูรณ์ หรือขาดความสามารถในการตัดสินใจให้ความยินยอมรับการบำบัดรักษา ให้คู่สมรส ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้ปกครอง ผู้พิทักษ์ ผู้อนุบาล หรือผู้ซึ่งปกครองดูแลบุคคลนั้น แล้วแต่กรณี เป็นผู้ให้ความยินยอมแทน

2. เป็นผู้ป่วยตามมาตรา 22 ที่กำหนดไว้ว่า

“บุคคลที่มีความผิดปกติทางจิตในกรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้เป็นบุคคลที่ต้องได้รับการบำบัดรักษา

(๑) มีภาวะอันตราย หมายความว่า พฤติกรรมที่บุคคลที่มีความผิดปกติทางจิตแสดงออกโดย

ประการที่น่าจะก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินของตนเองหรือผู้อื่น

(๒) มีความจำเป็นต้องได้รับการบำบัดรักษา หมายความว่า สภาวะของผู้ป่วยซึ่งขาดความสามารถ

ในการตัดสินใจให้ความยินยอมรับการบำบัดรักษาและต้องได้รับการบำบัดรักษาโดยเร็วเพื่อป้องกัน

หรือบรรเทามิให้ความผิดปกติทางจิตทวีความรุนแรงหรือเพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับผู้ป่วยหรือบุคคลอื่น”

ข้อน่าสังเกต คือข้อยกเว้นการรักษาที่ต้องได้รับความยินยอมจากตัว “ผู้ป่วย” เองเป็นหลักนั้น เป็นกฎหมายที่ควรออกมาบังคับอย่างเฉพาะเจาะจง แต่ถ้อยคำที่ใช้เพื่อยกเว้นความยินยอมนั้นเปิดให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติการตีความได้กว้างขวาง  เช่น ถ้อยคำว่า “ขาดความสามารถในการตัดสินใจให้ความยินยอมรับการบำบัดรักษา” เป็นต้น

ถ้อยคำเปิดกว้างและช่องว่างการตีความเช่นนี้ เป็นปัญหาที่ประชาชนไม่อาจรู้ได้ว่าการตีความของเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ มีกรอบกำหนดไว้เพียงใด จากการสืบค้นระเบียบและประกาศของคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติที่เผยแพร่ในเว็บไซต์โรงพยาบาลสวนปรุง ก็ไม่ได้ระบุรายละเอียดไว้อย่างชัดเจนที่ประชาชนจะสามารถทำความเข้าใจได้  อำนาจดุลพินิจดังกล่าวอาจกลายเป็นช่องว่าง ให้เกิดกระบวนการบังคับบุคคลให้เป็น “ผู้ป่วย” หรือกลายเป็นเครื่องมือนำตัวบุคคลไปควบคุมเพื่อตรวจวินิจฉัย โดยที่บุคคลนั้นอาจไม่ได้เป็น “บุคคลที่มีความผิดปกติ” แต่อย่างใด

 

ประการที่สอง ในส่วน “พนักงานเจ้าหน้าที่” ตามพ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ. 2551 โดยสรุปหมายถึง ผู้สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีทางด้านการแพทย์ พยาบาล สังคมสงเคราะห์ จิตวิทยา กิจกรรมบำบัด การสาธารณสุขหรือผู้ได้รับประกาศนียบัตรทางการพยาบาลหรือการสาธารณสุข และเป็นผู้ปฏิบัติงานในสถานพยาบาลของรัฐ และมีประสบการณ์ในการทำงานด้านสาธารณสุข อย่างน้อย 1 ปี ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนดและรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

พนักงานเจ้าหน้าที่ดังกล่าว มีอำนาจตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 46 ได้แก่

