เผย “คนไร้บ้านเชียงใหม่” ถูกจับกุม-ส่งฟ้องศาล ข้อหาออกจาก “บ้าน” ฝ่าฝืนเคอร์ฟิว

นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รัฐบาลได้พยายามแก้ไขสถานการณ์โดยการออกมาตรการต่างๆ เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดและควบคุมจำนวนผู้ป่วยให้น้อยลง แต่หลายมาตรการที่ถูกบังคับใช้ยังส่งผลกระทบถึงการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชนอีกด้วย

หนึ่งในมาตรการที่ถูกประกาศใช้ โดยอ้างอาศัยอำนาจตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกเป็นข้อกำหนดฉบับที่ 2  ได้แก่ “มาตรการเคอร์ฟิว” หรือ การห้ามออกนอกเคหสถานในช่วงเวลา 22.00 – 04.00 น. เว้นแต่กลุ่มบุคคลที่ได้รับการยกเว้นไว้ อาทิ บุคลากรทางการแพทย์ การขนส่งสินค้าและวัสดุภัณฑ์ หรือเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานของทางราชการ เป็นต้น โดยข้อกำหนดดังกล่าวเริ่มมาตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย. 63 จนถึงปัจจุบัน และมีการกำหนดโทษไว้สำหรับผู้ที่ฝ่าฝืน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีหรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ข้อกำหนดนี้ได้สร้างความสงสัยให้กับประชาชนตั้งแต่มีการประกาศใช้ ว่าจะช่วยแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสได้อย่างไร อีกทั้งยังนำไปสู่ข้อห่วงกังวลถึงผลกระทบต่อการทำงานและวิถีชีวิตของบางอาชีพหรือกลุ่มคนจำนวนหนึ่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

(ภาพความเป็นอยู่ส่วนหนึ่งของคนไร้บ้านในจังหวัดเชียงใหม่)

 

ความเข้าใจต่อ “คนไร้บ้าน” และการบังคับใช้กฎหมายในวิกฤติโควิด-19

ข้อกำหนดเรื่องการห้ามออกจากเคหสถานนั้นเป็นมาตรการที่มีขึ้นบนข้อสันนิษฐานที่ว่าประชาชนทุกคนมีเคหสถาน หรือ “บ้าน” สำหรับอยู่อาศัย แต่กลับละเว้นข้อเท็จจริงที่ว่ามีประชาชนอีกจำนวนหนึ่งไม่ได้มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง หรือมักเรียกว่าเป็น “คนไร้บ้าน” ในกรณีของหลายคนแม้จะเคยมีที่อยู่อาศัยมาก่อน แต่เมื่อประสบกับภาวะวิกฤติที่ส่งผลต่องานและรายได้ จนทำให้ไม่สามารถจ่ายค่าที่อยู่อาศัยได้หรือไม่สามารถอยู่อาศัยอย่างเป็นสุขได้อีกต่อไป ทำให้คนเหล่านี้กลายมาเป็นคนไร้ที่อยู่อาศัย ออกมาอาศัยพื้นที่สาธารณะในการใช้ชีวิตและกลายเป็นบ้านในการกินอยู่หลับนอน

ในภาวะการระบาดของไวรัสโควิด-19 เมื่อรัฐไม่มีมาตรการเพียงพอที่จะรองรับหรือดูแลการใช้ชีวิตของประชาชนเหล่านี้ ประกอบกับการออกมาตรการบังคับขั้นรุนแรงที่มีโทษทางอาญา ซึ่งเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการก็นำมาบังคับใช้ต่อคนในกลุ่มเปราะบางนี้โดยขาดความเข้าใจ ส่งผลให้มีคนไร้บ้านจำนวนไม่น้อยตกเป็นจำเลยในคดีทางอาญา และต้องเผชิญกับปัญหาทางกฎหมายซ้ำเติมปัญหาทางเศรษฐกิจสังคมที่แต่ละคนมีอยู่เดิมแล้ว

