ปากคำพยานคดีชักธง “ปฏิรูปกษัตริย์” ใน ม.ขอนแก่น: 3 นศ.ยืนยัน เพียงทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ไม่ได้แสดงความไม่เคารพ-ไม่มีเจตนาเหยียดหยามธงชาติ 

25 มี.ค. 2565 “เซฟ” วชิรวิทย์ เทศศรีเมือง, “กราฟฟิก” ชัยธวัช รามมะเริง 2 นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น และ “เชน” เชษฐา กลิ่นดี นิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม มีนัดฟังคำพิพากษาของศาลแขวงขอนแก่น ในคดีที่มีเหตุจากการทำกิจกรรม ชักธง “ปฏิรูปกษัตริย์” ในมหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2564 ซึ่งกิตติพัฒน์ จำปาศิริ พนักงานอัยการคดีศาลแขวงขอนแก่น เป็นโจทก์ฟ้องนักศึกษาทั้งสามในฐานความผิดตาม พ.ร.บ.ธง พ.ศ.2522 มาตรา 45, 53(3) และ 54 

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 31 ม.ค. – 1 ก.พ. 2565 ศาลได้นัดสืบพยานโจทก์และจำเลย หลังการเลื่อนนัดสืบพยานมา 2 ครั้ง จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด และจากเหตุที่เป็นช่วงสอบปลายภาคของนักศึกษา มีพยานโจทก์ซึ่งเป็นตำรวจสืบสวน, พนักงานสอบสวน และนักวิชาการด้านวัฒนธรรม เข้าเบิกความรวม 5 ปาก และตัดพยานความเห็นซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่สำนักนายกรัฐมนตรี เนื่องจากอัยการติดตามมาเบิกความไม่ได้ โดยพยานโจทก์หลายปากชี้ว่า การผูกธงอื่นอยู่เหนือธงชาติ รวมถึงการปล่อยให้ชายธงชาติตกถึงพื้นดิน เป็นการกระทำที่แสดงถึงความไม่เคารพ 

อย่างไรก็ตาม พยานโจทก์รับกับทนายจำเลยว่า จำเลยไม่มีพฤติการณ์อื่นที่แสดงถึงความไม่เคารพ หรือเหยียดหยามธงและประเทศชาติ อีกทั้งพยานตำรวจชุดสืบไปถึงที่เกิดเหตุขณะ รปภ.นำธง “ปฏิรูปกษัตริย์” ลงมาจากยอดเสาแล้ว พยานโจทก์ทั้งหมดจึงทราบเหตุการณ์จากการดูไลฟ์สด ซึ่งเวลาเกิดเหตุใกล้มืดแล้ว บางปากจึงไม่ยืนยันว่า ชายธงชาติตกถึงพื้นดินหรือไม่ 

ด้านจำเลยทั้งสามซึ่งอ้างตนเองเป็นพยานเข้าเบิกความ ระบุว่า กิจกรรมในวันเกิดเหตุเป็นเพียงกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์  เจตนาเพียงนำธง “ปฏิรูปกษัตริย์” ขึ้นสู่ยอดเสา แสดงถึงข้อเรียกร้องในการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ไม่ได้มีเจตนากระทำต่อธงชาติ จึงเริ่มกิจกรรมหลัง 18.00 น. ซึ่งเป็นเวลาที่มหาวิทยาลัยควรจะนำธงชาติลงจากยอดเสาแล้ว อีกทั้งได้พยายามแกะธงชาติออกเมื่อพบว่าธงชาติยังอยู่บนยอดเสา แต่แกะไม่ออก จึงได้รวบเก็บไว้ที่ด้านล่างเสาธง ไม่ได้มีเจตนาผูกธงอื่นเหนือธงชาติ รวมถึงหลังทำกิจกรรมในวันเดียวกันได้โพสต์ข้อความชี้แจงวัตถุประสงค์ของกิจกรรม และแสดงเจตนาว่า ไม่ได้เกลียดชังธงชาติ แต่ต้องการให้เป็นธงชาติที่สง่างามในระบอบประชาธิปไตย

