ข้อแนะนำ​​เบื้องต้นหากถูกเจ้าหน้าที่จับกุมในช่วงเวลากลางคืน (หรือช่วงเวลาประกาศเคอร์ฟิว)

จากกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจมีการเข้าจับกุมผู้ต้องหาในคดีทางการเมือง หรือเข้าไปตรวจค้นเคหสถาน ในช่วงกลางคืน และในขณะที่ยังมีการประกาศมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 โดยการห้ามการออกจากเคหสถาน (เคอร์ฟิว) ในช่วงระหว่างเวลา 21.00 น. ถึง 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 13 จังหวัด ทำให้ผู้ไว้วางใจหรือทนายความอาจประสบปัญหาในการติดตามให้ความช่วยเหลือผู้ถูกจับกุม ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีข้อแนะนำต่อสถานการณ์ในกรณีดังกล่าว ดังต่อไปนี้ 

1. ตรวจเช็คก่อนว่ามีหมายจับหรือไม่ ถ้าไม่ใช่การกระทำความผิดซึ่งหน้า (กระทำความผิดต่อหน้าเจ้าหน้าที่) เช่น การโพสต์ข้อความ การชุมนุมที่ผ่านไปแล้ว หรือการกระทำใดๆ ที่สิ้นสุดไปแล้ว การจับกุมต้องกระทำโดยมีหมายจับเท่านั้น หากไม่มีหมายจับ เจ้าหน้าที่จะไม่มีอำนาจในการจับกุมได้ 

2. กรณีมีหมายจับ แต่เราอยู่ในบ้าน คอนโด ทาวเฮ้าส์ ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนตัวแล้ว และไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนี เจ้าหน้าที่จะเข้ามาจับกุมในพื้นที่ส่วนตัวไม่ได้ ยกเว้นมีหมายค้น และหมายค้นนั้นระบุให้ค้นได้ในช่วงเวลากลางคืน

3. กรณีที่เจ้าหน้าที่มีทั้งหมายจับและหมายค้น แต่หมายค้นไม่ได้ระบุเวลา (ปกติหมายค้นไม่ระบุเวลา) เจ้าหน้าที่ค้นได้ในเวลากลางวันเท่านั้น จะเข้าค้นในเวลากลางคืนไม่ได้ ต้องรอให้สว่างแล้วเท่านั้น

4. กรณีถูกเจ้าหน้าที่จับกุมไม่ว่าจะมีหมายจับหรือไม่ ผู้ถูกจับกุมมีสิทธิที่จะติดต่อทนายความหรือบุคคลที่ไว้วางใจได้ในทันที (หากเจ้าหน้าที่จะบอกว่ายังไม่ได้ถูกจับเพราะยังไม่ได้ทำบันทึกจับกุม แต่หากคุณไม่สามารถออกไปไหนมาไหนได้ โดยไม่มีเจ้าหน้าที่แล้วนั้น คือการถูกจับกุม)

5. กรณีที่ถูกควบคุมตัวแล้ว เจ้าหน้าที่ต้องนำไปยังสถานีตำรวจท้องที่ที่ถูกจับ หรือไปยังสถานีตำรวจในพื้นที่เกิดเหตุเท่านั้น ไม่สามารถนำตัวไปที่อื่นได้ และเจ้าหน้าที่ตำรวจมีอำนาจควบคุมตัวได้ไม่เกิน 48 ชั่วโมง จากนั้นต้องนำตัวไปฝากขังต่อศาลต่อไป

6. หากถูกจับกุมในเวลากลางคืน ไม่ว่าทนายความจะสามารถเดินทางไปร่วมกระบวนการได้ในทันทีหรือไม่ ผู้ถูกจับกุมไม่ควรให้การใดหรือเซ็นเอกสารใดจนกว่าจะมีทนายความหรือบุคคลที่ไว้วางใจจะไปถึง ผู้ถูกจับกุมมีสิทธิที่จะไม่ให้การหรือไม่ลงชื่อในเอกสารใดๆ โดยที่การกระทำดังกล่าวไม่เป็นผลเสียใดๆ กับคดี / การให้การหรือลงชื่อโดยไม่มีทนายความร่วมด้วยนั้น อาจส่งผลเสียได้มากกว่า

7. ในคดีความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เจ้าหน้าที่จะยึดโทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์ สำเนาข้อมูล หรือขอรหัสผ่านได้ ต่อเมื่อมีหมายศาลซึ่งดำเนินการขอโดยเจ้าหน้าที่ บก.ปอท. เท่านั้น

8. หากเจ้าหน้าที่อ้างว่าจะพาไปสอบปากคำไว้เป็นพยาน ท่านสามารถให้เจ้าหน้าที่นัดหมาย หรือส่งหมายเรียกในภายหลัง และควรปรึกษาทนายความก่อนแม้จะไปให้การในฐานะพยาน

9. ผู้ถูกจับกุมหรือผู้ต้องหา มีสิทธิ

·    แจ้งให้ญาติหรือผู้ซึ่งผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาไว้วางใจทราบว่าถูกจับอยู่ที่ใดในโอกาสแรก

·    พบและปรึกษาทนายความเป็นการส่วนตัว

·    ให้ทนายความหรือผู้ไว้วางใจร่วมสอบปากคำ

·    ได้รับการเยี่ยมหรือติดต่อญาติตามสมควร

·    ได้รับการรักษาพยาบาล หากเจ็บป่วย

10. หากเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองสามารถขอความช่วยเหลือศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ที่เบอร์สายด่วน 092-2713172 และ 096-7893173 หรือกล่องข้อความในเพจเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์

X