‘โควิด-19’ กับสิทธิที่หายไป: สำรวจ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ประเด็นการละเมิดสิทธิ และหนทางออกจากวิกฤตโรคระบาด

หลังจากเผชิญปัญหาเรื่องการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลให้ประเทศไทยต้องเจอกับสภาวะชะงักงันทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 5 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับปี 2548 ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศ โดยมีผลบังคับใช้แต่วันที่ 26 มีนาคม 2563

ในขณะเดียวกัน หลังการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ  ยังนำไปสู่การออกข้อกำหนดโดยพล.อ.ประยุทธ์ทั้งหมดอีก 3 ฉบับ (ข้อมูล ณ วันที่ 20 เมษายน 2563) โดยอาศัยอำนาจตาม[simple_tooltip content=’

มาตรา 9 ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินให้ยุติลงได้โดยเร็ว หรือป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงมากขึ้น ให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจออกข้อกำหนด ดังต่อไปนี้

(1) ห้ามมิให้บุคคลใดออกนอกเคหสถานภายในระยะเวลาที่กำหนด เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นบุคคลซึ่งได้รับยกเว้น

(2) ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย

(3) ห้ามการเสนอข่าว การจำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวหรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั้งในเขตพื้นที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือทั่วราชอาณาจักร

(4) ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ หรือกำหนดเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ

(5) ห้ามการใช้อาคาร หรือเข้าไปหรืออยู่ในสถานที่ใด ๆ

(6) ให้อพยพประชาชนออกจากพื้นที่ที่กำหนดเพื่อความปลอดภัยของประชาชนดังกล่าว หรือห้ามผู้ใดเข้าไปในพื้นที่ที่กำหนด

ข้อกำหนดตามวรรคหนึ่ง จะกำหนดเงื่อนเวลาในการปฏิบัติตามข้อกำหนดหรือเงื่อนไขในการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดพื้นที่และรายละเอียดอื่นเพิ่มเติม เพื่อมิให้มีการปฏิบัติที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควรแก่เหตุก็ได้

‘]มาตรา 9[/simple_tooltip] ของ พ.ร.ก. ฉบับเดียวกัน รวมไปถึงการออกประกาศในระดับจังหวัดที่อ้างอาศัยอำนาจทั้งตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ กำหนดมาตรการต่าง ๆ อาทิเช่น กำหนดไม่ให้มีการเข้าออกพื้นที่เสี่ยง กำหนดเวลาเคอร์ฟิว ห้ามไม่ให้มีการชุมนุมและกักตุนสินค้า ระบุโทษของการแชร์เฟคนิวส์ที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ของโรคระบาด รวมไปถึงการให้แต่ละจังหวัดออกประกาศห้ามไม่ให้มีการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งอ้างอำนาจตามมาตรา 35 (1) ของ พ.ร.บ. โรคติดต่อฯ ร่วมกับ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ใครที่ฝ่าฝืนคำสั่งมีโอกาสที่จะถูกลงโทษทางอาญารุนแรงถึงขั้นต้องจำคุก

ในท่ามกลางสถานการณ์ที่น่าจะต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่กว่าที่การระบาดของเชื้อไวรัสจะยุติ และดูเหมือนว่ารัฐบาลเองยังอ้างความจำเป็นในการออกมาตรการที่มีความหมิ่นเหม่ต่อการจำกัดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนออกมาอย่างต่อเนื่อง หากใครยังจำได้ เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2563 ที่ผ่านมานั้น พล.อ.ประยุทธ์ก็ได้ทิ้งประโยคเด็ดคู่มากับการประกาศข้อกำหนดฉบับที่ 2 ที่ว่า #สุขภาพต้องมาก่อนเสรีภาพ ให้เราต้องมานั่งขบคิดกันต่อถึง 3 คำถามสำคัญ

ในเวลาเช่นนี้ หรือเราจำเป็นต้องยอมเสียสละเสรีภาพ เพื่อแก้ปัญหาเรื่องสุขภาพอย่างที่นายกฯ พูดจริงหรือไม่? แล้วสภาวะสังคมภายใต้กฎหมายพิเศษ จะมีจุดสิ้นสุดเมื่อใด และจะกระทบใครบ้างมากที่สุด? แล้วอะไรคือทางออกของปัญหาที่ควรจะถูกนำมาใช้ในสภาวการณ์เช่นนี้?

