ครบรอบ 1 เดือน การบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. 63 ถึง 30 เม.ย. 63 โดยก่อนที่กำหนดการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ระยะนี้จะสิ้นสุดลง ทางรัฐบาลได้เห็นชอบในการขยายระยะเวลาการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกไปอีก 1 เดือน โดยจะมีการผ่อนมาตรการควบคุมบางอย่างลงบ้างในช่วงเดือนพฤษภาคม
ก่อนหน้านี้ พรรคร่วมฝ่ายค้านได้เสนอให้มีการยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งจะหมดอายุลงในวันที่ 30 เม.ย. นี้ เนื่องจากเห็นว่ามาตรการด้านสาธารณสุขเพื่อจำกัดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำได้ดีตามสมควร จึงไม่จำเป็นต้องต่ออายุ พ.ร.ก. อีก แต่ให้นำกฎหมายสาธารณสุขมาใช้ดำเนินการ ประกอบกับมีการเสนอให้เปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อใช้รัฐสภาหาทางออกให้ประเทศ และ สามารถนำเสียงของประชาชนผ่าน ส.ส. มาสะท้อนการแก้ไขปัญหาได้
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนชวนทบทวนข้อห่วงกังวลเกี่ยวกับการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ได้ตั้งข้อสังเกตไว้นับตั้งแต่มีการประกาศใช้กฎหมาย เปรียบเทียบกับการบังคับใช้กฎหมายและสถานการณ์ทางเศรษฐกิจสังคมที่เกิดขึ้นตลอด 1 เดือนที่ผ่านมา โดยชี้ให้เห็น 5 เหตุผลว่าทำไมรัฐบาลไม่ควรต่ออายุการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกไปอีก
การแพร่ระบาดของโรคลดระดับลงแล้ว และมีกฎหมายปกติที่ใช้ดูแลป้องกันการระบาดได้
การใช้กฎหมายพิเศษในสภาวะฉุกเฉิน (State of Emergency) หมายถึง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนลงในหลายด้าน ทั้งเสรีภาพในการชุมนุม เสรีภาพสื่อ เสรีภาพในการเดินทาง ฯลฯ ทั้งให้อำนาจกับเจ้าหน้าที่อย่างกว้างขวางมากขึ้น เพื่อให้การดำเนินการต่างๆ ในภาวะฉุกเฉินเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว ทั้งยังจำกัดการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจเหล่านั้นโดยองค์กรตุลาการ ตามหลักการ การประกาศใช้กฎหมายพิเศษนี้จึงต้องถูกใช้ในระยะเวลาที่จำกัด มาตรการต่างๆ ควรได้สัดส่วนกับสถานการณ์ ทำให้ต้องมีการทบทวนถึงความจำเป็นเป็นระยะ หากสถานการณ์ฉุกเฉินตามเหตุผลที่ถูกประกาศผ่านพ้นไป หรือลดระดับลงไปแล้ว ก็ควรจะยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
หากพิจารณาแถลงสถานการณ์การติดเชื้อ ของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือ ศบค. ในวันที่ 23 เม.ย. 63 ซึ่งได้ระบุว่ามีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 13 ราย รวมมีผู้ป่วยติดเชื้อสะสม 2,839 ราย มีผู้เสียชีวิตสะสม 50 ราย หายป่วยแล้ว 2,430 ราย โดยตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่จำนวน 13 รายนั้น ถือเป็นตัวเลขที่ต่ำสุดในรอบกว่า 1 เดือน
นับว่าเป็นแนวโน้มของสถานการณ์โรคระบาดที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้นเมื่อคำนึงถึงการบังคับใช้กฎหมายที่มีผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อประชาชน และแนวโน้มสถานการณ์ที่รุนแรงน้อยลงแล้ว ความจำเป็นในการขยายระยะเวลาบังคับใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต่อไปอีกจึงลดลง ระยะเวลา 1 เดือนที่ผ่านมาจึงเพียงพอแล้วสำหรับการบังคับใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อควบคุมการแพร่กระจายของไวรัสในระยะที่ผ่านมา โดยรัฐบาลสามารถปรับเปลี่ยนมาใช้เฉพาะมาตรการตามกฎหมายปกติที่มีอยู่แล้ว ได้แก่ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ซึ่งใช้ออกมาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันโรคระบาดได้ ประกอบกับมาตรการให้ความรู้และทำความเข้าใจกับประชาชนในการป้องกันการระบาดใหม่ภายหลังจากนี้ เพื่อให้ประชาชนเตรียมกลับมาดำเนินชีวิตโดยปกติ และฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศกลับมาโดยเร็ว
(ภาพแถลงตัวเลขผู้ติดเชื้อของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 -ศบค.)