ระหว่างการสืบพยานโจทก์ในวันแรก ธนิต บุญอนันต์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลแขวงขอนแก่น เจ้าของสำนวนซึ่งออกนั่งพิจารณาคดี มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ผู้สังเกตการณ์จดบันทึกการเบิกความ ระบุว่า ศาลมีหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อยในการพิจารณาคดี ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยอนุญาตให้ผู้เข้าฟังการพิจารณาคดีจดบันทึก อีกทั้งศาลเองก็จดบันทึกโดยละเอียดและอนุญาตให้คัดคำเบิกความอยู่แล้ว ทั้งนี้ คำสั่งดังกล่าวไม่ได้บันทึกลงในรายงานกระบวนพิจารณาด้วย 

คดีนี้นับเป็นคดีที่ 2 จากเหตุชักธงสัญลักษณ์ขึ้นสู่ยอดเสาแทนธงชาติ นับจากกรณีกลุ่มนักกิจกรรมนำผ้าสีแดงที่มีข้อความ “112” ขึ้นสู่ยอดเสาธงด้านหน้า สภ.คลองหลวง เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2564 โดยมีนักกิจกรรม 2 ราย ถูกดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.ธงฯ มาตรา 45, 54 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 118 ด้วย จึงน่าจับตาคำพิพากษาในคดีนี้ว่าจะมีแนวคำพิพากษาอย่างไร โดยหากศาลพิพากษาว่า เซฟและเพื่อนกระทำผิดตามฟ้องจะมีอัตราโทษจำคุกสูงสุดตาม พ.ร.บ.ธง มาตรา 45 คือ จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ก่อนฟังคำพิพากษา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้สรุปคำเบิกความพยานในประเด็นที่น่าสนใจมานำเสนอ 

คำฟ้อง: โจทก์อ้างจำเลยทั้งสามไม่เคารพและเหยียดหยามธงชาติ

อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 45 และมาตรา 46 วรรคสี่แห่งพระราชบัญญัติธง พ.ศ.2522 นายกรัฐมนตรีได้วางระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการใช้ การชัก หรือการแสดงธงชาติและธงของต่างประเทศในราชอาณาจักร พ.ศ.2529 ข้อ 6 ไว้ว่า ธงชาติ เป็นธงที่แสดงความหมายถึงประเทศไทยหรือชาติไทย ให้ปฏิบัติต่อธงดังกล่าวด้วยความเคารพ ไม่ดูถูกเหยียดหยาม หรือทําให้เกิดความเสื่อมเสียซึ่งเกียรติภูมิของประเทศไทย

เมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2564 เวลาประมาณ 18.30 น. จําเลยทั้งสามกับพวกอีก 1 คน ซึ่งยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ได้ร่วมกันชักเอาธงชาติไทยที่มีความหมายถึงประเทศไทยหรือชาติไทย ที่ผูกติดอยู่กับสายสลิงบนยอดเสาธงบริเวณหน้าตึกอธิการบดี อาคาร 1 (หลังเก่า) ภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่น ลงมาในลักษณะชายธงติดกับพื้นข้างล่าง โดยแสดงกิริยาไม่เคารพต่อธงชาติไทยนั้น แล้วนําผ้าพื้นสีแดงเขียนข้อความสีขาวว่า “ปฏิรูปกษัตริย์” ไปผูกติดสายสลิง แล้วจึงชักธงผ้าพื้นสีแดงดังกล่าวนั้นขึ้นไปบนยอดเสาธงแทนธงชาติไทย 

ส่วนธงชาติไทยอยู่ติดกับสายสลิงข้างล่างเสา ซึ่งอยู่ต่ำกว่าธงผ้าพื้นสีแดงดังกล่าว อันเป็นการชักธงลงมาโดยวิธีอันไม่สมควร และเป็นการไม่เคารพ ดูถูกเหยียดหยาม ทําให้เกิดความเสื่อมเสียซึ่งเกียรติภูมิของประเทศไทยหรือชาติไทยตามระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีดังกล่าวข้างต้น และเป็นการเหยียดหยามต่อธงชาติไทยด้วย 

โจทก์ถือว่าการกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดฐาน ร่วมกันชักธงที่มีความหมายถึงประเทศไทยโดยไม่เคารพ โดยดูถูกเหยียดหยาม และโดยทำให้เกิดความเสื่อมเสียซึ่งเกียรติภูมิของประเทศไทย, ร่วมกันชักธงชาติไทยไว้ ณ ที่หรือโดยวิธีอันไม่สมควร และร่วมกันกระทำการใดๆ อันมีลักษณะเหยียดหยามต่อธง ตาม พ.ร.บ.ธงฯ มาตรา 45, 53(3) และ 54

