การอ่านคำพิพากษาต้องเป็นไปโดยเปิดเผย แม้ในคดีที่ศาลสั่งพิจารณาลับ

หลังจากเมื่อวันที่ 27-28 พ.ย. 2567 ศาลอาญาในห้องพิจารณาคดีที่ 711 ทำการพิจารณาคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของ “อานนท์ นำภา” จากกรณีปราศรัยในการชุมนุม #เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย หรือม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์ บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2563 โดยมีคำสั่งให้การสืบพยานคดีนี้เป็นไปโดยลับ อนุญาตให้เฉพาะคู่ความอยู่ร่วมในการพิจารณาคดี หลังจากนั้นจึงกำหนดนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 19 ธ.ค. 2567 เวลา 9.00 น.

หากข้ามประเด็นการสั่งให้การสืบพยานเป็นการลับ ว่าชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 177 ซึ่งให้อำนาจสั่งพิจารณาเป็นการลับด้วยข้อยกเว้นบางเหตุไปก่อน และพิจารณาในประเด็นกระบวนการอ่านคำพิพากษาที่กำลังจะมาถึงในคดีนี้ ว่าการอ่านคำพิพากษาจะเป็นไปโดยลับด้วยหรือไม่นั้น

หากพิจารณาคำนิยามของ “การพิจารณา” ในมาตรา 1 ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งบัญญัติให้ การพิจารณา หมายความถึง “กระบวนพิจารณาทั้งหมดในศาลใดศาลหนึ่งก่อนศาลนั้นชี้ขาดตัดสินหรือจำหน่ายคดีโดยคำพิพากษาหรือคำสั่ง” 

โดยที่ข้อยกเว้นของการให้ศาลสั่งพิจารณาเป็นการลับ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 177 นั้น ได้ถูกบัญญัติไว้เฉพาะในภาค 3 วิธีพิจารณาในศาลชั้นต้น ลักษณะ 2 เรื่อง “การพิจารณา” 

แต่การอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นถูกบัญญัติไว้ในลักษณะ 3 “คําพิพากษาและคําสั่ง” แยกออกจากกัน จึงควรจะต้องพิจารณากระบวนการอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่ง แยกออกจากความหมายของ “การพิจารณา” 

หากพิจารณามาตรา 182 และมาตรา 188 ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งอยู่ในลักษณะ 3 ดังกล่าว ได้บัญญัติถึงการอ่านคำพิพากษาที่ต้องเป็นไปโดยเปิดเผยไว้ และไม่ได้มีการบัญญัติข้อยกเว้นให้ศาลสั่งให้การอ่านคำพิพากษาเป็นไปโดยลับได้แต่อย่างใด

มาตรา 182 วรรคสอง “ให้อ่านคําพิพากษาหรือคําสั่งในศาลโดยเปิดเผยในวันเสร็จการพิจารณา หรือภายในเวลาสามวันนับแต่เสร็จคดี ถ้ามีเหตุอันสมควร จะเลื่อนไปอ่านวันอื่นก็ได้ แต่ต้องจดรายงานเหตุนั้นไว้”

มาตรา 188 “คำพิพากษาหรือคําสั่งมีผลตั้งแต่วันที่ได้อ่านในศาลโดยเปิดเผยเป็นต้นไป”

.

ดังนั้น “การอ่านคำพิพากษา” จึงเป็นกระบวนการที่ไม่อยู่ในคำนิยามของคำว่า “การพิจารณา” เพราะการอ่านคำพิพากษาเป็นกระทำการในวันที่ศาลนั้นชี้ขาดตัดสินคดี และคำพิพากษานั้นมีผลตั้งแต่การอ่านโดยเปิดเผยเป็นต้นไป ศาลจึงไม่อาจสั่งให้การอ่านคำพิพากษาเป็นการลับได้ การอ่านคำพิพากษาในทุกกรณีจึงต้องกระทำโดยเปิดเผย

นอกจากนี้ เหตุผลที่ให้ดุลพินิจศาลสั่งพิจารณาคดีเป็นการลับก็เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันความลับอันเกี่ยวกับความปลอดภัยของประเทศมิให้ล่วงรู้ถึงประชาชนในระหว่างการพิจารณาคดี แต่ท้ายที่สุดแล้วเมื่อศาลมีคำพิพากษา เนื้อความทั้งหมดในคำพิพากษาก็สามารถได้รับการเผยแพร่สู่สาธารณชนนั่นเอง 

สำหรับคดีมาตรา 112 ในยุคหลังปี 2563 ในคดีซึ่งศาลมีคำสั่งให้กระบวนการพิจารณาคดีเป็นไปโดยลับ แต่ในนัดอ่านคำพิพากษา ญาติของจำเลยหรือผู้สังเกตการณ์คดียังคงสามารถเข้าร่วมฟังการอ่านคำพิพากษาได้อยู่เช่นกัน ได้แก่ คดีของศิระพัทธ์, คดี “โชติช่วง” และคดี “บัสบาส”

การพิจารณาคดีเป็นการลับเป็นข้อยกเว้นที่ต้องมีเหตุตามที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งเท่านั้น และมิควรตีความขยายให้ครอบคลุมถึงการอ่านคำพิพากษา ซึ่งเป็นอีกขั้นตอนหนึ่งภายหลังการพิจารณา รวมทั้งไม่ควรถูกทำให้เรื่องปกติในคดีมาตรา 112

ไม่ว่ากระบวนการสืบพยานที่ผ่านไปจะสร้างข้อกังขาต่อการพิจารณาที่เกิดขึ้นเพียงใด แต่การอ่านคำพิพากษาในคดีของอานนท์ นำภา อันเป็นคดีมาตรา 112 คดีที่ 6 ของเขาที่ศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษาออกมา ทั้งยังมีความสำคัญในฐานะเป็นคดีจากเหตุการณ์อันเริ่มมีการปราศรัยข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในการชุมนุมปี 2563 เป็นครั้งแรกนั้น จึงควรเป็นไปโดยเปิดเผย ศาลควรอำนวยความสะดวกให้สาธารณชนสามารถเข้าร่วมฟังคำพิพากษาในคดีสำคัญเช่นนี้ได้โดยถ้วนทั่วกัน

.

ย้อนอ่านบทความ คดี 112 กับความยุติธรรมที่ปิดลับ

X