พบศาลสั่ง “พิจารณาลับ” ในคดี ม.112 ยุคหลังปี 2563 อย่างน้อย 6 คดี 

หลักการพิจารณาคดีอาญาโดยเปิดเผย เป็นส่วนหนึ่งของหลักการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม ซึ่งเป็นหลักการสิทธิมนุษยชนที่เรียกร้องให้รัฐกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อคุ้มครองสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมของผู้ต้องหาและจำเลย ผลของรัฐที่เคารพพันธกรณีดังกล่าว คือการค้ำจุนให้กระบวนพิจารณาคดีนั้นให้ชอบด้วยกฎหมาย (Due Process of Law) และชอบด้วยหลักนิติรัฐ (Rule of Law)

หลักการพิจารณาคดีโดยเปิดเผย มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนได้พิจารณาว่ากระบวนพิจารณาในคดีนั้นเป็นไปโดยบริสุทธ์ยุติธรรมหรือไม่ และยังเป็นการกระทำที่ให้ประชาชนมีความเชื่อถือและศรัทธาในองค์กรตุลาการ เพราะการพิจารณาคดีโดยเปิดเผยคือมาตรฐานที่ใช้ประชาชนสามารถตรวจสอบการใช้อำนาจของตุลาการในฐานะผู้ควบคุมการดำเนินคดีและวิธีการปฏิบัติต่อคู่ความ

หลักการพิจารณาคดีโดยเปิดเผย เป็นหลักการสำคัญประการหนึ่งของการดำเนินคดีอาญาในระบบกล่าวหา ซึ่งเป็นระบบหลักของในการดำเนินคดีอาญาของประเทศไทย ระบบดังกล่าวเรียกร้องให้การพิจารณาคดีและการสืบพยานต้องกระทำโดยเปิดเผยต่อสาธารณะ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าฟังการพิจารณาและสื่อมวลชนสามารถรายงานสถานการณ์การพิจารณาคดีได้

การพิจารณาคดีเป็นการลับ ซึ่งผลให้ประชาชนทั่วไปไม่มีสิทธิอยู่ในห้องพิจารณา ต้องถือว่าเป็นเพียงข้อยกเว้น โดยจะสามารถกระทำได้ต่อเมื่อมีเหตุอันต้องตามข้อยกเว้นที่บัญญัติไว้โดยชัดแจ้งในกฎหมายเท่านั้น

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 177 บัญญัติหลักเกณฑ์การพิจารณาคดีอาญาเป็นการลับไว้ ความว่า “ศาลมีอำนาจสั่งให้พิจารณาเป็นการลับ เมื่อเห็นสมควรโดยพลการหรือโดยคำร้องขอของคู่ความฝ่ายใด แต่ต้องเพื่อประโยชน์แห่งความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันความลับอันเกี่ยวกับความปลอดภัยของประเทศมิให้ล่วงรู้ถึงประชาชน”

แม้ในมาตราดังกล่าวจะให้อำนาจศาลในการใช้ดุลพินิจสั่งพิจารณาคดีเป็นการลับได้ อย่างไรก็ตาม การตีความว่ากรณีใดถึงขนาดจะต้องพิจารณาคดีเป็นการลับ ก็ต้องสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่มาตรา 177 บัญญัติไว้ และเป็นหน้าที่ของศาลโดยตรงที่ต้องตีความถ้อยคำดังกล่าวอย่างเคร่งครัด ยังไม่นับปัญหาว่าถ้อยคำดังกล่าวตามตัวบทมีลักษณะกว้างขวางคลุมเครือจนเกินไป

.

ปัญหาการพิจารณาคดีมาตรา 112 ประการหนึ่งในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา คือการที่ศาลสั่งให้พิจารณาเป็นการลับ โดยอ้างตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 177 ให้เฉพาะคู่ความในคดีเข้าร่วมการพิจารณา แม้ไม่ชัดเจนนักว่าการเข้าฟังการพิจารณาคดีมาตรา 112 จะทำให้เกิดความไม่ความสงบเรียบร้อย และกระทบศีลธรรมอันดีของประชาชนอย่างไร 

