บันทึกการสืบพยานคดี 112 ของ “วีรภาพ” ยืนยันไม่ใช่คนพ่นสีเรียกร้อง “ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” ที่แยกดินแดงปี 64 กับปัญหาห้ามจดบันทึกในห้องพิจารณา 

28 ก.ย. 2566 ศาลอาญา รัชดาฯ นัดฟังคำพิพากษาคดีของ “รีฟ” วีรภาพ วงษ์สมาน อายุ 20 ปี ผู้ถูกกล่าวหาในคดี “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ “ร่วมกันชุมนุมมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 โดยถูกกล่าวหาว่า พ่นสีสเปรย์ข้อความเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ บริเวณแยกดินแดง ระหว่างการชุมนุมเมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2564 

คดีนี้ วีรภาพยืนยันให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา จึงมีการสืบพยานในวันที่ 16-17 ส.ค. 2566 โจทก์นำพยานเข้าเบิกความทั้งหมดรวม 3 ปาก ได้แก่ พ.ต.อ.พีรรัฐ โยมา กับ พ.ต.อ.ประวิทย์ กองชุมพล เจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวน สน.ดินแดง และ พ.ต.ท.สุรพล จันทร์สมศักดิ์ พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดี ในขณะที่ฝ่ายจำเลยนำพยานเข้าเบิกความ 1 ปาก ได้แก่ วีรภาพ ซึ่งอ้างตนเองเป็นพยาน

ในวันแรกของการสืบพยานที่ห้องพิจารณาคดีที่ 909 นอกจากวีรภาพและทนายความแล้ว ยังมีเจ้าหน้าที่จากไอลอว์ (iLaw) และเจ้าหน้าที่จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเข้าร่วมสังเกตการณ์ ผู้พิพากษาแจ้งว่าในการสืบพยานจะใช้วิธีพิจารณาคดีทางอิเล็กทรอนิกส์โดยบันทึกคำเบิกความพยานเป็นวิดีโอ 

ภายหลังจากที่พยานปากแรกเบิกความเสร็จสิ้น ผู้พิพากษาได้แจ้งกับผู้เข้าร่วมสังเกตการณ์ทั้งสองว่า การจดบันทึกในระหว่างพิจารณาคดีขัดต่อข้อกำหนดศาลอาญา และให้เจ้าหน้าที่ยึดสมุดบันทึกไปฉีกหน้าที่จดบันทึกออกส่งให้ศาล

ต่อมา ผู้พิพากษาได้อ่านรายงานกระบวนพิจารณาระบุว่า ผู้ร่วมสังเกตการณ์ทั้งสองไม่ได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดศาลอาญา โดยการจดบันทึกกระบวนพิจารณาและคำเบิกความพยาน ศาลจึงว่ากล่าวตักเตือน ก่อนคืนสมุดบันทึก

.

ทบทวนไทม์ไลน์การถูกจับกุม-ถูกดำเนินคดี

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2564 เวลา 17.00 น. บริเวณแยกดินแดง มีการรวมตัวกันของกลุ่มผู้ชุมนุม หลังการประกาศยุติบทบาทชั่วคราวของเพจ “ทะลุแก๊ส” ปรากฏกลุ่มผู้ชุมนุมอิสระมารวมตัวอยู่ที่แยกดินแดง เพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก และเพื่อทวงยุติธรรมให้กับผู้ชุมนุมที่ถูกเจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุมจากครั้งก่อน ๆ 

ต่อมาในวันที่ 15 ก.ย. 2564 เวลา 20.40 น. ศูนย์ทนายฯ ได้รับแจ้งว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมวีรภาพ ตามหมายจับของศาลอาญา ลงวันที่ 15 ก.ย. 2564 ขณะกำลังรับประทานก๋วยเตี๋ยวอยู่บริเวณตำบลคลองข่อย จังหวัดนนทบุรี และถูกควบคุมตัวไปที่ สภ.ชัยพฤกษ์ เพื่อจัดทำบันทึกจับกุม ก่อนถูกควบคุมตัวไปที่ สน.พหลโยธิน ต่อมา พนักงานสอบสวน สน.ดินแดง ซึ่งเป็นเจ้าของสำนวนคดีนี้ได้เดินทางมาที่ สน.พหลโยธิน เพื่อแจ้งข้อกล่าวหากับวีรภาพ

ในชั้นสอบสวน วีรภาพได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และถูกควบคุมตัวไว้ที่ สน.พหลโยธิน เป็นเวลา 1 คืน ในวันรุ่งขึ้น (16 ก.ย. 2564) พนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องขอฝากขังผ่านวีดิโอคอนเฟอเรนซ์ ด้านทนายความได้ยื่นคำร้องขอประกันตัว พร้อมวางเงินสดจำนวน 100,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ เป็นหลักประกัน ต่อมาศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยให้ติด EM และให้อยู่ในเคหะสถานตั้งแต่เวลา 18.00 – 05.00 น.