ปากคำพยานโจทก์

พยานโจทก์ 5 ปาก ที่เข้าเบิกความ ได้แก่ ร.ต.อ.ชัชวาลย์ จารย์มาตร และ ด.ต.สังคม พรมบัญชา ชุดสืบสวน สภ.เมืองขอนแก่น ซึ่งเข้าไปที่เกิดเหตุหลังเกิดเหตุแล้ว, ร.ต.อ.ประยุทธ์ เมณกูล รองสารวัตรสืบสวน สภ.เมืองขอนแก่น  ผู้ติดตามการจัดกิจกรรมทางการเมืองผ่านสื่อโซเซียลมีเดีย, วิทวัส ยี่สารพัฒน์ เจ้าหน้าที่สํานักงานวัฒนธรรมจังหวัดขอนแก่น พยานความเห็น และ พ.ต.ท.ปุณณริศร์ ธรานันทเศรษฐ์ พนักงานสอบสวนเจ้าของคดี 

  • คำเบิกความต่อศาล

เมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2564 เวลาประมาณ 18.30 – 18.45 น. ขณะมีการชุมนุมกันอยู่ที่บึงสีฐาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ชุดสืบสวน สภ.เมืองขอนแก่น ซึ่งไปติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุม ได้รับแจ้งว่า มีคนนําธงขึ้นที่ตึกอธิการบดี เมื่อเดินทางไปตรวจสอบ พบว่า รปภ.ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น เอาธงลงมาแล้วและมอบธงสีแดงให้แก่ชุดสืบ

กลุ่มผู้ชุมนุมได้มีการถ่ายทอดสดทางเฟซบุ๊กในเพจขอนแก่นพอกันที ประมาณ 10 นาที ร.ต.อ.ชัชวาลย์, ร.ต.อ.ประยุทธ์ ได้ตรวจสอบไลฟ์สดดังกล่าว  พบว่า จำเลยทั้งสามได้ช่วยกันนําธงชาติไทยที่ติดอยู่ที่เสาธงหน้าสํานักงานอธิการบดีลงมา และนําธงปฏิรูปกษัตริย์พื้นสีแดงขึ้นไปแทน ส่วนธงชาติมัดอยู่ข้างล่าง ขณะเกิดเหตุเป็นเวลาเย็นใกล้มืด 

หลังเกิดเหตุมีเจ้าหน้าที่ รปภ.ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น แกะธงออกแล้วนํามอบให้แก่ตํารวจชุดสืบสวน ชุดสืบสวนอ้างว่าเคยรู้จักจําเลยทั้งสามมาก่อนเนื่องจากติดตามตรวจสอบความเคลื่อนไหว 

เวลาประมาณ 21.00 – 22.00 น. มี ร.ต.อ.ชัชวาล จารย์มาตร กับพวก เจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวน สภ.เมืองขอนแก่น ได้เข้ากล่าวโทษวชิรวิทย์ เทศศรีเมือง กับพวก ในความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ธง พ.ศ.2522 และได้มอบผืนผ้าสีแดงกับพนักงานสอบสวน

เจ้าหน้าที่สํานักงานวัฒนธรรมจังหวัดขอนแก่น เห็นว่า ธงชาติไทยเปรียบเสมือนสัญญลักษณ์ของชาติ ต้องปฏิบัติด้วยความเคารพ ไม่นําสิ่งอื่นใดอยู่เหนือธงชาติอันเป็นการแสดงความไม่เคารพ 

พ.ต.ท.ปุณณริศร์ เห็นว่า ธงชาติเป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทย ต้องปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบ ประชาชนทุกคนต้องให้ความเคารพ ไม่ว่าการใช้ การชัก หรือการแสดงความเคารพ แต่การกระทําที่ชักธงอื่นขึ้นแทนธงชาติไทย ธงชาติไทยอยู่ด้านล่างจึงเป็นการแสดงความไม่เคารพ เป็นวิธีการที่ไม่สมควรและมีลักษณะเป็นการเหยียดหยาม จึงมีความเห็นสั่งฟ้องจำเลยทั้งสาม

อย่างไรก็ตาม ในการซักค้านของทนายจำเลยมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