การบังคับใช้กฎหมายมีแนวโน้มตีความอย่างกว้างขวาง ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์การควบคุมโรค ซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน
ข้อห่วงกังวลสำคัญประการหนึ่งที่ศูนย์ทนายสิทธิฯ ได้ให้ความเห็นไว้ คือข้อกำหนดตาม มาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ข้อที่ 5 ระบุว่า “ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ ในสถานที่แออัดหรือ กระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย” ซึ่งศูนย์ทนายสิทธิฯ ได้แสดงความห่วงกังวลปัญหากรณี “การทำกิจกรรม” ซึ่งไม่ได้รวมอยู่ในความหมายของการชุมนุมตามมาตรา 9 นี้ แต่ข้อกำหนดได้เปิดช่องว่างให้การตีความกิจกรรมที่ห้ามกระทำ ขึ้นอยู่กับความเข้าใจของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติการได้เกินกว่าสมควร
มาตรการห้ามปรามและควบคุมของรัฐโดยที่ไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชนอย่างรอบด้าน ภายหลังการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่มีประชาชนจำนวนมากไม่มีงานทำหรือขาดรายได้ในครัวเรือน หลายกรณีต้องขาดแคลนที่อยู่อาศัยจากการที่ไม่สามารถแบกรับภาระค่าเช่าได้อีกต่อไป และยังเข้าไม่ถึงมาตรการเยียวยาจากรัฐอย่างเพียงพอต่อความจำเป็น จนกระทั่งประชาชนทั่วไปต้องลุกขึ้นมาจัดกิจกรรมแบ่งเบาความลำบากของเพื่อนร่วมสังคมด้วยกันเอง โดยการพยายามแจกจ่ายเงินหรืออาหารให้กับกลุ่มประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ
ไม่เพียงมาตรการช่วยเหลือของรัฐไม่อาจเข้าถึงประชาชนได้อย่างทั่วถึงแล้ว ยังได้เกิดปรากฏการณ์ที่เจ้าหน้าที่รัฐมีการบังคับใช้กฎหมาย หรือข่มขู่จะใช้กฎหมายต่อประชาชนที่ออกมาทำการแจกจ่ายอาหาร โดยการตีความการแจกจ่ายอาหารดังกล่าว เป็น “กิจกรรม” ซึ่งอาจผิดต่อข้อกำหนดพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เรื่องการห้ามทำกิจกรรมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ บางกรณีได้มีการตั้งข้อกล่าวหาและส่งฟ้องต่อศาล
การบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐจึงกลายเป็นการซ้ำเติมประชาชนในสถานการณ์ที่ยากลำบาก อีกทั้งยังเป็นการตีความอย่างผิดวัตถุประสงค์เรื่องการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ทั้งที่กรณีลักษณะนี้ เจ้าหน้าที่รัฐสามารถใช้มาตรการในการบรรเทาความทุกข์ยากของประชาชนได้ โดยการเข้าช่วยจัดการการแจกจ่ายอาหารให้เป็นไปตามมาตรการทางสาธารณสุข เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของไวรัสได้ แม้ต่อมาหลายหน่วยงานของรัฐจะระบุว่าไม่ได้มีการขัดขวางการแจกจ่ายความช่วยเหลือของประชาชนสู่ประชาชน แต่การกำหนดให้ประชาชนต้องทำการขออนุญาตกับหน่วยงานส่วนท้องถิ่น เพื่อสร้างความร่วมมือและได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐ ก็ยังเป็นการสร้างภาระให้กับประชาชนมากขึ้นไปอีกด้วย