กระทั่งวันที่ 23 ก.พ. 2565 อานนท์ ปราการรัตน์ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลอาญา ในทั้งหมด 5 ข้อหา ดังนี้

  1. “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
  2. “ร่วมกันชุมนุมสาธารณะ” ฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 
  3. “ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง โดยผู้ร่วมกระทำมีอาวุธ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 วรรค 2
  4. “เมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกชุมนุมมั่วสุม แต่ไม่เลิก” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 216
  5. “ร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่ โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย โดยได้กระทำโดยมีหรือใช้อาวุธ หรือร่วมกระทำความผิดตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138, 140

.

ภาพรวมการสืบพยาน: พยานโจทก์ยืนยันตรวจพิสูจน์บุคคลแล้วว่าบุคคลที่พ่นสีสเปรย์คือจำเลย ส่วนจำเลยต่อสู้ว่า วันเกิดเหตุไม่ได้เข้าร่วมชุมนุม บุคคลที่ก่อเหตุไม่ใช่จำเลย

ฝ่ายโจทก์มี รอง ผกก.สืบสวน สน.ดินแดง ซึ่งเห็นเหตุการณ์ขณะมีบุคคลพ่นสีข้อความตามฟ้อง เบิกความยืนยันว่า หลังดูคลิปเหตุการณ์และเปรียบเทียบรูปพรรณของผู้ก่อเหตุกับรูปที่จำเลยลงในโซเชียล พบว่าเป็นบุคคลเดียวกัน 

อย่างไรก็ตาม พยานโจทก์ปากพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดีตอบทนายจำเลยว่า ชุดสืบสวนไม่ได้ส่งคลิปเหตุการณ์มาเป็นหลักฐาน และหากดูจากภาพหลักฐานในรายงานการสืบสวนก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่า ผู้ก่อเหตุตามภาพคือจำเลย

ด้านวีรภาพให้การต่อสู้คดีโดยยืนยันว่า วันเกิดเหตุเขาไม่ได้เข้าร่วมชุมนุม อีกทั้งบุคคลตามภาพหลักฐานในรายงานการสอบสวนก็ไม่ใช่ตน

คำเบิกความโดยสรุปของพยานโจทก์และจำเลยมีดังนี้

.

ชุดสืบสวนยืนยัน ตรวจพิสูจน์บุคคลแล้ว พบผู้พ่นสีสเปรย์คือจำเลย แต่รับว่า เคยพบจำเลยเพียงเข้าร่วมชุมนุม ไม่เคยเห็นก่อความไม่สงบ –  ขณะถูกจับกุมจำเลยให้การปฏิเสธ

พ.ต.อ.พีรรัฐ โยมา ขณะเกิดเหตุเป็น รอง ผกก.สืบสวน สน.ดินแดง เบิกความว่า ในขณะเกิดเหตุ พยานอยู่ในที่เกิดเหตุและเห็นเหตุการณ์ที่มีบุคคลพ่นสีสเปรย์เป็นข้อความว่า “ควรปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ #ไอ้ษัตริย์” ที่บริเวณผนังตู้ควบคุมไฟฟ้าของกรุงเทพมหานคร ใต้ทางด่วนดินแดง และข้อความภาษาอังกฤษอีก 1 ข้อความ ที่บริเวณเสาใต้ทางด่วนดินแดง

พ.ต.อ.พีรรัฐ เบิกความต่อไปว่า ภายหลังได้ดูคลิปวิดีโอในขณะเกิดเหตุอีกครั้ง และได้ตรวจพิสูจน์บุคคลจากรูปพรรณสัณฐาน และเสื้อผ้า เปรียบเทียบกับรูปที่จำเลยลงในโซเชียลมีเดีย พบว่าผู้กระทำผิดคือจำเลยในคดีนี้