>>> ยิ่งโควิดพลุ่งพล่าน พ.ร.ก.ฉุกเฉินรีเทิร์น สิทธิมนุษยชนยิ่งสำคัญ

.ร.ก. ฉุกเฉินฯ: เมื่อกฎหมายพิเศษกลายเป็นเครื่องมือจัดการโรคระบาดกับราคาที่ต้องแลกมาด้วย “เสรีภาพ” ของประชาชน

ในการจะตอบคำถามข้างต้น อย่างแรกที่สุด เราอาจจะต้องเริ่มทำความเข้าใจกับตัวของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งเป็นตัวกฎหมายหลักที่นำมาใช้เพื่อออกข้อกำหนดแต่ละฉบับเสียก่อน ว่าภายใต้กลไกของกฎหมายพิเศษดังกล่าวนั้น สามารถมอบอำนาจในการสั่งการให้กับนายกฯ ได้มากแค่ไหน?

https://www.facebook.com/lawyercenter2014/posts/2810867632296406

จากข้อมูลของ ภาวิณี ชุมศรี ทนายความสิทธิมนุษยชน ผู้เคยผ่านประสบการณ์การทำงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มาเป็นเวลานานหลายปี เธออธิบายว่า เมื่อมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อำนาจสั่งการทั้งหมดจะถูกรวมศูนย์ไว้ที่นายกรัฐมนตรี โดยนายกฯ สามารถสั่งการต่อไปยังกระทรวงต่าง ๆ ซึ่งจะถ่ายทอดคำสั่งไปยังแต่ละจังหวัดอีกทีหนึ่ง

หากพิจารณาในเรื่องของบริบท ต้นกำเนิดของตัวกฎหมายพิเศษฉบับดังกล่าว ไม่ได้ถูกร่างขึ้นมาเพื่อใช้จัดการปัญหาโรคระบาด เพราะในเบื้องแรกที่มีการประกาศใช้อย่างเป็นทางการ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ถูกร่างขึ้นเพื่อนำมาใช้จัดการปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่เมื่อปี 2548 แทนการประกาศใช้กฎอัยการศึกก่อนหน้า แต่หลายปีที่ผ่านมา ปรากฎว่ากฎอัยการศึกยังมีผลบังคับใช้อยู่ในบางอำเภอ ทำให้การบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงในพื้นที่ขัดแย้งภาคใต้ต้องเผชิญกับปัญหาที่ซ้อนทับกัน เนื่องจากมีการประกาศใช้กฎหมายพิเศษที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่อย่างกว้างขวางถึง 3 ฉบับด้วยกัน

ในทางกฎหมาย ประเทศไทยเองก็มีกฎหมายที่สามารถนำมาใช้เพื่อจัดการปัญหาเรื่องโรคระบาดโดยเฉพาะ นั่นคือ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ พ.ศ. 2558 ซึ่งก่อนหน้าที่จะมีการประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ก็ได้มีการประกาศใช้กฎหมายฉบับดังกล่าวมาอยู่แล้ว ทำให้กฎหมายทั้ง 2 ฉบับถูกใช้ร่วมกันมาจนถึงขณะนี้

จากข้อมูลของ ชำนาญ จันทร์เรือง อดีตรองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่และอาจารย์พิเศษด้านกฎหมายและการเมือง ชี้ว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้รัฐต้องหันมาใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งมีการจำกัดสิทธิที่เข้มข้นมากกว่า นั่นก็เพราะขอบเขตอำนาจในตัวกฎหมาย พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ที่ไม่สามารถใช้เพื่อกำหนดเวลาเคอร์ฟิวหรือแม้แต่ห้ามไม่ให้มีการชุมนุมได้ ซึ่งทั้ง 2 ประการล้วนเป็นมาตรการที่ในต่างประเทศเองก็มีการนำไปใช้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดในวงกว้าง

ในทางปฏิบัติ ตัว พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และข้อกำหนดต่าง ๆ ที่ถูกประกาศโดยนายกรัฐมนตรี แม้จะมีส่วนในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสได้ แต่นั่นก็จำเป็นต้องแลกมาด้วยเสรีภาพของประชาชน ยังไม่นับรวมถึงมาตรการต่าง ๆ ที่อาจส่งผลเสียต่อสังคมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว (อ่าน: ข้อสังเกตทางกฎหมายต่อการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อรับมือโควิด-19) ตัวอย่างเช่น

