21 ก.ค. 2565 วันก่อนครบรอบ 2 ปี ของการชุมนุม “อีสานสิบ่ทน” ที่ลานแปดเหลี่ยม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2563 ซึ่งเป็นการชุมนุมครั้งแรกๆ ในพื้นที่อีสาน ขานรับข้อเรียกร้องให้รัฐบาลประยุทธ์ประกาศยุบสภา และจัดให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ของกลุ่ม “เยาวชนปลดแอก” เป็นวันที่ศาลจังหวัดมหาสารคามจะอ่านคำพิพากษาในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้อง “บอย” พงศธรณ์ ตันเจริญ นิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคามและสมาชิกกลุ่มแนวร่วมนิสิต มมส.เพื่อประชาธิปไตย ว่า เป็นผู้จัดให้มีการชุมนุมครั้งนั้น ซึ่งมีคนเข้าร่วมจำนวนมาก เสี่ยงต่อการแพร่โควิด โดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดมหาสารคาม ทั้งยังใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต
คดีนี้พงศธรณ์ให้การปฏิเสธมาตั้งแต่ชั้นสอบสวนตลอดจนถึงชั้นศาล ยืนยันว่า ไม่ได้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา ตนเพียงใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญเข้าร่วมชุมนุมเรียกร้องต่อรัฐบาล ซึ่งการชุมนุมก็ได้มีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด อีกทั้งในพื้นที่จังหวัดมหาสารคามไม่พบว่ามีประชาชนติดเชื้อโควิดทั้งก่อนและหลังการชุมนุม
ระหว่างคดียังไม่ได้เริ่มการสืบพยาน แต่ในคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมในจังหวัดอื่นๆ เริ่มมีคดีที่อัยการสั่งไม่ฟ้อง หรือศาลพิพากษายกฟ้อง ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาและสร้างอัตลักษณ์นิสิต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จึงได้เข้ายื่นหนังสือถึงอัยการจังหวัดมหาสารคาม ขอให้พิจารณาถอนฟ้องคดีที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน โดยยืนยันว่า การจัดกิจกรรมดังกล่าวอยู่ในพื้นที่ควบคุมที่สามารถกระทําได้ภายในมหาวิทยาลัย ทั้งไม่มีลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโควิด-19 แต่อย่างใด แต่อัยการจังหวัดไม่มีคำสั่งให้ถอนฟ้องคดี ทำให้การสืบพยานเริ่มขึ้นในปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา
การต่อสู้คดีกินเวลายาวนานถึง 2 ปี จากนิสิตปี 2 ในวันที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหา ดำเนินมาถึงวันที่บอยกลายเป็นนิสิตชั้นปีที่ 4 และจะเข้าฟังคำพิพากษาของศาลในนามของกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเขาจะได้รับคำตอบต่อสิ่งที่เขาเคยตั้งคำถามไว้ว่า “ผมจะสู้ให้ถึงที่สุดจะดูว่ากระบวนยุติธรรมยังหลงเหลือความยุติธรรมไหม หรือจะสร้างความยุติธรรมแค่กับกลุ่มผู้มีอำนาจ?…”
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงชวนย้อนทบทวนกระบวนการต่อสู้คดี โดยเฉพาะปากคำพยานที่แสดงต่อศาลเพื่อพิสูจน์ความผิดและความบริสุทธิ์ของพงศธรณ์ จำเลยในคดีนี้
- ดูข้อมูลคดีโดยละเอียด คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ “บอย-พงศธรณ์” นิสิต มมส. เหตุชุมนุม “อีสานสิบ่ทน” ปี 63
ทั้งนี้ คดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั้งจากการชุมนุมซึ่งมีผู้ร่วมชุมนุมจำนวนมาก และจากคาร์ม็อบในจังหวัดต่างๆ ศาลได้มีคำพิพากษายกฟ้องไปแล้วอย่างน้อย 17 คดี ล่าสุดคือคดีคาร์ม็อบโคราช 23 ก.ค. 64 ซึ่งศาลแขวงนครราชสีมาพิพากษายกฟ้องนักกิจกรรมโคราชและเจ้าหน้าสำนักงานพรรคก้าวไกลนครราชสีมารวม 3 คน เมื่อวันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา ระบุว่า จำเลยเป็นเพียงผู้เข้าร่วมการชุมนุมเท่านั้น จึงไม่มีหน้าที่ต้องขออนุญาต และแม้จะมีบุคคลร่วมชุมนุมจำนวนมาก แต่สถานที่ชุมนุมเป็นพื้นที่โล่งกว้าง อากาศถ่ายเทสะดวก ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่สวมหน้ากากอนามัย
.