แต่สิ่งหนึ่งที่ควรชัดเจนเมื่อศาลสั่งพิจารณาคดีเป็นการลับ คือ เหตุผลประกอบคำสั่งนั้นว่า ศาลหยิบยกเหตุผลในส่วนใดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 177 ในการสั่งพิจารณาคดีเป็นการลับ มีข้อเท็จจริงใดที่ปรากฏในคดีว่าจะส่งผลต่อความสงบเรียบร้อย ศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือ ความลับอันเกี่ยวกับความปลอดภัยของประเทศ 

ในช่วงก่อนหน้าปี 2563 นั้น มีคดีที่ถูกสั่งให้พิจารณาเป็นการลับอยู่มากพอสมควร ทั้งในศาลพลเรือนและศาลทหาร จนแทบจะกลายเป็น “ปกติ” ในการพิจารณาคดีข้อหานี้ โดยเคยมีการยื่นคำร้องในประเด็นดังกล่าว ว่าการพิจารณาเป็นการลับนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ ในคดีของ “ดา ตอร์ปิโด” แต่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ

เฉพาะคดีในช่วงยุค คสช. จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่ามีคดีมาตรา 112 ที่ศาลสั่งพิจารณาคดีลับ อย่างน้อย 21 คดี โดยแยกเป็นคดีที่จำเลยซึ่งเป็นพลเรือนถูกพิจารณาคดีในศาลทหารจำนวน 17 คดี และอีก 4 คดี ที่พิจารณาในศาลยุติธรรม อาทิ คดีของ “ไผ่” จตุภัทร์, คดีของทนายประเวศ ประภานุกูล, คดีของ “แม่จ่านิว”, คดีของสิรภพ, คดีของปิยะ, คดี “บุปผา” เป็นต้น

ใน คดีของ “บุปผา” ผู้ป่วยจิตเวช แม้ผ่านช่วง คสช. และคดีถูกโอนย้ายจากศาลทหาร ไปยังศาลจังหวัดพัทยา แต่ศาลยังคงสั่งให้สืบพยานและอ่านคำพิพากษาในศาลชั้นต่าง ๆ เป็นการลับต่อเนื่องมาจากศาลทหาร

.

ตั้งแต่หลังปลายปี 2563 ซึ่งมีการนำมาตรา 112 กลับมาบังคับใช้อย่างเข้มข้นอีกครั้ง พบว่าการสั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับมีแนวโน้มลดน้อยลงไปบ้าง แต่ก็ยังคงมีอยู่ โดยพบจำนวนอย่างน้อย 6 คดี  ได้แก่

รวมทั้งมีสถานการณ์ในบางคดีที่ศาลไม่ได้มีคำสั่งพิจารณาลับอย่างเป็นทางการ แต่เจ้าหน้าที่ศาลให้ผู้เข้าฟังออกจากห้องพิจารณาคดี เช่น คดีของ “บัสบาส” คดีที่สาม หรือการฟังคำพิพากษาในคดีของ “นคร” ที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการ และคดีของ “ปีเตอร์” ที่ศาลจังหวัดอุดรธานี ศาลให้เฉพาะคู่ความในคดีอยู่ในห้องพิจารณา แต่ให้บุคคลอื่นออกจากห้องทั้งหมด แม้ไม่ได้สั่งพิจารณาเป็นการลับในรายงานกระบวนการพิจารณาก็ตาม

เมื่อพิจารณาคดีมาตรา 112 ในปัจจุบัน แนวโน้มการสั่งให้พิจารณาเป็นการลับมีไม่มากนัก เมื่อเทียบกับจำนวนคดี และคดีที่พิจารณาโดยเปิดเผย ก็ไม่ได้ทำให้เกิดความไม่ความสงบเรียบร้อย และกระทบศีลธรรมอันดีของประชาชนขึ้น 

การสั่งพิจารณาเป็นการลับในบางคดี รวมทั้งในคดีของอานนท์ นำภา ล่าสุดนี้ จึงทำให้เกิดคำถามต่อการคุ้มครองสิทธิในการได้รับการพิจารณาอย่างเป็นธรรมของคู่ความ โดยเฉพาะการพิจารณาโดยเปิดเผยโปร่งใส และการสร้างการยอมรับต่อกระบวนการพิจารณาคดีมาตรา 112 ที่คนในสังคมให้ความสนใจ

.

ย้อนอ่านบทความ คดี 112 กับความยุติธรรมที่ปิดลับ

.

X