21 ก.ค.59 เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง เรียกชาวบ้านบ้านหาดผาคัน อำเภอลอง จังหวัดแพร่ ที่ใส่เสื้อโหวตโนถ่ายรูปช่วงเทศกาลสงกรานต์ แต่เพิ่งมีการเผยแพร่รูปในโลกออนไลน์ เข้าพูดคุยที่ว่าการอำเภอลอง แม้ยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาใด แต่เจ้าหน้าที่ได้ให้ชาวบ้าน 5 ราย เข้าอบรมเพื่อทำความเข้าใจเป็นเวลา 5 วัน พร้อมให้ลงนามข้อตกลงไม่เคลื่อนไหวทางการเมืองอีก
จากกรณีที่เพจของ “ฟอร์ด เส้นทางสีแดง” หรือนายอนุรักษ์ เจนตวนิชย์ นักกิจกรรมเสื้อแดง ได้โพสต์ภาพในช่วงเที่ยงของวันที่ 19 ก.ค.เป็นภาพของประชาชนประมาณ 9 คน ใส่เสื้อโหวตโนสีต่างๆ ถ่ายรูปร่วมกัน พร้อมกับในเพจยังเขียนข้อความประกอบว่า “ภาพแอคชั่นสวยๆ จากแคมเปญ Vote NO และ Say NO จากพี่น้องรักประชาธิปไตยอ.ลอง จ.แพร่ ช่วยกันเผยแพร่ประชาธิปไตยไม่เอารัฐธรรมนูญที่ปิดหูปิดตาปิดปากประชาชน จำง่ายๆเข้าคูหา กาไม่รับทั้งสองช่องนะจ้าววววว”
ภาพจากฟอร์ด เส้นทางสีแดง
รายงานข่าวระบุว่าต่อมา นายการัณย์ เกื้อวันชัย นายอำเภอลอง ได้สั่งการให้ นายประกอบ ค้าไม้ ปลัดอำเภอ หัวหน้าฝ่ายความมั่นคง ตรวจสอบข้อเท็จจริงของเรื่องดังกล่าว ก่อนพบว่าราษฎรที่ถ่ายภาพอยู่ที่บ้านหาดผาคัน อำเภอลอง จังหวัดแพร่
ชาวบ้านจากบ้านผาคันเปิดเผยว่าในช่วงเย็นวันที่ 19 ก.ค.นั้น ได้มีเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งปลัดอำเภอ เจ้าหน้าที่สันติบาล และเจ้าหน้าที่ทหาร รวม 5-6 นาย เดินทางไปติดตามกรณีดังกล่าวที่บ้านผู้ใหญ่บ้าน โดยมีการให้ผู้ใหญ่บ้านเรียกคนในรูปถ่ายมาพูดคุย เพื่อสอบถามถึงเหตุการณ์และการใส่เสื้อโหวตโนดังกล่าว และระบุว่าอาจเข้าข่ายเป็นการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป
ชาวบ้านได้ระบุว่าภาพดังกล่าวเป็นการถ่ายเล่นกันในช่วงสงกรานต์ ตั้งแต่เดือนเม.ย.ที่ผ่านมาแล้ว โดยญาติมิตรได้เดินทางกลับมาบ้านในช่วงเทศกาล และมีผู้สั่งซื้อเสื้อโหวตโนมาจากเพจของฟอร์ด เส้นทางสีแดงด้วย จึงได้มีการถ่ายเล่นกับเพื่อนและน้าๆ ในหมู่บ้าน และส่งรูปกันทางไลน์ส่วนตัว แต่ไม่ได้เผยแพร่สาธารณะอย่างใด จนเมื่อมีการนำรูปดังกล่าวเผยแพร่ในโลกออนไลน์
นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่ยังได้นัดให้ชาวบ้านเดินทางไปพูดคุยกับฝ่ายปกครอง และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ที่ที่ว่าการอำเภอลองในช่วงวันที่ 21 ก.ค.ด้วย
หนึ่งในชาวบ้านเปิดเผยเรื่องการไปพบเจ้าหน้าที่ที่ว่าการอำเภอ ว่าได้มีนายอำเภอ ปลัดอำเภอ เจ้าหน้าที่ทหารกองพันทหารม้าที่ 12 อำเภอเด่นชัย รวมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ มาร่วมพูดคุยกับชาวบ้าน 5 ราย ที่เดินทางไป โดยเจ้าหน้าที่เห็นว่าแม้การถ่ายภาพดังกล่าวจะยังไม่มีความผิดตามกฎหมายใด แต่จะให้ชาวบ้านทั้ง 5 ราย เข้ารับการอบรมเพื่อสร้างความเข้าใจ เป็นเวลา 5 วัน วันละราว 1 ชั่วโมง เพื่อให้เรื่องจบลงและเจ้าหน้าที่จะรายงานให้ “หน่วยเหนือ” ทราบ โดยนับเริ่มตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป โดยชาวบ้านก็ไม่ทราบว่าเจ้าหน้าที่อาศัยอำนาจใดในการให้ชาวบ้านมาอบรม
เจ้าหน้าที่ยังมีการให้ชาวบ้านที่เข้าพบลงนามบันทึกข้อตกลงไม่เคลื่อนไหวทางการเมืองอีก และมีการระบุว่าอย่าให้ข่าวกับผู้สื่อข่าวด้วย
ตัวแทนชาวบ้านระบุว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ชาวบ้านเกิดความกลัว เพราะมีตำรวจและทหารติดตามไปถ่ายรูปหน้าบ้านในช่วงวันสองวันที่ผ่านมา โดยบางบ้านก็มีแต่ผู้เฒ่าผู้แก่อยู่บ้าน และหลายคนไม่เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้มาก่อน หลายคนก็ไม่ได้เป็นคนเสื้อแดงอีกด้วย
ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจมีการดำเนินคดีกับประชาชนที่ถ่ายภาพเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติอย่างน้อยใน 8 จังหวัด ในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยในคำสั่งข้อดังกล่าวในวรรคที่ 2 ระบุว่าผู้ที่สมัครใจเข้ารับการอบรมจากเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย เป็นระยะเวลาไม่เกินเจ็ดวันและเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยเห็นสมควรปล่อยตัวโดยมีเงื่อนไข หรือไม่มีเงื่อนไข ให้ถือว่าคดีเลิกกัน ทำให้ผู้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาในหลายพื้นที่เลือกเข้ารับการอบรมดังกล่าว (ดูในรายงาน) แต่ยังไม่มีกรณีใดที่เจ้าหน้าที่ให้เข้ารับ “การอบรม” เลย โดยยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา และยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเจ้าหน้าที่อาศัยอำนาจใดในการดำเนินการลักษณะนี้