  • มาตรา 17 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กำหนดให้เจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติตามคำสั่ง ไม่ต้องรับโทษทั้งในทางแพ่ง อาญา หรือทางวินัย
  • ข้อกำหนดฉบับที่ 1 ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 9 ในข้อที่ 6 กำหนดให้มีการลงโทษผู้ที่ทำการเผยแพร่ข่าวหรือเนื้อหาอันเกี่ยวข้องกับโรคระบาด “ที่บิดเบือนไปจากความเป็นจริง” ซึ่งอาจถูกตีความอย่างกว้างขวางโดยเจ้าหน้าที่รัฐ นำไปใช้กับกรณีที่ไม่ทราบข้อเท็จจริงชัดเจน ความเข้าใจผิด แม้แต่การแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่รัฐ
  • ในมาตราที่ 16 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กำหนดให้คำสั่งและการกระทำของเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.ก. ดังกล่าว หากพบว่ามีความไม่เป็นธรรม กระทบสิทธิเกินกว่าที่ควร ประชาชนไม่สามารถฟ้องกับทางศาลปกครองได้ อย่างในกรณีของ ใบรับรองแพทย์ Fit to Fly ที่กำหนดให้ผู้ที่จะเดินทางเข้าประเทศไทยจะต้องมีใบรับรองการตรวจสุขภาพก่อน ซึ่งข้อกำหนดดังกล่าวขัดกับรัฐธรรมนูญ[simple_tooltip content=’มาตรา 39
    การเนรเทศบุคคลสัญชาติไทยออกนอกราชอาณาจักร หรือห้ามมิให้ผู้มีสัญชาติไทยเข้ามาในราชอาณาจักร จะกระทำมิได้การถอนสัญชาติของบุคคลซึ่งมีสัญชาติไทยโดยการเกิด จะกระทำมิได้’]มาตรา 39[/simple_tooltip] ทำให้กลุ่มนักศึกษาไทยในต่างประเทศรวมตัวฟ้องศาลปกครอง ปรากฎว่าภายหลัง ศาลปกครองไม่รับฟ้องคดี ระบุให้ฟ้องกับทางศาลยุติธรรม แม้ต่อมานักศึกษากลุ่มดังกล่าวจะทำเรื่องฟ้องต่อไปยังศาลแพ่ง ทว่าศาลก็ไม่รับฟ้อง อ้างว่าไม่อยู่ในขอบเขตของอำนาจพิจารณา
  • หลังจากที่มีการประกาศเคอร์ฟิวในทุกพื้นที่ทั่วประเทศผ่านข้อกำหนดฉบับที่ 2 ก่อให้เกิดอุปสรรคเป็นอย่างมากสำหรับกลุ่มคนที่ทำอาชีพกลางคืน หรือจำเป็นต้องเตรียมการทำงานในเวลากลางคืน แม้ต่อมาจะมีการออกข้อกำหนดฉบับที่ 3 กำหนดและอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ รวมไปถึงกลุ่มอาชีพบางอาชีพให้สามารถเดินทางได้ในระหว่างที่มีการเคอร์ฟิว โดยต้องทำเรื่องขออนุญาตกับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ยังมีเสียงสะท้อนจากกลุ่มคนที่ถูกลิดรอนสิทธิในการทำงานของตัวเอง หนึ่งในนั้นคือกลุ่มอาชีพสื่อมวลชน ที่ได้ทำหนังสือเรียกร้องกับทางรัฐบาล ขออนุญาตให้สื่อสามารถลงพื้นที่ทำข่าวได้ในช่วงที่มีการประกาศเคอร์ฟิว เนื่องจากมองว่าเป็นส่วนสำคัญในการเชื่อมต่อระหว่างสังคมและข่าวสารในช่วงเวลาวิกฤตเช่นนี้
  • มาตรการเคอร์ฟิวของรัฐถูกประกาศใช้ โดยที่ไม่ได้มีมาตรการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและสังคมรองรับแต่ทีแรก ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อกลุ่มคนชายขอบและกลุ่มเปราะบางในสังคม อาทิ กลุ่มของคนไร้บ้าน หรือคนจนในเมือง แม้รัฐจะพยายามออกมาตรการต่าง ๆ ตามมา แต่ก็น่าสงสัยว่าสุดท้ายแล้ว จะสามารถช่วยเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับกลุ่มคนเหล่านี้ได้หรือไม่

มาตรการที่กล่าวถึงนี้เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่ตราบใดก็ตามที่สังคมไทยยังตกอยู่ในภาวะของการใช้กฎหมายพิเศษ ก็เป็นไปได้ว่าอาจนำไปสู่แนวโน้มของการละเมิดสิทธิในลักษณะต่าง ๆ ต่อไปในอนาคต

>>> จับศิลปินโพสต์ “สุวรรณภูมิไม่มี จนท.คัดกรองโควิด” ขณะกักตัว 14 วัน หลังกลับจากสเปน

>>> ให้ประกันแล้ว ศิลปินโพสต์ติงมาตรการคัดกรองโควิดที่สุวรรณภูมิ หลังถูกขัง 14 ชม.

