ฟ้อง! พนักงานบริษัทเอกชน  ‘พ.ร.บ.คอมฯ’ กล่าวหาโพสต์ภาพชายเที่ยวสถานบันเทิงช่วงโควิด อ้าง ทำให้ ‘ศักดิ์สยาม’ เสียหาย

2 กันยายน 2564 ซี (นามสมมติ) พนักงานบริษัทแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร เดินทางไปที่สำนักงานอัยการจังหวัดบุรีรัมย์ในนัดฟังคำสั่งฟ้องคดีที่ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มอบอำนาจให้ทิวา การกระสัง ทนายความ เข้าแจ้งความให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดี กรณีมีผู้ใช้ทวิตเตอร์โพสต์ภาพชายคนหนึ่งขณะเที่ยวสถานบันเทิง พร้อมข้อความที่เชื่อมโยงศักดิ์สยาม โดยซีถูกพนักงานสอบสวนตั้งข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 

>> พนักงานบริษัทโดน พ.ร.บ.คอมฯ เหตุถูกระบุเป็นเจ้าของบัญชีทวิตเตอร์โพสต์โยง ‘ศักดิ์สยาม’ กับสถานบันเทิง

ซีไปถึงสำนักงานอัยการจังหวัดบุรีรัมย์เวลา 9.00 น. จากนั้นเจ้าหน้าที่สำนักงานอัยการแจ้งว่าอัยการมีคำสั่งฟ้องในข้อหาดังกล่าว ให้ซีไปที่ศาลจังหวัดบุรีรัมย์พร้อมกันเพื่อยื่นฟ้องในช่วงเวลา 10.00 น.  

หลังศาลรับฟ้อง ภัทรพงษ์ วรรณพงษ์ ทนายความเครือข่ายของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวซีโดยไม่วางหลักประกัน ระหว่างรอคำสั่งของศาล ซีต้องไปรอที่ห้องควบคุมตัวใต้ถุนศาลจังหวัดบุรีรัมย์ จนถึงเวลา 14.45 น. ศาลจังหวัดบุรีรัมย์จึงมีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์ประกันตามที่ทนายยื่นคำร้อง พร้อมทั้งนัดคุ้มครองสิทธิและตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 9 ธันวาคม 2564

คำฟ้องที่พนักงานอัยการจังหวัดบุรีรัมย์ ยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดบุรีรัมย์ บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2564 ซีโพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ ในชื่อ “รำพึง” ปรากฏภาพบุคคลและข้อความว่า “ไทม์ไลน์ที่หายไป อยู่นี่หรือเปล่าน๊าาาาา เอ๊…คนหน้าคล้ายหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ดีนะ #ศักดิ์สยามชิดชอบ #โควิด19 #โควิด” โดยทุจริตและหลอกลวง เพื่อให้บุคคลเข้าใจว่าบุคคลในภาพคือ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ติดโรคโควิด-19 ซึ่งถือเป็นโรคระบาดร้ายแรงจากการไปเที่ยวสถานบันเทิง อันเป็นเท็จ ความจริงแล้ว ศักดิ์สยามไม่ได้ไปเที่ยวสถานบันเทิง และบุคคลในภาพดังกล่าวไม่ใช่ศักดิ์สยาม โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ศักดิ์สยาม 

ทั้งนี้ อัยการฟ้องซีในฐานความผิด “โดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่บุคคลใด” ซึ่งโจทก์ถือว่า เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ.2560 มาตรา 14

อย่างไรก็ตาม หากเปิดดู พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ.2560 มาตรา 14 ระบุการกระทำที่ถือเป็นความผิดไว้ว่า “(1) โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทำผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา” โดยผู้กระทำความผิดดังกล่าวต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งมีข้อสังเกตว่า การกระทำที่เป็นความผิดในฐานความผิดนี้จะต้องเป็นการกระทำที่ “โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน” และ “มิใช่การกระทำผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา” 

