9 กันยายน 2564 อัมรา จานรัมย์ นักศึกษาปี 3 มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ หนึ่งในนักศึกษาผู้ถูกรักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ แจ้งความดำเนินคดีข้อหา หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา กรณีป้ายประท้วงค่าเทอมและเรียกร้องอธิการบดีที่โปร่งใสถูกติดในมหาวิทยาลัย เมื่อช่วงเดือนมกราคม 2564 เข้าพบรองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา หลังได้รับการติดต่อจากคณบดีคณะครุศาสตร์ว่า รองอธิการฯ เชิญให้เข้าพบ
ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 อัมราได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามที่ได้รับหมายเรียกผู้ต้องหาของ สภ.เมืองบุรีรัมย์ และได้ให้การยืนยันกับพนักงานสอบสวนแล้วว่า ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ขณะมีการติดป้าย โดยมีเพื่อนนักศึกษาที่อยู่ด้วยกันในวันที่ระบุว่ามีการติดป้าย ไปให้การเป็นพยานด้วยว่า ขณะเกิดเหตุอัมราอยู่บนตึกและทำการสอบอยู่จริง
ต่อมา เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2564 อัมราทำหนังสือขอความเป็นธรรมไปถึงนายกสภามหาวิทยาลัยและประธานสภานักศึกษา ใจความระบุว่า เธอถูกมาลิณี จุโฑปะมา แจ้งความในข้อหาร่วมกันหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา โดยร่วมกันติดป้ายที่มีข้อความหมิ่นประมาท ซึ่งเธอไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง และไม่มีส่วนรู้เห็นในการกระทำดังกล่าว การกระทำของมาลิณี จุโฑปะมา ส่งผลให้เธอเสียชื่อเสียง อับอายแก่ผู้คน รวมทั้งมีผลกระทบต่อหน้าที่การงานในอนาคต เนื่องจากเธอเป็นนักศึกษาคณะครุศาสตร์ ซึ่งจะต้องรักษาภาพลักษณ์ของการเป็นครูที่ดีในอนาคต
จึงขอความเป็นธรรมจากสภานักศึกษาและสภามหาวิทยาลัย ให้พิจารณาเรียกร้องให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องออกมาชี้แจง เพราะบุคคลที่แจ้งความเป็นผู้บริหารสูงสุดในมหาวิทยาลัย ทำให้เธอเกิดความหวาดกลัว โดยอัมราได้แนบเอกสารหลักฐานยืนยันที่อยู่และการสอบ รวมทั้งหมายเรียกผู้ต้องหาจาก สภ.เมืองบุรีรัมย์ ไปด้วย
เวลา 13.00 น. อัมรา พร้อมผู้ไว้ใจ อาจารย์ที่ปรึกษา และอาจารย์หัวหน้าสาขา ไปที่กองพัฒนานักศึกษา และได้พบกับรองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา พร้อมทั้งผู้ช่วย แต่การพูดคุยที่ใช้เวลาราวหนึ่งชั่วโมง กลับไม่มีข้อสรุป
อัมราเปิดเผยหลังการเข้าพบรองอธิการบดีว่า การพูดคุยมีลักษณะไม่เข้าใจกัน ฝ่ายรองอธิการบดีไม่เข้าใจและไม่ทราบลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กระทั่งการพูดคุยไม่ได้มีข้อตกลงใดๆ ก่อนที่ทางรองอธิการบดีแนะนำให้เข้าไปคุยกับรักษาราชการแทนอธิการบดีด้วยตัวเองอีกครั้ง