1. เข้าไปในเคหสถาน หรือสถานที่ใดๆ ในระหว่างเวลากลางวัน เพื่อนำบุคคลซึ่งมีพฤติการณ์อันน่าเชื่อว่ามีลักษณะตามมาตรา 22 ไปรับการบำบัดรักษาในสถานพยาบาลของรัฐหรือสถานบำบัดรักษา เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยตามสมควรว่าบุคคลดังกล่าวอยู่ในเคหสถานหรือสถานที่นั้น ประกอบกับมีเหตุอันควรเชื่อว่าเนื่องจากการเนิ่นช้ากว่าจะเอาหมายค้นมาได้ บุคคลนั้นจะหลบหนีไปหรือกรณีมีเหตุฉุกเฉินเนื่องจากบุคคลนั้นมีภาวะอันตรายและเป็นอันตรายที่ใกล้จะถึง

2. ซักถามบุคคลใดๆ เพื่อทราบข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพ ความเจ็บป่วย พฤติกรรมและความสัมพันธ์ในครอบครัวและชุมชน

3. มีหนังสือสอบถามหรือเรียกบุคคลใดๆ มาเพื่อให้ถ้อยคำ ส่งคำชี้แจงเป็นหนังสือ หรือส่งเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องมาเพื่อตรวจสอบหรือเพื่อประกอบการพิจารณา

ข้อสังเกต คือโดยปกติพนักงานเจ้าหน้าที่จะเข้าไปยังเคหสถานใดๆ จะต้องมีหมายค้นจากศาล จึงจะสามารถกระทำการดังกล่าวได้ แต่ในมาตรา 46 ของ พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ. 2551 เป็นการให้อำนาจพิเศษแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายนี้ นั่นคือการจะเข้าควบคุมตัวบุคคลซึ่งมีพฤติการณ์อันน่าเชื่อว่ามีลักษณะตามมาตรา 22 โดยต้องมีองค์ประกอบ 2 ส่วนด้วยกัน จึงจะสามารถใช้อำนาจนี้ได้ คือ 1. มีเหตุอันควรสงสัยตามสมควรว่าบุคคลดังกล่าวอยู่ในเคหสถานหรือสถานที่นั้น 2. มีเหตุอันควรเชื่อว่าเนื่องจากการเนิ่นช้ากว่าจะเอาหมายค้นมาได้ บุคคลนั้นจะหลบหนีไปหรือกรณีมีเหตุฉุกเฉินเนื่องจากบุคคลนั้นมีภาวะอันตรายและเป็นอันตรายที่ใกล้จะถึง โดยในวรรคสองของมาตราดังกล่าวได้ระบุว่าพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.สุขภาพจิต อาจร้องขอให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจให้ความช่วยเหลือได้


ประการที่สาม
ในพ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ. 2551 ยังได้กำหนดกรอบระยะเวลาในการควบคุมตัวของบุคคล เพื่อตรวจวินิจฉัยและประเมินอาการป่วย ไว้ 2 ส่วนด้วยกัน

1. ต้องมีแพทย์อย่างน้อย 1 คน และ พยาบาลอย่างน้อย 1 คน ทำการตรวจวินิจฉัยและประเมินอาการบุคคลที่ถูกส่งตัวภายในเวลา 48 ชั่วโมง นับตั้งแต่บุคคลนั้นเดินทางไปถึงสถานพยาบาลของรัฐหรือสถานบำบัดรักษา ตามมาตรา 27

2. เมื่อแพทย์ได้ทำการตรวจเบื้องต้นแล้ว พบว่ามีลักษณะตามมาตรา 22  ให้คณะกรรมการสถานบำบัดรักษาตรวจวินิจฉัยและประเมินอาการบุคคลนั้นโดยละเอียด ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่รับตัวบุคคลนั้นไว้

หลังจากผ่านการวินิจฉัยโดยละเอียดโดยคณะกรรมการสถานบำบัดรักษา คณะกรรมการฯ จะมีคำวินิจฉัยประการใดออกมาอีกครั้งหนึ่ง โดยจะเป็นไปได้ 2 แนวทางด้วยกันคือ มีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ 

