อัยการสั่งไม่ฟ้อง 6 นักกิจกรรมร่วมชุมนุมคณะราษฎรอีสาน 13 ตุลา 63 ชี้ไม่เสี่ยงโรค ไม่มีการยุยงให้เกิดความไม่สงบ ขณะคดีผู้ชุมนุมอีก 20 ราย ยังสืบพยานชั้นศาล

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งคำสั่งไม่ฟ้องคดีของพนักงานอัยการ ฝ่ายคดีศาลแขวง 3 (ศาลแขวงดุสิต) ในคดีที่ 6 นักกิจกรรม ถูกกล่าวหากรณีการชุมนุม “คณะราษฎรอีสาน” บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2563 รอคอยการนัดชุมนุมใหญ่ 14 ต.ค. 2563 เพื่อเดินเท้าไปทำเนียบรัฐบาล

คดีนี้มี พ.ต.ท.กฤติเดช เข็มเพชร์ กับพวกรวม 20 คน เป็นผู้กล่าวหาต่อ ชินวัตร จันทร์กระจ่าง, ชาติชาย แกดำ, อรรถพล บัวพัฒน์, กรกช แสงเย็นพันธ์, กฤษณะ ไก่แก้ว และชลธิชา แจ้งเร็ว ในข้อหาหลักเรื่องการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ

ทั้งนี้นักกิจกรรมทั้ง 6 คน เป็นกลุ่มที่ถูกออกหมายเรียกให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.สำราญราษฎร์ ในภายหลัง คือเมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2563 ขณะที่เหตุจากการชุมนุมครั้งดังกล่าว มีผู้ถูกจับกุมระหว่างเกิดเหตุรวม 21 คน นำโดย จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่” 

น่าสังเกตว่าในส่วนของผู้ถูกกล่าวหาที่ถูกจับกุมนี้ อัยการได้สั่งฟ้องคดีไปทั้งหมดแล้ว โดยแยกเป็นคดีของผู้ชุมนุม 19 ราย ที่ถูกสั่งฟ้องที่ศาลอาญา ขณะนี้อยู่ระหว่างสืบพยานในศาล และคดีของเยาวชน 1 ราย ถูกฟ้องคดีที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ซึ่งสืบพยานเสร็จสิ้น และอยู่ระหว่างรอฟังคำพิพากษา ขณะที่ผู้ถูกดำเนินคดี 1 ราย ได้แก่ ฐิติสรรค์ ญาณวิกร หรือ “หัวหน้าเบน” เสียชีวิตเนื่องจากปัญหาสุขภาพ เมื่อช่วงปี 2564

.

.

อัยการชี้ไม่ได้ชุมนุมที่แออัด ไม่มีการปราศรัยยุยง เหตุกระทบกระทั่งเกิดจากเหตุจนท.เข้าจับกุมตัว “ไผ่”

สำหรับคำสั่งไม่ฟ้องของอัยการ ลงวันที่ 17 ส.ค. 2565 แจ้งต่อผู้กำกับการ สน.สำราญราษฎร์ มีเนื้อหาระบุว่า

ประเด็นที่ 1 การกระทำความผิดตามข้อกำหนดรวมถึงประกาศดังกล่าว ต้องมีลักษณะเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคหรือเป็นการฉวยโอกาสซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน หรือการกลั่นแกล้งเพื่อแพร่เชื้อโรคโดยเป็นการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน “ในสถานที่แออัด” ซึ่งหมายถึงเป็นสถานที่ที่มีผู้ชุมนุมอยู่หนาแน่นตลอดพื้นที่จนเป็นเหตุให้บุคคลที่เข้าร่วมชุมนุมในสถานที่ดังกล่าว ไม่สามารถเป็นระยะห่างระหว่างกันได้จนมีสภาพแออัดอันเสี่ยงต่อการใกล้ชิดสัมผัสและแพร่เชื้อโรค หรือเป็นการกระทำอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย

คดีนี้เหตุเกิดที่บริเวณหน้าร้านแมคโดนัลด์ บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนินกลาง ซึ่งมีลักษณะเป็นพื้นที่เปิดโล่งกว้าง โดยไม่ปรากฏว่าพื้นที่เกิดเหตุเป็นสถานที่หนาแน่นที่มีผู้ชุมนุมอยู่หนาแน่นตลอดพื้นที่ของสถานที่เกิดเหตุอันเสี่ยงต่อการใกล้ชิดสัมผัสและแพร่เชื้อโรค

การที่ผู้ต้องหา ได้แก่ ชินวัตร, ชาติชาย และอรรถพล ได้มาร่วมชุมนุมและขึ้นปราศรัยนั้น ไม่ปรากฏว่าผู้ต้องหาทั้ง 3 ได้ปราศรัยในลักษณะให้กลุ่มผู้ชุมนุมก่อความรุนแรงและให้ใช้กำลังขัดขวางเจ้าหน้าที่ อันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยแต่อย่างใด ทั้งการที่เกิดการกระทบกระทั่งระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่นั้น เนื่องจากกลุ่มผู้ชุมนุมเกิดความไม่พอใจเจ้าหน้าที่จะเข้าจับกุมตัว นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา โดยไม่ปรากฏว่าผู้ต้องหาทั้ง 3 เป็นผู้ปราศรัยยุยงให้กลุ่มผู้ชุมนุมเข้าขัดขวางและทำร้ายเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด

ส่วนผู้ต้องหา ได้แก่ กรกช, กฤษณะ และชลธิชา คงปรากฏว่าได้เข้าร่วมชุมนุมโดยไม่ได้มีการปราศรัยใดๆ

และแม้คดีนี้ผู้กล่าวหาที่ 1 กับพวก จะให้การว่าบริเวณที่เกิดเหตุ ไม่พบจุดคัดกรองบุคคลหรือจุดตรวจวัดอุณหภูมิประชาชนที่จะเข้าไปร่วมกิจกรรม และไม่มีเจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์หรือด้านสาธารณสุขมาดูแลหรือช่วยเหลือป้องกัน แต่คดีมีผู้กล่าวหาและพยานบางรายได้ให้การว่าพบว่าส่วนใหญ่ผู้ร่วมกิจกรรมได้มีการสวมใส่หน้ากากป้องกัน เมื่อสภาพและพื้นที่เกิดเหตุเป็นพื้นที่โล่งกว้าง อากาศสามารถถ่ายเทได้ และผู้ต้องหาทั้งหก รวมถึงกลุ่มผู้ชุมนุม สามารถเว้นระยะห่างจากกันได้ในบริเวณที่เกิดเหตุ สภาพและพื้นที่เกิดเหตุจึงไม่มีสภาพแออัดที่จะก่อให้เกิดสภาพเสี่ยงสูงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อโรค

จากพยานหลักฐาน และพฤติการณ์ดังกล่าวของผู้ต้องหาทั้ง 6 ยังไม่พอฟังว่าการชุมนุมดังกล่าวมีลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค หรือเป็นการฉวยโอกาสซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน หรือกลั่นแกล้งเพื่อแพร่เชื้อโรค หรือเป็นการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัด หรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย

.

.

ประเด็นที่ 2 ผู้ต้องหา ได้แก่ กรกช, กฤษณะ และชลธิชา กระทำความผิดฐานร่วมกันชุมนุมสาธารณะที่ขัดขวางหรือกระทำการใดๆ อันเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ ในการคุ้มครองความสะดวกของประชาชนในการใช้ที่สาธารณะ และการดูแลการชุมนุมสาธารณะนั้นไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือคำสั่งเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุม ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 หรือไม่

อัยการเห็นว่า พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มาตรา 3 (6) บัญญัติว่า “พระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับแก่การชุมนุมสาธารณะในระหว่างเวลาที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน” ซึ่งในขณะเกิดเหตุอยู่ในระหว่างเวลาที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยนายกรัฐมนตรีได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 และได้ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเรื่อยมา

ดังนั้นขณะเกิดเหตุคดีนี้จึงไม่นำ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มาใช้บังคับ พฤติการณ์ของผู้ต้องหาทั้งสามจึงไม่เป็นความผิดในฐานดังกล่าว

คำสั่งไม่ฟ้องคดีลงนามโดย นางสาวรัตนพร ตันติพจน์โสภา อัยการประจำกอง

ในขณะที่ข้อกล่าวหาอื่นๆ ที่เป็นข้อหาลหุโทษ ได้แก่ ข้อหาตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ, ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะ, กีดขวางการจราจร, พ.ร.บ.ความสะอาดฯ, การใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต และไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานนั้น คดีได้ขาดอายุความทั้งหมดแล้ว อัยการจึงไม่สามารถนำมาฟ้องต่อนักกิจกรรมทั้ง 6 คนได้อีก คดีจึงสิ้นสุดลง

.

น่าสังเกตว่าแนวคำวินิจฉัยของพนักงานอัยการดังกล่าว ตรงกันข้ามจนไปคนละทิศทางกับอัยการที่มีคำสั่งฟ้องคดีของนักกิจกรรมกลุ่มที่ถูกจับกุม 20 คน ทั้งที่ศาลอาญาและศาลเยาวชนฯ ที่มีคำสั่งฟ้องไปในทิศทางว่าการชุมนุมเมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2563 เกิดขึ้นในสถานที่แออัดและเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค เป็นการมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ทำให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ทั้งอ้างว่าผู้ชุมนุมได้ร่วมกันต่อสู้ขัดขวางการปฏิบัติการหน้าที่ของตํารวจควบคุมฝูงชน ไม่ให้เข้าทําการจับกุมตัวจตุภัทร์ และยังกล่าวหาและฟ้องเฉพาะจตุภัทร์ในข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 อีกด้วย

ความลักลั่นขัดแย้งเช่นนี้ ทำให้เกิดคำถามต่อมาตรฐานการสั่งฟ้องคดีของอัยการ ขณะเดียวกันยังต้องติดตามคำพิพากษาของศาลต่อไป

ย้อนดูลำดับเหตุการณ์การควบคุมตัวผู้ชุมนุมวันที่ 13 ต.ค. 2563

คุมตัว #คณะราษฎรภาคอีสาน 21 ราย พาตัวไป ตชด.ภาค 1 ก่อนส่งศาลฝากขัง ไม่ให้ประกัน

ดู สถิติคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ศาลยกฟ้อง-อัยการสั่งไม่ฟ้อง

.

X