  • ไม่มีประจักษ์พยานเห็นเหตุการณ์ขณะเกิดเหตุ ตํารวจดูจากไลฟ์สดและเข้าแจ้งความ

ร.ต.อ.ชัชวาลย์ ชุดสืบ ผู้กล่าวหา เบิกความตอบทนายจําเลยว่า เมื่อพยานไปถึงที่เกิดเหตุไม่เห็นธงสีแดงแล้ว ขณะเกิดเหตุไม่มีตํารวจเห็นเหตุการณ์ พยานเห็นเหตุการณ์ทั้งหมดจากการไลฟ์สดทางเฟซบุ๊ก เช่นเดียวกับ ร.ต.อ.ประยุทธ์ ซึ่งดูไลฟ์สดอยู่ที่ สภ.เมืองขอนแก่น และรายงานการสืบสวนที่พยานจัดทำ ไม่มีภาพถ่ายจําเลยทั้งสามขณะกระทํากิจกรรม 

สอดคล้องกับคำเบิกความของชุดสืบอีกนายว่า จากการสอบถาม รปภ.ไม่ทราบว่าใครเป็นคนทํากิจกรรม และ พ.ต.ท.ปุณณริศร์ พนักงานสอบสวน ซึ่งตอบทนายจําเลยว่า ไม่มีประจักษ์พยานที่เห็นเหตุการณ์ในขณะเกิดเหตุ การสอบสวนมาจากการดูทางเฟซบุ๊กไลฟ์ และข้อมูลเดิมของฝ่ายสืบสวน โดยพยานก็ไม่ได้ดูวีดิโอเหตุการณ์โดยละเอียด เนื่องจากเชื่อตามคําให้การของชุดสืบสวน 

  • ผู้ทำกิจกรรมแต่งกายเรียบร้อย ขณะทำกิจกรรมไม่มีความวุ่นวาย 

ตำรวจชุดสืบสวน 2 นาย ตอบทนายจําเลยสอดคล้องกันว่า จําเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เชิญธงชาติลงมา แต่งกายสุภาพตามปกติทั่วไป โดยใส่เสื้อเชิ้ตสีขาว กางเกงขายาว  การชักธงลงใช้ 2 มือเหมือนปกติทั่วไป ขณะเชิญธงลงมาไม่มีลักษณะวุ่นวายหรือการโวยวายโวกเวก ใช้เวลาทั้งหมดไม่ถึง 1 นาที 

  • จำเลยพยายามแกะธงชาติ แต่แกะไม่ออก 

ชุดสืบซึ่งเข้าแจ้งความให้ดำเนินคดีจำเลยเบิกความว่า ได้ยินจําเลยที่ 1 พูดว่าในเมื่อธงชาติแกะไม่ออกก็ปล่อยให้มัดอยู่อย่างนั้นแล้วกัน และยังตอบทนายจําเลยว่า จําเลยที่ 1 ได้แกะธงชาติ แต่แกะไม่ออก เช่นเดียวกับ ร.ต.อ.ประยุทธ์ ซึ่งตอบทนายจําเลยว่า เห็นว่าจําเลยที่ 1 และที่ 3 ช่วยกันนําธงชาติลงมาและช่วยกันแกะ ก่อนที่จะตอบอีกครั้งว่า ไม่แน่ใจว่า จำเลยได้พยายามแกะธงเก่าออกหรือไม่ 

ด้านวิทวัส นักวิชาการด้านวัฒนธรรม ซึ่งเบิกความให้ความเห็นว่า จากการดูภาพเหตุการณ์แล้วเป็นการที่ไม่เหมาะสม แสดงความไม่เคารพ ที่นําสิ่งอื่นใดอยู่เหนือธงชาติ โดยต่อมาวิทวัสรับกับทนายจำเลยว่า พนักงานสอบสวนให้พยานดูคลิปเฉพาะในช่วงที่ชักธงแดงขึ้นไปอยู่บนยอดเสาแล้ว พยานไม่ได้ดูเหตุการณ์ทั้งหมด และไม่ได้พิจารณาการกระทําอื่นของจำเลยประกอบด้วย

  • ไม่ยืนยันว่า ชายธงชาติอยู่ที่พื้นดิน 

ร.ต.อ.ชัชวาลย์ ซึ่งเบิกความในตอนแรกว่า จากการดูไลฟ์สด ชายธงชาติตกอยู่ที่พื้นดิน แต่กลับตอบทนายจําเลยว่า พยานไม่เห็นว่า วชิรวิทย์เก็บธงชาติไว้อย่างไร 