อีกทั้งยังปรากฏว่าบางกรณี เจ้าหน้าที่รัฐได้ทำการยึดอาหารที่ประชาชนนำมาแจกจ่าย โดยที่การดำเนินการดังกล่าวไม่ได้มีฐานอำนาจทางกฎหมายอนุญาตให้กระทำได้เลย หรือในบางกรณี เช่น การเข้าจับกุมแรงงานต่างด้าวที่กำลังเล่นกีฬา ก็กลายเป็นปฏิบัติการบังคับใช้กฎหมายที่ก่อให้เกิดเหตุชุลมุน อาจนำไปสู่ความเสี่ยงในการแพร่ระบาดมากกว่าเดิมอีกด้วย
กระทั่งยังมีการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในการข่มขู่ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน ไม่ให้สามารถออกมาเรียกร้องการแก้ไขปัญหาได้ ดังเช่น กรณีของกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ไปยื่นร้องเรียนต่อสภามหาวิทยาลัยขอให้มีการลดค่าเทอมลง แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจข่มขู่ว่าการมายื่นหนังสือเรียกร้องจะเป็นการฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นต้น
(ภาพข่าวการเข้าจับกุมแรงงานที่รวมตัวเล่นวอลเลย์บอล จากข่าวสด)
การใช้มาตรการเคอร์ฟิวส่งกระทบซ้ำเติมประชาชนกลุ่มเปราะบาง
ภายหลังจากการบังคับใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แล้ว ได้มีการออกข้อกำหนดฉบับที่ 2 ได้แก่ “มาตรการเคอร์ฟิว” หรือ การห้ามออกนอกเคหสถานในช่วงเวลา 22.00 – 04.00 น. เว้นแต่กลุ่มบุคคลที่ได้รับการยกเว้นไว้ โดยข้อกำหนดดังกล่าวเริ่มมาตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย. 63 จนถึงปัจจุบัน และมีการกำหนดโทษไว้สำหรับผู้ที่ฝ่าฝืน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีหรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยที่ทางรัฐบาลก็ไม่ได้มีการให้เหตุผลที่แน่ชัดว่าเหตุใดมาตรการการห้ามออกนอกเคหสถานในช่วงหกชั่วโมงของเวลากลางคืนดังกล่าว จะช่วยยับยั้งการแพร่ระบาดของไวรัส ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกช่วงเวลาได้
ต่อมา นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 (ศบค.) รายงานตัวเลขตั้งแต่วันที่ 3 – 23 เม.ย. มีผู้ฝ่าฝืนออกนอกเคหสถานโดยไม่มีเหตุผลสมควร 16,179 ราย ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ได้ทำการตักเตือน 2,983 ราย ดำเนินคดี 13,196 ราย ส่วนการรวมกลุ่ม ชุมนุม หรือมั่วสุม 1,835 ราย ตักเตือน 105 ราย ดำเนินคดี 1,730 ราย
แต่ในจำนวนตัวเลขที่มีการรายงานถึงการบังคับใช้มาตรการเคอร์ฟิวอย่างเข้มงวดดังกล่าว ก็ปรากฏข้อเท็จจริงที่ว่ามีประชาชนส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบาง เช่น คนไร้บ้าน แรงงานรับจ้างรายวัน ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการตีความบังคับใช้มาตรการดังกล่าวรวมอยู่ด้วย ตัวอย่างเช่น กรณีของ 2 คนไร้บ้านในจังหวัดเชียงใหม่ ที่ถูกจับกุมและดำเนินคดี ข้อหาฝ่าฝืนเคอร์ฟิว ออกจาก “บ้าน” หลัง 22.00 น. และศาลได้มีคำพิพากษาลงโทษทั้ง 2 คน หรือกรณีตำรวจได้ทำการจับกุมคนงาน 15 คน ข้อหาฝ่าฝืนมาตรการเคอร์ฟิว หลังกลับจากงานเทคอนกรีตซึ่งต้องทำต่อเนื่องให้แล้วเสร็จ แม้จะมีการออกเอกสารรับรองในการเดินทางช่วงเคอร์ฟิวจากทางบริษัทต้นสังกัดของคนงานแล้วก็ตาม รวมทั้งกรณีการจับกุมดำเนินคดีชาวประมงและคนขับรถฉุกเฉินในจังหวัดสงขลาที่กำลังเดินทางไปประกอบอาชีพ ทั้งที่ข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ได้กำหนดให้กลุ่มอาชีพทั้งสองอยู่ในข้อยกเว้นแล้ว
