ปรับ 5,000 บาท คดี ‘ศักดิ์สยาม’ แจ้งความ ‘พ่อค้าตลาดนัด’ ดูหมิ่นฯ หลังคอมเมนท์ด่าโยงคลัสเตอร์โควิด จำเลยรับเหตุเครียดค้าขายฝืด

วันที่ 18 ตุลาคม 2564 ชาคริต เพ็งปาน พ่อค้าตลาดนัด เดินทางจากอำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาครมายังศาลจังหวัดบุรีรัมย์ในนัดไกล่เกลี่ยคู่ความ คดีที่ชาคริตถูกพนักงานอัยการฟ้องฐาน ดูหมิ่นผู้อื่นด้วยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 293 โดยมีทิวา การกระสัง ผู้รับมอบอำนาจจาก ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นผู้กล่าวหา เหตุจากชาคริตไปแสดงความเห็นในโพสต์ของผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งที่โพสต์ภาพและข้อความเชื่อมโยงศักดิ์สยามกับสถานบันเทิงที่เป็นคลัสเตอร์ของการแพร่ระบาดโควิด-19 ในช่วงเดือนเมษายน 2564 

ก่อนหน้านี้ในเดือนมิถุนายน 2564 ชาคริตตัดสินใจรับสารภาพเพราะไม่ต้องการเสียเวลาและเสียทุนทรัพย์ในการต่อสู้คดี อย่างไรก็ตาม ศาลจังหวัดบุรีรัมย์ให้นัดไกล่เกลี่ยคู่ความก่อนในเดือนกรกฎาคม 2564 แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาดทั่วประเทศส่งผลให้ศาลเลื่อนการพิจารณามาเป็นนัดนี้แทน

ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 9 มีเพียงจำเลยและทนายจำเลยมาศาล พ.ต.ท.อัครพงษ์ วรรณพงษ์ ทนายเครือข่ายของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ยื่นคำแถลงประกอบคำรับสารภาพระบุว่า การกระทำของชาคริต เกิดจากการเข้าใจผิดไม่ตรวจสอบข้อมูลให้ดีก่อนจึงได้โพสต์แสดงความเห็นในเฟซบุ๊กของบุคคลอื่น อันอาจทำให้เกิดความเสียหาย ไม่ได้เกิดจากเจตนาที่จะกล่าวร้ายให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ใด ซึ่งภายหลังจากที่ได้ทราบความจริงแล้ว จึงได้รีบลบข้อความดังกล่าวออกทันที 

ภาพชาคริตและทนายความในนัดรับทราบข้อกล่าวหา ที่สภ.เมืองบุรีรัมย์

จำเลยเป็นเพียงพ่อค้าเร่ขายของตามตลาดนัด เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 มีคลัสเตอร์ของการแพร่ระบาดทั่วประเทศ ทำให้การค้าขายฝืดเคือง ผู้คนไม่กล้าไปเดินซื้อของตามตลาดนัด ทำให้รายได้ของจำเลยน้อยลงแทบจะไม่มีกิน หาเลี้ยงครอบครัวไม่ได้ จึงเกิดความเครียดมาตลอด โดยได้แต่คาดหวังว่าเมื่อไหร่โรคร้ายจะหมดไป เมื่อพบเห็นมีคนนำรูปภาพและข้อความดังกล่าวมาโพสต์ลงในเฟซบุ๊กจึงได้คอมเมนท์ข้อความดังกล่าว แต่แท้จริงแล้วไม่ได้มีเจตนาทำให้เกิดความเสียหาย อีกทั้งหลังจากกระทำความผิดก็ไม่เคยที่จะโพสต์หรือแสดงความคิดเห็นลงในเฟซบุ๊กของบุคคลในอีกเลย และก่อนหน้านี้ไม่เคยทำผิดหรือถูกฟ้องในคดีอาญาอื่นมาก่อน 