1. ให้บุคคลนั้นต้องเข้ารับการบำบัดรักษาในสถานบำบัดรักษา

2. ให้บุคคลนั้นต้องรับการบำบัดรักษา ณ สถานที่อื่นนอกจากสถานบำบัดรักษา เมื่อบุคคลนั้นไม่มีภาวะอันตราย ทั้งนี้ จะกำหนดเงื่อนไขใดๆ ที่จำเป็นเกี่ยวกับการบำบัดรักษาให้บุคคลนั้นหรือผู้รับดูแลบุคคลนั้นต้องปฏิบัติด้วยก็ได้

ทั้งนี้ ในขั้นตอนการออกคำสั่งดังกล่าว พ.ร.บ.สุขภาพจิตได้กำหนดให้มีกลไกการตรวจสอบโดยกำหนดไว้ในมาตรา 42 ที่ระบุให้สิทธิผู้ป่วยหรือคู่สมรส ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้ปกครอง ผู้พิทักษ์ ผู้อนุบาล หรือผู้ซึ่งปกครองดูแลผู้ป่วย ทำการอุทธรณ์คำสั่งที่คณะกรรมการสถานบำบัดรักษาออกมา โดยต้องทำเป็นหนังสือยื่นต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งคำสั่งดังกล่าว

ข้อสังเกต คือก่อนที่จะถึงขั้นตอนการออกคำสั่งมาและให้บุคคลอื่นเข้ามาตรวจสอบและอุทธรณ์คำสั่ง ตาม พ.ร.บ.สุขภาพจิต กฎหมายฉบับดังกล่าวได้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการควบคุมตัวบุคคล อย่างน้อย 48 ชั่วโมง บวกกับ 30 วันแล้ว โดยกระบวนการอุทธรณ์นั้นจะเริ่มได้ภายหลังจากการวินิจฉัยของแพทย์ เท่ากับว่าภายในระยะเวลาประมาณ 32 วันนั้น บุคคลที่มีอำนาจตัดสินใจคือบุคคลากรทางการแพทย์เพียงอย่างเดียว ไม่มีกลไกใดเข้ามาตรวจสอบก่อนระยะเวลาดังกล่าว

ในกรณีของทิวากรนั้น หากนับตั้งแต่วันที่ 9 ก.ค. 63 ที่เขาถูกควบคุมตัวไปยังโรงพยาบาล​จิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ นับได้ว่าเกินเวลา 48 ชั่วโมงที่จะมีการตรวจวินิจฉัยและประเมินอาการเบื้องต้นไปแล้ว ล่วงเข้าสู่ระยะเวลา 30 วัน ที่จะต้องมีการออกคำวินิจฉัยและคำสั่งของคณะกรรมการสถานบำบัดรักษา

 

มองปัญหาการบังคับใช้พ.ร.บ.สุขภาพจิต จากข้อเท็จจริงกรณีทิวากร

หากพิจารณาปัญหาที่เกิดขึ้นจากกรณีตัวอย่างของทิวากร ผ่านข้อมูลและข่าวสารที่ปรากฏในสื่อสาธารณะและจากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปรียบเทียบกับอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานตามพ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ. 2551 ในกรณีที่อ้างว่าการควบคุมตัวทิวากรที่เกิดขึ้นเป็นไปตามกฎหมายดังกล่าวแล้ว พบว่า

ข้อเท็จจริงประการแรก นับตั้งแต่จุดเริ่มต้นของกระบวนการควบคุมตัวทิวากร เขาได้ทำการปฏิเสธไม่ยอมรับการจับกุม แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่จำนวน 6 คน เข้าไปอุ้มตัวถึงบ้านของตนเอง 

ปัญหาที่พบ คือ การปฏิเสธของทิวากรเช่นนี้เป็นการแสดงเจตนาที่ไม่ยินยอม ในกระบวนการเกี่ยวกับบำบัดรักษา ซึ่งเป็นหลักการสำคัญก่อนที่กระบวนการบำบัดรักษาจะเริ่มขึ้นได้ คำถามจึงเกิดขึ้นว่ากระบวนการที่เริ่มขึ้นได้ดำเนินไปอย่างถูกต้องแล้วหรือไม่ เป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 21 แห่ง พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ.2551 หรือไม่ 