มาตรการบางประการไม่ชัดเจนถึงความจำเป็นและได้สัดส่วน เพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส
นอกจากมาตรการในการควบคุมการเพิ่มจำนวนของผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 แล้ว ก็ยังปรากฏมาตรการที่สร้างความสงสัยให้กับประชาชน ว่ามาตรการเหล่านี้จะช่วยลดการแพร่ระบาดได้อย่างไร
ตัวอย่างเช่น มาตรการให้ปิดสถานที่จำหน่ายสุราทั่วประเทศ โดยน.พ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศบค.ระบุเหตุผลส่วนหนึ่งในการบังคับใช้ว่า “เพื่อทุกคนเลิกดื่มสุราในสงกรานต์นี้ หรือช่วง 7 วันอันตราย ซึ่งเดิมทีก็มีการรณรงค์กันอยู่แล้ว ยิ่งอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉินต้องใช้ตรงนี้ให้เป็นประโยชน์” ทั้งที่หากต้องการป้องกันการรวมตัวเพื่อดื่มสุราอันอาจก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส การออกมาตรการระบุชัดว่าห้ามไม่ให้มีการรวมกลุ่มเพื่อดื่มสุราตั้งแต่กี่คนขึ้นไป จะเป็นแนวทางที่มีเหตุผลและเป็นการใช้อำนาจเท่าที่มีความจำเป็น ทั้งยังไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนที่ทำการค้าขาย ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์นี้อยู่แล้ว
ในอีกกรณีหนึ่งที่ก่อให้เกิดการถกเถียงในหมู่นักกฎหมายเป็นวงกว้าง ได้แก่ มาตรการการออกคำสั่งให้ประชาชนทุกคนต้องสวมหน้ากากอนามัยก่อนออกจากบ้าน ว่าเป็นอำนาจที่สามารถสั่งการได้หรือไม่ จนประธานศาลฎีกาถึงกับต้องมีการเรียกประชุมถึงกรณีดังกล่าว จนได้ข้อสรุปว่าผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจออกคำสั่งห้ามบุคคลออกจากเคหสถานโดยไม่สวมหน้ากากอนามัย แต่ยังต้องใช้ดุลพินิจเป็นรายคดี ประกอบกับพิจารณาสภาพแห่งข้อหาและการกระทำความผิด ตลอดจนโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมของจำเลยด้วย เป็นต้น
เหตุการณ์เหล่านี้ชี้ให้เห็นการใช้อำนาจตามอำเภอใจ และอาศัยความเข้าใจจากมุมของของเจ้าหน้าที่รัฐเท่านั้น โดยขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน แต่ผู้ที่ได้รับผลกระทบกลับเป็นประชาชนทั่วไป แม้ว่าท้ายที่สุดแล้วประชาชนก็ยังคงต้องปฏิบัติตามโดยเล็งเห็นถึงความสำคัญในการแก้ไขสถานการณ์โรคระบาดเช่นกัน หากก็เป็นการปฏิบัติตามบนความลำบากยากเข็ญ ทั้งที่รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติการอาจมีมาตรการและการแก้ไขปัญหาที่ได้สัดส่วนและเหมาะสมกว่านี้ได้
การแก้ไขปัญหาที่ไม่คำนึงถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างรอบด้าน ก่อให้เกิดความตายเช่นเดียวกับโรคโควิด-19
