ตรวจพยานหลักฐานคดีชุมนุมคณะราษฎรอีสาน #ม็อบ13ตุลา63 ศาลนัดสืบพยาน กันยา-ธันวา ปีหน้า

วานนี้ (1 พ.ย. 64) ที่ ศาลอาญา รัชดาฯ มีนัดสอบคำให้การนักกิจกรรมและประชาชนรวม 19 ราย ที่ถูกสั่งฟ้องในคดี มาตรา 215 มั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป, ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และข้อหาอื่นๆอีก 9 ข้อหาจากกรณีการชุมนุม “คณะราษฎรอีสาน” บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2563 ก่อนการนัดชุมนุมใหญ่ 14 ต.ค. 2563 เพื่อเดินเท้าไปทำเนียบรัฐบาล

.

ศาลรวบคดี “ชุมนุมคณะราษฎรอีสาน-ไผ่-แอมมี่” เหตุจำเลยถูกกล่าวหาในคราวเดียวกัน และมีพยานหลักฐานชุดเดียวกัน

เวลา 09.00 น. อัยการโจทก์ จําเลย และทนายจําเลยมาศาล ยกเว้นจําเลย 3 ราย ไม่ได้มาศาล เนื่องจากเรือนจําแจ้งว่า วชิรวิชญ์ ลิมป์รนวงศ์ หรือ “ปีก ทะลุฟ้า” นั้น ติดเชื้อไวรัสโคโรนา-2019 ส่วน ปวริศ แย้มยิ่ง หรือ “เปา ทะลุฟ้า” และ ทรงพล สนธิรักษ์ “ยาใจ ทะลุฟ้า” สัมผัสใกล้ชิดกับจําเลยที่ 1 เป็นบุคคลที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโคโรนา-2019 จึงไม่ได้ส่งตัวจําเลยมาศาลตามที่มีคําสั่งเบิก

พนักงานอัยการได้ยื่นคําร้องให้นําคดี ชุมนุมคณะราษฎรอีสาน (อ.2305/2564), คดีของ “แอมมี่” ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ (อ. 2422/2564) และคดีของ “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา (อ.2045/2564) ที่ถูกสำนวนคดีถูกแยกกันฟ้อง มารวมการพิจารณาพิพากษาร่วมกัน เนื่องจากเหตุเกิดจากกรณีเดียวกันทั้งหมด 

ศาลเห็นว่าอัยการโจทก์ฟ้องกล่าวหาว่าจําเลยทุกคนกระทําความผิดในคราวเดียวกัน พยานหลักฐานจึงเป็นชุดเดียวกัน การรวมการพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันจึงเป็นการสะดวก อนุญาตให้นําคดีทั้งสามมารวมกันพิจารณา

ศาลให้เรียกจําเลยที่ 1-17 ในคดีชุมนุมคณะราษฎรอีสาน เป็นจำเลย 1-17 ตามลําดับ และให้ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา เป็นจําเลยที่ 18 และให้ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ ในคดีเป็นจําเลยที่ 19

ส่วนกรณีจำเลย 3 ราย ที่ถูกคุมขังและไม่ได้ถูกพาตัวมาศาล ศาลได้มีคําสั่งให้พิจารณาคดีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ทางเรือนจําพิเศษกรุงเทพมหานคร เป็นสักขีพยาน ด้านจำเลยทั้งสามและทนายความของจําเลย ไม่คัดค้าน

หลังจากนั้น ศาลได้อ่านและอธิบายคำฟ้องให้ฟัง จําเลยทั้งหมด 19 ราย ให้การปฏิเสธตลอดข้อหา สำหรับแนวทางต่อสู้ จตุภัทร์ แถลงว่าตนไปร่วมชุมนุมในวันเกิดเหตุจริง แต่ไปร่วมชุมนุมตามสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ไม่ได้กระทําการใดที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และไม่ได้กระทําความผิดตามข้อกล่าวหา 

ส่วนจําเลยที่ 1-17 และ ไชยอมร (จําเลยที่ 19) ทนายความจําเลยแถลงว่า ไม่ได้กระทําความผิดในคดีนี้ และแถลงให้เป็นหน้าที่ของโจทก์นําพยานหลักฐานเข้าพิสูจน์ความผิดของพวกจําเลยเอง 

ก่อนศาลสอบคู่ความทั้งสองฝ่ายเกี่ยวกับพยานบุคคลที่พอจะรับข้อเท็จจริงกันได้ โดยทนายจําเลยทุกคนแถลงว่า จําเลยทุกคนไม่ขอยอมรับข้อเท็จจริงใดเกี่ยวกับพยานบุคคลของโจทก์ ซึ่งเป็นสิทธิของฝ่ายจําเลย 

ด้านโจทก์แถลงประสงค์จะสืบพยานบุคคลทั้งสิ้น 68 ปาก โดยยืนยันติดใจที่จะนําพยานบุคคลดังกล่าวเข้ามาสืบพยานทั้งหมด 