>>> เผย “คนไร้บ้านเชียงใหม่” ถูกจับกุม-ส่งฟ้องศาล ข้อหาออกจาก “บ้าน” ฝ่าฝืนเคอร์ฟิว

ในวันที่การบังคับใช้กฎหมายอาจกลายเป็นภัยความมั่นคงเสียเอง: กรณีศึกษาจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

แม้ในทางปฏิบัติจะมีการใช้กฎหมายฉบับเดียวกันในการจัดการปัญหาทั้งโรคระบาดและความรุนแรง แต่ในรายละเอียดปลีกย่อย การบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยังมีระดับของ “ความรุนแรง” ในสถานการณ์ฉุกเฉินอีกด้วย ภายใต้นิยามที่กำหนดโดยรัฐ การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังไม่ถือว่าเป็นสถานการณ์ฉุกเฉิน “ร้ายแรง” จึงใช้แค่มาตรา 9 คู่กับการประกาศข้อกำหนดต่าง ๆ

ทว่าในกรณีของปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถูกนิยามจากรัฐไทยว่าเป็น “ภัยที่เข้มข้นกว่า” นั่นจึงนำไปสู่การประกาศใช้[simple_tooltip content=’มาตรา ๑๑ ในกรณีที่สถานการณ์ฉุกเฉินมีการก่อการร้าย การใช้กำลังประทุษร้ายต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน หรือมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า มีการกระทำที่มีความรุนแรงกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยในชีวิตหรือทรัพย์สินของรัฐหรือบุคคล และมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งแก้ไขปัญหาให้ยุติได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที ให้นายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี มีอำนาจประกาศให้สถานการณ์ฉุกเฉินนั้นเป็นสถานการณ์ที่มีความร้ายแรง และให้นำความในมาตรา ๕ และมาตรา ๖ วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม
เมื่อมีประกาศตามวรรคหนึ่งแล้ว นอกจากอำนาจตามมาตรา ๗ มาตรา ๘ มาตรา ๙ และมาตรา ๑๐ ให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจดังต่อไปนี้ด้วย
(๑) ประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจจับกุมและควบคุมตัวบุคคลที่สงสัยว่า จะเป็นผู้ร่วมกระทำการให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือเป็นผู้ใช้ ผู้โฆษณา ผู้สนับสนุนการกระทำเช่นว่านั้น หรือปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน ทั้งนี้ เท่าที่มีเหตุจำเป็นเพื่อป้องกันมิให้บุคคลนั้นกระทำการหรือร่วมมือกระทำการใด ๆ อันจะทำให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรง หรือเพื่อให้เกิดความร่วมมือในการระงับเหตุการณ์ร้ายแรง
(๒) ประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งเรียกให้บุคคลใดมารายงานตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือมาให้ถ้อยคำ หรือส่งมอบเอกสารหรือหลักฐานใดที่เกี่ยวเนื่องกับสถานการณ์ฉุกเฉิน
(๓) ประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งยึดหรืออายัดอาวุธ สินค้า เครื่องอุปโภคบริโภค เคมีภัณฑ์ หรือวัตถุอื่นใด ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่า ได้ใช้หรือจะใช้สิ่งนั้นเพื่อการกระทำการหรือสนับสนุนการกระทำให้เกิดเหตุสถานการณ์ฉุกเฉิน
(๔) ประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งตรวจค้น รื้อ ถอน หรือทำลายซึ่งอาคาร สิ่งปลูกสร้าง หรือสิ่งกีดขวาง ตามความจำเป็นในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อระงับเหตุการณ์ร้ายแรงให้ยุติโดยเร็ว และหากปล่อยเนิ่นช้า จะทำให้ไม่อาจระงับเหตุการณ์ได้ทันท่วงที
(๕) ประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งตรวจสอบจดหมาย หนังสือ สิ่งพิมพ์ โทรเลข โทรศัพท์ หรือการสื่อสารด้วยวิธีการอื่นใด ตลอดจนการสั่งระงับหรือยับยั้งการติดต่อหรือการสื่อสารใด เพื่อป้องกันหรือระงับเหตุการณ์ร้ายแรง โดยต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษโดยอนุโลม
(๖) ประกาศห้ามมิให้กระทำการใด ๆ หรือสั่งให้กระทำการใด ๆ เท่าที่จำเป็นแก่การรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยของประเทศ หรือความปลอดภัยของประชาชน
(๗) ประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งห้ามมิให้ผู้ใดออกไปนอกราชอาณาจักร เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า การออกไปนอกราชอาณาจักรจะเป็นการกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐหรือความปลอดภัยของประเทศ
(๘) ประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งการให้คนต่างด้าวออกไปนอกราชอาณาจักร ในกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า เป็นผู้สนับสนุนการกระทำให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน ทั้งนี้ โดยให้นำกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองมาใช้บังคับโดยอนุโลม
(๙) ประกาศให้การซื้อ ขาย ใช้ หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งอาวุธ สินค้า เวชภัณฑ์ เครื่องอุปโภคบริโภค เคมีภัณฑ์ หรือวัสดุอุปกรณ์อย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งอาจใช้ในการก่อความไม่สงบหรือก่อการร้าย ต้องรายงานหรือได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือปฏิบัติตามเงื่อนไขที่นายกรัฐมนตรีกำหนด
(๑๐) ออกคำสั่งให้ใช้กำลังทหารเพื่อช่วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองหรือตำรวจระงับเหตุการณ์ร้ายแรงหรือควบคุมสถานการณ์ให้เกิดความสงบโดยด่วน ทั้งนี้ ในการปฏิบัติหน้าที่ของทหาร ให้มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับอำนาจหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชกำหนดนี้ โดยการใช้อำนาจหน้าที่ของฝ่ายทหารจะทำได้ในกรณีใดได้เพียงใด ให้เป็นไปตามเงื่อนไขและเงื่อนเวลาที่นายกรัฐมนตรีกำหนด แต่ต้องไม่เกินกว่ากรณีที่มีการใช้กฎอัยการศึก
เมื่อเหตุการณ์ร้ายแรงตามวรรคหนึ่งยุติลงแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีประกาศยกเลิกประกาศตามมาตรานี้โดยเร็ว

