วันนี้ (9 พ.ค. 64) ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ หลังการไต่สวนคำร้อง ศาลมีคำสั่งให้ประกันตัว “ขนุน” สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ นิสิตภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และ แกนนำกลุ่ม มศว คนรุ่นเปลี่ยน ในคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 กรณีการปราศรัยในชุมนุม #18พฤศจิกาไปราษฎรประสงค์ บริเวณสี่แยกราชประสงค์และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 63 โดยศาลกำหนดเงื่อนไขไว้ว่า ห้ามทำกิจกรรมหรือเข้าร่วมกิจกรรมที่สร้างความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ห้ามเดินทางออกนอกประเทศเว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล และให้มาศาลตามกำหนดนัดทุกนัด
การไต่สวนคำร้องครั้งนี้สืบเนื่องจากทนายความเข้ายื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวสิรภพ เป็นครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 8 พ.ค. 64 โดยใช้หลักทรัพย์ประกันเป็นเงินสด 200,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ และมีมารดาเป็นนายประกัน
>>>ศาลนัดไต่สวนประกันตัว “สิรภพ-พอร์ท ไฟเย็น” คดีม.112 และ “สมคิด-ฉลวย” คดีทุบรถคุมตัวไมค์-เพนกวิน
ณ ห้องพิจารณา 505 เวลา 9.30 น. ศาลขึ้นนั่งบัลลังก์ โดยก่อนจะเริ่มพิจารณาคดี เจ้าหน้าที่ศาลได้แจ้งกับพยานและผู้ที่มาให้กำลังใจสิรภพ ว่าอนุญาตให้เฉพาะทนายความในคดีเท่านั้นที่สามารถเข้าห้องพิจารณาคดีได้ ส่วนพยานที่รอขึ้นเบิกความในการไต่สวนทั้งหมด 4 คน ศาลจะอนุญาตให้ทยอยเข้าไปทีละคน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส 2019 (โควิด-19)
ในการไต่สวนคำร้องขอประกันของสิรภพประกอบไปด้วยพยานทั้งหมด 5 ปาก ได้แก่ สิรภพ ซึ่งเป็นจำเลย, บิดา, มารดา และอาจารย์จากภาควิชารัฐศาสตร์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ อีก 2 คน
สิรภพเบิกความว่าปัจจุบันเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ อาศัยอยู่กับบิดาและมารดา ตนมาพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียกและตามกำหนดนัดของพนักงานอัยการทุกนัด สำหรับข้อกล่าวหาในคดีนี้ ตนพร้อมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ขอให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาและขอต่อสู้คดี
โดยจำเลยได้แถลงยอมรับเงื่อนไขว่าจะไม่ทำหรือเข้าร่วมกิจกรรมที่กระทบต่อสถาบันกษัตริย์ และจะไม่กระทำความผิดข้อหาเดิมซ้ำอีก จะปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาลที่กำหนด ทั้งนี้ อัยการโจทก์ไม่ได้คัดค้านการประกันตัว
จำเลยยังมีภาระทางการศึกษา ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการสอบปลายภาคตามกำหนดการของมหาวิทยาลัย โดยเมื่อวันที่ 7 พ.ค. 64 ทางมหาวิทยาลัยได้ดำเนินการสอบไปแล้วทั้งหมด 3 รายวิชา แต่เนื่องจากจำเลยไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว จึงทำให้ไม่สามารถเข้าสอบตามกำหนดการของคณะและมหาวิทยาลัยได้ ส่วนอีก 4 รายวิชา มหาวิทยาลัยได้ประกาศให้สอบในช่วงเวลาระหว่าง 7-15 พ.ค. 64
