เปิดคำฟ้องคดี ม.112 “วีรภาพ” พ่นสีเรียกร้องปฎิรูปสถาบันกษัตริย์ที่แยกดินแดง ก่อนศาลเลื่อนนัดตรวจพยานฯ มิ.ย. 65

11 เม.ย. 2565 เวลา 13.30 น. ที่ศาลอาญารัชดาฯ มีนัดสอบคำให้การและนัดตรวจพยานหลักฐานในคดีของ “วีรภาพ วงษ์สมาน” หรือ รีฟ เยาวชนอายุ 18 ปี ซึ่งถูกฟ้องในข้อหาหลัก “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ “ร่วมกันชุมนุมมั่วสุมมากกว่า 10 คนขึ้นไป” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 หลังถูกกล่าวหากรณีพ่นสีสเปรย์ข้อความเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ บริเวณแยกดินแดง ระหว่างการชุมนุมเมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2564 

>> จับวัยรุ่นอายุ 18 ข้อหา 112 เหตุพ่นสีเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ที่แยกดินแดง ก่อนศาลให้ประกัน พร้อมติด EM

ที่ห้องพิจารณา 703 ศาลขึ้นนั่งบัลลังก์ออกพิจารณา ในนัดนี้มีอัยการโจทก์ จำเลย และผู้รับมอบฉันทะทนายจำเลยมาศาล โดยผู้รับมอบฉันทะได้แถลงต่อศาล ขอเลื่อนนัดสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐาน เนื่องจากทนายจำเลยติดว่าความที่ศาลอื่นในเวลาเดียวกันนี้ 

ด้านฝ่ายอัยการโจทก์ไม่คัดค้าน ศาลจึงให้เลื่อนนัดสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐาน ออกไปเป็นวันที่ 20 มิ.ย. 2565 เวลา 09.00 น.

.

ถูกฟ้อง 112! อัยการชี้ถ้อยคำ “ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ” สื่อว่า ร.10 อยู่เหนือกฎหมาย ถือเป็นการกล่าวเท็จและหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ 

สำหรับคดีนี้มี นายอานนท์ ปราการรัตน์ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 ได้เป็นผู้เรียงฟ้องยื่นต่อศาล เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2565  ระบุโดยท้าวความถึงการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศของนายกรัฐมนตรี ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งได้บังคับใช้ต่อเนื่องมาตลอด ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. 2563 รวมถึงการประกาศให้เขตพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด และออกข้อกําหนดห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ซึ่งรวมถึงข้อห้ามจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มกันมากกว่า 5 คน และห้ามกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่ดังกล่าว 

และในส่วนต่อมาคำฟ้องระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พระมหากษัตริย์ทรงดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ตามมาตรา 6 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 

พฤติการณ์ของคดีนี้ เมื่อระหว่างวันที่ 13-14 ก.ย. 2564 จําเลยกับพวก รวมประมาณ 150 คน ได้ร่วมกันชุมนุม มั่วสุม ที่บริเวณแยกใต้ทางด่วนดินแดง แนวถนนดินแดง และถนนวิภาวดีรังสิต ซึ่งเป็นการออกนอกเคหสถานและเป็นการรวมกลุ่มบุคคลที่มีจํานวนมากกว่า 25 คน โดยไม่ได้รับอนุญาต รวมถึงเป็นการชุมนุม การทํากิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ สถานที่ใดๆ ที่แออัด และมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่ายในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคในเขตพื้นที่ที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงประกาศกําหนด 

ต่อมา จําเลยกับผู้ร่วมชุมนุม รวมจํานวนประมาณ 150 คน ดังกล่าว ได้ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป เพื่อขู่เข็ญว่าจะใช้กําลังประทุษร้ายหรือใช้กําลังประทุษร้ายให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ซึ่งเจ้าพนักงานตํารวจควบคุมฝูงชนได้ประกาศให้ผู้ชุมนุมมั่วสุมดังกล่าวให้เลิกชุมนุมมั่วสุม แต่กลุ่มผู้ชุมนุมไม่เลิก และต่อมาได้ร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานตํารวจควบคุมฝูงชนที่มาควบคุมสถานการณ์ ซึ่งกระทําการตามหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย โดยใช้กําลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กําลังประทุษร้าย มีการขว้างปาระเบิดและประทัด และใช้ลูกแก้วหรือของแข็งอย่างอื่นยิงด้วยหนังสติ๊ก หรืออาวุธอย่างอื่นเข้าใส่เจ้าพนักงานตํารวจ อันเป็นการกระทําให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง โดยได้กระทําโดยมีหรือใช้อาวุธหรือวัตถุระเบิด และโดยร่วมกระทําความผิดด้วยกันตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป

นอกจากนี้ จําเลยได้หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ ด้วยการเขียนข้อความว่า “ควรปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ #ไอ้ษัตริย์” ที่บริเวณผนังตู้ควบคุมไฟฟ้าของกรุงเทพมหานคร ใต้ทางด่วนดินแดง และข้อความภาษาอังกฤษอีกหนึ่งข้อความที่บริเวณเสาใต้ทางด่วนดินแดง เพื่อให้ประชาชน หรือบุคคลทั่วไปซึ่งเป็นบุคคลที่สามที่พบเห็นข้อมูล ข้อความ รูปภาพ และตัวอักษรดังกล่าว 

อัยการบรรยายฟ้องว่า คำว่า “ควรปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ” เข้าใจได้ว่า ปัจจุบันสถาบันกษัตริย์ไม่ได้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ หรือสถาบันกษัตริย์อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ ซึ่งข้อความดังกล่าวเป็นข้อความอันเป็นเท็จ เลื่อนลอย ปราศจากหลักฐาน ถือว่าเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ทําให้ประชาชนเกิดความเกลียดชังสถาบัน ว่าทรงอยู่เหนือกฎหมายและอยู่เหนือรัฐธรรมนูญ 

และคําว่า “ไอ้ษัตริย์” เข้าใจได้ว่า หมายถึงกษัตริย์ เนื่องจากประโยคก่อนหน้านี้พูดถึงกษัตริย์ อันเป็นการเลี่ยงใช้คํา และใช้คําพ้องเสียงให้พ้องกับคําว่า “ไอ้สัตว์” ที่เป็นคําด่า จึงเป็นการดูหมิ่นเหยียดหยามอย่างร้ายแรงต่อพระมหากษัตริย์ อันเป็นการกระทํามิบังควร จาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น หมิ่นประมาท ต่อพระมหากษัตริย์ โดยประการที่น่าจะทําให้ในหลวงรัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง และเจตนาทําลายพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาของประชาชนชาวไทย ทําให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพสักการะต่อพระมหากษัตริย์ ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้ 

อัยการฟ้องวีรภาพในทั้งหมด 5 ข้อหาด้วยกัน ได้แก่

  1. “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
  2. “ร่วมกันจัดกิจกรรมรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนมากกว่า 25 คนในเขตพื้นที่ที่มีการประกาศหรือคำสั่งกำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด” ฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 
  3. “ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ่นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง โดยผู้ร่วมกระทำมีอาวุธ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 วรรค 2
  4. “เมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกชุมนุมมั่วสุม แต่ไม่เลิก” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 216
  5. “ร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่ โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย โดยได้กระทำโดยมีหรือใช้อาวุธ หรือร่วมกระทำความผิดตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 140

สำหรับการปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างพิจารณาคดี พนักงานอัยการไม่ได้คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราว โดยให้อยู่ดุลพินิจของศาล ในท้ายคำฟ้องยังระบุว่า ขอให้ศาลนับโทษจำเลยต่อจาก คดีชุมนุมเดินทะลุฟ้า V.2 บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2564, คดีชุมนุมและปราศรัยในกิจกรรม ‘รดน้ำกดหัวประยุทธ์’ ที่บริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ เมื่อวันที่ 15 เม.ย. 2564 และคดีชุมนุมเรียกร้องให้คืนสิทธิประกันตัวให้ผู้ต้องขังการเมือง หรือ #ม็อบ2พฤษภา ที่หน้าศาลอาญา เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2564  

ต่อมา ศาลอาญาอนุญาตให้ประกันตัวจำเลย โดยใช้หลักทรัพย์เดิมจากชั้นสอบสวน คือจำนวน 100,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์

.

ฐานข้อมูลคดี

คดี 112 “รีฟ-วีรภาพ” พ่นสีข้อความเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ แยกดินแดง

.

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง 

สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-65

X