เปิดคำฟ้องอัยการ คดี 5 จำเลยรณรงค์ประชามติ จ.ราชบุรี : ขอศาลสั่งตัดสิทธิเลือกตั้งของจำเลยทั้งหมด 10 ปี

เปิดคำฟ้องอัยการ คดี 5 จำเลยรณรงค์ประชามติ จ.ราชบุรี : ขอศาลสั่งตัดสิทธิเลือกตั้งของจำเลยทั้งหมด 10 ปี

photo_2016-08-29_18-37-56

(29 ส.ค.59) พนักงานอัยการ จ.ราชบุรี มีความเห็นสั่งฟ้องจำเลยทั้ง 5 คน ได้แก่  ปกรณ์ อารีกุล,อนุชา รุ่งมรกต, อนันต์ โลเกตุ สมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ภานุวัฒน์ ทรงสวัสดิ์ชัย นักศึกษามหาวิทยาลัยแม่โจ้ และทวีศักดิ์ เกิดโภคา ผู้สื่อข่าวประชาไท ต่อศาลจังหวัดราชบุรี ตามความผิดพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 มาตรา 61 และประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขฉบับที่ 25 เรื่องการดำเนินการเกี่ยวกับการยุติธรรมทางอาญา โดยจำเลยทั้งหมดขอยื่นประกันตัวและศาลให้ประกันตัวโดยใช้หลักทรัพย์เดิมในขั้นตอนการสอบสวนเป็นเงินคนละ หนึ่งแสนสี่หมื่นบาท โดยศาลนัดสมานฉันท์วันที่ 21 ก.ย.59 และ นัดพร้อมเพื่อสอบคำให้การวันที่ 17 ต.ค. 59

ทั้งนี้คำฟ้องได้ระบุว่าวันที่ 10 ก.ค.59 จำเลยทั้งห้าได้ร่วมกันกระทำความผิด กล่าวคือ “จำเลยทั้งห้าได้บังอาจร่วมกันดำเนินการเผยแพร่ข้อความและภาพเป็นรูปลอก(สติ๊กเกอร์)สีน้ำเงิน มีข้อความระบุว่า “7 สิงหา ร่วมกัน VOTE NO ไม่รับกับอนาคตที่ไม่ได้เลือก” ซึ่งมีความหมายให้ร่วมกันออกเสียงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้จัดทำขึ้น ซึ่งกำหนดให้มีการออกเสียงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ดังกล่าว ด้วยการแจกจ่ายรูปลอก(สติ๊กเกอร์)ซึ่งมีข้อความให้แก่ประชาชนทั่วไป และพรรคพวกของจำเลย ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิออกเสียง อันเป็นการดำเนินการเผยแพร่ข้อความในช่องทางอื่นใดที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง อันมีลักษณะเป็นการปลุกระดมโดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างนึ่งหรือไม่อกเสียง อันเป็นการร่วมกันกระทำความผิดของคณะบุคคลตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ในการกระทำการก่อความวุ่นวาย เพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย”   เหตุดังกล่าวเกิดจากกรณีที่จำเลยที่ 1-4 ได้แก่ ปกรณ์ อารีกุล,อนุชา รุ่งมรกต, อนันต์ โลเกตุ และทวีศักดิ์ เกิดโภคเดินทางไปยังจังหวัดราชบุรีและถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจค้นรถและพบเอกสารความเห็นแย้งร่างรัฐธรรมนูญ และรณรงค์โหวตโนหลายรายการในรถดังกล่าวจึงจับกุมและแจ้งข้อกล่าวหาโดยระบุว่ามีพฤติการณ์น่าเชื่อว่าจะแจกจ่ายเอกสารดังกล่าว

เมื่อพิจารณาจากเอกสารคำฟ้องของพนักงานอัยการศาลจังหวัดราชบุรี พบว่า ในหน้าคำขอท้ายคำฟ้องอาญา พนักงานอัยการขอให้ศาลริบของกลางทั้งหมดและขอให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยทั้งหมดเป็นเวลา 10 ปี ตามบทลงโทษของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559  มาตรา 61 วรรค 2 ระบุว่า ผู้ใดดําเนินการเผยแพร่ข้อความ  ภาพ  เสียง  ในสื่อหนังสือพิมพ์  วิทยุ  โทรทัศน์  สื่ออิเล็กทรอนิกส์  หรือในช่องทางอื่นใด  ที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือมีลักษณะรุนแรง  ก้าวร้าว  หยาบคาย  ปลุกระดม  หรือข่มขู่  โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง  หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง  หรือไม่ออกเสียง  ให้ถือว่าผู้นั้นกระทําการก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย เป็นการกระทําความผิดของคณะบุคคลตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป  ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี  และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาท ถึงสองแสนบาท  และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกําหนดสิบปี

