ฟ้องกราฟิกดีไซน์เนอร์ “หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา” เหตุแชร์โพสต์ “คนหน้าเหมือน” ช่วงโควิดระบาด อัยการบุรีรัมย์กล่าวหา ทำให้ “ศักดิ์สยาม” ได้รับความอับอาย

วันที่ 25 สิงหาคม 2564 ก็อต (นามสมมติ) กราฟิกดีไซน์เนอร์เดินทางจากกรุงเทพมหานคร ไปสำนักงานอัยการจังหวัดบุรีรัมย์ ในนัดฟังคำสั่งคดีที่ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มอบอำนาจให้ทิวา การกระสัง ทนายความ เข้าแจ้งความให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา หลังจากที่แชร์โพสต์เฟซบุ๊กพาดพิงถึงศักดิ์สยามกับสถานบันเทิง.ในช่วงคลัสเตอร์แพร่ระบาดโควิด-19 จากย่านทองหล่อ 

โดยก็อตไปถึงสำนักงานอัยการจังหวัดบุรีรัมย์เวลา 10.00 น. เจ้าหน้าที่สำนักงานอัยการแจ้งว่าคดีนี้อัยการมีคำสั่งฟ้อง ให้เขาไปที่ศาลจังหวัดบุรีรัมย์พร้อมกันเพื่อยื่นฟ้องในช่วงเวลา 10.30 น.  

หลังศาลรับฟ้อง ภัทรพงษ์ วรรณพงษ์ ทนายความเครือข่ายของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวก็อตโดยไม่วางหลักประกัน ระหว่างรอคำสั่งของศาล ก็อตต้องไปรอที่ห้องควบคุมตัวใต้ถุนศาลจังหวัดบุรีรัมย์ จนถึงเวลา 15.00 น. ศาลจังหวัดบุรีรัมย์จึงมีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์ประกันตามที่ทนายยื่นคำร้อง พร้อมทั้งนัดคุ้มครองสิทธิและตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2564

คำฟ้องที่สุวิทย์ ชลกุลจนา พนักงานอัยการจังหวัดบุรีรัมย์ ยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดบุรีรัมย์ บรรยายฟ้องว่า วันที่ 12 เมษายน 2564 ก็อตหมิ่นประมาทใส่ความ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ ผู้เสียหาย ด้วยการโพสต์ภาพผู้เสียหาย และพิมพ์ข้อความว่า “ดูดดื่มมากคับคนหน้าเหมือน ฯพณฯ ทั่นศักดิ์สยิว” ในเฟซบุ๊กส่วนตัวของจำเลย โดยเปิดเป็นสาธารณะ ซึ่งบุคคลผู้มีชื่อและประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ อันเป็นการโฆษณาให้แก่ผู้มีชื่อและประชาชนทั่วไปซึ่งเป็นบุคคลที่สาม เข้าใจและหลงเชื่อว่าผู้เสียหายซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมไปเที่ยวสถานบันเทิง ทั้งๆ ที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 อาจติดเชื้อจากสถานบันเทิงดังกล่าว อันเป็นการกระทำที่ไม่มีความรับผิดชอบต่อตำแหน่งหน้าที่และสังคม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง และได้รับความอับอาย

พนักงานอัยการฟ้องก็อตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326  และมาตรา 328 ทั้งนี้ อัยการไม่ได้คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี โดยระบุว่า ขอให้อยู่ในดุลพินิจของศาล 

ทั้งนี้ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 ระบุว่า “ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิด ฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” และมาตรา 328 เป็นบทเพิ่มโทษจากมาตรา 326 ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทําโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทําให้ปรากฏไม่ว่าด้วยวิธีใดๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทําโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทําการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่นผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท 

อย่างไรก็ตาม ในชั้นสอบสวนพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อเท็จจริงที่กล่าวหาก็อตว่า เป็นผู้แชร์ภาพและข้อความจากเฟซบุ๊กของบุคคลอื่น โดยก็อตพิมพ์ข้อความประกอบว่า “คนหน้าเหมือนกันเฉยๆครับ พณ ท่าน” ซึ่งโพสต์ที่แชร์มาเป็นภาพใบหน้าผู้ชายและผู้หญิงกำลังจูบปากกัน และข้อความว่า “ดูดดื่มมากคับคนหน้าเหมือนฯพณฯทั่น ศักดิ์สยิว” 

โดยในวันเข้ารับทราบข้อกล่าวหา ก็อตไม่ได้ติดต่อให้ทนายความเข้าร่วม และได้ให้การรับสารภาพ เนื่องจากญาติต้องการให้เรื่องจบไปโดยไว แต่เขาก็รู้สึกขัดแย้งอยู่ในใจว่า เขาไม่ได้มีเจตนาหมิ่นประมาท หรือระบุถึงตัวศักดิ์สยาม ชิดชอบ แต่อย่างใด ก็อตจึงตัดสินใจที่จะต่อสู้คดีในชั้นศาล

>> รัฐมนตรีคมนาคมแจ้งหมิ่นประมาทโดยโฆษณาฯ กราฟิกดีไซเนอร์ หลังแชร์โพสต์โยงสถานบันเทิงช่วงโควิดระบาด ระบุ “คนหน้าเหมือนกันเฉยๆครับ พณ ท่าน”