‘]มาตรา 11[/simple_tooltip] ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คือยกระดับเป็น “สถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง” ซึ่งเพิ่มอำนาจให้เจ้าหน้าที่สามารถยึด อายัดทรัพย์สินของประชาชนหากมีเหตุอันน่าสงสัย รวมไปถึงควบคุมตัวหรือจับกุมผู้ต้องสงสัยได้ โดยทำเรื่องขออนุญาตจากศาลในพื้นที่

จากข้อมูลของ พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม องค์กรที่ทำหน้าที่เฝ้าระวังและบันทึกเรื่องราวกรณีการซ้อมทรมานและการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ความทับซ้อนของการใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่นี้ เกิดจากการประกาศใช้กฎหมายความมั่นคง 3 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.กฎอัยการศึกฯ พ.ศ. 2547, พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ. 2548, และ พ.ร.บ. ความมั่นคงภายในฯ พ.ศ. 2551 เหลื่อมกันในแต่ละอำเภอ ซึ่งทั้งหมดอยู่ภายใต้การบังคับใช้ของ กอ.รมน.

ตามหลักการทางกฎหมาย รัฐไม่สามารถประกาศใช้กฎหมายที่เกี่ยวเนื่องกับความมั่นคงซ้อนทับกันได้ หากมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงภายในฯ แล้วในพื้นที่นั้น ๆ ไม่ควรที่จะประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทับซ้อนได้อีก หรือหากมีการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แล้ว จะไม่สามารถประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นั้นซ้ำอีกรอบได้ ทว่าเมื่อลองพิจารณากรณีของการจัดการเรื่องไวรัสโควิด-19 ที่รัฐได้ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ รวมถึงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อยู่ก่อนแล้วด้วย ชัดเจนว่าได้เกิดกรณียกเว้นขึ้นในพื้นที่ดังกล่าว

สำหรับปมคำถามที่ 2 พรเพ็ญมองว่า ปัญหาสำคัญที่อาจจะเกิดขึ้นจากการนำ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาใช้เพื่อจัดการปัญหาเรื่องโรคระบาดนั้น ก็คือสถานะความต่อเนื่องของตัวกฎหมายพิเศษที่สุ่มเสี่ยงที่จะถูกยืดระยะการใช้งานออกไปเรื่อย ๆ  อย่างที่เกิดขึ้นในภาคใต้ กลายเป็นเครื่องมือของรัฐที่ถูกนำมาใช้เพื่อตอบสนองต่อจุดประสงค์ทางการเมือง

“สิ่งที่เป็นปัญหามากในพื้นที่ภาคใต้ นั่นก็คือการที่ตัว พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ถูกขยายเวลาการประกาศใช้เรื่อย ๆ ทุก 3 เดือน ตอนนี้เป็นจำนวนกว่า 50 ครั้งแล้ว ตลอดเวลากว่า 15 ปี โดยที่แทบจะไม่ได้มีการประเมินความจำเป็นเลยว่าเรายังจำเป็นต้องใช้กฎหมายตัวนี้อยู่ไหม