 

ข้อเท็จจริงประการที่สอง ในรายงานข่าวยังปรากฏว่า ระหว่างการควบคุมตัวทิวากร เจ้าหน้าที่ได้มีการใช้ผ้ามัดมือเขาเอาไว้ด้วย 

ปัญหาที่พบคือ โดยหลักการแล้ว ในการควบคุมตัวบุคคลไปยังสถานบำบัดนั้น พ.ร.บ.สุขภาพจิต ระบุชัดเจนว่าการผูกมัดร่างกายไม่สามารถกระทำได้ เว้นแต่เป็นความจำเป็นเพื่อป้องกันการเกิดอันตรายต่อบุคคล นั้นเอง บุคคลอื่น หรือทรัพย์สินของผู้อื่น (มาตรา 24 วรรคสอง) ซึ่งตามรายงานข่าวทิวากรเพียงแต่ปฏิเสธการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ไม่มีพฤติการณ์อื่นๆ ที่แสดงให้เห็นว่าจะทำให้เกิดอันตรายต่อตัวเขาหรือคนอื่นๆ แต่อย่างใด การผูกมัดทิวากรของเจ้าหน้าที่จึงกระทำไปนอกเหนือจากที่กฎหมายได้ให้อำนาจไว้อย่างชัดเจน

 

ข้อเท็จจริงประการที่สาม กรณีที่ทิวากรอาจถูกมองว่าเป็น “บุคคลที่มีความผิดปกติทางจิตในกรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้เป็นบุคคลที่ต้องได้รับการบำบัดรักษา” ตามมาตรา 22 ของ พ.ร.บ.สุขภาพจิตนั้น ก็ได้ปรากฎข้อเท็จจริงน่าสงสัยที่ว่าทิวากรเคยโพสต์ในเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 9 ก.ค. 63 เวลา 15.46 น. แจ้งว่าได้มีเจ้าหน้าที่จิตแพทย์ 6 คน จากโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่น และเจ้าหน้าที่กอ.รมน. เดินทางมาพบและพูดคุยเพื่อประเมินสุขภาพจิตของเขาที่บ้าน ใช้เวลาในการซักถามราว 30 นาที จึงได้เดินทางกลับไป โดยไม่มีการควบคุมตัวเขาไปยังโรงพยาบาลแต่อย่างใด ตอนหนึ่งในการพูดคุยทิวากรได้บอกกับจิตแพทย์ว่า “ผมเข้าใจดีว่านี่คือการเมือง ที่ต้องการจะทำให้คนเข้าใจว่าผมเป็นบ้า ผมจะไม่ตำหนิเจ้าหน้าที่ถ้าหากมีคำวินิจฉัยว่าผมเป็นบ้า เพราะถือว่าต้องทำตามคำสั่ง” จนกระทั่งปรากฏในภายหลังว่าเขาได้ถูกควบคุมตัวส่งไปยังโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ในวันเดียวกันนั้น 

ปัญหาที่พบคือ เหตุใดทางเจ้าหน้าที่จึงไม่ทำการควบคุมตัวเขาตั้งแต่ต้นที่ได้มีการพูดคุยและประเมินอาการของเขาแล้วเสร็จ เพราะหากดูพฤติการณ์การควบคุมตัวที่ปรากฎตามข่าวสารแล้วจะเห็นว่าเป็นลักษณะการอ้างอิงจากมาตรา 22 ของพ.ร.บ.สุขภาพจิต ที่ถือได้ว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน ไม่อาจปล่อยให้ช้าออกไป จึงต้องบังคับควบคุมตัวบุคคลใดบุคคลหนึ่งทันที แม้จะไม่ได้รับการยินยอมก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงกลับปรากฎว่าหลังเจ้าหน้าที่มีการพูดคุยประเมินกับทิวากรแล้ว ได้เดินทางกลับไปก่อนที่จะกลับมาควบคุมตัวอีกครั้ง ทำให้มีความขัดแย้งกันอยู่ว่าสรุปแล้ว การควบคุมตัวทิวากรนั้นเกิดขึ้นด้วยเหตุเพราะเขามีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการรักษาอย่างชัดเจนจริงหรือไม่ 