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับการเปิดเผยจากคนไร้บ้านในจังหวัดเชียงใหม่อย่างน้อย 2 ราย ถึงเหตุการณ์การถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่รัฐในข้อกล่าวหาเรื่องการฝ่าฝืนเคอร์ฟิว และศาลได้มีคำพิพากษาว่ามีความผิดไปแล้ว แต่โทษจำคุกให้รอการลงโทษ และให้จ่ายค่าปรับจากข้อหาดังกล่าว

(ภาพการใช้พื้นที่สาธารณะของคนไร้บ้านในจ.เชียงใหม่)

กรณีพี่ตุ้ย 

พี่ตุ้ย (นามสมมติ) เป็นคนไร้บ้านที่อาศัยอยู่ในตลาดวโรรส หรือกาดหลวง มีอาชีพรับจ้างเข็นผักส่งภายในตลาด และอาศัยนอนอยู่บริเวณแผงผักในตลาดช่วงกลางคืน เขาเปิดเผยว่า

คืนที่เกิดเหตุราววันที่ 12 เม.ย. 63 ขณะนั้นเวลาประมาณ 22.30 น. เขารู้สึกปวดปัสสาวะ จึงได้เดินออกจากตลาด ข้ามถนนจากฝั่งตลาดวโรรสไปยังฝั่งแม่น้ำปิงซึ่งห่างออกไปราว 20 เมตร เมื่อปัสสาวะเสร็จแล้วกำลังเดินข้ามถนนเพื่อกลับมานอน ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจขับรถมาพบกับเขาพอดี เจ้าหน้าที่ได้เข้ามาพูดคุยและแจ้งว่าขณะนี้เกินเวลา 22.00 น. เป็นช่วงเคอร์ฟิวห้ามออกนอกเคหสถานแล้ว

พี่ตุ้ยพยายามอธิบายว่าเขาอาศัยนอนอยู่บริเวณนี้ห่างออกไปเพียงแค่ข้ามฝากถนน พร้อมร้องขอว่าอย่าจับกุมเขาเลย แต่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจยังยืนกรานว่าตอนนี้เกินเวลาที่กำหนดแล้ว ให้ขึ้นรถไปกับเจ้าหน้าทีเดี๋ยวนี้ พี่ตุ้ยจึงต้องยินยอมเดินทางไปกับรถเจ้าหน้าที่ตำรวจ

(ภาพหลังตลาดวโรรส สถานที่เกิดเหตุในกรณีของพี่ตุ้ย) 

เมื่อไปถึงสถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงใหม่ ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการจัดทำเอกสารแจ้งข้อกล่าวหาเรื่องการฝ่าฝืนมาตรการเคอร์ฟิวและให้พี่ตุ้ยเซ็นรับสารภาพ ซึ่งพี่ตุ้ยก็ได้เซ็นรับสารภาพ โดยไม่มีทนายความหรือบุคคลอื่นร่วมอยู่ด้วย หลังจากนั้นเขาถูกนำตัวไปควบคุมไว้ในห้องขังของสถานีตำรวจเป็นเวลา 1 คืน

เช้าวันต่อมาเวลาประมาณ 10.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำตัวพี่ตุ้ยไปยังศาลแขวงเชียงใหม่เพื่อส่งฟ้อง แต่ไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้น เจ้าหน้าที่ได้แจ้งว่าศาลแขวงเชียงใหม่ยังไม่รับฟ้อง เขาจึงถูกนำตัวกลับไปยังสถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงใหม่ เพื่อควบคุมตัวไว้ในห้องขังของสถานีอีกครั้ง

