พนักงานบริษัทโดน พ.ร.บ.คอมฯ เหตุถูกระบุเป็นเจ้าของบัญชีทวิตเตอร์โพสต์โยง ‘ศักดิ์สยาม’ กับสถานบันเทิง

27 พฤษภาคม 2564 ซี (นามสมมติ) พนักงานบริษัทเอกชน เดินทางจากจังหวัดสมุทรปราการไปที่ สภ. เมืองบุรีรัมย์ เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ตามหมายเรียกผู้ต้องหาที่ออกในวันที่ 9 เมษายน 2564 หลังจากถูก ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มอบอำนาจให้นายทิวา การกระสัง ทนายความ แจ้งความเอาผิด กรณีมีผู้ใช้ทวิตเตอร์โพสต์ภาพชายคนหนึ่งขณะเที่ยวสถานบันเทิง พร้อมข้อความที่เชื่อมโยงศักดิ์สยาม 

ร.ต.อ.อนุเปรม ทุมนานอก รอง สว.(สอบสวน) สภ.เมืองบุรีรัมย์ พนักงานสอบสวน บรรยายพฤติการณ์ที่กล่าวหาว่า ซี เป็นผู้ใช้บัญชีทวิตเตอร์ชื่อ ‘รำพึง’ ซึ่งเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2564  ศักดิ์สยาม ชิดชอบ ผู้กล่าวหาพบว่า ซีโพสต์ภาพชายคนหนึ่งถือโทรศัพท์มือถือ เป็นภาพในสถานบันเทิง พร้อมระบุข้อความว่า “ไทม์ไลน์ที่หายไป อยู่นี่หรือป่าวน๊า เอ๊…คนหน้าคล้าย หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ดีนะ” โดยมีภาพสัญลักษณ์หน้าบุคคล และข้อความว่า #ศักดิ์สยามชิดชอบ #ศักดิ์สยาม #โควิด19 #โควิด 

พนักงานสอบสวนระบุอีกว่า ภาพและข้อความดังกล่าวเป็นเท็จ เนื่องจากบุคคลในภาพไม่ใช่นายศักดิ์สยาม ทำให้บุคคลอื่นซึ่งไม่ทราบความจริงเข้าใจว่า บุคคลดังกล่าวเป็นนายศักดิ์สยาม ไปเที่ยวสถานบันเทิงแล้วติดโควิด-19 ทำให้นายศักดิ์สยามได้รับความเสียหาย เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง ได้รับความอับอาย จากการโพสต์ข้อความข้างต้นของซี 

พนักงานสอบสวนจึงแจ้งข้อกล่าวหา “โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลที่บิดเบือน หรือปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง”

ซีให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนไม่ได้ควบคุมตัวไว้ เนื่องจากซีมาพบตามหมายเรียก โดยนัดหมายอีกครั้งเพื่อส่งตัวให้พนักงานอัยการจังหวัดบุรีรัมย์ ในวันที่ 9 มิถุนายน 2564 เวลา 10.00 น.

อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ.2560 มาตรา 14 (1) ระบุว่า “โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทำผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา” โดยผู้กระทำความผิดดังกล่าวต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งมีข้อสังเกตว่า การกระทำที่เป็นความผิดในฐานความผิดนี้จะต้องเป็นการกระทำที่ “โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน” และ “มิใช่การกระทำผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา” กรณีที่ซีถูกแจ้งข้อกล่าวหา จึงน่าจะไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1)

ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ภาพโดย ไทยรัฐออนไลน์

ปัจจุบันซี อายุ 29 ปี ทำงานเป็นพนักงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร แต่พักอาศัยอยู่ย่านสมุทรปราการ เธอเปิดเผยกับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนว่า การเดินทางไปที่บุรีรัมย์เพื่อไปธุระเรื่องคดีนี้ สร้างภาระอย่างมาก เพราะต้องต่อรถโดยสารสาธารณะถึง 3 ต่อเป็นระยะทางราว 400 กิโลเมตร กว่าจะกลับมาถึงสมุทรปราการ และการเดินทางด้วยรถโดยสารในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด -19 ทำให้เธอรู้สึกว่าตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโควิดอีกด้วย  ส่วนบรรยากาศขณะรับทราบข้อกล่าวหาที่ สภ.เมืองบุรีรัมย์ ซีกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามโน้มน้าวให้เธอรับสารภาพตามข้อกล่าวหา และตั้งโต๊ะแถลงขอโทษผู้กล่าวหา เพื่อจะให้เรื่องนี้จบๆ ไป แต่เธอก็ยืนยันให้การปฏิเสธ และขอสู้คดีต่อไป 

สำหรับเหตุในคดีเกิดขึ้นในช่วงต้นเดือนเมษายน 2564 ขณะมีการแพร่ระบาดของโควิด -19 คลัสเตอร์จากสถานบันเทิงย่านทองหล่อ และในวันที่ 7 เมษายน 2564 มีรายงานข่าวว่า ผลตรวจหาเชื้อโควิด-19 ของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นบวก ยืนยันว่า ติดโควิด-19 ต่อมาโซเชียลมีเดียทั้งเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์มีการส่งต่อภาพชายคนหนึ่งขณะท่องเที่ยวในสถานบันเทิงแห่งหนึ่ง และมีข้อความที่ทำให้เกิดความเข้าใจว่าเป็น ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม 

จากนั้น ไทยรัฐออนไลน์รายงานข่าวอีกว่า วันที่ 8 เมษายน 2564 ศักดิ์สยามมอบอำนาจให้ทนายความเข้าแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองบุรีรัมย์ เพื่อเอาผิดผู้ที่โพสต์ภาพดังกล่าวรวม 2 ราย ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ได้แก่ ผู้ใช้บัญชีทวิตเตอร์ชื่อ “รำพึง” และผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อว่า Somchai Tum jaitong 

ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากศักดิ์สยามเข้าแจ้งความที่ สภ.เมืองบุรีรัมย์ ภาพโดย ไทยรัฐออนไลน์

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2564 ไทยพีบีเอสยังรายงานว่า ศักดิ์สยามมอบอำนาจให้ทนายความไปแจ้งความที่ สภ.เมืองบุรีรัมย์ เพื่อดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กับมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ กรณีไลฟ์ผ่านเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2564 ระบุว่า นายศักดิ์สยามไปเที่ยวผับย่านทองหล่อ และทําให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมทั้งดำเนินคดีผู้บริหารสื่อบางสำนัก และพิธีกรจัดรายการข่าวอีก 2 คนด้วย

 

X