ขณะ ด.ต.สังคม ตำรวจสืบสวนที่ไปยังที่เกิดเหตุด้วย เบิกความต่อศาลว่า เมื่อพยานกับพวกไปที่เกิดเหตุพบ รปภ.ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น เอาธงสีแดงลงมาแล้วและมอบให้แก่พยาน โดยพยานสังเกตเห็นว่า ธงชาติผูกอยู่ด้านล่างของเสาธง ชายธงอยู่กับพื้น แต่เมื่อทนายจําเลยซักถามว่า การที่จะปลดธงแดงได้ รปภ. ต้องชักธงชาติขึ้นไปอีกรอบหรือไม่ ด.ต.สังคม ตอบว่า ไม่ทราบ  

ด้านชุดสืบอีกราย ซึ่งดูเหตุการณ์จากไลฟ์สด ตอบทนายจำเลยโดยไม่ยืนยันเช่นกันว่า ธงชาติอยู่ตรงไหน ในลักษณะใด สอดคล้องที่พยานนักวิชาการระบุกับทนายจำเลยว่า จากการดูคลิปไม่ทราบว่า จำเลยเก็บธงชาติไว้แบบไหน และพนักงานสอบสวนที่ระบุว่าในคดีนี้ไม่มีภาพถ่ายธงชาติในที่เกิดเหตุ ที่จะระบุว่า ธงชาติอยู่ในลักษณะใด เนื่องจาก รปภ.มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้เก็บไปก่อนแล้ว 

  • กิจกรรมไม่มีลักษณะเหยียดหยามธงชาติ ประเทศไทย และคนไทย 

ร.ต.อ.ชัชวาลย์ ตอบทนายจําเลยว่า ในไลฟ์สดทางเฟซบุ๊กจําเลยไม่มีการด่าประเทศไทยหรือคนไทย และมีการพูดข้อความว่า พวกเราไม่ได้เกลียดประเทศ เรารักประเทศ แต่เราต้องการให้ทุกคนอยู่ด้วยกันอย่างสันติ 

วิทวัส นักวิชาการด้านวัฒนธรรมให้ความเห็นตอบทนายจําเลยว่า การกระทําของจำเลยในคดีนี้ไม่ได้มีลักษณะเป็นการกระทำอันเหยียดหยามต่อธงชาติตามที่ระบุไว้ในคู่มือธงไตรรงค์ และไม่เป็นการเหยียดหยามประเทศชาติ และเมื่อพยานดูข้อความที่โพสต์แสดงเจตนาในการทำกิจกรรมครั้งนี้ ก็ให้ความเห็นด้วยว่า ไม่มีข้อความตอนใดที่เป็นการเหยียดหยามคนไทยหรือชนชาติไทย 

  • นักวิชาการวัฒนธรรมเห็นพ้อง การเคารพธงชาติไม่จำเป็นต้องปฏิบัติเหมือนเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์

วิทวัสได้ให้ความเห็นด้านวัฒนธรรมตามที่ทนายจำเลยซักถามอีกว่า วัฒนธรรมเป็นเรื่องที่ประชาชนทั่วไปพร้อมใจทําตามกันไป โดยอาจแปรผันไปตามยุคสมัย เช่น ในการเข้าพบพระ ในอดีตพระจะนั่งอยู่ที่สูง ส่วนฆราวาสต้องนั่งอยู่ต่ำกว่า แต่ปัจจุบันพระและฆราวาสก็นั่งเสมอกันได้ โดยวัฒนธรรมปรับเปลี่ยนได้ แต่ต้องใช้เวลาสะสมและต้องเป็นวัฒนธรรมที่ดีงาม 

นักวิชาการด้านวัฒนธรรมรับว่า เดิมธงชาติจะใช้ในพิธีกรรมของหน่วยงานราชการเป็นหลัก ซึ่งมีแบบแผนพิธีการค่อนข้างมาก แต่ปัจจุบันธงชาติถูกนําไปใช้แพร่หลายในกิจกรรมอื่นๆ ด้วย เช่น นำไปใช้เป็นอุปกรณ์ในการเชียร์กีฬา อาจจะอยู่ในรูปแบบผืนธงหรือริบบิ้นที่ผูกแขน หรือมือตบที่เขย่าให้เกิดเสียง นักกีฬาที่แข่งขันชนะก็จะนําธงชาติมาคลุมตัว ซึ่งการกระทําลักษณะดังกล่าวไม่ถือเป็นการไม่เคารพธงชาติ การเคารพจึงไม่ได้หมายถึงการปฏิบัติต่อธงชาติไทยเหมือนเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หากเป็นการกระทําที่ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เป็นการเหยียดหยามหรือเกลียดชังประเทศชาติเป็นสิ่งที่กระทําได้ 