จนกระทั่งเวลาประมาณ 15.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำตัวพี่ตุ้ยไปยังศาลแขวงเชียงใหม่อีก โดยในครั้งนี้ศาลได้รับฟ้องคดี และเขาได้ถูกพาตัวไปยังห้องขังใต้ถุนศาล จากนั้น ก็มีการอ่านคำพิพากษาผ่านทีวีในห้องขัง โดยคำพิพากษาพี่ตุ้ยจำได้คร่าวๆ ศาลระบุว่าเขามีความผิดจริง ให้ลงโทษจำคุก 6 เดือน ปรับ 1,500 บาท โดยโทษจำคุกให้รอการลงโทษเป็นเวลา 1 ปี ส่วนค่าปรับหากไม่มีเงินจ่ายให้ทำการกักขังแทนค่าปรับ วันละ 500 บาท

ขณะนั้นพี่ตุ้ยไม่มีเงินจ่ายค่าปรับและไม่มีทางติดต่อขอความช่วยเหลือจากใคร ทำให้คิดว่าต้องยินยอมถูกกักขังเป็นเวลา 3 วัน แทนเงินค่าปรับ 1,500 บาท โดยเขาคาดว่าจะถูกพาไปยังเรือนจำกลางจังหวัดเชียงใหม่ที่อำเภอแม่แตง แต่เมื่อพี่ตุ้ยได้นั่งรออยู่ในห้องขังจนเวลาประมาณ 18.00 น. ผู้พิพากษาที่ได้อ่านคำพิพากษาได้แจ้งกับเขาผ่านจอทีวีของศาลอีกครั้ง ว่าครั้งนี้เป็นการกระทำความผิดครั้งแรก ศาลจะตักเตือนก่อน แต่ระวังอย่าให้มีการกระทำความผิดอีก ทำให้ในที่สุดพี่ตุ้ยไม่ได้ถูกส่งตัวไปกักขัง และได้เดินทางกลับมาอาศัยที่ด้านหลังตลาดวโรรสเช่นเดิม หลังจากวันนั้นในช่วงกลางคืนพี่ตุ้ยไม่กล้าที่จะเดินออกมาบริเวณถนนอีกเลย

สำหรับงานเข็นผักในช่วงนี้ พี่ตุ้ยเล่าว่า “งานช่วงนี้ไม่ค่อยมี เพราะว่าโรคโคฟิวๆ อะไรเนี่ยแหละ งานไม่ค่อยมี เมื่อก่อนก็พอมีรายได้วันละ 3-4 ร้อย แต่ตอนนี้ก็บางวันไม่ถึงร้อย บางวันก็ร้อยกว่า”

เมื่อถามว่าพี่ตุ้ยรู้หรือไม่ว่ารัฐบาลประกาศห้ามออกจากบ้านช่วงหลัง 4 ทุ่ม ก่อนที่เขาจะถูกดำเนินคดี พี่ตุ้ยบอกว่า “ผมไม่รู้เลยครับ ผมข้ามฟากมาเนี่ย จากที่ผมนอน ข้ามฟากมาแค่นี้ ผมจะข้ามไปนอนอยู่ล่ะ แต่ตำรวจเขาไม่ยอม เขาบอกว่ามันเกินเวลา ผมก็ปฏิเสธไม่ได้เนาะกฎหมาย ตอนแรกตำรวจบอกว่า 2 ทุ่ม ก็ได้กลับแล้ว แต่พอไปปุ๊บ เซ็นอะไรแล้วปุ๊บ ต้องรอขึ้นศาลอะไรอีกยาวเลย ผมต้องไปนอนกินข้าว 1 คืน กับ 1 วัน ในห้องขัง ธรรมดามันก็เป็นความผิดของเราเนาะ เราไม่ได้ติดตามเอง”

.