สำหรับก็อตปัจจุบันอายุ 25 ปี ทำงานเป็นกราฟิกดีไซนเนอร์ ที่บริษัทแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร การถูกฟ้องคดีที่บุรีรัมย์ทำให้ก็อตต้องเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัว ในระยะทางกว่า 400 กิโลเมตร ซึ่งสร้างภาระค่าใช้จ่ายและต้องลางานเพื่อมาตามนัดหมายพิจารณาคดี ทั้งนี้ในช่วงสถานการณ์โควิด -19 แพร่ระบาด จังหวัดบุรีรัมย์ทำให้ที่พักหลายแห่งไม่สะดวกที่จะให้คนจากพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดเข้าพัก ทำให้ก็อตต้องวางแผนเดินทางมาถึงบุรีรัมย์ในตอนเช้า และรีบเดินทางกลับในช่วงบ่ายหลังจากได้รับการปล่อยตัวเพื่อกลับให้ทันเคอร์ฟิวใน ช่วงเวลา 21.00 น.

เหตุในคดีนี้เกิดขึ้นในช่วงเดือนเมษายน 2564 ขณะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 คลัสเตอร์จากสถานบันเทิงย่านทองหล่อ และในวันที่ 7 เมษายน 2564 มีรายงานข่าวว่า ผลตรวจหาเชื้อโควิด-19 ของศักดิ์สยาม ชิดชอบ เป็นบวก ยืนยันว่า ติดโควิด-19 ต่อมาโซเชียลมีเดียทั้งเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์มีการส่งต่อภาพชายคนหนึ่งขณะท่องเที่ยวในสถานบันเทิงแห่งหนึ่ง และมีข้อความที่ทำให้เกิดความเข้าใจว่าเป็น ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม 

ภาพ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ จากประชาชาติธุรกิจ

นอกจากก็อต ก่อนหน้านี้ ชาคริต เพ็งปาน พ่อเลี้ยงเดี่ยว วัย 45 ปี ก็ถูกดำเนินคดีในกรณีของศักดิ์สยาม ชิดชอบ ในข้อหาดูหมิ่นผู้อื่นด้วยการโฆษณา ซึ่งมีทิวา การกระสัง เป็นผู้กล่าวหา สืบเนื่องจากกรณีชาคริตไปแสดงความเห็นในโพสต์ของผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งที่โพสต์ภาพและข้อความเชื่อมโยงศักดิ์สยามกับสถานบันเทิงที่เป็นคลัสเตอร์ของการแพร่ระบาดโควิด-19 ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างนัดไกล่เกลี่ยสมานฉันท์ ที่ศาลจังหวัดบุรีรัมย์ในวันที่ 18 ตุลาคม 2564 

>> พ่อเลี้ยงเดี่ยวถูกแจ้ง “ดูหมิ่นด้วยการโฆษณา” หลังคอมเมนท์ภาพโยงศักดิ์สยามกับสถานบันเทิง ก่อนรับสารภาพ เหตุไม่มีเงินสู้คดีจากพิษโควิด

และเมื่อช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2564 ซี (นามสมมติ) พนักงานบริษัทในเขตกรุงเทพฯ ก็เข้ารับทราบข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่ สภ.เมืองบุรีรัมย์ด้วยเช่นกัน  โดยถูกกล่าวหาว่าใช้ทวิตเตอร์โพสต์ภาพชายคนหนึ่งขณะเที่ยวสถานบันเทิง พร้อมข้อความที่เชื่อมโยงศักดิ์สยาม โดยศักดิ์สยามมอบอำนาจให้นายทิวา การกระสัง ทนายความ เข้าแจ้งความเอาผิดเช่นกัน คดีอยู่ระหว่างนัดฟังคำสั่งฟ้องอัยการ

>> พนักงานบริษัทโดน พ.ร.บ.คอมฯ เหตุถูกระบุเป็นเจ้าของบัญชีทวิตเตอร์โพสต์โยง ‘ศักดิ์สยาม’ กับสถานบันเทิง

ไทยรัฐออนไลน์รายงานข่าวอีกว่า วันที่ 8 เมษายน 2564 ศักดิ์สยามมอบอำนาจให้ทนายความเข้าแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองบุรีรัมย์ เพื่อเอาผิดผู้ที่โพสต์ภาพดังกล่าวรวม 2 ราย ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ได้แก่ ผู้ใช้บัญชีทวิตเตอร์ชื่อ “รำพึง” และผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อว่า Somchai Tum jaitong 

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2564 ไทยพีบีเอสยังรายงานว่า ศักดิ์สยามมอบอำนาจให้ทนายความไปแจ้งความที่ สภ.เมืองบุรีรัมย์ เพื่อดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กับนายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ กรณีไลฟ์ผ่านเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2564 ระบุว่า นายศักดิ์สยามไปเที่ยวผับย่านทองหล่อ และทําให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมทั้งดำเนินคดีผู้บริหารสื่อบางสำนัก และพิธีกรจัดรายการข่าวอีก 2 คนด้วย

X