  • ไม่ทราบว่า ปกติหลัง 18.00 น. ธงชาติอยู่ลักษณะใด

พยานโจทก์ที่เป็นตำรวจชุดสืบสวนตอบทนายจำเลยว่า ไม่ทราบว่าโดยปกติ มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีระเบียบการชักธงขึ้นลงอย่างไร ไม่ทราบว่าต้องมีการนําธงชาติลงหรือไม่ รวมถึงไม่ทราบว่า หากนำธงชาติลงจะนำไปเก็บไว้ที่ใด ด้านพนักงานสอบสวน ระบุว่า การชักธงชาติกำหนดไว้ในระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรี โดยให้ชักธงขี้นลงในเวลา 08.00 น. และ 18.00 น. ผู้ที่ต้องปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าวคือหน่วยงานราชการ ซึ่งตามระเบียบแล้วทางมหาวิทยาลัยต้องชักธงลงในเวลา 18.00 น.

  • พยานความเห็นรับ ให้ความเห็นตามคู่มือธง ไม่ใช่ระเบียบสำนักนายกฯ ตามที่โจทก์ฟ้อง 

ด้านวิทวัส เจ้าหน้าที่วัฒนธรรม พยานความเห็นในคดีนี้ ซึ่งเบิกความต่อศาลว่า ธงชาติไทยเปรียบเสมือนสัญญลักษณ์ของชาติ ต้องปฏิบัติด้วยความเคารพ ผู้ชักธงชาติขึ้นสู่ยอดเสาในเวลา 08.00 น. และชักธงลงเวลา 18.00 น. ต้องสํารวม และผู้อยู่บริเวณนั้นต้องทําความเคารพ โดยการยืนตรง ลักษณะธงชาติจะตกลงพื้นไม่ได้ ได้ตอบทนายจําเลยว่า พยานได้วินิจฉัยให้ความเห็นเกี่ยวกับธงชาติครั้งนี้เป็นครั้งแรก โดยอาศัยเอกสาร “100 ปี ธงชาติไทย ร้อยดวงใจไทยทั่วชาติ” และ “คู่มือธงไตรรงค์ ธำรงไทย” ของสํานักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สํานักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี 

ทนายจำเลยยังได้ถามวิทวัสอีกว่า ผู้มีอํานาจในการวินิจฉัยว่า การใช้ธงไม่เหมาะสมตามระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีเป็นใคร วิทวัสตอบว่า ไม่ทราบ แต่เป็นข้าราชการในสํานักนายกรัฐมนตรี ในส่วนของพยานไม่มีอํานาจหน้าที่ดังกล่าว หน่วยงานของพยานก็ไม่ได้ขึ้นตรงต่อสํานักปลัดสํานักนายกรัฐมนตรี หน้าที่รับผิดชอบของพยานเป็นการดูแลเรื่องวัฒนธรรม ซึ่งไม่ใช่เรื่องของกฎหมาย

ด้าน พ.ต.ท.ปุณณริศร์ พนักงานสอบสวน ตอบทนายจําเลยว่า การชักธงชาติกำหนดไว้ในระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรี โดยในการสอบปากคำวิสุทธิ์ในฐานะพยานความเห็น พยานไม่ได้ตรวจสอบว่า เอกสาร “100 ปี ธงชาติไทย ร้อยดวงใจไทยทั่วชาติ” และ “คู่มือธงไตรรงค์ ธำรงไทย” ซึ่งนายวิสุทธิ์นำมามอบให้และใช้ในการวินิจฉัยให้ความเห็นในคดีนี้ จะมีข้อความตรงกับระเบียบสํานักนายกฯ ในเรื่องธงชาติซึ่งใช้กล่าวหาจำเลยในคดีนี้หรือไม่ 

ปากคำจำเลย

  • เคลื่อนไหวทางการเมืองตามแนวทางประชาธิปไตย 

วชิรวิทย์และชัยธวัชเบิกความว่า ตนเคลื่อนไหวทางการเมืองร่วมกับกลุ่ม ขอนแก่นพอกันที ซึ่งมีวัตถุประสงค์ 4 อย่าง 1. เรียกร้องให้รัฐบาลชุดปัจจุบันยุบสภา 2. รณรงค์ให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 3. รณรงค์ให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ 4. ยึดมั่นในหลักสิทธิมนุษยชน โดยรูปแบบการเคลื่อนไหวมีทั้งการชุมนุมทางการเมืองและรณรงค์ทางความคิด ซึ่งตั้งแต่ดําเนินการมาไม่มีความรุนแรง 