ต่อมา พ.ต.อ.พีรรัฐ เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ในขณะเกิดเหตุ ไม่ได้เข้าไปห้ามหรือจับกุมจำเลยที่กระทำความผิดซึ่งหน้า เพราะเกรงว่าจะทำให้เกิดความเสียหายมากขึ้น และอาจเกิดอันตรายต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ

พ.ต.อ.พีรรัฐ รับกับทนายจำเลยด้วยว่า รู้จักจำเลยเพราะจำเลยเข้าร่วมชุมนุมบริเวณดินแดงหลายครั้ง แต่ส่วนมากเห็นจำเลยเป็นผู้เข้าร่วมชุมนุมหรือปราศรัย ไม่เคยเห็นว่าจำเลยทำร้ายเจ้าพนักงาน, จุดไฟเผาทำลายทรัพย์สิน หรือขว้างปาข้าวของ

พ.ต.อ.ประวิทย์ กองชุมพล สารวัตรสืบสวน สน.ดินแดง และหนึ่งในตำรวจชุดจับกุมจำเลย เบิกความว่า พยานเป็นผู้เข้าจับกุมจำเลยตามหมายจับของศาลอาญา ในขณะถูกจับกุมจำเลยให้การปฏิเสธ และภายหลังได้นำตัวจำเลยส่งให้พนักงานสอบสวน

พนักงานสอบสวนระบุ ทราบว่าจำเลยเป็นผู้ก่อเหตุจากรายงานการสืบสวน แต่ยอมรับภาพหลักฐานไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นจำเลย

พ.ต.ท.สุรพล จันทร์สมศักดิ์ พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดี เบิกความว่า ก่อนเกิดเหตุในคดีนี้ พยานไม่เคยเห็นหรือรู้จักกับจำเลยมาก่อน ทราบว่าผู้กระทำผิดเป็นจำเลยจากรายงานการสืบสวนเท่านั้น 

ทนายจำเลยให้ พ.ต.ท.สุรพล ดูรูปถ่ายผู้ก่อเหตุในรายงานการสืบสวน พยานไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นจำเลย แต่ระบุว่า หากเป็นคนรู้จักก็คงทราบว่าเป็นจำเลยหรือไม่ และชุดสืบสวนไม่ได้ส่งคลิปวิดีโอขณะเกิดเหตุเข้ามาให้พยานรวมเป็นพยานหลักฐานในสำนวน

.

จำเลยยืนยัน วันเกิดเหตุไม่ได้เข้าร่วมชุมนุม บุคคลในภาพหลักฐานไม่ใช่จำเลย

วีรภาพ วงษ์สมาน จำเลยอ้างตนเองเป็นพยาน เบิกความยืนยันว่า ในวันเกิดเหตุไม่ได้เข้าร่วมชุมนุม เมื่อทนายให้ดูรูปภาพขณะเกิดเหตุในรายงานการสืบสวน จำเลยระบุว่า บุคคลในรูปดังกล่าวไม่ใช่ตนและไม่ทราบว่าเป็นใคร

.

ปัญหาห้ามจดบันทึกในห้องพิจารณาคดี

ในคดีอาญา การมีบุคคลภายนอกที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับคดี ตลอดจนถึงผู้สื่อข่าว และผู้สังเกตการณ์จากองค์กรสิทธิมนุษยชนเข้าไปนั่งรับรู้กระบวนการพิจารณาคดีของศาล และอาจมีการจดบันทึกเรื่องราวที่เกิดขึ้นออกมาเผยแพร่ นอกจากจะเป็นสิทธิของผู้ถูกดำเนินคดีที่จะได้รับการพิจารณาคดีโดยเปิดเผย (Public Trial) แล้ว ยังเป็นหลักประกันสิทธิมนุษยชนของผู้ถูกกล่าวหาในคดีอาญามิให้ถูกล่วงละเมิดโดยไม่จำเป็นหรือไม่มีเหตุอันสมควรจากการใช้อำนาจในการค้นหาความจริงของเจ้าพนักงานหรือแม้กระทั่งศาลเอง โดยการให้สาธารณะสามารถตรวจสอบได้ว่าการกระทำของผู้พิพากษา อัยการ และทนายความ เป็นไปอย่างสอดคล้องกับหลักกฎหมายและคำนึงถึงสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม (Right to Fair Trial) หรือไม่