กรณีพี่ชาติ 

อีกกรณีหนึ่ง คือพี่ชาติ (นามสมมติ) คนไร้บ้านที่อาศัยอยู่ในตลาดวโรรส จังหวัดเชียงใหม่เช่นเดียวกันมีอาชีพรับจ้างเข็นผักส่งในตลาด และอาศัยนอนอยู่บริเวณแผงผักในตลาดในช่วงกลางคืนเช่นเดียวกัน เขาเปิดเผยว่า

คืนวันเกิดเหตุคือวันที่ 13 เม.ย. 63 ช่วงเวลาประมาณ 21.00 น. พี่ชาติได้นัดหมายพบกับเพื่อนบริเวณประตูท่าแพ เขาจึงเดินเท้าจากตลาดวโรรสไปยังจุดนัดหมายซึ่งห่างออกไปราว 1.5 กิโลเมตร เมื่อไปถึงกลับไม่พบกับเพื่อนของเขา รออยู่สักพัก จึงได้ตัดสินใจเดินทางกลับ

ขณะนั้นเป็นเวลาประมาณ 22.00 น. แล้ว พี่ชาติเริ่มเดินเท้ากลับมาที่ท้ายตลาดวโรรส  พบว่ามีด่านตรวจตั้งอยู่บริเวณใกล้ประตูท่าแพ เมื่อพบด่าน เจ้าหน้าที่ตำรวจได้กักตัวเขาแล้วบอกว่าตอนนี้ไม่ให้ออกมาจากบ้าน ให้อยู่เป็นหลักเป็นแหล่ง และต้องจับกุมเขา พี่ชาติได้พูดคุยขอร้องกับเจ้าหน้าที่และบอกว่าตัวเองไม่ได้มีเงิน เมื่อสอบถามว่าเขาถูกจับในข้อหาอะไร เจ้าหน้าที่ตำรวจบอกว่าขณะนั้นเกินเวลาแล้ว 22.00 น. แล้ว

พี่ชาติจึงถูกจับกุมไปยังสถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงใหม่ เขาถูกแจ้งข้อกล่าวหาและให้เซ็นเอกสารรับสารภาพ แต่พี่ชาติไม่สามารถเซ็นเอกสารได้ จึงได้ทำการปั๊มลายนิ้วมือลงในเอกสารแทน โดยไม่มีทนายความเข้าร่วมกระบวนการดังกล่าว ก่อนจะถูกคุมขังในห้องขังของสถานีตำรวจเป็นเวลา 1 คืนเช่นกัน

วันต่อมาเวลาประมาณ 16.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำตัวพี่ชาติไปยังศาลที่ตั้งอยู่บริเวณ 4 แยก สถานีขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ (หมายถึงศาลแขวงเชียงใหม่) เมื่อไปถึงศาล พี่ชาติเล่าว่ามีพี่ใส่เสื้อสีเหลืองเข้ามาพูดคุยผ่านจอทีวี ระบุว่าให้ยืนขึ้นแล้วถามชื่อ พี่ชาติก็บอกชื่อไป จากนั้นคนในทีวีดังกล่าวบอกเขาว่า “วันหลังอย่าเดินออกจากบ้านเวลา 4 ทุ่ม น่ะ”

พี่ชาติเล่าว่าเขาก็ไม่เข้าใจกระบวนการที่เกิดขึ้นมากนัก เท่าที่พอจะเข้าใจคือ เขาถูกปรับเป็นเงิน 3,000 บาท และถูกนัดหมายให้ไปรายงานตัวทางอาญาบางอย่างที่อำเภอแม่ริมในช่วงปลายเดือนเมษายนที่จะถึงนี้ (เข้าใจว่าเป็นการรายงานตัวกับสำนักงานคุมประพฤติ)  ส่วนเรื่องค่าปรับนั้น ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจคนหนึ่งที่เขารู้จักเป็นคนจ่ายให้ ทำให้เขาได้รับการปล่อยตัว และกลับมาอาศัยท้ายตลาดวโรรสเช่นเดิม