ส่วนเชษฐาเบิกความว่า ตนมีอุดมการณ์ทางการเมืองในแนวทางประชาธิปไตย และเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยยึดหลักสิทธิมนุษยชนและสันติวิธี ตามที่รัฐธรรมนูญให้การรับรอง 

  • ร่วมกันทำกิจกรรมรณรงค์ให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

ทั้งสามเบิกความรับว่า ร่วมกันทำกิจกรรมที่เป็นเหตุในคดีนี้ โดยระบุว่า วันเกิดเหตุได้ไปร่วมชุมนุมที่บึงสีฐาน และไปที่หน้าตึกอธิการบดีในเวลา 18.00 น. เมื่อไปถึงพวกตนสังเกตเห็นธงชาติอยู่บนยอดเสาธง ไม่ได้ถูกชักลงมาด้านล่าง หลังจากรออยู่ราว 30 นาที โดยคาดว่าจะมีเจ้าหน้าที่มานำธงชาติลง แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่ จึงได้ทำกิจกรรมที่เตรียมไว้ โดยแกะเชือกเพื่อชักธงชาติลงมาจากยอดเสา พยายามแกะธงชาติออกจากเชือก แต่ธงชาติผูกติดกับเชือกด้วยลวด ไม่สามารถแกะออกได้ พวกตนเห็นว่าหากแกะหรือดึงอาจทําให้ธงชาติเสียหาย จึงหาวิธีทําให้ธงชาติไม่เสียหาย ทรัพย์สินของทางราชการไม่เสียหาย และกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์สามารถดําเนินการต่อไปได้ โดยตัดสินใจชักธงชาติไทยขึ้นไปอีกครั้งและติดธงแดงที่ด้านล่าง ก่อนเชิญธงชาติไทยสลับลงมาและชักธงแดงขึ้นไป จากนั้นได้รวบเก็บชายธงชาติไว้ที่เสาธง 

ในวันนั้นพวกตนสวมเสื้อเชิ้ตสีขาว กางเกงยีน สวมรองเท้าผ้าใบ ขณะเชิญธงชาติลงมา ก็มีพฤติกรรมปกติเหมือนประชาชนทั่วไป ระหว่างนั้นไม่มีทั้งตํารวจ และ รปภ.มาห้าม

วชิรวิทย์และชัยธวัชเบิกความถึงวัตถุประสงค์ในการทำกิจกรรมครั้งนี้ว่า เพื่อเป็นการแสดงออกทางสัญลักษณ์ รณรงค์ให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ และยืนยันกับโจทก์ว่าดำเนินกิจกรรมโดยเปิดเผย ไม่ได้ปกปิดหรือเร่งรีบ เนื่องจากมีการไลฟ์สด หลังจากเสร็จกิจกรรมยังมีการคอนเฟอเรนซ์ไปต่างประเทศด้วย  

  • ไม่มีเจตนาต่อธงชาติ

นักศึกษาทั้งสามเบิกความด้วยว่า ตามที่โจทก์ฟ้องว่า จำเลยนําธงอื่นอยู่เหนือธงชาตินั้น พวกตนไม่ได้มีเจตนาต่อธงชาติแต่อย่างไร ธงชาติไม่ใช่วัตถุประสงค์ในการแสดงสัญลักษณ์ในกิจกรรมครั้งนี้ และไม่ได้มีเจตนาดูหมิ่นเหยียดหยามธงชาติ เห็นได้จาก พวกตนไปยังที่เกิดเหตุเวลา 18.00 น. เนื่องจากโดยทั่วไปในเวลานั้นธงชาติจะถูกชักลงจากเสาแล้ว เมื่อไปถึงพวกตนยังรอก่อน โดยเข้าใจว่า รปภ.จะนําธงชาติลงมา แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่มา 