“ในสถานการณ์ที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสโควิดนี่เอง ก็มีโอกาสที่ตัว พ.ร.ก. จะถูกต่อเวลาออกไปเรื่อย ๆ เพื่อประโยชน์ในการทำงานของราชการ โดยเฉพาะฝ่ายที่กุมอำนาจอยู่แล้ว แต่จะยุติอย่างไรก็ยังเป็นปัญหาอยู่ เพราะในกฎหมายกำหนดให้คณะรัฐมนตรีเป็นคนประกาศ แต่ไม่มีการทบทวนโดย ส.ส. หรือสภาเลย อีกทั้งในข้อกำหนดฉบับแรกของ พ.ร.ก. มีหลายข้อที่น่าจะเป็นปัญหา และอาจจะส่งผลเสียมากกว่าผลดีในระยะยาว อย่างในข้อที่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายได้โดยที่ไม่ต้องรับโทษ หากกระทำความผิด ก็น่าเป็นห่วงว่าหากเกิดกรณีการละเมิดสิทธิขึ้นมา ประชาชนก็ไม่สามารถที่จะเรียกร้องความยุติธรรมได้โดยง่ายผ่านทางศาลปกครอง”

แม้คนในเขตเมืองหลวง อาจจะยังไม่รู้สึกว่าตนถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพจากการนำกฎหมายพิเศษมาใช้มากมายขนาดนั้น แต่พรเพ็ญชี้ว่าเมื่อเทียบกับในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ ที่อำนาจในการควบคุมและกักกันโรค ตกไปอยู่ในมือของเจ้าหน้าที่ทหาร ภาวะดังกล่าวกลับสร้างความหวาดกลัวให้คนในพื้นที่เป็นอย่างมาก

“ในพื้นที่ที่ตกอยู่ภายใต้การใช้กฎหมายพิเศษด้านความมั่นคงอย่างต่อเนื่องและยาวนาน การทำแบบนี้ (มอบหมายให้ทหารมีอำนาจในการควบคุมและกักกันโรค) เป็นการก่อให้เกิดความสับสนเพิ่มจากเดิมที่มีอยู่แล้วมาโดยตลอด เพราะทหารแต่แรกก็มีเสรีภาพมากในการจัดการปัญหาในพื้นที่ภาคใต้ อย่างในกรณีของโควิด เขาก็หยิบชุดหยิบอาวุธครบมือเข้ามาในพื้นที่ แม้ว่าจะเป็นการเข้ามาเพื่อปฏิบัติการจัดการควบคุมโรคก็ตาม แต่มันกลายเป็นว่า ข้ออ้างเรื่องการจัดการโรค กลายเป็นเหตุผลที่เอื้อให้ทหารมีอำนาจสั่งค้น คุมตัวบุคคล น่าสงสัยว่า การเข้าไปลักษณะนี้คือเข้าไปเพื่อหาข่าวหรือเปล่า? หรือใช้ข้ออ้างนี้เพื่อปิดค้น ตรวจบุคคลเป้าหมายหรือเปล่า?

“จากการที่เราทำงานกับทางเครือข่ายในภาคใต้ เราพบว่ามีหมู่บ้านที่ทางสาธารณสุขตรวจพบว่ามีผู้ป่วยโรคโควิด เจ้าหน้าที่ก็ใช้โอกาสนั้นในการสั่งปิดหมู่บ้าน ถึงแม้ไม่มีเหตุการณ์รุนแรงตามมา แต่ส่งผลให้คนในพื้นที่ที่เคยถูกบังคับใช้กฎหมายแบบเข้มข้นรู้สึกหวาดกลัวและไม่ปลอดภัย เจ้าหน้าที่ใช้ข้ออ้างเรื่องการควบคุมโรคเพื่อตั้งด่านเพิ่ม ชาวบ้านกลุ่มนั้นเขาไม่ใช่ชาวบ้านที่อยู่ในกรุงเทพฯ พวกเขาคือกลุ่มคนที่คุ้นชินกับการถูกล้อมบ้าน ถูกตรวจค้นมามากแล้ว ภาวะแบบนี้สร้างให้เกิดความรู้สึกหวาดกลัวมากกว่าเดิมและรู้สึกไม่ปลอดภัย มันเป็นภาพจำของความรุนแรงที่คนที่อยู่นอกพื้นที่ จะไม่สามารถนึกภาพได้เลยว่ามันน่ากลัวขนาดไหน”