นอกจากนี้ จากการสอบถามคนไร้บ้านที่ถูกดำเนินคดีทั้งสองราย และอาสาสมัครคนไร้บ้านซึ่งทำงานลงพื้นที่เพื่อแจกจ่ายอาหารในช่วงวิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 พบว่ามีรายงานการจับกุมดำเนินคดีกลุ่มคนไร้บ้านในลักษณะคล้ายกรณีของทั้งสองคนอีกในช่วงสองอาทิตย์กว่าหลังประกาศเคอร์ฟิว อย่างน้อยเท่าที่ได้รับการบอกเล่ากันมาราว 10 กรณีแล้ว 

แต่ละกรณีมีพฤติการณ์แตกต่างกันไป ทั้งคนไร้บ้านที่นอนอยู่ในที่สาธารณะและคนไร้บ้านที่ออกมาเดินในช่วงเวลาเคอร์ฟิว แต่ก็มีเพียงบางกรณีเท่านั้นที่กลุ่มอาสาสมัครคนไร้บ้านเข้าถึงข้อมูลดังกล่าว โดยมีการบอกเล่ากันว่าคนไร้บ้านบางรายได้ถูกส่งตัวไปคุมขังที่เรือนจำกลางจังหวัดเชียงใหม่ แทนการจ่ายค่าปรับที่ศาลได้มีคำพิพากษาอีกด้วย แต่ยังไม่สามารถติดตามข้อมูลกรณีลักษณะนี้ได้

 

ความเห็นจากอาสาสมัครคนไร้บ้านและข้อเสนอขององค์กรระหว่างประเทศ

จากการสำรวจของอาสาสมัคร “บ้านเตื่อมฝัน กลุ่มคนไร้บ้านเชียงใหม่” ซึ่งทำงานเป็นศูนย์ช่วยเหลือสนับสนุนและพัฒนาศักยภาพคนไร้บ้านในจังหวัดเชียงใหม่ ให้สามารถกลับไปมีรายได้และที่อยู่อาศัยได้ ระบุว่าจนถึงเดือนพฤษภาคม 2562 มีจำนวนคนไร้บ้านในอำเภอเมืองเชียงใหม่ ประมาณ 150 คน แต่คาดว่าตัวเลขที่เป็นจริงจะมากกว่าที่สำรวจพบนี้ และยังไม่รวมถึงกรณีคนไร้บ้านที่เพิ่มขึ้นภายหลังจากภาวะวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้การจ้างงานลดลง มีการเลิกจ้างลูกจ้างจำนวนมาก ส่งผลให้ประชาชนขาดรายได้จนไม่สามารถจ่ายค่าเช่าที่อยู่อาศัยได้ ทำให้อาจมีคนต้องออกมาอยู่อาศัยตามพื้นที่สาธารณะด้วยความจำเป็นเพิ่มขึ้นอีก

นายภาวัต เป็งวันผูก หรือ “ชิว” นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาปรัชญา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หนึ่งในอาสาสมัครประจำ “บ้านเตื่อมฝัน กลุ่มคนไร้บ้านเชียงใหม่” ให้ความเห็นต่อกรณีการดำเนินคดีกับกลุ่มคนไร้บ้านในภาวะวิกฤติเช่นนี้ว่า “อย่างแรกที่ควรทำความเข้าใจ คนไร้บ้านคือคนที่อาศัยตามพื้นที่สาธารณะ บ้านของเขา ประตูบ้านก็คือริมแม่น้ำหรือตลาด หลังคาบ้านเขาคือท้องฟ้า พื้นที่นอนคือพื้นที่สาธารณะ นี่คือบ้านของคนไร้บ้าน ดังนั้นคนกลุ่มเหล่านี้เขาควรได้รับสิทธิในการใช้พื้นที่สาธารณะในการพักอาศัยไม่ว่ากรณีใดๆ ต่อให้เป็นภาวะวิกฤติแบบนี้ หรือถ้าหน่วยงานรัฐจะต้องการควบคุมคนเหล่านี้จริงๆ รัฐควรจะมีมาตรการรองรับ ไม่ใช่การมองไม่เห็นว่ามีกลุ่มคนเหล่านี้อยู่ ซึ่งมันเป็นข้อเท็จจริงว่ามีคนเหล่านี้อยู่ และรัฐก็รู้ข้อมูลเหล่านี้

