นศ.-นักกิจกรรม อีก 3 ราย รับทราบข้อหา “หมิ่นประมาทฯ” หลังอธิการบดี มรภ.บุรีรัมย์ แจ้งความ ปรากฏ 1 รายไม่เกี่ยวข้อง เรียกร้องมหาลัยรับผิดชอบ

วันที่ 28 พฤษภาคม 2564 เวลา 14.30 น. ที่ สภ.เมืองบุรีรัมย์ จตุพร แซ่อึง นักกิจกรรมกลุ่มบุรีรัมย์ปลดแอก,  สิรีธร สีหานาม และอัมรา จานรัมย์ 2 นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ พร้อมภัทรพงษ์ วรรณพงษ์ ทนายความเครือข่ายของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหา หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา หลังถูกรักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยแจ้งความให้ดำเนินคดี จากกรณีป้ายประท้วงค่าเทอมและเรียกร้องอธิการบดีที่โปร่งใสถูกติดในมหาวิทยาลัย เมื่อช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา 

คดีนี้มีผู้ถูกออกหมายเรียกให้รับทราบข้อกล่าวหารวม 5 คน ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2564 กฤตพรต สุพรรณนอก และสุนิชา บัวแก้ว อีก 2 นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ เข้ารับทราบข้อกล่าวหาไปก่อนแล้ว  

ร.ต.อ.หญิงพิชญานิน ปลั่งกลาง รอง สว.(สอบสวน) สภ.เมืองบุรีรัมย์ แจ้งพฤติการณ์คดีให้ทั้งสามทราบว่า เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2564 เวลา 13.00 น. ผู้กล่าวหา (ทราบจากหมายเรียกว่าคือ เสาวรส ผัดโพธิ์) ซึ่งรับมอบอำนาจจากมาลิณี จุโฑปะมา รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ผู้เสียหาย ได้รับแจ้งว่าผู้ต้องหาร่วมกันนำป้ายผ้าที่เขียนข้อความลักษณะหมิ่นประมาทผู้เสียหาย ไปติดบริเวณด้านหน้าและด้านในมหาวิทยาลัย จำนวน 4 ป้าย

ป้ายทั้งสี่มีข้อความดังนี้ 1. เราต้องการอธิการที่โปร่งใส 2. ค่าเทอม นศ.ก็โกง 3. ม.สารขัณฑ์ อันดับ 1 แห่งภาคอีสาน 4. มาลิณีออกไป นอกจากนี้ยังพบว่าเพจเฟซบุ๊กชื่อ บุรีรัมย์ปลดแอก โพสต์ภาพถ่ายที่มีการติดป้ายผ้าเขียนข้อความลักษณะหมิ่นประมาทผู้เสียหายดังกล่าวพร้อมข้อความ ซึ่งเป็นโพสต์สาธารณะที่บุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ ทำให้ผู้เสียหายได้รับการดูหมิ่น ถูกเหยียดหยามหรือถูกเกลียดชัง เสื่อมเสียชื่อเสียง และส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ และจากการสืบสวนพบว่า แอดมินเพจ บุรีรัมย์ปลดแอก คือ จตุพร แซ่อึง จึงเข้าแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับผู้ต้องหา

จากนั้นพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาทั้งจตุพร, สิรีธร และอัมรา ว่า ร่วมกันหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา 

ภาพจากเพจบุรีรัมย์ปลดแอก

ทั้ง 3 คน ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ในส่วนของอัมราได้ให้การเพิ่มเติมถึงเหตุการณ์ระหว่างเวลา 12.00 – 13.00 น. ของวันที่ 28 มกราคม 2564 ซึ่งเป็นวันเวลาตามที่พนักงานสอบสวนระบุว่า มีนักศึกษาติดป้ายผ้าว่า เวลา 12.00 น. เธอขับรถออกจากหอพักไปที่มหาวิทยาลัย และขึ้นไปที่อาคารแห่งหนึ่งตั้งแต่เวลา 12.10 น. เพื่อนั่งรอสอบในวิชาหนึ่งกับเพื่อน กระทั่งเข้าสอบในเวลา 13.00-15.00 น. โดยไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ขณะมีการติดป้าย โดยมีพยาน 1 ราย คือเพื่อนนักศึกษาที่อยู่ด้วยกันในวันนั้น มาให้การยืนยันกับพนักงานสอบสวนว่า ขณะเกิดเหตุอัมราอยู่บนตึกและทำการสอบอยู่จริง อย่างไรก็ตาม พนักงานสอบสวนยังยืนยันให้อัมราลงลายมือชื่อในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา และพิมพ์ลายนิ้วมือ เช่นเดียวกับจตุพร และสิรีธร 

เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการรับทราบข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนได้ปล่อยตัว โดยไม่ได้ควบคุมตัวไว้ และนัดให้มารายงานตัวอีกครั้งในวันที่ 25 มิถุนายน 2564 

ทั้งนี้ ความผิดฐาน หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328 มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท

ภายหลังออกจาก สภ.เมืองบุรีรัมย์ อัมราได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว เรียกร้องให้ทางมหาวิทยาลัยฯ ออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อการกระทำที่เกิดขึ้น “การถูกแจ้งความโดยที่หนูไม่ได้กระทำผิดทำให้เกิดการหวาดกลัวในการใช้ชีวิต ในการเรียนในมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ อับอายแก่ผู้คน และมีผลกระทบต่อหน้าที่การงานของหนูในอนาคต #ซึ่งตัวหนูไม่มีส่วนรู้เห็นหรือเกี่ยวข้องใดๆ กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเลย” พร้อมติดแท็กว่า #รักษาการอธิการบดีกล่าวหานักศึกษา 

ด้านจตุพรซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นแอดมินเพจ “บุรีรัมย์ปลดแอก” เปิดเผยว่า ส่วนตัวไม่รู้สึกอะไร ก็ต่อสู้คดีไป แม้จะถูกดำเนินคดีถึง 3 คดีใน 3 จังหวัดแล้ว แต่อยากตั้งคำถามกับรักษาการอธิการบดีซึ่งเป็นผู้แจ้งความนักศึกษาของตัวเองว่า กรณีเช่นนี้ เป็นสิทธิของนักศึกษาที่จะเรียกร้องต่อมหาลัย ทำไมผู้บริหารไม่ใช้วิธีการอธิบายหรือชี้แจง กลับเลือกใช้วิธีการดำเนินคดีนักศึกษาซึ่งอยู่ในความดูแลของตนเอง ส่วนตัวมีความเห็นว่า ไม่เป็นธรรมต่อน้องนักศึกษาทั้ง 4 คนอย่างยิ่ง โดยเฉพาะน้องคนหนึ่งที่ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์เลย 

ก่อนหน้านี้ จตุพรถูกดำเนินคดี หมิ่นประมาทกษัตริย์ จากการใส่ชุดไทยร่วมม็อบแฟชั่นโชว์ เมื่อ 29 ตุลาคม 2563 ที่สีลม เป็นคดีแรก ตามมาด้วยคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการเข้าร่วมชุมนุมที่หน้า สภ.ย่อย มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อประณามการใช้ความรุนแรงของตำรวจสลาย #ม็อบ28กุมภา  

สำหรับเรื่องนี้กฤตพรต สุพรรณนอก หนึ่งในนักศึกษาที่ทำกิจกรรมติดป้ายประท้วงอธิการบดีดังกล่าว เคยเปิดเผยว่าเรื่องนี้สั่งสมตั้งแต่ปีการศึกษา 2563 ตนเคยทวงถามเรื่องการคืนค่าเทอมนักศึกษาปี 1 และอยากให้มหาวิทยาลัยออกประกาศหรือชี้แจงเรื่องที่เคยถามเกี่ยวกับเงินค่าบำรุงการพัฒนาการเรียนการสอนที่เขาเสียไปตั้งแต่ปี 2562 นั้นถูกนำไปใช้อย่างไรบ้าง 

 

 

และอีกส่วนอยากเรียกร้องให้นักศึกษาปี 1 ที่จ่ายค่าเทอมแรกเข้าพร้อมค่าบำรุงการพัฒนาการเรียนการสอนรวมเป็นเงิน 9,900 บาท โดยช่วงโควิด -19 ที่มีการเรียนการสอนเป็นแบบออนไลน์สลับกับเรียนในห้อง ทางมหาวิทยาลัยได้ประกาศเมื่อเดือนมิถุนายน 2563 ว่างดเว้นค่าบำรุงการพัฒนาการเรียนการสอนที่ปกติต้องจ่าย 1,000 บาท แต่ยังไม่เห็นว่า ทางมหาวิทยาลัยได้จัดการคืนค่าเทอมส่วนนั้นให้นักศึกษาปี 1 แต่อย่างใด การติดป้ายครั้งนี้จึงเป็นการสะท้อนปัญหาและเรียกร้องให้มีการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นมากกว่าเจตนาอื่น 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

อธิการบดี ม.ราชภัฏบุรีรัมย์ แจ้งความ 4 นักศึกษา ฐาน “หมิ่นประมาทฯ” หลังปรากฏป้ายหน้า ม. ‘ต้องการอธิการที่โปร่งใส’

 

X