อีกทั้งพวกตนได้พยายามแกะธงชาติออกถึง 2 รอบ แต่ไม่สามารถแกะได้ พวกตนกลัวว่าธงชาติจะชํารุดเสียหาย จึงได้รวบธงชาติเก็บไว้ที่เสาธงบริเวณที่มัดเชือก หลังจากชักธงแดงขึ้นไปบนยอดเสาแล้ว ทั้งนี้ หากแกะธงชาติออกได้ พวกตนคิดว่าจะนําไปไว้ในที่เหมาะสม คือ ที่ห้อง รปภ.ซึ่งอยู่ในบริเวณนั้น 

เชษฐายังเบิกความว่า หากพวกตนมีเจตนากระทําความผิดตามฟ้องจริงก็คงติดธงแดงเหนือธงชาติไปแล้ว อีกทั้งในการผูกธงแดงสลับกับธงชาติพวกตนก็ไม่ได้เจตนาให้ธงชาติราบลงกับพื้นดิน และเมื่อธงชาติลงมาก็พยายามแกะออก เมื่อแกะไม่ออกจึงพยายามรวบเก็บไว้ ทั้งนี้ หากไม่ได้รวบเก็บไว้ตนก็คิดว่าธงชาติจะไม่ลากกับพื้น 

เซฟ วชิรวิทย์ ตอบอัยการในช่วงหนึ่งด้วยว่า พวกตนมีเจตนาทํากิจกรรมเพื่อถ่ายรูปหลังทําเสร็จแล้วเท่านั้น ซึ่งโดยปกติจะมีเจ้าหน้าที่ติดตามความเคลื่อนไหวของพวกตนอยู่แล้ว จึงเข้าใจว่า หลังจากพวกตนทํากิจกรรมเจ้าหน้าที่ที่ติดตามพวกตนก็จะมาเก็บธงสีแดงไป  

นักศึกษาทั้งสามตอบคำถามอัยการที่ถามว่า ในการทำกิจกรรมไม่ได้นำมีด คีมตัดลวด และพาน ไปด้วย เนื่องจากกลัวว่าจะทําให้ธงชาติเสียหาย และไม่ใช่สิ่งที่ต้องพกติดตัวไปด้วย แม้พวกตนไม่ได้เตรียมพานไปด้วยแต่ก็ไม่ได้กระทําการใดเป็นการดูหมิ่นเหยียดหยามธงชาติ และปฏิบัติด้วยอาการสํารวมตามปกติ

นอกจากนี้ วชิรวิทย์ระบุด้วยว่า ภายหลังกิจกรรม ตนได้เขียนข้อความส่งให้ผู้ดูแลเพจขอนแก่นพอกันทีโพสต์ในวันเดียวกัน ซึ่งเป็นข้อความที่แสดงเจตนาในการทำกิจกรรมครั้งนี้ว่า

“ธง “ปฏิรูปกษัตริย์” ถูกนำขึ้นสู่ยอดเสาหน้าตึกอธิการบดี มข. เพื่อเป็นการแสดงสัญลักษณ์ว่าประเทศไทยจะเป็นประชาธิปไตยอย่างเต็มใบได้ ก็ต่อเมื่อมีการปฏิรูปกษัตริย์ให้แล้วเสร็จ เราไม่ได้เกลียดชังธงชาติ แต่เราต้องการให้ธงชาติเป็นธงชาติที่สง่างามอย่างแท้จริง ในระบอบประชาธิปไตยตามหลักสากลนิยม”

  • การปฏิบัติต่อธงชาติของ มข.

เซฟเบิกความว่า ภายหลังเกิดเหตุตนได้ไปตรวจสอบเสาธงบริเวณที่เกิดเหตุช่วงภายหลังเวลา 18.00 น. และได้ถ่ายภาพไว้ พบว่า ธงชาติถูกนําลงจากยอดเสา ชายธงอยู่ในลักษณะติดกับพื้น ซึ่งน่าจะเป็น รปภ.ที่ดูแลเป็นคนเชิญธงลงมา 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อัยการยื่นฟ้อง 3 นศ. คดีชักธง “ปฏิรูปกษัตริย์” ใน ม.ขอนแก่น กล่าวหาเหยียดหยามธงชาติไทย แม้ นศ.ขอให้เลื่อนสั่งคดี เหตุอยู่ในช่วงสอบ

คดีชักธง “ปฏิรูปกษัตริย์” ที่ขอนแก่น 3 นศ. ให้การปฏิเสธ ระบุเพียงแค่ชักธงสัญลักษณ์อื่นขึ้นแทน ไม่ได้มีเจตนาเหยียดหยามธงชาติ นัดสืบพยาน ส.ค. 64

X