“รัฐออกมาตรการแต่ไร้การเยียวยา มันเป็นเหมือนการผลักภาระให้กับประชาชนต้องรับผิดชอบตัวเอง คนไร้บ้านก็โดนมาตรการจากรัฐที่เคอร์ฟิว พอโดนเสร็จคนเหล่านี้จะไปอยู่ที่ไหน รัฐไม่คิดแก้ปัญหาก็ปล่อยเลยตามเลย เจ้าหน้าที่ผมเข้าใจว่าเขามีหน้าที่ มีกฎหมาย ก็กลัวโดนร้องเรียนเพราะมันเป็นนโยบาย จับมาแล้วทำยังไงต่อ 2-3 วันก็ปล่อย หรือไม่ก็เอาเขาไปเข้าคุกเข้าตาราง หรือให้ศาลพิพากษา ก็เหมือนการโยนความผิดไปมาๆ แต่ไม่เกิดการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง”

เมื่อถามถึงแนวทางการแก้ปัญหาที่พอจะเป็นไปได้ ภาวัตให้ความเห็นว่า “สิ่งที่ผมอยากเห็นคือการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง อย่างน้อยถ้ารัฐจะออกมาตรการแบบนี้ รัฐควรมีกระบวนการเยียวยา อย่างเช่น ตอนนี้ภาคธุรกิจโรงแรมอาจจะเจ๊งได้เพราะไม่มีคนมาพัก รัฐสนับสนุนให้เปิดโรงแรมให้คนกลุ่มเหล่านี้เข้าไปอยู่สิ ทำได้ไหม ทำได้ รัฐชอบธรรมในการใช้กฎหมายเหล่านี้อยู่แล้ว แต่รัฐไม่ทำเพราะอ้างว่าไม่มีเงิน”

(กลุ่มอาสาสมัครคนไร้บ้านขณะลงพื้นที่แจกจ่ายอาหาร)

ขณะเดียวกัน ในท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 ที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกเผชิญอยู่ ส่งผลกระทบต่อผู้คนในกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะกลุ่มคนไร้บ้าน ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิในที่อยู่อาศัยได้ออกเอกสารแนวทางการปกป้องคุ้มครองคนไร้บ้านในสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ชี้ให้เห็นความจำเป็นของรัฐบาลต่างๆ ในการคุ้มครองสิทธิของคนไร้บ้าน พร้อมกับจัดทำข้อเสนอแนะ 13 ประการสำหรับดูแลสิทธิของคนกลุ่มนี้ โดยหนึ่งในข้อเสนอคือให้รัฐบาลต่างๆ รับรองว่าคนไร้บ้านจะไม่ถูกดำเนินคดี ถูกปรับหรือถูกลงโทษ จากการบังคับใช้เคอร์ฟิวหรือมาตรการกักกันที่เกิดขึ้นในระหว่างการระบาดของไวรัสโควิด-19

กรณีตัวอย่างการดำเนินคดีต่อกลุ่มคนไร้บ้านในจังหวัดเชียงใหม่ จึงยิ่งสะท้อนถึงการใช้มาตรการป้องกันโรคระบาดของรัฐ ไปทำให้กลุ่มประชากรในสังคมที่เปราะบางอยู่ก่อนแล้ว ได้รับผลกระทบซ้ำเติมความเปราะบางยิ่งขึ้นไปอีก

>> อ่านรายละเอียดข้อเสนอแนะ 13 ประการในรายงาน “ผู้รายงานพิเศษ UN เผย 13 แนวทางคุ้มครองคนไร้บ้านช่วงโควิด-19 ชี้ไม่ควรดำเนินคดีจากเคอร์ฟิว

 

X