ศาลพิเคราะห์พยานบุคคลแล้วเห็นว่า พยานปากที่โจทก์แถลงเป็นพนักงานสอบสวนมากถึง 22 ปาก โดยมี ร.ต.อ.เลิศชาย ผือลองชัย ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบสํานวนคดีทั้งสามเรื่อง ส่วนพนักงานสอบสวนปากอื่นๆ นั้น เป็นเพียงผู้ที่เข้ามาร่วมการสอบสวนเท่านั้น 

ศาลจึงสั่งให้โจกท์นํา ร.ต.อ.เลิศชาย ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบสํานวนคดี เข้ามาเบิกความเป็นพยานในฐานะพนักงานสอบสวน พร้อมทั้งสั่งให้คัดแยกพยานปากที่เป็นพนักงานสอบสวนอีก 4 ปาก ที่จะสามารถเบิกความครอบคลุมข้อเท็จจริงเนื้อหาคดีนี้ทั้งหมด และเป็นพนักงานสอบสวนที่มีบทบาทมีหน้าที่เกี่ยวข้องมากที่สุดในการทําสํานวนคดี เพื่อให้เข้าเบิกความร่วมกับ ร.ต.อ.เลิศชาย รวมเป็นพนักงานสอบสวนเข้าเบิกความ 5 ปาก

ส่วนพนักงานสอบสวนที่เหลือนั้น ศาลเห็นว่าเป็นพยานบุคคลที่ฟุ่มเฟือยเกินสมควร ไม่มีความจําเป็นที่จะต้องนําพยานพนักงานสอบสวนทั้ง 22 ปาก เข้ามาสืบทั้งหมด และหากโจทก์เห็นว่ามีความจําเป็นจะต้องสืบพยานปากพนักงานสอบสวนปากใดเพิ่มเติม ให้โจทก์แถลงต่อศาลเป็นรายปากไป 

.

ทำให้เหลือพยานโจทก์ที่จะให้สืบพยานในคดีนี้ทั้งสิ้น 51 ปาก และศาลกำหนดวันให้ทั้งสิ้น 13 นัด 

ส่วนด้านทนายจําเลยประสงค์จะสืบพยานบุคคลทั้งสิ้น 28 ปาก ในคดีทั้งสามสํานวน โดยเป็นจําเลยที่ 1-19 และพยานปาก ดร.พัชร์ นิยมศิลป์ กับชํานาญ จันทร์เรือง เป็นนักวิชาการที่จะเบิกความยืนยันเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมของฝ่ายจําเลย และพยานอีก 5 ปาก เป็นสื่อมวลชน ซึ่งทําข่าวอยู่ในพื้นที่ที่เกิดเหตุ ศาลจึงกำหนดวันนัดสืบพยานให้ทั้งสิ้น 7 นัด 

ทั้งนี้ ศาลได้กําชับให้คู่ความเตรียมพยานมาสืบให้แล้วเสร็จในกําหนด และศาลจะเพิ่มเติมวันนัดสืบพยานให้ก็ต่อเมื่อมีเหตุจําเป็นเท่านั้น พร้อมทั้งได้สั่งให้เบิกตัวจําเลย 5 ราย ซึ่งถูกคุมขังอยู่มาศาลในวันนัด 

ต่อมาคู่ความตกลงวันนัดสืบพยานทั้งหมด ดังนี้ นัดสืบพยานโจทก์ทั้งหมด 13 นัด ได้แก่ วันที่ 13-16 และ 27-30 ก.ย., 4-5, 7 และ 11-12 ต.ค. 2565

นัดสืบพยานจำเลยทั้งหมด 7 นัด ได้แก่ วันที่ 18-20 ต.ค., 14-16 และ 20 ธ.ค. 2565 เวลา 09.00 น. เป็นต้นไปของแต่ละวัน

อนึ่ง กิจกรรมในวันที่ 13 ต.ค. 2563 กลุ่มราษฎรอีสานเป็นผู้ที่เดินทางมาปักหลักรอการชุมนุม และเรียกการรวมตัวในวันนั้นว่า “นอนรอม็อบ” แต่ในวันดังกล่าวตำรวจได้สลายการชุมนุม โดยอ้างว่าจะมีขบวนเสด็จผ่าน ทำให้มีผู้ถูกจับกุมจำนวน 21 คน ก่อนนำตัวขออำนาจศาลฝากขัง ในเวลานั้นศาลอาญาและศาลแขวงดุสิต ไม่อนุญาตให้ประกันตัว ทำให้มีผู้ถูกคุมขังในเรือนจำ 19 คน ส่วนเยาวชน อายุ 17 ปี จำนวน 1 คน ศาลได้อนุญาตประกันตัวโดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์


ระหว่างคดีอยู่ในชั้นสอบสวน นายฐิติสรรค์ ญาณวิกร หรือ “เบน” หนึ่งในผู้ถูกดำเนินคดี และเป็นคนไร้บ้าน ได้เสียชีวิตลง ทำให้ไม่ได้ถูกสั่งฟ้องเข้ามาในคดีนี้ด้วย

X