อัมรากล่าวด้วยว่า ระหว่างการพูดคุย รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาพูดว่า รองฯ มีหน้าที่ปกป้องชื่อเสียงมหาวิทยาลัย นักศึกษาเองก็ต้องรักษาชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย เป็นข้อบังคับของนักศึกษา ถ้าไม่ทำตามก็ผิด แต่ว่านักศึกษาไม่ค่อยได้อ่าน ซึ่งเธอไม่เข้าใจว่า ทำไมรองอธิการฯ ถึงพูดแบบนั้น และสงสัยว่าเธอทำให้มหาวิทยาลัยเสื่อมเสียชื่อเสียงตรงไหน จึงตั้งคำถามกลับไปว่า รองอธิการฯ มีหน้าที่ปกป้องชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย แต่ไม่มีหน้าที่ปกป้องชื่อเสียงของนักศึกษาหรือ
“การที่เราถูกแจ้งความหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาแบบนี้ ทำให้เราเสื่อมเสียชื่อเสียง แต่ผู้ช่วยของรองอธิการฯ กลับกล่าวว่า เธอมีชื่อเสียงระดับไหน เธอไปเสียชื่อเสียงตอนไหน ทำให้เรารู้สึกไม่โอเคเลย เพราะเป็นนักศึกษาก็เสียชื่อเสียงแล้วตั้งแต่ที่เขาแจ้งความ เรารู้สึกถูกดูหมิ่นดูแคลน”
อัมรายังกล่าวด้วยว่า เธอถูกรองอธิการบดีตำหนิว่าทำไมไม่ติดต่อไปที่รักษาราชการแทนอธิการบดีตั้งแต่แรก จนทำให้เกิดเรื่องมาถึงขนาดนี้ สำหรับเธอคิดว่า ผู้บริหารมหาวิทยาลัยเป็นคนแจ้งความผิดทำไมเขาถึงไม่ติดต่อมาเอง และย้ำอีกว่ากระบวนการวันนี้จบลงไปโดยไม่มีข้อยุติ
“ส่วนตัวก็อยากจะสู้คดีเพราะไม่ได้ผิดอะไรหรือเกี่ยวข้องอะไรในตามที่ถูกกล่าวหา หากจะเข้าไปพบรักษาราชการแทนอธิการบดีก็คงเพียงเพื่ออยากถามว่าทำไมทำแบบนี้ แต่ถ้าถามว่าอยากเจรจากันอีกไหม เราไม่ เราอยากสู้คดีดีกว่า”
ย้อนไปในวันที่อัมราเข้ารับทราบข้อกล่าวหา ซึ่งเธอยืนยันว่า ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ขณะมีการติดป้ายวิจารณ์รักษาราชการแทนอธิการบดี โดยอยู่ระหว่างการเข้าสอบในวิชาหนึ่ง แต่พนักงานสอบสวนก็ยืนยันให้อัมราลงลายมือชื่อในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา หลังจากนั้น อัมราได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว เรียกร้องให้ทางมหาวิทยาลัยฯ ออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อการกระทำที่เกิดขึ้น
“การถูกแจ้งความโดยที่หนูไม่ได้กระทำผิดทำให้เกิดการหวาดกลัวในการใช้ชีวิต ในการเรียนในมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ อับอายแก่ผู้คน และมีผลกระทบต่อหน้าที่การงานของหนูในอนาคต #ซึ่งตัวหนูไม่มีส่วนรู้เห็นหรือเกี่ยวข้องใดๆ กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเลย” พร้อมติดแท็กว่า #รักษาการอธิการบดีกล่าวหานักศึกษา
วันเดียวกับที่อัมราเข้าพบรองอธิการฯ สภานักศึกษา ภาคปกติ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ได้ออกแถลงการณ์ เรื่อง ขอเรียกร้องให้สภามหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีผู้บริหารสูงสุดของมหาวิทยาลัยแจ้งความดำเนินคดีหมิ่นประมาทกับนักศึกษา โดยระบุว่า กรณีที่อัมรายื่นหนังสือขอความเป็นธรรม สภานักศึกษาได้กลั่นกรองหาข้อเท็จจริงแล้ว และเรียกร้องให้สภามหาวิทยาลัยตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการดังนี้
1. ตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการชี้แจง กรณีผู้บริหารสูงสุดของมหาวิทยาลัยแจ้งความดำเนินคดีหมิ่นประมาทกับนักศึกษา เนื่องจากสถานที่เกิดเหตุบางส่วนเกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์
2. พิจารณายุติการปฏิบัติหน้าที่รักษาราชการแทนอธิการบดี ของมาลิณี จุโฑปะมา เนื่องจากเป็นคู่กรณีกับนักศึกษา อาจส่งผลถึงความปลอดภัย การเรียน และการใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยของนักศึกษา รวมถึงอาจส่งผลต่อรูปคดีและพยานหลักฐานต่างๆ
3. ให้ความเป็นธรรมกับนักศึกษาที่ถูกแจ้งความดำเนินคดีหมิ่นประมาท
จากเหตุผลดังกล่าวเนื่องจากมาลิณี จุโฑปะมา อยู่ในตำแหน่งรักษาราชการแทนอธิการบดีซึ่งเป็นผู้บริหารสูงสุดในมหาวิทยาลัยเปรียบเสมือนแม่ และนักศึกษาเปรียบเสมือนลูก ที่คนเป็นแม่จะต้องดูแลหากเกิดเหตุอันใดก็ตาม แม่ควรที่จะเรียกพูดคุยภายในก่อน แต่กลับแจ้งความเอาผิดนักศึกษาข้อหาหมิ่นประมาท ซึ่งทางสภานักศึกษาตรวจสอบหลักฐานและพยานแล้ว เห็นว่าอัมรา จานรัมย์ ไม่มีส่วนรู้เห็นในการกระทำที่ถูกกล่าวหา ในทางปฏิบัติรักษาการอธิการบดี ควรจะพูดคุยกับนักศึกษาเป็นการภายในก่อน ซึ่งเป็นการปฏิบัติที่ถูกหลักธรรมาภิบาลระหว่างผู้บริหารกับนักศึกษา
นอกจากอัมรา คดีนี้มีผู้ถูกดำเนินคดีอีก 4 ราย เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ 3 ราย ได้แก่ กฤตพรต สุพรรณนอก, สุนิชา บัวแก้ว และสิรีธร สีหานาม อีก 1 รายคือ จตุพร แซ่อึง นักกิจกรรมกลุ่มบุรีรัมย์ปลดแอก ซึ่งทั้งหมดต่างให้การปฏิเสธในชั้นสอบสวน คดีอยู่ระหว่างนัดฟังคำสั่งของอัยการว่าจะฟ้องคดีหรือไม่ในวันที่ 20 กันยายน 2564
สำหรับกรณีติดป้ายที่นำมาสู่คดีนี้ กฤตพรต หนึ่งในผู้ถูกดำเนินคดี เคยให้ข้อมูลกับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนไว้ว่าเรื่องนี้สั่งสมตั้งแต่ปีการศึกษา 2563 ตนเคยทวงถามเรื่องการคืนค่าเทอมนักศึกษาปี 1 และอยากให้มหาวิทยาลัยออกประกาศหรือชี้แจงเรื่องที่เคยถามเกี่ยวกับเงินค่าบำรุงการพัฒนาการเรียนการสอนที่เขาเสียไปตั้งแต่ปี 2562 นั้นถูกนำไปใช้อย่างไรบ้าง
และอีกส่วนอยากเรียกร้องให้นักศึกษาปี 1 ที่จ่ายค่าเทอมแรกเข้าพร้อมค่าบำรุงการพัฒนาการเรียนการสอนรวมเป็นเงิน 9,900 บาท โดยช่วงโควิด -19 ที่มีการเรียนการสอนเป็นแบบออนไลน์สลับกับเรียนในห้อง ทางมหาวิทยาลัยได้ประกาศเมื่อเดือนมิถุนายน 2563 ว่างดเว้นค่าบำรุงการพัฒนาการเรียนการสอนที่ปกติต้องจ่าย 1,000 บาท แต่ยังไม่เห็นว่า ทางมหาวิทยาลัยได้จัดการคืนค่าเทอมส่วนนั้นให้นักศึกษาปี 1 แต่อย่างใด การติดป้ายครั้งนี้จึงเป็นการสะท้อนปัญหาและเรียกร้องให้มีการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นมากกว่าเจตนาอื่น