ล่าสุด ในวันที่ 20 เมษายน 2563 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้แสดงท่าทีว่าอาจจะมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต่ออีกเป็นเวลา ไม่น่าจะต่ำกว่า 1 เดือน โดยจะผ่อนปรนความเข้มข้นให้บางธุรกิจสามารถเปิดทำการได้ อย่างไรก็ตาม ทางด้านมูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้ออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้ไม่ขยายระยะเวลาการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ให้เปลี่ยนมาใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ 2558 ควบคู่ไปกับการให้งบสนับสนุนด้านสาธารณสุข รณรงค์ลดการแพร่เชื้อไวรัสโควิด เหตุเพราะกฎหมายความมั่นคงฉบับที่ใช้อยู่ขณะนี้ให้อำนาจฝ่ายบริหารอย่างกว้างขวางเกินไป ขาดการตรวจสอบถ่วงดุลโดยฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายตุลาการ ตัดอำนาจการตรวจสอบของศาลปกครอง

เมื่อมาตรการจำกัดสิทธิที่เข้มข้น อาจจะไม่ใช่ทางออกเดียวต่อปัญหาโรคระบาด

ในเวลาเช่นนี้ เราคงไม่อาจปฏิเสธได้ว่ามาตรการต่าง ๆ ที่มีผลในการจำกัดสิทธิ ส่งผลต่อการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสได้ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจำเป็นต้องเรียนรู้ว่าการใช้ “ยาแรง” อย่างเดียวอาจไม่สามารถนำพาประเทศฝ่าวิกฤตในครั้งนี้ออกไปได้ แต่ยังจำเป็นต้องอาศัยองค์ประกอบอื่น ๆ อีกมาก

สำหรับคำถามสุดท้าย ในการจะออกจากวิกฤตนี้ ทนายภาวิณีเสนอว่า แรกสุด รัฐต้องมีความชัดเจนและรัดกุมในการออกมาตรการที่ส่งผลในการจำกัดสิทธิของประชาชน ซึ่งการรวมอำนาจไว้ที่ตัวนายกรัฐมนตรีตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แม้ฟังดูเหมือนจะช่วยเพิ่มความรวดเร็วให้กับฝ่ายบริหารในการทำงาน แต่ในความเป็นจริง คำสั่งต่าง ๆ ที่ถูกประกาศใช้ผ่านกฎหมายพิเศษกลับมีความคลุมเครือเสียมากกว่า สวนทางกับจุดประสงค์เดิมอย่างชัดเจน

“ข้อเสียของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คือมันทำให้อำนาจในการสั่งการเกิดการรวมศูนย์ ประชาชนไม่สามารถตรวจสอบได้ พอรัฐทำงานโดยที่ไม่มีความชัดเจนมันเลยเป็นปัญหา และบ่อยครั้งสร้างความเข้าใจที่ผิดกับประชาชน”

“อย่างที่ฝรั่งเศสก็มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเหมือนกัน มีการจำกัดจำนวนคนที่สามารถเข้าใช้ซุปเปอร์มาร์เก็ตว่าหนึ่งครั้งสามารถเข้าไปได้ครั้งละไม่เกินกี่คน การจะออกไปนอกบ้านถูกจำกัดให้แค่ครั้งละหนึ่งชั่วโมงเท่านั้น มาตรการเหล่านี้จะทำได้คือรัฐต้องสร้างความเชื่อใจกับประชาชนก่อน อย่างกรณีของไทยคือ เช้าออกประกาศอย่างหนึ่ง เย็นออกประกาศอีกอย่างหนึ่ง การประกาศใช้นโยบายไม่ได้ตามมาพร้อมกับคำอธิบาย ไม่มีการทำงานแบบบูรณาการระหว่างฝ่ายปฏิบัติกับฝ่ายบริหาร เทียบกับในกรณีของฝรั่งเศส แม้จะมีการจำกัดควบคุมสิทธิของประชาชน แต่รัฐมีความชัดเจน ทำให้คนวางใจที่จะปฏิบัติตาม”

ประการต่อมาที่ต้องทำไปควบคู่กับการใช้มาตรการที่ชัดเจนคือ ทำให้คนในประเทศสามารถเข้าถึงการตรวจหาเชื้อไวรัสได้โดยง่ายและเท่าเทียมกัน

ในบทความของ Anthony C. Kuster อาจารย์และนักวิจัยประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้อ้างอิงตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกว่า มาตรการเคอร์ฟิวและการสั่งปิดร้านค้า รวมไปถึงย่านธุรกิจเพียงอย่างเดียวนั้น ยังไม่เพียงพอในการควบคุมการระบาดของโรค แต่ยังต้องทำควบคู่ไปกับการตรวจหาโรคในวงกว้าง การตามรอยคนใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ (contact tracing) และการแยกกักตัว ทั้ง 3 ข้อนี้ควรจะเป็นมาตรการหลัก เพราะสามารถป้องกันการแพร่กระจายของโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า และทั้งหมดต้องทำอย่างรวดเร็วที่สุด ที่มากไปกว่านั้น ข้อดีของการเปิดให้สาธารณชนเข้าถึงการตรวจหาเชื้อ ยังช่วยให้รัฐมีข้อมูลที่ถูกต้องและชัดเจนเกี่ยวกับจำนวนผู้ป่วย ซึ่งนั่นจะช่วยในการกำหนดทิศทางของนโยบายการควบคุมโรคว่าควรจะเป็นไปในทิศทางไหน ทั้งยังช่วยให้ทางฝ่ายสาธารณสุขสามารถเตรียมการรับมือสำหรับกรณีผู้ป่วยรุนแรงได้อย่างทันท่วงที