การจัดการปัญหาของรัฐที่เกิดขึ้นโดยปราศจากการคำนึงถึงผลกระทบอย่างรอบด้าน ประกอบกับการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น โดยไม่คำนึงถึงบริบทความเดือดร้อนของประชาชน และวัตถุประสงค์ที่แท้จริงในการยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กำลังบีบคั้นให้ประชาชนที่ยากจนหรือประชาชนในกลุ่มเปราะบางเผชิญกับปัญหาที่หนักหน่วงยิ่งขึ้นเรื่อยๆ จนหลายคนเลือกจะจบชีวิตตนเองไปดังการเปิดเผยของโครงการวิจัยคนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง ที่ระบุว่า
“จากการรวบรวมข้อมูล พบว่า นับแต่วันที่ 1 ถึง 21 เมษายน 2563 มีการฆ่าตัวตายเกิดขึ้นรวมทั้งสิ้น 38 ราย หากพิจารณาเปรียบเทียบระหว่างจำนวนผู้เสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 และผู้ที่ฆ่าตัวตายอันเนื่องมาจากผลกระทบจากนโยบายและมาตรการของรัฐในช่วงเวลาเดียวกัน พบว่า จำนวนของผู้เสียชีวิตและผู้ที่ฆ่าตัวตายอยู่ในจำนวนที่เท่ากัน คือ 38 ราย
“ข้อเท็จจริงข้างต้น สามารถตั้งข้อสังเกตได้ว่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากนโยบายและมาตรการของรัฐคือ กลุ่มลูกจ้าง แรงงานอิสระ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มคนจนเมืองซึ่งต้องตกงานแต่ไม่ได้รับการช่วยเหลือหรือเยียวยาจากทางภาครัฐอย่างทันท่วงที และผู้ประกอบการรายย่อยเป็นอีกส่วนที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ส่วนใหญ่ของผู้ที่ฆ่าตัวตายเป็นผู้ที่อยู่ในวัยทำงานและมีบทบาทสำคัญในการเป็นเสาหลักหรือรับผิดชอบต่อค่าใช้จ่ายของครอบครัว ดังนั้น เมื่อต้องเผชิญกับการตกงานหรือไม่มีงานทำอย่างเฉียบพลันก็นำมาซึ่งแรงกดดันอันไพศาลทั้งต่อตนเองและครอบครัว”
สถานการณ์ทางเศรษฐกิจสังคมดังกล่าว สำคัญไม่น้อยกว่าสถานการณ์ทางสาธารณสุข เพราะส่งผลต่อชีวิตประชาชนไม่แตกต่างกัน การบังคับใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และมาตรการต่างๆ อย่างเข้มข้นต่อไปอีก โดยไม่ได้จัดเตรียมการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจของประชาชนอย่างเพียงพอและทันท่วงที จึงมีแนวโน้มจะทำให้สถานการณ์เหล่านี้เลวร้ายยิ่งขึ้นไปอีกด้วย
(ภาพแสดงสถิติการฆ่าตัวตายจากโครงการวิจัยคนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง)
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเข้าใจถึงข้อท้าทายและสถานการณ์ที่ซับซ้อนในการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ประเทศไทยและทั่วทั้งโลกกำลังเผชิญ อีกทั้งเห็นว่าการบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ที่มีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนเรื่องการควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 ควรเป็นมาตรการที่ชั่วคราวและตรงตามวัตถุประสงค์ในการควบคุมโรคระบาดเพียงประการเดียว ดังนั้นเมื่อสถานการณ์ความรุนแรงของโรคระบาดได้ลดระดับลงแล้ว และรัฐบาลก็สามารถใช้อำนาจตามกฎหมายปกติในการป้องกันการแพร่ระบาดระยะต่อไป การไม่ต่ออายุการใช้กฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉินจึงเป็นหนทางการคลี่คลายปัญหาที่สังคมไทยกำลังเผชิญอยู่ในด้านเศรษฐกิจสังคมไปพร้อมกับสถานการณ์ด้านสาธารณสุขอีกด้วย