ปัญหาห้ามจดบันทึกในห้องพิจารณาคดีเคยเกิดขึ้นกับหลายคดีที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้ถูกกล่าวหา โดยเฉพาะในคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ตั้งแต่ยุครัฐบาล คสช. ซึ่งมีการดำเนินคดีพลเรือนบางฐานความผิดในศาลทหาร จนกระทั่งปัจจุบันก็ยังมีคดีในศาลยุติธรรมที่สั่งห้ามจดบันทึกในห้องพิจารณาคดีอยู่เนืองๆ

ผู้พิพากษามักอ้างฐานอำนาจในการสั่งห้ามจดบันทึกว่า เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30 ซึ่งให้อำนาจศาลออกข้อกำหนดใด ๆ ตามที่เห็นจำเป็น เพื่อรักษาความเรียบร้อยในบริเวณศาล และเพื่อให้กระบวนพิจารณาดำเนินไปตามเที่ยงธรรมและรวดเร็ว โดยในกรณีของศาลอาญาก็มีการออกข้อกำหนดศาลอาญา ว่าด้วยการรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาลอาญา พ.ศ. 2564 และมีการติดป้ายประกาศข้อปฏิบัติในห้องพิจารณาคดีที่หน้าห้องพิจารณาคดีแทบทุกห้อง 

ผลจากการไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดดังกล่าวอาจทำให้บุคคลนั้นมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31 (1) ซึ่งมีโทษตั้งแต่ไล่ออกจากบริเวณศาล ปรับไม่เกิน 500 บาท ไปจนถึงจำคุกไม่เกิน 6 เดือน 

อย่างไรก็ตาม ทั้งในข้อกำหนดและข้อปฏิบัติของศาลอาญาดังกล่าวก็ไม่ได้มีการระบุข้อห้ามเรื่องการจดบันทึกในห้องพิจารณาคดีแต่อย่างใด การสั่งห้ามจดบันทึกจึงเป็นการใช้ดุลพินิจของผู้พิพากษาที่รับผิดชอบคดีเป็นรายกรณีไป หากสั่งแล้วยังไม่ปฏิบัติตามจึงจะมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล แต่เนื่องจากกฎหมายเปิดช่องให้ศาลใช้ดุลพินิจได้อย่างกว้างขวางจึงยากที่จะตรวจสอบว่าเป็นไปโดยเหมาะสม จำเป็น และได้สัดส่วนหรือไม่

การที่ผู้พิพากษาในคดีมีคำสั่งห้ามจดบันทึกหรือห้ามเผยแพร่โดยไม่มีเหตุผลอันสมควรย่อมเป็นการละเมิดหลักการพิจารณาคดีโดยเปิดเผย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสั่งห้ามจดบันทึกในคดีที่ใช้วิธีพิจารณาคดีทางอิเล็กทรอนิกส์โดยบันทึกคำเบิกความพยานเป็นวิดีโอ ซึ่งมีปัญหาการห้ามคัดถ่ายไฟล์บันทึกวิดีโอ มีเพียงคู่ความหรือพยานที่สามารถขอดูวิดีโอได้ แม้จะมีการจัดทำสรุปคำเบิกความโดยเจ้าหน้าที่ แต่ก็เป็นเพียงการเก็บใจความสำคัญเท่านั้น ไม่ใช่การบันทึกโดยละเอียด ทำให้การรายงานกระบวนการพิจารณาคดีต่อสาธารณะในคดีที่ถูกสั่งห้ามจดบันทึก มาจากความทรงจำของผู้สังเกตการณ์หรือผู้สื่อข่าวแทบทั้งหมด ซึ่งอาจไม่ครบถ้วน ง่ายต่อการผิดพลาด ทำให้การตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายในกระบวนการพิจารณาคดีของสาธารณชนเป็นไปโดยไม่มีประสิทธิภาพ กระทบต่อสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีโดยเปิดเผยและอย่างเป็นธรรมของจำเลย

.

.

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง:

ห้ามจด ห้ามเผยแพร่: การกระทำที่ขัดหลักการพิจารณาคดีอย่างเปิดเผยและขัดหลักประชาธิปไตยของศาลทหาร

ปัญหาการคัดถ่ายไฟล์บันทึกวิดีโอการสืบพยานในศาล ส่งผลต่อสิทธิการต่อสู้คดีอย่างเป็นธรรม

.

อ่านฐานข้อมูล (DataBase) คดี:

คดี 112 “รีฟ-วีรภาพ” พ่นสีข้อความเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ แยกดินแดง

X