ต่อมา พยานที่ 2 และ 3 คือมารดาและบิดาของสิรภพได้ขึ้นเบิกความตามลำดับในทำนองเดียวกันว่า จำเลยมีที่อยู่เป็นหลักแหล่งโดยอาศัยอยู่ด้วยกันที่บ้าน หากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจะสามารถควบคุมให้จำเลยปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาลได้
พยานปากที่ 4 คืออาจารย์สาขารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายกิจกรรมพิเศษ มีหน้าที่ดูแลกิจกรรมของนักศึกษาในคณะ เบิกความว่า จำเลยเป็นคนตั้งใจเรียน มีความสุภาพนอบน้อม ในการดำเนินกิจกรรมในมหาวิทยาลัยต่างๆ สิรภพมีการปรึกษาและหารือร่วมกันตลอด ไม่ได้มีความก้าวร้าว และไม่มีพฤติกรรมที่จะก่อให้เกิดความรุนแรง
ที่สำคัญ จำเลยมีภาระทางการศึกษาซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการสอบปลายภาคตามกำหนดการของมหาวิทยาลัย ตั้งแต่วันที่ 7-21 พ.ค. 64 เนื่องจากจำเลยถูกคุมขังตั้งแต่วันที่ 6 พ.ค. 64 ทำให้ไม่สามารถไปสอบแล้ว 3 รายวิชา หากจำเลยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจะสามารถสอบย้อนหลังได้ เพื่อประโยชน์ต่อนิสิตในการเรียนการสอบ ซึ่งหลังจากที่พ้นกำหนดสอบไปแล้ว จำเลยต้องติดต่ออาจารย์ประจำวิชาให้สอบใหม่ และส่งเกรดประจำวิชาภายใน 30 วัน หากไม่ทำจะถูกปรับตก และต้องลงทะเบียนเรียนใหม่ จึงกระทบต่อสิทธิในการศึกษา
พยานปากที่ 5 คนสุดท้าย คืออาจารย์สาขารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาศักยภาพนิสิต มีหน้าที่ดูแลกิจกรรมของนิสิตในมหาวิทยาลัย เบิกความว่า จำเลยเป็นนักศึกษาที่มีความประพฤติตัวดี ไม่มีพฤติการณ์รุนแรง จำเลยมีภาระทางการศึกษาซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการสอบปลายภาคตามกำหนดการของมหาวิทยาลัย หากจำเลยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจะสามารถสอบย้อนหลังได้ รวมถึงพยานจะคอยดูแล ควบคุม และตักเตือน ไม่ให้จำเลยร่วมกิจกรรมที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันกษัตริย์ฯ
หลังจากการไต่สวนคำร้องขอประกันเสร็จสิ้น เมื่อเวลา 12.00 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้อ่านคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวสิรภพ โดยกำหนดเงื่อนไขว่า จำเลยห้ามทำกิจกรรมหรือเข้าร่วมกิจกรรมที่สร้างความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ห้ามเดินทางออกนอกประเทศ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล และให้มาศาลตามกำหนดนัดทุกนัด
ศาลได้กำหนดวันนัดพร้อมสอบคำให้การจำเลยและตรวจพยานหลักฐานต่อไป ในวันที่ 5 ก.ค. 64 เวลา 9.00 น.
ทั้งนี้ สิรภพคือนักกิจกรรมรายล่าสุดที่ถูกคุมขังระหว่างต่อสู้คดีทางการเมือง โดยเขาถูกขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ทั้งหมด 4 วัน ก่อนถูกปล่อยตัว เขาถูกกล่าวหาในคดีการเมืองรวมทั้งหมด 6 คดี โดยคดีนี้เป็นคดีมาตรา 112 คดีเดียวที่เขาถูกกล่าวหา
ปัจจุบันมีผู้ถูกคุมขังระหว่างต่อสู้คดีทางการเมืองทั้งสิ้น 20 คน (นับจนถึงวันที่ 9 พ.ค. 64) นอกจากนี้เอง นับตั้งแต่วันที่ 24 พ.ย. 63 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่า มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมืองด้วยข้อหาตามมาตรา 112 แล้วอย่างน้อย 91 ราย ใน 84 คดี
>>> สถิติผู้ถูกคุมขังในคดีการเมืองระหว่างการต่อสู้คดี ปี 2564
>>> สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-64