10 ก.พ. 2565 ทนายความยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว 2 นักกิจกรรม ได้แก่ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่” กรณีชุมนุม #ม็อบ18พฤศจิกา63 หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ และ ภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ “ไมค์” ในคดีชุมนุมมาตรา 112 กรณีชุมนุม #อยุธยาจะไม่ทนอีกต่อไป ที่ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
นอกจากนี้ ทั้งจตุภัทร์และภาณุพงศ์ยังมีหมายขังของศาลจังหวัดภูเขียว ในคดีมาตรา 112 กรณีชุมนุม “ราษฎรออนทัวร์” หน้า สภ.ภูเขียว เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 ซึ่งทนายความได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวที่ศาลจังหวัดภูเขียวเช่นกัน
ต่อมา ในช่วงบ่ายของวันนี้ ศาลอาญากรุงเทพใต้และศาลจังหวัดภูเขียวได้อนุญาตให้ประกันตัวจตุภัทร์ ทั้ง 2 คดี พร้อมทั้งกำหนดเงื่อนไข 5 ข้อ ทั้งเรื่องการห้ามกระทำการกระทบต่อสถาบันกษัตริย์และศาลในทุกด้าน, ให้ติด EM และห้ามออกนอกเคหสถานในช่วงกลางคืน
ในขณะที่ภาณุพงศ์แม้จะได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในคดีของศาลจังหวัดภูเขียวแล้ว แต่เขายังต้องรอไต่สวนคำร้องขอประกันตัวในคดีชุมนุม #อยุธยาจะไม่ทนอีกต่อไป ที่ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในวันที่ 11 ก.พ. 65 นี้
.
ศาลให้ประกัน “ไผ่” กำหนดเงื่อนไข 5 ข้อ ระบุห้ามจำเลยกระทำการใด ๆ ในลักษณะเดียวกับที่ถูกกล่าวหาอีก
เมื่อเวลา 14.00 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจตุภัทร์ในคดีชุมนุม #ม็อบ18พฤศจิกา63 หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พิเคราะห์ว่า จากคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวและพฤติการณ์ของจำเลยคนอื่นๆ ซึ่งได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวไปก่อนหน้าแล้ว เชื่อว่าจำเลยจะไม่หลบหนี จึงเห็นควรอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างพิจารณา โดยให้วางหลักทรัพย์ 100,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขดังนี้
- ห้ามจําเลยทํากิจกรรมหรือกระทําการใดๆ ที่จะกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมทั้งห้ามกระทําการใดๆ อันเป็นการขัดขวางกระบวนพิจารณาคดีของศาล
- ห้ามจําเลยเข้าร่วมชุมนุมที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง
- ห้ามจําเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักร จนกว่าศาลจะมีคําสั่งเป็นอย่างอื่น
- ห้ามจําเลยออกนอกเคหสถานในช่วงเวลา 18.00 น. ถึงเวลา 06.00 น. ของวันรุ่งขึ้น เว้นแต่มีเหตุจำเป็นเพื่อการรักษาพยาบาล ไปเรียน ไปสอบ หรือเหตุอื่น โดยได้รับอนุญาตจากศาล
- ให้ติดอุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ (EM)
ศาลยังให้ตั้งแต่งตั้งผู้กํากับดูแล ได้แก่ ผศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้กำกับดูแลให้จำเลยปฏิบัติตามคำสั่งศาล
ส่วนคดีที่ศาลจังหวัดภูเขียว ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวทั้งจตุภัทร์และภาณุพงศ์ โดยกำหนดเงื่อนไขห้ามจำเลยกระทำการใดๆ ในลักษณะเดียวกับที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้อีก และให้วางหลักประกันคนละ 200,000 บาท โดยเป็นหลักทรัพย์จากกองทุนราษฎรประสงค์ พร้อมกับนัดสอบคำให้การในวันที่ 23 มี.ค. 65
เนื่องจากผลจากคำสั่งให้ประกันตัวดังกล่าว จตุภัทร์จะได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในช่วงค่ำวันนี้ หลังจากถูกขังมาแล้วทั้งหมด 186 วัน หรือครึ่งปีเศษแล้ว
ทั้งนี้ น่าสังเกตว่าคดีชุมนุม #ม็อบ18พฤศจิกา63 ของจตุภัทร์นั้น ไม่มีข้อหาหลักตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และไม่ได้เกี่ยวข้องกับการแสดงออกเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์แต่อย่างใด แต่ถูกกล่าวหาจากพฤติการณ์การสาดสีที่ป้ายหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีข้อหาเรื่องการชุมนุมมั่วสุม-ทำให้เสียทรัพย์-ทำร้ายเจ้าพนักงาน เป็นหลัก
.