อัยการฟ้อง “บอย” จัดชุมนุมรวมกลุ่มคนจำนวนมาก เสี่ยงโควิดแพร่ โดยไม่ขออนุญาต
พนักงานอัยการจังหวัดมหาสารคาม ยื่นฟ้องพงศธรณ์ในความผิดฐาน “เป็นผู้จัดให้มีกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากในลักษณะมั่วสุมประชุมกัน หรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่าย ชุมนุมทำกิจกรรม หรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัด หรือในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค, ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อที่สั่งห้ามกระทำการหรือดำเนินการใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดแพร่ออกไป และโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต”
โดยระบุถึงการกระทำที่กล่าวหาว่า เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2563 พงศธรณ์ได้จัดให้มีกิจกรรมด้วยการเชิญชวนกลุ่มนิสิต นักศึกษา ประชาชนทั่วไป หรือผู้มีอุดมการณ์เดียวกันให้ไปร่วมกิจกรรม “อีสานสิบ่ทน” ประชุมประท้วงรัฐบาลในนาม กลุ่มสมัชชานิสิตนักศึกษาภาคอีสาน ที่ลานแปดเหลี่ยม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม อันเป็นสถานที่แออัด
มีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากประมาณ 1,800 – 2,000 คน ในลักษณะติดต่อสัมผัสกันได้ง่าย โดยไม่มีบริการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย หรือการคัดกรองอาการป่วยในระบบทางเดินหายใจ ไม่มีการสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า ไม่เว้นระยะห่างระหว่างบุคคลอย่างน้อย 1 ม. ไม่จำกัดจำนวนผู้ร่วมกิจกรรม และไม่จัดให้มีเจลแอลกอฮอล์ รวมทั้งไม่จัดให้มีการเช็ดทำความสะอาดสถานที่ทั้งก่อน ระหว่าง และภายหลังการทำกิจกรรม
การกระทำดังกล่าวอาจก่อให้เกิดสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคระบาดแพร่ออกไป อันเป็นการฝ่าฝืนต่อข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ฉบับที่ 5) ข้อ 2(2) และประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดมหาสารคาม ฉบับที่ 13/2563 ข้อ 4.5 โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่
นอกจากนี้ จำเลยยังได้ใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้า โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ ในการพูดแสดงความคิดเห็นต่อต้านรัฐบาล
.
ตำรวจ-ปลัดอำเภอ-มหาลัย ร่วมเป็นพยานโจทก์ชี้ “บอย” เป็นแกนนำ
19-20 เม.ย. 2565 พนักงานอัยการได้นำพยานโจทก์เข้าเบิกความยืนยันว่าพงศธรณ์กระทำความผิดตามฟ้องรวม 7 ปาก ประกอบด้วย ตำรวจชุดสืบสวนและปลัดอำเภอที่เข้าสังเกตการณ์การชุมนุม 4 นาย ซึ่งระบุว่า พงศธรณ์เป็นแกนนำการชุมนุม และการชุมนุมมีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคโควิด, ผอ.กองอาคารสถานที่ และ ผอ.กองกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งได้รับมอบหมายจากอธิการบดีให้เข้าให้การเป็นพยานในคดีนี้ ระบุว่า พงศธรณ์น่าจะเป็นแกนนำ โดยการชุมนุมไม่ได้ขออนุญาต และทางมหาวิทยาลัยประกาศไม่อนุญาตให้ใช้สถานที่
อีกปากเป็นพนักงานสอบสวน เบิกความว่า ได้รับแจ้งความร้องทุกข์จาก พ.ต.ท.พัฒน์ พูราษฎร์ รองผู้กํากับสืบสวน สภ.เขวาใหญ่ ให้ดำเนินคดีพงศธรณ์ ในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต และจากการสอบสวนทราบว่า พงศธรณ์เป็นผู้จัดกิจกรรมและเชิญชวนให้คนมาร่วมกิจกรรม จากนั้นจึงมีความเห็นสั่งฟ้องจําเลยตามข้อหาดังกล่าว
ระหว่างการสืบพยานในวันแรก ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนและทนายความฝึกหัดเข้าร่วมสังเกตการณ์ ดิลก พนอําพน ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนได้สั่งห้ามจดบันทึกคำเบิกความพยาน แม้จะมีการชี้แจงว่า จดเพื่อใช้เตรียมคดี โดยศาลให้คัดถ่ายคำเบิกความภายหลังเสร็จการพิจารณา อย่างไรก็ตาม ศาลไม่ได้บันทึกในรายงานกระบวนถึงคำสั่งห้ามจดบันทึกดังกล่าว
.
