รัฐมนตรีคมนาคมแจ้งหมิ่นประมาทโดยโฆษณาฯ กราฟิกดีไซเนอร์ หลังแชร์โพสต์โยงสถานบันเทิงช่วงโควิดระบาด ระบุ “คนหน้าเหมือนกันเฉยๆครับ พณ ท่าน”

ก็อต (นามสมมติ) กราฟิกดีไซเนอร์ อายุ 25 ปี แจ้งกับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนว่าถูกดำเนินคดีหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328 หลังจากที่แชร์โพสต์เฟซบุ๊กพาดพิงถึงศักดิ์สยามกับสถานบันเทิง  โดยมีทิวา การกระสัง เป็นผู้รับมอบอำนาจจากศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้ไปแจ้งความที่สภ.เมืองบุรีรัมย์ 

ก็อตเปิดเผยว่าในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2564 เขาได้รับหมายเรียกของ สภ.เมืองบุรีรัมย์ ที่ถูกส่งไปบ้านที่จังหวัดกำแพงเพชร โดยปกติก็อตอาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร ทำให้เขาตัดสินใจเดินทางไปที่ สภ.เมืองบุรีรัมย์ เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2564

วันนั้น (5 มิถุนายน 2564) พ.ต.ท.ไชยา สระโสม รองผู้กำกับ (สอบสวน) สภ.เมืองบุรีรัมย์ แจ้งก็อตว่า เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2564 ศักดิ์สยาม ชิดชอบ พบว่าก็อตเป็นผู้ใช้เฟซบุ๊กบัญชีที่ใช้ชื่อนามสกุลจริงของเขาซึ่งสะกดเป็นภาษาอังกฤษ แชร์ภาพและข้อความจากเฟซบุ๊กบัญชี “บอล ภาคิไนย์” ที่ปรากฏภาพใบหน้าผู้ชายและผู้หญิงกำลังจูบปากกัน พร้อมระบุข้อความว่า “ดูดดื่มมากคับคนหน้าเหมือนฯพณฯทั่น ศักดิ์สยิว” โดยก็อตแชร์โพสต์ดังกล่าวพร้อมเขียนข้อความประกอบว่า “คนหน้าเหมือนกันเฉยๆครับ พณ ท่าน”

บันทึกแจ้งข้อกล่าวหาระบุอีกว่า ภาพและข้อความนั้นชี้นำคนอื่นว่าชายที่อยู่ในภาพคือศักดิ์สยาม ชิดชอบ ไปเที่ยวสถานบันเทิง กำลังจูบปากกับผู้หญิง ทั้งๆ ที่มีการระบาดของโควิด -19 ซึ่งเป็นโรคติดต่อร้ายแรง อาจติดเชื้อโควิด 19 จากสถานบันเทิงดังกล่าว ทำให้ศักดิ์สยามได้รับความเสียหาย เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง ได้รับความอับอายจากการโพสต์ข้อความข้างต้น พนักงานสอบสวนจึงแจ้งข้อหาหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา 

ในวันดังกล่าว ไม่ได้มีทนายความติดตามไปด้วย และญาติที่ไปด้วยต้องการให้เรื่องจบไปโดยไว ก็อตจึงให้การรับสารภาพ ในชั้นสอบสวน แต่ก็อตก็รู้สึกค้างคาอยู่ในใจว่า แม้เฟซบุ๊กที่ถูกแจ้งความจะเป็นของเจ้าตัวจริง และแชร์โพสต์จริง แต่ไม่ได้มีเจตนาหมิ่นประมาท หรือระบุถึงตัวศักดิ์สยาม ชิดชอบ แต่อย่างใด และก็อตก็ลบโพสต์ดังกล่าวไปตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน 2564 แล้ว 

จากนั้นวันที่  2 กรกฎาคม 2564 ก็อตเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปที่ สภ.เมืองบุรีรัมย์ อีกครั้ง พร้อมกับ ภัทรพงษ์ วรรณพงษ์ ทนายความเครือข่ายศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในนัดส่งตัวอัยการ  ก่อนที่ พนักงานสอบสวนจะพาไปส่งสำนวนที่สำนักงานอัยการจังหวัดบุรีรัมย์ โดยสำนักงานอัยการจังหวัดบุรีรัมย์ออกใบนัดให้ก็อตมาพบอัยการเพื่อฟังคำสั่งในวันที่ 2 สิงหาคม 2564 

สำหรับการเดินทางจากที่พักในกรุงเทพมหานครไปที่บุรีรัมย์ในระยะทางกว่า 400 กิโลเมตร นั้นสร้างภาระให้ก็อตในแง่ของการเสียเวลาทำงาน และต้องเหน็ดเหนื่อยจากการเดินทางอย่างมาก ทั้งนี้ก็อตได้ตัดสินใจที่จะสู้คดีต่อตั้งแต่ในชั้นอัยการเป็นต้นไป เนื่องจากไม่ได้มีเจตนาทำให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้รับความเสียหาย เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ในอย่างใดอย่างหนึ่งตามข้อกล่าวหา 

ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 เป็นบทเพิ่มโทษจากมาตรา 326 ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทําโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทําให้ปรากฏไม่ว่าด้วยวิธีใดๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทําโดยการกระจายเสียง หรือการ กระจายภาพ หรือโดยกระทําการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่นผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท 

ในอดีตมาตรา 328 เป็นข้อหาที่มักถูกนำมาใช้กับสื่อมวลชนที่นำเสนอข่าว  แต่ในระยะหลังคนทั่วไปที่ใช้สื่อโซเชียลมีเดียเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และช่องทางอื่นๆ ต่างก็มีโอกาสถูกดำเนินคดีนี้อย่างกว้างขวาง มากกว่านั้นการเปิดช่องให้หมิ่นประมาทโดยการโฆษณาที่สามารถเปิดได้ทุกท้องที่ในประเทศ ผู้แจ้งความสามารถไปแจ้งความท้องที่ไหนก็ได้ ทำให้สร้างภาระการเดินทางและค่าใช้จ่ายในการไปตามนัดพิจารณาคดีของผู้ต้องหา เช่นเดียวกับที่เกิดกับก็อต

นอกจากก็อต ก่อนหน้านี้ ชาคริต เพ็งปาน พ่อเลี้ยงเดี่ยว วัย 45 ปี ก็ถูกดำเนินคดีในกรณีของศักดิ์สยาม ชิดชอบ ในข้อหาดูหมิ่นผู้อื่นด้วยการโฆษณา ซึ่งมีทิวา การกระสัง เป็นผู้กล่าวหา สืบเนื่องจากกรณีชาคริตไปแสดงความเห็นในโพสต์ของผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งที่โพสต์ภาพและข้อความเชื่อมโยงศักดิ์สยามกับสถานบันเทิงที่เป็นคลัสเตอร์ของการแพร่ระบาดโควิด-19

>> พ่อเลี้ยงเดี่ยวถูกแจ้ง “ดูหมิ่นด้วยการโฆษณา” หลังคอมเมนท์ภาพโยงศักดิ์สยามกับสถานบันเทิง ก่อนรับสารภาพ เหตุไม่มีเงินสู้คดีจากพิษโควิด

และเมื่อช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซี (นามสมมติ) พนักงานบริษัทในเขตกรุงเทพฯ ก็เข้ารับทราบข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่ สภ.เมืองบุรีรัมย์ด้วยเช่นกัน  โดยถูกกล่าวหาว่าใช้ทวิตเตอร์โพสต์ภาพชายคนหนึ่งขณะเที่ยวสถานบันเทิง พร้อมข้อความที่เชื่อมโยงศักดิ์สยาม โดยศักดิ์สยามมอบอำนาจให้นายทิวา การกระสัง ทนายความ เข้าแจ้งความเอาผิดเช่นกัน 

>> พนักงานบริษัทโดน พ.ร.บ.คอมฯ เหตุถูกระบุเป็นเจ้าของบัญชีทวิตเตอร์โพสต์โยง ‘ศักดิ์สยาม’ กับสถานบันเทิง

 สำหรับเหตุในคดีทั้งหมดเกิดขึ้นในช่วงเดือนเมษายน 2564 ขณะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 คลัสเตอร์จากสถานบันเทิงย่านทองหล่อ และในวันที่ 7 เมษายน 2564 มีรายงานข่าวว่า ผลตรวจหาเชื้อโควิด-19 ของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เป็นบวก ยืนยันว่า ติดโควิด-19 ต่อมาโซเชียลมีเดียทั้งเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์มีการส่งต่อภาพชายคนหนึ่งขณะท่องเที่ยวในสถานบันเทิงแห่งหนึ่ง และมีข้อความที่ทำให้เกิดความเข้าใจว่าเป็น ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม 

ไทยรัฐออนไลน์รายงานข่าวอีกว่า วันที่ 8 เมษายน 2564 ศักดิ์สยามมอบอำนาจให้ทนายความเข้าแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองบุรีรัมย์ เพื่อเอาผิดผู้ที่โพสต์ภาพดังกล่าวรวม 2 ราย ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ได้แก่ ผู้ใช้บัญชีทวิตเตอร์ชื่อ “รำพึง” และผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อว่า Somchai Tum jaitong 

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2564 ไทยพีบีเอสยังรายงานว่า ศักดิ์สยามมอบอำนาจให้ทนายความไปแจ้งความที่ สภ.เมืองบุรีรัมย์ เพื่อดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กับนายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ กรณีไลฟ์ผ่านเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2564 ระบุว่า นายศักดิ์สยามไปเที่ยวผับย่านทองหล่อ และทําให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมทั้งดำเนินคดีผู้บริหารสื่อบางสำนัก และพิธีกรจัดรายการข่าวอีก 2 คนด้วย

X