นอกจากนี้จำเลยมีภาระที่ต้องเลี้ยงดูแม่ในวัย 65 ปี ที่ป่วยเป็นโรคหัวใจต้องผ่าตัดใส่บอลลูนในเส้นเลือด ต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลอย่างสม่ำเสมอจึงจะสามารถมีชีวิตต่อไปได้ ทำการงานหนักไม่ค่อยได้ อีกทั้งต้องเลี้ยงดูลูกชายที่ขณะนี้เรียนอยู่ชั้น ป.3 ส่วนภรรยาได้หย่าร้างกันไป จึงขอให้ศาลลงโทษสถานเบา

จากนั้นเวลา 9.45 น. นิชาภา ศรีอรุณสว่าง ผู้พิพากษา ออกพิจารณาคดี โดยหลังจากอ่านคำแถลงประกอบคำรับสารภาพของชาคริต ได้มีคำพิพากษาลงโทษปรับเป็นเงิน 5,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งเหลือปรับ 2,500 บาท โดยใช้เงินจากกองทุนราษฎรประสงค์ในการชำระค่าปรับต่อศาล 

ทั้งนี้ ความผิดฐาน ดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้าหรือด้วยการโฆษณา เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งเป็นความผิดลหุโทษ หรือความผิดเล็กๆ น้อยๆ ที่มีโทษเบาหรือโทษที่ไม่ร้ายแรง

หลังเสร็จสิ้นกระบวนการที่ศาล ชาคริตกล่าวถึงความยากลำบากในการเดินทางมาต่อสู้คดีว่า เขาออกเดินทางจากอำเภอกระทุ่มแบนด้วยรถตู้รับจ้างในเวลา 15.00 น. ถึงตัวเมืองบุรีรัมย์ในช่วงเวลา 02.00 น. ทำให้ต้องเสียทั้งค่าเดินทางและค่าที่พัก 1 คืน อีกทั้งเสียเวลาในการทำงานไปสองวันเต็มๆ อีกทั้งยังเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 ที่ยังแพร่ระบาดอยู่ด้วย   

 

ชาคริต ในวันขึ้นศาลจังหวัดบุรีรัมย์ นัดไกล่เกลี่ยฯ ก่อนศาลมีโทษปรับ

ชาคริตเป็นชาวอำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร ปัจจุบันอายุ 45 ปี เรียนจบชั้น ม.6 จาก กศน. โดยส่งเสียตัวเองเรียนจากการรับเขียนลายชามเบญจรงค์ หลังจากนั้นเขาทำค้าขายปลาสวยงาม ก่อนออกมาทำงานในโรงงานเครื่องเสียงแห่งหนึ่งที่อำเภอกระทุ่มแบน ภายหลังลาออกเพราะทำงานไม่ไหวเนื่องจากประสบอุบัติเหตุจากการขับรถจักรยานยนต์ทำให้ขาสองข้างยาวไม่เท่ากัน และอีกข้างต้องใส่เหล็กดามไว้ตลอด ชาคริตจึงหันเหมาขายของตามตลาดนัดประเภทโมเดลของเล่น และเมื่อว่างจากขายของหากมีใครจ้างให้เดินสายไฟ ชาคริตก็จะไปทำงานช่างด้วย 

ระหว่างที่ตลาดนัดในสมุทรสาครถูกสั่งปิดเพราะสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาด เขาต้องย้ายของไปขายที่บ้าน ซึ่งขายแทบไม่ได้ จนต้องตัดสินใจลดราคาสินค้าที่มีอยู่เพื่อให้ขายออกไปได้ซึ่งเป็นราคาขายที่ขาดทุน และพยายามขายของกินเช่นน้ำอัดลมแบ่งใส่แก้วขายมีรายได้ 200-300 บาท บางวันได้น้อยกว่านั้น  