 

ข้อเท็จจริงประการที่สี่ จะพบว่านับตั้งแต่เขาได้ทำการสวมเสื้อ “เราหมดศรัทธา​สถาบันกษัตริย์​แล้ว” เขายังคงอาศัยอยู่ภายในบ้านของตนเองอย่างเปิดเผยและดำเนินชีวิตประจำวันไปตามปกติ แม้เจ้าหน้าที่รัฐหลายฝ่ายเข้าไปติดตามพูดคุยและห้ามปรามการกระทำของทิวากรถึงที่บ้าน เขาก็ไม่ได้มีพฤติการณ์ที่จะเตรียมหลบหนี หรือมีเหตุให้เชื่อว่าเขามีภาวะอันตรายและเป็นอันตรายที่ใกล้จะถึงแต่อย่างใด 

ปัญหาที่พบคือ การปฎิบัติการจับกุมควบคุมตัวทิวากรของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกิดขึ้น เป็นการใช้อำนาจพิเศษ ลัดขั้นตอนการปฏิบัติให้ถูกต้องตามกระบวนการ โดยอ้างเหตุที่ไม่มีอยู่จริง เพื่อต้องการควบคุมตัวทิวากรอย่างทันทีเท่านั้นหรือไม่

 

ข้อเท็จจริงประการที่ห้า หลังถูกส่งตัวเข้าตรวจอาการทางจิตที่โรงพยาบาล​จิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์แล้ว ยังได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจสภ.ขอนแก่นคอยเฝ้าทิวากรตลอด 24 ชั่วโมง และคอยตรวจบัตรประชาชนของผู้เข้าเยี่ยมตลอด 

ปัญหาที่พบคือ ตามพ.ร.บ.สุขภาพจิต ไม่ได้ให้อำนาจหน้าที่เจ้าพนักงานหรือผู้ที่เจ้าพนักงานขอความช่วยเหลือจะสามารถกระทำการดังกล่าวได้ เมื่อ “ผู้ป่วย” ถึงสถานที่ตรวจรักษาแล้ว ความรับผิดชอบและหน้าที่จะถูกส่งต่อไปยังแพทย์ พยาบาลและพนักงานผู้เชี่ยวชาญในการดูแลผู้ป่วย ปรากฏการณ์ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจคอยเฝ้าทิวากรตลอด 24 ชั่วโมง และคอยตรวจบัตรประชาชนของผู้เข้าเยี่ยม คล้ายการสอดส่องควบคุมมากกว่า จึงไม่อาจพูดได้ว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยปกติของเจ้าหน้าที่  หรืออาจถึงขั้นเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อเท็จจริงประการที่หก ภายหลังจากที่รถพยาบาลได้นำตัวทิวากรไปจากบ้าน ชุดเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าทำการตรวจค้นและยึดเครื่องคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟนของทิวากรไป โดยก่อนที่จะนำทรัพย์สินไป ได้นำมาถ่ายภาพ และเอาเอกสารไม่ทราบรายละเอียดข้อความมาให้มารดาของทิวากรลงลายมือชื่อนั้น 

ปัญหาที่พบคือ การปฏิบัติที่เป็นไปเพื่อการนำตัวทิวากรไปตรวจสอบอาการป่วยตามข้อกล่าวอ้าง ตามพ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ. 2551  ไม่ได้ให้อำนาจเจ้าพนักงานหรือเจ้าหน้าที่อื่นๆ ในการตรวจค้นหรือยึดสิ่งของหรือทรัพย์สินของผู้ที่ถูกสงสัยว่ามีอาการป่วยแต่อย่างใด เพราะอาการป่วยเป็นเรื่องเฉพาะตัวบุคคล ไม่มีความเกี่ยวข้องกับสิ่งของหรือทรัพย์สิน การตรวจค้นและยึดทรัพย์สินของทิวากรของเจ้าหน้าที่ดังกล่าว อาจถึงขั้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วยเช่นกัน