มาตรการสุดท้ายที่ควรจะนำมาปรับใช้เพื่อช่วยให้การกักตัวของประชาชนสามารถทำได้โดยง่าย และทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ นั่นก็คือมาตรการเยียวยาชดเชยระหว่างที่ขาดรายได้

จากข้อมูลของ Vox เว็บไซต์ข่าวสัญชาติอเมริกัน ได้ยกตัวอย่างของประเทศอิตาลีที่นำมาตรการดังกล่าวมาใช้ควบคู่กับคำสั่งกักตัว ทุกคนจะได้รับเงินชดเชย ไม่ว่าจะทำอาชีพอะไรก็ตาม มาตรการเดียวกันนี้ยังถูกใช้ในเยอรมนี สเปน อังกฤษ ญี่ปุ่น ไอร์แลนด์ ออสเตรีย ออสเตรเลีย และประเทศอื่น ๆ อีกจำนวนมาก แม้จะดูเหมือนเป็นเรื่องยาก แต่มาตรการนี้ถูกพิสูจน์แล้วในทางสถิติว่าสามารถช่วยลดการแพร่กระจายเชื้อได้จริง

ถึงแม้ว่า ปัญหาโรคระบาดจะได้กลายเป็นวิกฤติใหญ่ที่ต้องอาศัยมาตรการขั้นเด็ดขาดอย่างการใช้กฎหมายความมั่นคงในการแก้ไข  #เสรีภาพ ของประชาชนถูกทำให้กลายเป็นเรื่องรอง หรือกระทั่งไม่มีความสำคัญ เมื่อเทียบกับปัญหาเรื่อง #สุขภาพ แต่สังคมไทยต้องไม่ลืมว่า ก่อนที่ปัญหาเรื่องไวรัสโควิดจะบานปลาย จนเป็นชนวนนำไปสู่การสั่นคลอนอย่างรุนแรงทั้งในภาคการท่องเที่ยวและภาคเศรษฐกิจ รัฐไทยมีเวลาในการเตรียมการรับมือต่อปัญหาดังกล่าวนานถึง 2 เดือน และเราก็ได้เห็นตัวอย่างของประเทศที่สามารถป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น ไต้หวัน หรือเกาหลีใต้ การนำ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาใช้เมื่อปัญหาบานปลาย นอกจากจะสายเกินกว่าที่จะจัดการปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ยังเป็นการซ้ำเติมให้กลุ่มคนชายขอบในสังคม ต้องเผชิญกับการกดทับทั้งจากการลิดรอนสิทธิและปัญหาจากโรคภัย

ถ้ารัฐไทยยังคงยืนยันที่จะใช้ “ยาแรง” โดยไม่พยายามที่จะทำอะไรอย่างชัดเจน หรือมีมาตรการในการรองรับเรื่องปากท้องของคนในชาติ มุ่งเน้นที่จะใช้แต่มาตรการเด็ดขาดด้วยความหวังว่าจะสามารถแก้ปัญหาที่ดูเหมือนจะใหญ่เกินตัวขึ้นทุกวัน ท้ายที่สุด นอกจาก #เสรีภาพ ของคนในชาติที่จะต้องสูญเสียไปโดยไม่เกิดประโยชน์ใด ๆ ในปลายทางของวิกฤต แม้แต่ทางออกเรื่อง #สุขภาพ และคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนก็ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ ภายใต้เงื่อนไขที่รัฐได้วาดหวังไว้

 

อ้างอิง:

Coronavirus: Testing and why it matters

Coronavirus: What measures are countries taking to stop it?

Why paid sick leave is essential to beating coronavirus

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง:

ผู้รายงานพิเศษ UN เผย 13 แนวทางคุ้มครองคนไร้บ้านช่วงโควิด-19 ชี้ไม่ควรดำเนินคดีจากเคอร์ฟิว

ผู้รายงานพิเศษ UN ออกแนวปฏิบัติว่าด้วยการใช้กำลังจนท.รัฐในภาวะฉุกเฉิน ช่วงโควิด-19

 

 

X