ปัจจุบันซี อายุ 29 ปี ทำงานเป็นพนักงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ แต่พักอาศัยอยู่ย่านสมุทรปราการ ก่อนหน้านี้เธอเปิดเผยกับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนว่า การเดินทางไปที่บุรีรัมย์เพื่อไปธุระเรื่องคดีนี้ สร้างภาระอย่างมาก เพราะต้องต่อรถโดยสารสาธารณะถึง 3 ต่อ เป็นระยะทางราว 400 กิโลเมตร กว่าจะกลับมาถึงสมุทรปราการ และการเดินทางด้วยรถโดยสารในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด -19 ทำให้เธอรู้สึกว่าตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโควิดอีกด้วย  สำหรับนัดฟังคำสั่งอัยการครั้งนี้ ซีต้องเดินทางจากสมุทรปราการมาที่จังหวัดบุรีรัมย์ ตั้งแต่คืนวันที่ 1 กันยายน 2564 หลังจากได้รับประกันตัวก็ต้องอยู่ที่บุรีรัมย์อีกหนึ่งคืน เนื่องจากเวลานั้นไม่มีรถโดยสารสาธารณะกลับ ทำให้ซีต้องลางานที่บริษัทถึง 2 วัน

นอกจากซี ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2564 พนักงานอัยการจังหวัดบุรีรัมย์ก็มีคำสั่งฟ้องในฐานความผิด หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326  และมาตรา 328 ต่อ ก็อต (นามสมมติ) กราฟิกดีไซเนอร์บริษัทแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ  หลังจากที่แชร์โพสต์เฟซบุ๊กพาดพิงถึงศักดิ์สยามกับสถานบันเทิง ในช่วงคลัสเตอร์แพร่ระบาดโควิด-19 จากย่านทองหล่อ  

>> ฟ้องกราฟิกดีไซน์เนอร์ “หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา” เหตุแชร์โพสต์ “คนหน้าเหมือน” ช่วงโควิดระบาด อัยการบุรีรัมย์กล่าวหา ทำให้ “ศักดิ์สยาม” ได้รับความอับอาย

ยังมี ชาคริต เพ็งปาน พ่อเลี้ยงเดี่ยว วัย 45 ปี ที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาดูหมิ่นผู้อื่นด้วยการโฆษณา ซึ่งมีทิวา การกระสัง เป็นผู้กล่าวหา โดยรับมอบอำนาจมาจาก ศักดิ์สยาม ชิดชอบ เช่นกัน สืบเนื่องจากกรณีชาคริตไปแสดงความเห็นในโพสต์ของผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งที่โพสต์ภาพและข้อความเชื่อมโยงศักดิ์สยามกับสถานบันเทิงที่เป็นคลัสเตอร์ของการแพร่ระบาดโควิด-19 ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างนัดไกล่เกลี่ยสมานฉันท์ ที่ศาลจังหวัดบุรีรัมย์ในวันที่ 18 ตุลาคม 2564 

>> พ่อเลี้ยงเดี่ยวถูกแจ้ง “ดูหมิ่นด้วยการโฆษณา” หลังคอมเมนท์ภาพโยงศักดิ์สยามกับสถานบันเทิง ก่อนรับสารภาพ เหตุไม่มีเงินสู้คดีจากพิษโควิด

ก่อนหน้านี้ไทยรัฐออนไลน์รายงานข่าวอีกว่า วันที่ 8 เมษายน 2564 ศักดิ์สยามมอบอำนาจให้ทนายความเข้าแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองบุรีรัมย์ เพื่อเอาผิดผู้ที่โพสต์ภาพดังกล่าวรวม 2 ราย ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ได้แก่ ผู้ใช้บัญชีทวิตเตอร์ชื่อ “รำพึง” และผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อว่า Somchai Tum jaitong 

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2564 ไทยพีบีเอสยังรายงานว่า ศักดิ์สยามมอบอำนาจให้ทนายความไปแจ้งความที่ สภ.เมืองบุรีรัมย์ เพื่อดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กับนายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ กรณีไลฟ์ผ่านเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2564 ระบุว่า นายศักดิ์สยามไปเที่ยวผับย่านทองหล่อ และทําให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมทั้งดำเนินคดีผู้บริหารสื่อบางสำนัก และพิธีกรจัดรายการข่าวอีก 2 คนด้วย

X