ศาลอยุธยายังไม่ให้ประกัน “ไมค์” ระบุในคำร้องไม่ปรากฎว่าจำเลยยินยอมรับเงื่อนไขที่กำหนด พร้อมนัดไต่สวนใหม่
ส่วนในคดีชุมนุม #อยุธยาจะไม่ทนอีกต่อไป ที่ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อเวลา 12.30 น. ศาลมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอประกันตัวภาณุพงศ์
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้ในคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ทนายความจะระบุว่า จำเลยได้ยอมรับเงื่อนไขต่างๆ ที่ศาลกำหนด ทว่าหลังศาลพิจารณาดูแล้ว ไม่ปรากฏว่าทนายความมีส่วนเกี่ยวข้องใดกับจำเลย และไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ทราบหรือยอมรับเงื่อนไขดังกล่าว ดังนี้จึงเห็นควรให้ทนายความแก้ไขข้อบกพร่องต่างๆ ในส่วนนี้เสียก่อน ในชั้นนี้ จึงยกคำร้อง
ดังนั้น ทนายความจึงได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวใหม่ โดยแก้ไขเพิ่มเติมว่า “ทนายความได้ปรึกษาหารือกับจําเลยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และจําเลยก็ยืนยันด้วยความสมัครใจในการปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาล แต่เนื่องจากจําเลยยังถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจําพิเศษกรุงเทพมหานคร จึงทําให้ไม่สามารถลงลายมือชื่อในคําร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวฉบับนี้ได้ด้วยตนเอง หากศาลพิจารณาคําร้องฉบับนี้แล้วเห็นว่าต้องการให้เกิดความชัดเจนว่าจําเลยได้เสนอ และยอมรับเงื่อนไขตามที่ทนายความได้ยื่นต่อศาลจริง ก็ขอให้ศาลเบิกตัวจําเลยผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อสอบถามในช่วงบ่ายนี้”
ต่อมา เวลา 15.30 น. ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้ส่งหมายเบิกจำเลยให้มาไต่สวนคำร้องผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ในวันที่ 11 ก.พ. 2565 เวลา 10.00 น. แทน เนื่องจากการไต่สวนคำร้องในช่วงบ่ายวันนี้ จะไม่สามารถเบิกตัวจำเลยมาได้ทัน
เนื่องจากยังต้องรอไต่สวนคำร้องขอประกันตัวที่ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ภานุพงศ์จึงต้องถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพต่อไป ซึ่งปัจจุบันนี้ เขาถูกขังมาแล้วทั้งหมด 141 วัน
อนึ่ง จนถึงวันที่ 10 ก.พ. 2565 หลังการปล่อยตัวจตุภัทร์ จะทำให้มีผู้ต้องขังที่ถูกคุมขังในเรือนจำระหว่างการต่อสู้คดี ในคดีที่มีเหตุจากการชุมนุมและแสดงออกทางการเมือง จำนวนอย่างน้อย 11 คน
.
อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
สถิติผู้ถูกคุมขังคดีทางการเมืองในระหว่างต่อสู้คดี
.