จนท.อ้าง “บอย” โพสต์ชวน – มีคนเข้าร่วมมากถึง 2 พัน – ไม่เว้นระยะห่าง – ไม่มีใครขออนุญาต
พ.ต.ท.พัฒน์ ผู้กล่าวหา เบิกความว่า ก่อนเกิดเหตุ พงศธรณ์ได้โพสต์เฟซบุ๊กเชิญชวนให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ไปร่วมกิจกรรม “อีสานสิบ่ทน” ที่ลานแปดเหลี่ยม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในวันที่ 22 ก.ค. 2563
ส่วนเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุ ตำรวจชุดสืบและปลัดอำเภอเบิกความสอดคล้องกันว่า เวลาประมาณ 15.00 น. พงศธรณ์ได้ขึ้นปราศรัยผ่านไมโครโฟนบนรถกระบะ กล่าวโจมตีการทํางานของอธิการบดีที่ไม่อนุญาตให้ใช้สถานที่ชุมนุม ขณะนั้นมีนักศึกษามาร่วมฟังประมาณ 100 คน
หลังจากนั้น พ.ต.อ.อิศเรศ ห่านดํา ผู้กํากับการ สภ.เขวาใหญ่ ได้เข้าไปอ่านประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ทราบ พร้อมทั้งแจ้งให้หยุดการทํากิจกรรม เนื่องจากผิดกฎหมาย แต่พงศธรณ์กับพวกยังทำกิจกรรมต่อไป
หลัง 18.00 น. พงศธรณ์และคนอื่นอีกหลายคนได้ผลัดเปลี่ยนกันขึ้นกล่าวปราศรัยโจมตีการทํางานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ คนละประมาณไม่เกิน 10 นาที มีนักศึกษาเข้าร่วมการชุมนุมประมาณ 1,000 – 2,000 คน บางคนสวมหน้ากากอนามัย แต่บางคนก็ไม่สวม ไม่มีการเว้นระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตร บริเวณลานที่จัดชุมนุมเป็นที่โล่ง มีทางเข้าออกหลายทาง มีการวางเจลแอลกอฮอล์เฉพาะบางจุด ด.ต.ธวัชชัย และปลัดอำเภอ ระบุว่ามีการตรวจวัดอุณหภูมิ แต่พยานปากอื่นบอกว่าไม่มี การชุมนุมยุติลงในเวลา 23.00 น.
หลังเกิดเหตุ ผู้กํากับการ สภ.เขวาใหญ่, เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้ร่วมประชุมกันแล้วมีความเห็นว่า การกระทําของพงศธรณ์กับพวกเป็นความผิดตามกฎหมาย จึงมอบหมายให้ พ.ต.อ.พัฒน์ ไปแจ้งความร้องทุกข์เพื่อดําเนินคดีกับพงศธรณ์
ทั้งนี้ เสรี แจ่มศรี ปลัดอําเภอกันทรวิชัย ระบุว่า ช่วงเกิดเหตุมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 หากมีการจัดกิจกรรมที่มีคนเข้าร่วมเป็นจํานวนมากต้องขออนุญาตจากนายอําเภอกันทรวิชัยก่อน แต่การชุมนุมในคดีนี้ไม่มีใครไปขออนุญาต
.
