อัยการฟ้อง “เมนู” คดี 112 ปราศรัยเรื่องทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์-ให้อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ อ้างคำพูดต้องการให้เกิดการปฏิรูปหรือล้มล้างสถาบันฯ

28 มี.ค. 2565 พนักงานอัยการจังหวัดสงขลา มีความเห็นสั่งฟ้อง “เมนู” สุพิชฌาย์ ชัยลอม นักกิจกรรมคนรุ่นใหม่ อายุ 19 ปี ต่อศาลจังหวัดสงขลา ในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เหตุจากการปราศรัยในการชุมนุม #ม็อบ30พฤศจิกามาหาดใหญ่ เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2563 ที่หน้าหอนาฬิกาหาดใหญ่ ซึ่งจัดขึ้นโดยกลุ่ม “เด็กเปรต” โดยเนื้อหาการปราศรัยเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงในการจัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ในรัชกาลที่ 10 รวมถึงมีการยัดเยียดเนื้อหาเกี่ยวกับศาสตร์พระราชาในแบบหนังสือเรียน

>>“ชาตินั้นช่างเปราะบาง”: ‘เมนู’ เดินทางจากเชียงใหม่ รับทราบข้อหา ม.112 เหตุปราศรัยใน #ม็อบ30พฤศจิกามาหาดใหญ่

.

เปิดคำฟ้อง 112 อัยการชี้ถ้อยคำ “สั่งให้อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ” เป็นการสบประมาท ดูถูกเหยียดหยาม และแสดงความอาฆาตมาดร้าย เจตนาให้เกิดการปฏิรูป-ล้มล้างสถาบันกษัตริย์ 

ในคำฟ้องที่ นายบรรจง อินทรพานิชย์ พนักงานอัยการเป็นผู้เรียงฟ้องนั้น ระบุว่า เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2563 จำเลยได้หมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายในหลวงรัชกาลที่ 10 โดยการกล่าวปราศรัยต่อบุคคลที่มาร่วมชุมนุมหลายคน ผ่านเครื่องกระจายเสียงในที่ชุมนุมของ “กลุ่มราษฎรใต้” 

ถ้อยคำที่จําเลยปราศรัยนั้นทำให้ผู้ชุมนุมจํานวนหลายคนเข้าใจว่า ในหลวงรัชกาลที่ 10 เป็นพระมหากษัตริย์ที่ไม่ดี ไม่มีพระปรีชาสามารถ ไม่เห็นหัวประชาชน มีการแก้กฎหมายทําให้ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์กลายเป็นทรัพย์สินของในหลวงแต่พระองค์เดียว ทําให้ทรัพย์สินที่เป็นของประชาชนกลายเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ เอาเงินภาษีมาเป็นของพระองค์ ทรัพย์สินและเงินภาษีดังกล่าวไม่ได้นํามาใช้พัฒนาประเทศ แต่ได้นําไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนพระองค์ นําไปซื้อเครื่องบินและจัดงานศพให้สุนัขทรงเลี้ยง และศาสตร์ของพระราชาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 เป็นเรื่องหลอกลวง ไม่มีประโยชน์ ไร้สาระ ไม่มีความจําเป็นที่จะมีเนื้อหาในหนังสือเรียน 

นอกจากนี้ จําเลยได้ตะโกนด้วยถ้อยคําอันหยาบคายว่า “กูสั่งให้มึงอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ” ซึ่งหมายถึงในหลวงรัชกาลที่ 10 ให้อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ อันเป็นการสบประมาท ดูถูก เหยียดหยาม ลดคุณค่าของในหลวงรัชกาลที่ 10 ทําให้ได้รับความเสียหาย เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น และถูกเกลียดชัง และเป็นการแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อองค์พระมหากษัตริย์ ต้องการให้เกิดการต่อต้าน กระด้างกระเดื่อง และมีทัศนคติด้านลบต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 เพื่อให้มีการปฏิรูปหรือล้มล้างสถาบันกษัตริย์ ให้องค์พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายอย่างร้ายแรง

สำหรับการปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างพิจารณาคดี พนักงานอัยการไม่ได้คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราว โดยให้อยู่ดุลพินิจของศาล 

ต่อมา ศาลจังหวัดสงขลาอนุญาตให้ประกันตัวจำเลย โดยใช้หลักทรัพย์จำนวน 150,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ พร้อมกำหนดวันนัดพร้อมและตรวจพยานหลักฐานต่อไปในวันที่ 25 เม.ย. 2565 เวลา 9.00 น.

ทั้งนี้ สุพิชฌาย์ ได้ให้สัมภาษณ์สั้นๆ ถึงความรู้สึกหลังการถูกสั่งฟ้องในคดีนี้ว่า รู้สึกว่าไม่ยุติธรรม และรู้สึกว่าตนไม่ควรถูกฟ้องด้วยมาตรา 112 ตั้งแต่แรก เพราะคำที่กล่าวปราศรัยนั้นไม่ได้มีความอาฆาตมาดร้าย เพียงแต่พูดเรื่อง พ.ร.บ.จัดการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ฯ เท่านั้น นอกจากนี้ยังรู้สึกโกรธกับวิธีปฎิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐต่อจำเลยคดี 112 โดยสุพิชฌาย์เปิดเผยว่า ขณะที่รออยู่ในห้องเวรชี้ เธอถูกชี้หน้าว่าเป็น ‘คนชังชาติ’ และเจ้าหน้าที่ได้เข้ามาใส่กุญแจข้อมือเธออย่างรุนแรง และกระชากจนรู้สึกเจ็บ

นอกจากนี้ ทนายของสุพิชฌาย์ได้เปิดเผยว่า ระหว่างที่เดินทางไปฟังคำสั่งฟ้องของอัยการ ได้มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบและในเครื่องแบบรวมกัน ไม่ต่ำกว่า 100 นาย มาคอยติดตามเฝ้าระวัง รวมถึงมีรถตำรวจติดกล้องวงจรปิด และรถตัดสัญญาณมือถือคอยวางกำลังและขับติดตาม ตั้งแต่สำนักงานอัยการจังหวัดสงขลา จนถึงศาลจังหวัดสงขลาอีกด้วย 

โดยขณะที่ทนายความกำลังทำเรื่องขอประกันตัว มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบและในเครื่องแบบติดตามเข้าไปในศาลจำนวนหนึ่ง พร้อมกับผู้กำกับ สภ.เมืองสงขลา ได้เข้ามาพูดคุยกับทนายความ และอ้างว่า “มาดูแลรักษาความปลอดภัยให้เท่านั้น ไม่ได้มีความผิดปกติอะไร”

อนึ่ง สุพิชฌาย์ ถูกกล่าวหาดำเนินคดีจากการแสดงออกและชุมนุมทางการเมืองแล้วอย่างน้อย 2 คดีด้วยกัน โดยอีกคดีหนึ่ง ได้แก่ คดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ สน.ลุมพินี จากกรณีการชุมนุม #ราษฎรประสงค์ยกเลิก112 ที่สี่แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2564

.

ฐานข้อมูลคดี

คดี 112 “เมนู” ปราศรัยเรื่องทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์-ศาสตร์พระราชา ที่สงขลา

X