 

สิทธิที่ถูกพรากไป เพียงข้อกล่าวอ้างว่าอาจเป็น “ผู้ป่วย” ทั้งที่แพทย์ยังไม่ได้ยืนยัน

ข้อสังเกตอื่นๆ ที่เกิดขึ้น เกี่ยวกับข้อเท็จจริงในกรณีของทิวากร คือเขาเป็นผู้ใหญ่ที่บรรลุนิติภาวะเมื่ออายุครบ 20 ปี บริบูรณ์แล้ว สามารถกระทำการตัดสินใจเองได้ทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นการแสดงออก, แสดงความคิดเห็น หรือทำนิติกรรมที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย โดยที่การกระทำของเขาไม่มีความจำเป็นที่จะต้องได้รับความยินยอมจากบิดาหรือมารดาแต่อย่างใด อีกทั้งยังไม่ได้อยู่ในสภาวะของซึ่งขาดความสามารถในการตัดสินใจแต่อย่างใด

ข้อเท็จจริงตามรายงานข่าวที่ปรากฏว่า “ได้มีนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่และจิตแพทย์ ได้มาตามตัวผู้เป็นมารดาไปถามความเห็นและขอความยินยอมในการควบคุมตัวไปรักษา” นั้น วิธีการดังกล่าวอาจเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามที่จะหาหลักพึ่งพิงของเจ้าหน้าที่เพื่อไม่ให้มีการฟ้องดำเนินคดีตามมาในภายหลัง โดยอ้างว่าการปฏิบัติที่เกิดขึ้นได้รับความยินยอมจากมารดา ซึ่งเป็นผู้ปกครองของทิวากรแล้ว ทั้งยังเป็นการตีตราว่าทิวากรเป็น “ผู้ป่วย” ไปก่อนการวินิจฉัยทางการแพทย์ด้วยซ้ำไป 

 


ช่องว่างของ พ.ร.บ.สุขภาพจิต และการใช้ “กฎหมาย” เป็นเครื่องมือในการปิดกั้นเสรีภาพการแสดงออก

โดยหลักการแล้ว พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ. 2551 ควรเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำหรับการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ ทัศนคติที่ดีและวิธีการรับมือกับผู้มีอาการทางจิต ให้ได้รับการบำบัดรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม ทั้งยังช่วยคุ้มครองความปลอดภัยของตัวผู้ป่วยและสังคม จนกระทั่งบุคคลเหล่านั้นได้รับการฟื้นฟูและกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้เป็นปกติ

แต่เมื่อลักษณะการบังคับใช้กฎหมายในสังคมไทยได้ถูกบิดเบือนหลักการ ใช้อย่างเลือกปฎิบัติ และมีเป้าประสงค์ทางการเมือง มาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกรณีที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมือง สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเช่นนี้ ก็อาจทำให้ พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ. 2551 กลายไปเป็นเครื่องมือใหม่ในการตีตราผู้ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองซึ่งไม่ได้เป็นความผิดต่อกฎหมายใด ว่าเป็น “ผู้ป่วย” “ผู้มีอาการทางจิต” หรือ “คนบ้า”  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นสถาบันกษัตริย์ ซึ่งรัฐไทยพยายามปิดกั้นควบคุมการมีความคิดเห็นที่แตกต่างเอาไว้อย่างเข้มข้น และทำให้ความแตกต่างทางความคิดกลายเป็น “เรื่องผิดปกติ” ไป ทั้งข้อกล่าวหาว่าด้วย “ความป่วยไข้” และ “ผิดปกติทางจิต” นี้ ยังเปิดทางให้กับการพรากสิทธิและเสรีภาพของบุคคลไปอย่างง่ายดายอีกด้วย 

 

 

X