มหาลัยอ้าง ไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่ – ยืนยัน “บอย” เป็นแกนนำ
ผอ.กองอาคารสถานที่ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เบิกความว่า หลังจากทางมหาวิทยาลัยทราบว่า จะมีการจัดชุมนุมของนักศึกษาใช้ชื่อว่า “อีสานสิบ่ทน” จึงออกประกาศไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่ภายในมหาวิทยาลัยจัดกิจกรรมดังกล่าว ทั้งนี้ พยานได้รับแจ้งจากงานธุรการของกองอาคารฯ ว่า ในวันดังกล่าวมีนักศึกษายื่นขออนุญาตจัดกิจกรรมภายในมหาวิทยาลัย แต่เนื่องจากไม่มีลายเซ็นของอาจารย์ผู้ควบคุมหรือคณบดี เจ้าหน้าที่จึงให้นักศึกษาไปทํามาใหม่
ฝ่ายบริหารของมหาวิทยาลัยมหาสารคามขณะเกิดเหตุอีกรายที่เข้าเบิกความเป็นพยานโจทก์ คือ ผอ.กองกิจการนิสิต ระบุว่า วันเกิดเหตุได้ไปดูการจัดกิจกรรมของนิสิต นักศึกษา แต่ไม่ได้เห็นว่า ใครเป็นคนพูดผ่านไมโครโฟนชักชวนให้นิสิต นักศึกษา เข้าร่วมกิจกรรม หลังจากดูอยู่ไม่นานได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ไปดูแลแล้วรายงานให้พยานทราบ
ทั้งสองให้การต่อศาลว่า ทราบว่า พงศธรณ์มีส่วนเป็นแกนนําในการชุมนุม โดย ผอ.กองอาคารฯ ระบุว่า ทราบจากเฟซบุ๊ก ขณะ ผอ.กองกิจการฯ อ้างว่า ทราบจากเจ้าหน้าที่ที่ไปดูแลกิจกรรม โดยที่ทั้งสองไม่รู้จักและไม่เคยเห็นหน้าพงศธรณ์มาก่อน
.
พยานโจทก์รับ “บอย” ไม่ได้โพสต์ชวน ที่ชุมนุมไม่แออัด การชุมนุมครั้งอื่นไม่มีใครถูกดำเนินคดี
คำเบิกความที่หนักแน่นของตำรวจ ฝ่ายปกครอง และผู้บริหารมหาวิทยาลัย ว่า พงศธรณ์มีการกระทำที่เป็นความผิดต่อกฎหมาย แต่เมื่อถูกตั้งคำถามโดยทนายจำเลย คำตอบของพยานฝ่ายโจทก์เหล่านี้ก็มีประเด็นชวนให้สงสัย ดังนี้
- เฟซบุ๊กที่โพสต์เชิญชวนไม่ใช่ของพงศธรณ์
พยานโจทก์เกือบทุกปากรับกับทนายจำเลยว่า เฟซบุ๊กที่โพสต์ชุมนุมไม่ใช่เฟซบุ๊กของพงศธรณ์ แต่เป็นเพจ แนวร่วมนิสิต มมส. เพื่อประชาธิปไตย
- ยืนห่าง ผกก.นับสิบเมตร ไม่ได้ยินชัดว่า แจ้งอะไรกับผู้ชุมนุม
ชุดสืบสวน 3 นาย ที่เบิกความทำนองเดียวกันว่า ผู้กํากับการ สภ.เขวาใหญ่ ได้เข้าไปอ่านประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และกฎหมายอื่น ๆ รวมทั้งแจ้งให้จําเลยกับพวกหยุดการชุมนุมนั้น รับกับทนายจำเลยว่า อยู่ห่างจากผู้กำกับฯ มากกว่า 10 เมตร จึงไม่ได้ยินชัดว่า ผู้กำกับฯ พูดอะไรบ้าง
- สถานที่ชุมนุมโล่งกว้าง ไม่แออัด
เจ้าหน้าที่ที่เข้าสังเกตการณ์การชุมนุมทั้งหมดรับว่า ลานแปดเหลี่ยมซึ่งเป็นสถานที่ชุมนุมเป็นที่โล่ง กว้างขวาง ไม่ใช่สถานที่แออัด ผู้ชุมนุมสามารถเดินไปเดินมาได้ตามแต่อัธยาศัย
- เรียกร้องต่อรัฐบาล และอธิการฯ ตามสิทธิ รธน. ไม่มีการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย
พยานเจ้าหน้าที่ทุกปากรับว่า การปราศรัยของพงศธรณ์และผู้ปราศรัยคนอื่นๆ เป็นการเรียกร้องต่อรัฐบาลให้ประกาศยุบสภา ยุติบทบาทสมาชิกวุฒิสภา จัดการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 และร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ตามที่เพจแนวร่วมนิสิต มมส. เพื่อประชาธิปไตย โพสต์ไว้ ซึ่งเป็นสิทธิตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองไว้ ไม่ได้ยุยงส่งเสริมให้เกิดความไม่สงบในบ้านเมือง อีกทั้งการชุมนุมเป็นไปโดยสงบ ไม่มีอาวุธ ส่วน ผอ.กองอาคารฯ เบิกความว่า ไม่ได้เข้าไปร่วมฟังการปราศรัย จึงไม่ทราบถึงเนื้อหาการปราศรัยว่าพูดถึงเรื่องใดบ้าง
- มีการชุมนุมครั้งอื่นจัดช่วงใกล้เคียงกัน แต่ไม่ถูกดำเนินคดี
พ.ต.อ.พัฒน์ รองผู้กำกับสืบสวน ผู้กล่าวหาในคดีนี้ ตอบทนายจำเลยว่า ในช่วงเกิดเหตุมีการจัดการชุมนุมในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม 2 – 3 ครั้ง ตนได้ไปดูแลการชุมนุมทุกครั้ง แต่อีก 2 ครั้ง ไม่มีการดําเนินคดีกับผู้ใด เนื่องจากทางอธิการบดีได้อนุญาตให้ใช้สถานที่ในการจัดการชุมนุม สอดคล้องกับปลัดอำเภอกันทรวิชัย และ ผอ.กองกิจการนิสิต ที่รับว่า มีการจัดกิจกรรมในมหาวิทยาลัยมหาสารคามในลักษณะคล้ายกับการชุมนุมในคดีนี้และในช่วงเดียวกันนี้หลายครั้ง ซึ่งก็ไม่ได้ขออนุญาตไปยังนายอําเภอกันทรวิชัย และกองกิจการนิสิต
.
“บอย” ขึ้นปราศรัยเรียกร้องต่อรัฐบาล ไม่ใช่แกนนำ ลานแปดเหลี่ยมโล่งกว้าง มีจุดคัดกรองโควิด
21 เม.ย. 2565 เป็นนัดสืบพยานจำเลย โดยมีพงศธรณ์เบิกความเป็นพยานให้ตนเอง ทั้งมี วินัย ผลเจริญ อาจารย์ประจำวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เข้าเบิกความเป็นพยานจำเลยอีกปาก
พงศธรณ์เบิกความว่า ตนทราบว่าจะมีการชุมนุมในคดีนี้จากเพจ แนวร่วมนิสิต มมส. เพื่อประชาธิปไตย และเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล
วันเกิดเหตุ ตนเรียนอยู่ที่วิทยาลัยการเมืองการปกครอง ซึ่งอยู่ติดกับลานแปดเหลี่ยม และในเวลาประมาณ 15.00 น. ตนเห็นประกาศของมหาวิทยาลัยผ่านเฟซบุ๊กว่า ทางมหาวิทยาลัยจะไม่ยินยอมให้นักศึกษาใช้ลานแปดเหลี่ยมในการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ขัดแย้งกับที่มหาวิทยาลัยเคยประกาศรับรองสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิดและการจัดกิจกรรมของนิสิตนักศึกษา ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญ เมื่อประมาณ 3 วันก่อนหน้านี้ ตนจึงขึ้นไปพูดวิพากษ์วิจารณ์การกระทําดังกล่าวของมหาวิทยาลัย