ชาคริตไม่รู้ว่าต้องเตรียมเงินไว้ใช้ในการต่อสู้คดีนี้สักเท่าไหร่ ก่อนมาศาลมีเงินติดตัวอยู่เพียง 9,000 บาท สำหรับค่าใช้จ่ายทั้งบ้าน ที่มีตัวเขา แม่ที่ป่วยเป็นโรคหัวใจ และลูกวัย 8 ขวบ หากไม่สามารถเบิกค่าเดินทางจากกองทุนในนามของความสงบเรียบร้อย และค่าปรับจากกองทุนราษฎรประสงค์ ก็ยังไม่รู้ว่าจะเหลือเงินติดตัวกลับบ้านไปเท่าไหร่ และหากโทษปรับมากกว่านี้ก็คงไม่สามารถหาเงินมาชำระได้

ชาคริตแต่งงานและมีลูกชายหนึ่งคน ก่อนเลิกราหย่าร้างกันไปเมื่อปีที่แล้ว ปัจจุบันชาคริตเป็นพ่อเลี้ยงเดี่ยว มีภาระที่ต้องส่งเสียค่าเทอมและเลี้ยงดูลูกที่ขณะนี้เรียนอยู่ชั้น ป.3 และต้องเรียนออนไลน์ ซึ่งการมาศาลครั้งนี้ชาคริตต้องฝากลูกไว้กับน้องสาว โดยบอกลูกเพียงว่ามาทำงานแล้วจะรีบกลับ เพราะลูกต้องใช้โทรศัพท์ของตนที่มีอยู่เครื่องเดียวในบ้านในการเรียนออนไลน์

“ตอนนี้คงเตรียมกลับไปขายโมเดลของเล่นที่ตลาดอีก ผมต้องขอบคุณกองทุนราษฎรประสงค์มากๆ ที่ช่วยในการเสียค่าปรับ ทำให้มีทุนในการต่อเติมชีวิตและครอบครัวไปได้อีก ครั้งนี้ผมได้รับบทเรียนจากความใจร้อน แต่ผมค้าขายลำบากจริงๆ เลยคอมเมนท์ไป”  

ร้านขายน้ำหวานที่ชาคริตเปิดที่บ้าน ระหว่างตลาดปิดไปขายของในตลาดนัดไม่ได้ ขณะนี้ร้านน้ำก็ปิดชั่วคราวเนื่องจากลูกค้าน้อยลง

สำหรับเหตุในคดีนี้เมื่อเดือนมิถุนายน 2564 หลังชาคริตเข้าพบพนักงานสอบสวนเขาถูกแจ้งพฤติการณ์ว่า

เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2564 ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พบว่า บัญชีเฟซบุ๊กชื่อ ‘ราษฎรเป็ดเหลือง’ โพสต์เผยแพร่ภาพถ่ายชายไม่ทราบว่าเป็นผู้ใดภายในสถานบันเทิงแห่งหนึ่ง พร้อมนำภาพถ่ายของศักดิ์สยามมาโพสต์ในลักษณะเปรียบเทียบใบหน้า เพื่อให้คนที่พบเห็นเชื่อว่าเป็นบุคคลเดียวกัน และลงข้อความในลักษณะชี้นำว่า “ใครหว่าหน้าคุ้นๆ แต่คงไม่ใช่ที่เป็ดคิดหรอกนะก้าบๆ” 

ภาพและข้อความเมื่อนำมาประกอบกัน เป็นการชี้นำให้คนที่เห็นเข้าใจว่า ชายคนดังกล่าวคือศักดิ์สยาม ไปเที่ยวสถานบันเทิงทั้งๆ ที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 อาจติดเชื้อจากสถานบันเทิงดังกล่าว

ต่อมา ผู้ต้องหาที่ใช้ชื่อเฟซบุ๊กว่า ชาคริต เพ็งปาน ได้แสดงความคิดเห็นที่โพสต์ดังกล่าวว่า “พวกบ้าหี” ทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่า ศักดิ์สยาม ซึ่งอยู่ใน ครม. เป็นคนหมกมุ่นทางเพศ ทำให้ศักดิ์สยามได้รับความเสียหาย เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง ได้รับความอับอาย 

พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาว่า การโพสต์ข้อความดังกล่าวข้างต้นของชาคริตเป็นความผิดฐาน ดูหมิ่นผู้อื่นด้วยการโฆษณา ซึ่งชาคริตให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา ก่อนที่ศาลจะพิพากษาเป็นโทษปรับในวันนี้ 

นอกจากคดีชาคริต จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ยังมีคดีเกี่ยวกับการหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และคดีตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่เกิดจากการโพสต์ถึง ศักดิ์สยาม ชิดชอบ นักการเมืองพรรคภูมิใจไทย ที่มีฐานเสียงหลักอยู่ในจังหวัดบุรีรัมย์  เกี่ยวโยงคลัสเตอร์แพร่ระบาดของโควิด -19  อีกอย่างน้อย 2 คดีได้แก่    

ก็อต (นามสมมติ) กราฟิกดีไซเนอร์ถูกดำเนินคดีข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา หลังจากที่แชร์โพสต์เฟซบุ๊กพาดพิงถึงศักดิ์สยามกับสถานบันเทิง ในช่วงคลัสเตอร์แพร่ระบาดโควิด-19 จากย่านทองหล่อ หลังอัยการสั่งฟ้องในเดือนสิงหาคม ศาลจังหวัดบุรีรัมย์นัดคุ้มครองสิทธิและตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2564

>>>ฟ้องกราฟิกดีไซน์เนอร์ “หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา” เหตุแชร์โพสต์ “คนหน้าเหมือน” ช่วงโควิดระบาด อัยการบุรีรัมย์กล่าวหา ทำให้ “ศักดิ์สยาม” ได้รับความอับอาย

และคดีของ ซี (นามสมมติ) พนักงานบริษัทแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร ที่ถูกดำเนินคดี กรณีมีผู้ใช้ทวิตเตอร์โพสต์ภาพชายคนหนึ่งขณะเที่ยวสถานบันเทิง พร้อมข้อความที่เชื่อมโยงศักดิ์สยาม โดยซีถูกพนักงานสอบสวนตั้งข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 หลังอัยการสั่งฟ้องในเดือนกันยายนที่ผ่านมา  ศาลจังหวัดบุรีรัมย์ นัดคุ้มครองสิทธิและตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 9 ธันวาคม 2564

>>> ฟ้อง! พนักงานบริษัทเอกชน  ‘พ.ร.บ.คอมฯ’ กล่าวหาโพสต์ภาพชายเที่ยวสถานบันเทิงช่วงโควิด อ้าง ทำให้ ‘ศักดิ์สยาม’ เสียหาย

นอกจากนี้ในพื้นที่บุรีรัมย์ “นิว” จตุพร แซ่อึง นักกิจกรรมกลุ่มบุรีรัมย์ปลดแอก ถูกเนวิน ชิดชอบ ประธานบริหารสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ยูไนเต็ด แจ้งความหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา จากการแชร์โพสต์เพจ KTUK-คนไทยยูเค 2 โพสต์ วิจารณ์การบริหารจัดการวัคซีนในจังหวัดบุรีรัมย์ โดยคดีนี้อยู่ในระหว่างนัดส่งตัวอัยการในวันที่ 19 ตุลาคม 2564 

>>>เนวิน ชิดชอบ แจ้งหมิ่นประมาทโดยโฆษณานักกิจกรรมบุรีรัมย์ปลดแอก หลังโพสต์วิจารณ์การจัดหาวัคซีนโควิดเข้าจังหวัด

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

พ่อเลี้ยงเดี่ยวถูกแจ้ง “ดูหมิ่นด้วยการโฆษณา” หลังคอมเมนท์ภาพโยงศักดิ์สยามกับสถานบันเทิง ก่อนรับสารภาพ เหตุไม่มีเงินสู้คดีจากพิษโควิด

X