นอกจากนี้จำเลยที่ 1-4  ยังถูกฟ้องตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขฉบับที่ 25 เรื่องการดำเนินการเกี่ยวกับการยุติธรรมทางอาญา เนื่องจากไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อตรวจสอบประวัติการต้องโทษทางอาญาซึ่งมีระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ด้านนางสาวคุ้มเกล้า ส่งสมบูรณ์ ทนายจำเลยในคดีดังกล่าวให้ความเห็นว่า แนวทางการต่อสู้ในคดีจะต้องพิจารณาพฤติการณ์ของจำเลยว่า เป็นไปตามข้อกล่าวหาและเป็นไปตามความเห็นสั่งฟ้องของพนักงานอัยการหรือไม่ เช่น ของกลางทั้งหมดนั้นเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติหรือไม่ แล้วเจตนาของจำเลยทั้งหมดที่เดินทางไปยังจังหวัดราชบุรีไปด้วยสาเหตุใด ไปเพื่อให้กำลังใจชาวบ้านหรือตั้งใจจะไปเผยแพร่เอกสารที่ถูกกล่าวหามีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติหรือไม่ รวมถึงยังมีข้อสังเกตองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความทางอาญาว่า การที่จำเลยยังไม่ได้เผยแพร่เอกสารดังกล่าวแต่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจค้นรถและพบของกลางทั้งหมดตามที่กล่าวหานั้นครบองค์ประกอบความผิดหรือไม่

“จำเลยทั้งหมดนั้นมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกตามที่รัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับปัจจุบันให้ไว้ แล้วจำเลยก็ใช้สิทธิ เสรีภาพที่ได้รับเพื่อรณรงค์และเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี  พ.ศ. 2559 ที่ให้ประชาชนมาออกเสียงประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญแต่จำเลยทั้งหมดกลับถูกกล่าวหาว่ามีความผิด ทั้ง ๆ ที่กระทำการตามสิทธิเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญให้ไว้  ข้อสังเกตนี้ก็จะใช้ต่อสู้ในคดีดังกล่าวด้วยเช่นกัน” ทนายจำเลยกล่าว

photo_2016-07-12_10-56-29

สำหรับของกลางที่เป็นหลักฐานในการเอาผิดจำเลยทั้งหมด รวม 19 รายการ ได้แก่ รถยนต์กระบะ หมายเลขทะเบียน 1 ฒฎ 4968 กทม. 1 คัน, แผ่นป้ายไวนิว ข้อความ “นายกไทยใครๆ ก็โดนล้อ” 1 แผ่น, ตู้ลำโพง 1 ตัว, ไมโครโฟน 2 ตัว, เสาไม้พร้อมธง ข้อความ “7 สิงหา ร่วมกันโหวตไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ” 1 อัน, แผ่นคั่นหนังสือโหวตโน สีม่วง 272 แผ่น สีแดง 263 แผ่น สีเขียว 388 แผ่น สีส้ม 450 แผ่น รวม 1,373 แผ่น, จุลสารการออกเสียง 66 แผ่น, เอกสารปล่อย 7 นักโทษประชามติ โดยไม่มีเงื่อนไข 21 ใบ, เอกสารความเห็นแย้ง 2 ฉบับ, เอกสารแถลงการณ์คณะนิติราษฎร์ ฉบับลงประชามติ 9 ฉบับ, เอกสารถ้าจะใช้สิทธิลงประชามตินอกเขตจังหวัดต้องทำอย่างไร 70 ฉบับ, สติ๊กเกอร์สีชมพูโหวตโน 3,700 ใบ, สติ๊กเกอร์สีน้ำเงินโหวตโน 4,200 ใบ, เอกสาร 7 เหตุผลไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 127 ฉบับ, เอกสารถ้าจะใช้สิทธิลงประชามตินอกเขตจังหวัดต้องทำอย่างไร 123 ฉบับ, เอกสารปล่อย 7 นักโทษประชามติโดยไม่มีเงื่อนไข 12 ฉบับ, จุลสารการออกเสียงประชามติ 252 ฉบับ, กล่องกระดาษติดสติ๊กเกอร์โนโหวต ข้อความข้างกล่อง “สมทบทุนกิจกรรมขบวนการประชาธิปไตยใหม่” จำนวน 1 ใบ (ภายในกล่องมีเงินสดอยู่ จำนวน 2,571 บาท) 1 ใบ, และหนังสือในนามของความ (อ) ยุติธรรมภายใต้ คสช. 30 เล่ม

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จับ 3 นักกิจกรรม NDM พร้อมนักข่าว แจ้งผิด พ.ร.บ.ประชามติ หลังค้นรถเจอเอกสาร Vote No

จับกลางดึกอีก 1 นักศึกษา แจ้งผิด พ.ร.บ.ประชามติ ร่วมกับ NDM

ศาลราชบุรีอนุญาตฝากขัง 5 ผู้ต้องหา พ.ร.บ.ประชามติ ก่อนให้ประกันตัวหลักทรัพย์คนละ 1.4 แสนบาท

เปิด ‘19 ของกลาง’-รายชื่อจนท.ชุดจับกุม 5 นักกิจกรรม-นศ.-นักข่าว ที่บ้านโป่ง

ตร.-ทหาร พยายามเข้าตรวจค้นบ้านแกนนำเสื้อแดงบ้านโป่ง อ้างตรวจสอบความเชื่อมโยงกรณียึดเอกสารประชามติ

 

X