หลังจากนั้นในช่วงเย็น ตนได้ขึ้นไปปราศรัยอีกครั้ง เนื้อหาเกี่ยวกับการที่รัฐบาลไม่สามารถจะบริหารประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทําให้ประเทศประสบปัญหาเศรษฐกิจ มีคนตกงานและว่างงานจํานวนมาก และปัญหาวัคซีนโควิด-19 มีไม่เพียงพอแก่ความต้องการของประชาชน ใช้เวลาประมาณ 10 นาที
บริเวณลานแปดเหลี่ยมเป็นที่โล่งกว้าง มีความกว้างมากกว่า 2 สนามฟุตบอล ในวันเกิดเหตุตนเห็นมีการตั้งจุดคัดกรองอยู่ 2 จุด โดยมีการวัดอุณหภูมิของผู้ที่จะเข้าร่วมชุมนุมซึ่งส่วนใหญ่เป็นนิสิต และแจกหน้ากากอนามัย ผู้ร่วมชุมนุมมีทั้งที่นั่งอยู่ในสนามหญ้าบริเวณลานแปดเหลี่ยม และไปนั่งตามโต๊ะใต้อาคารรอบๆ ไม่มีการนั่งรวมกลุ่มในลักษณะแออัดแต่อย่างใด
ในมหาวิทยาลัยมีการจัดกิจกรรมของนิสิตทุกเดือน หากมีการใช้เครื่องขยายเสียง ส่วนใหญ่นิสิตต้องขออนุญาตจากอาจารย์หรือกองกิจการนิสิต หรือกองอาคารสถานที่ คณบดีหรืออธิการบดี ไม่เคยขออนุญาตจากทางอําเภอ เนื่องจากเป็นการทํากิจกรรมภายในรั้วมหาวิทยาลัย ส่วนการขออนุญาตใช้สถานที่หรือขออนุญาตทำกิจกรรมนั้น หากเป็นกิจกรรมที่นักศึกษาจัดกรรมกันเอง ไม่ต้องใช้งบประมาณของมหาวิทยาลัย ก็ไม่จําเป็นต้องขออนุญาตจากทางมหาวิทยาลัยก่อน
ลานแปดเหลี่ยมใช้เป็นสถานที่จัดกิจกรรมของนิสิตเป็นประจำ เช่น รับน้องใหม่ บายสีสู่ขวัญ แต่ละปีมีคนเข้าร่วมประมาณ 5,000 คน ในปี 63 ซึ่งมีการแพร่ระบาดของโควิดก็ยังมีการจัดในช่วงใกล้เคียงกับวันเกิดเหตุ แต่ไม่มีการขออนุญาตจากอําเภอกันทรวิชัย
การชุมนุมในวันเกิดเหตุเป็นการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ไม่มีการยุยงปลุกปั่นให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมก่อความไม่สงบ พงศธรณ์ยืนยันว่า ตนไม่ใช่แกนนําผู้ชุมนุมในวันเกิดเหตุ
.
อาจารย์ มมส.ยืนยัน คนกลัวโควิด สวมหน้ากากอนามัยแทบทุกคน ไม่มีคนติดโควิดจากการชุมนุม
วินัย ผลเจริญ อาจารย์ประจําวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เบิกความว่า จําเลยในคดีนี้เป็นนิสิตของวิทยาลัยการเมืองการปกครอง ซึ่งเทียบได้กับคณะรัฐศาสตร์ ในการศึกษาในระดับชั้นปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม การทํากิจกรรมของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเป็นเรื่องปกติธรรมดา เพื่อเป็นการส่งเสริมให้นักศึกษาได้เข้าใจในทฤษฎีและทางปฏิบัติที่ได้เรียนมา มีกลุ่มหรือชมรมต่าง ๆ ให้นักศึกษาเข้าไปร่วมทํากิจกรรมมากมาย
วินัยเบิกความเช่นเดียวกับพงศธรณ์ว่า กิจกรรมที่จัดที่บริเวณลานแปดเหลี่ยม คือ งานรับน้องใหม่และบายสีสู่ขวัญ ซึ่งมีนิสิตนักศึกษาเข้าร่วมเป็นจํานวนมาก เนื่องจากลานแปดเหลี่ยมเป็นพื้นที่โล่งกว้าง มีเนื้อที่ไม่ต่ำกว่า 5 ไร่ กิจกรรมที่จัดบริเวณลานแปดเหลี่ยมกรณีที่ต้องใช้เครื่องเสียง เช่น การซ้อมดนตรีของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ หากทำในช่วงเย็นซึ่งไม่มีการเรียนการสอนก็ไม่จําเป็นต้องขออนุญาตจากทางมหาวิทยาลัย และเท่าที่พยานทราบการใช้เครื่องเสียงภายในบริเวณมหาวิทยาลัยนั้นไม่มีความจําเป็นต้องไปขออนุญาตจากอําเภอกันทรวิชัยก่อน
วันเกิดเหตุพยานเข้าไปฟังการปราศรัยหลัง 18.00 น. ช่วงที่มีคนเข้าร่วมมากที่สุดน่าจะมีคนประมาณ 2,000 คน แต่บริเวณลานแปดเหลี่ยม และใต้อาคารโดยรอบ สามารถจุคนได้ไม่ต่ำกว่า 10,000 คน
นักศึกษาที่ขึ้นกล่าวปราศรัยในวันนั้น มีผลัดเปลี่ยนกันหลายคน โดยส่วนใหญ่จะเป็นการวิพากษ์วิจารณ์และแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการบริหารงานของรัฐบาล ซึ่งประสบความล้มเหลว โดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจ เพื่อให้นําไปปรับปรุงแก้ไขด้วยความหวังดีต่อประเทศชาติ โดยไม่ปรากฏว่ามีการพูดจาหยาบคาย หรือชี้นําให้ผู้ร่วมชุมนุมก่อความไม่สงบแต่อย่างใด การชุมนุมเป็นไปโดยสันติ สงบ ปราศจากอาวุธ พยานอยู่ร่วมการชุมนุมจนถึงเวลาประมาณ 20.00 น.เศษ
ผู้เข้าร่วมชุมนุมส่วนใหญ่จะสวมหน้ากากอนามัย เนื่องจากมีการประกาศทางเฟชบุ๊กให้ผู้ที่จะเข้าร่วมการชุมนุมสวมหน้ากากอนามัย และเว้นระยะห่าง อีกทั้งช่วงเกิดเหตุคือปี 2563 ประชาชนโดยทั่วไปตื่นกลัวโควิดอย่างมาก จึงสวมหน้ากากอนามัยแทบทุกคน อีกทั้งวิทยาลัยการเมืองการปกครองก็ให้การสนับสนุนในการแจกหน้ากากอนามัยให้กับผู้เข้าร่วมชุมนุม นอกจากนั้นพยานยังเห็นว่ามีการตั้งแอลกอฮอล์ให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมล้างมือด้วย แต่ไม่ได้สังเกตว่ามีการตรวจวัดอุณหภูมิหรือไม่
เท่าที่พยานทราบ ผู้ที่จัดให้มีการชุมนุมเป็นกลุ่มแนวร่วมนิสิต มมส. เพื่อประชาธิปไตย ซึ่งมีหลายคน แต่พยานไม่สามารถเบิกความยืนยันได้ว่าเป็นผู้ใด แต่กลุ่มดังกล่าวไม่เคยทําผิดกฎหมาย ไม่เคยต่อต้านการทํางานของรัฐบาลด้วยวิถีทางอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นในบ้านเมืองแต่อย่างใด
จําเลยเป็นนักศึกษาที่เรียนกับพยานด้วย พยานยืนยันว่า จําเลยเป็นคนที่มีความรับผิดชอบสูง เคยเป็นผู้ช่วยในการประสานงานกับนักศึกษาให้กับพยาน มีความประพฤติเรียบร้อย ไม่เคยกระทําผิดระเบียบของมหาวิทยาลัยจนถึงขั้นถูกลงโทษแต่อย่างใด
นอกจากนี้ ไม่ปรากฏว่ามีบุคคลใดติดโควิดจากการร่วมชุมนุมในคดีนี้แต่อย่างใด เพราะขณะนั้นหากมีผู้ใดติดเชื้อจะต้องชี้แจงไทม์ไลน์ให้กับฝ่ายสาธารณสุขทราบเพื่อป้องกันเชื้อไม่ให้แพร่กระจายไปสู่สังคมโดยรวม