ตั้งแต่ช่วงปี 2565 ท่ามกลางการดำเนินคดีจากการชุมนุมและแสดงออกทางการเมืองที่มีคดีจำนวนมากขึ้นสู่ชั้นศาล และมีการสืบพยานในหลายคดีในหลายศาลทั่วประเทศ สถานการณ์ในกระบวนการพิจารณาคดีที่พบว่ามีมากขึ้น คือการที่ศาลต่างๆ เริ่มทำการบันทึกคำเบิกความในการสืบพยาน โดยใช้การบันทึกวิดีโอ คือบันทึกทั้งภาพและเสียงระหว่างพยานเข้าเบิกความในศาลเอาไว้
สถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในคดีบางส่วนซึ่งยังไม่มากนัก โดยจากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่าเริ่มต้นในต่างจังหวัดก่อน ก่อนในช่วงปี 2566 ศาลในกรุงเทพฯ ก็เริ่มมีการบันทึกวิดีโอในบางคดีแล้ว โดยขณะนี้ พบการใช้วิธีการนี้ทั้งในคดีตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ, คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, คดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และมาตรา 116
การดำเนินการดังกล่าวเกิดขึ้นภายใต้ ข้อบังคับของประธานศาลฎีกา ว่าด้วยการบันทึกคำเบิกความพยานในคดีอาญาโดยใช้วิธีการบันทึกลงในวัสดุซึ่งสามารถถ่ายทอดออกเป็นภาพและเสียง พ.ศ. 2564 ลงนามโดย เมทินี ชโลธร ประธานศาลฎีกา เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2564 ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 15 ตุลาคม 2564
ข้อบังคับดังกล่าว ระบุว่าเป็นไปเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรับฟังพยานหลักฐาน อันเป็นหลักประกันให้การพิจารณาพิพากษาคดีเป็นไป โดยเที่ยงธรรมและสามารถตรวจสอบถึงความถูกต้องได้
การเลือกใช้วิธีการดังกล่าว ข้อบังคับดังกล่าวระบุว่า ใช้ได้เมื่อศาลเห็นสมควร ไม่ว่ามีคู่ความร้องขอหรือไม่ก็ตาม โดยเฉพาะในคดีอาญาที่มีความสำคัญเป็นพิเศษที่ต้องอาศัยความรู้เห็นของพยานบุคคล เช่น คดีความผิดเกี่ยวกับชีวิต คดีความผิดเกี่ยวกับเพศ และคดีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง, คดีที่เป็นสนใจของประชาชน และคดีที่สมควรบันทึกคำเบิกความพยานไว้ด้วยวิธีการนี้ เช่น ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องสังเกตอากัปกิริยาขณะที่พยานเบิกความ หรือคดีที่ข้อเท็จจริงที่พยานเบิกความมีความยุ่งยากซับซ้อน เป็นเรื่องทางเทคนิค หรือพยานต้องเบิกความผ่านล่าม
การเลือกใช้วิธีการบันทึกวิดีโอนี้ จึงขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาลในแต่ละคดี และความพร้อมของแต่ละศาลและห้องพิจารณาที่จะใช้ระบบดังกล่าวด้วย
.
.
ปัญหาการบันทึกการสืบพยานด้วยวิดีโอ จากข้อบังคับประธานศาลฎีกา
แม้การบันทึกวิดีโอจะทำให้การดำเนินกระบวนพิจารณาเป็นไปอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น แตกต่างจากการที่ต้องคอยศาลสรุปคำเบิกความด้วยเครื่องบันทึกเสียง และรอเจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์พิมพ์ถ้อยคำออกมาเป็นเอกสาร “บันทึกคำเบิกความ” ไปเป็นการทำให้กระบวนการทั้งหมดถูกบันทึกไว้ทั้งภาพและเสียง โดยไม่จำเป็นต้องผ่านการเรียบเรียงหรือเลือกสรรโดยศาลผู้พิจารณาเหมือนก่อนหน้านี้
แต่ก็พบปัญหาติดตามมาในการต่อสู้คดี โดยเฉพาะอาจส่งผลกระทบต่อสิทธิในการต่อสู้คดีของฝ่ายจำเลยด้วย ได้แก่ ปัญหาที่คู่ความไม่สามารถคัดถ่ายสำเนาวิดีโอบันทึกการสืบพยานดังกล่าว เพื่อใช้ในชั้นหลังจากสืบพยานได้ อาทิ การใช้ประกอบการเขียนคำแถลงปิดคดี หรือการเขียนอุทธรณ์และฎีกาคำพิพากษาในคดี ซึ่งจะต้องมีการอ้างอิงการเบิกความของพยานปากต่างๆ ประกอบ
ในข้อที่ 7 ของข้อบังคับประธานศาลฎีกาดังกล่าว ได้กำหนดว่า “การสืบพยานโดยใช้วิธีการบันทึกภาพและเสียง ศาลไม่ต้องบันทึกคำเบิกความพยานแบบเก็บใจความสำคัญอีก และให้ถือว่าภาพและเสียงคำเบิกความของพยานที่บันทึกไว้นั้นเป็นคำเบิกความของพยาน โดยไม่ต้องจัดพิมพ์เป็นเอกสารเพื่ออ่านให้พยานหรือคู่ความฟัง
“คู่ความหรือพยานสามารถขออนุญาตศาลตรวจดูบันทึกภาพและเสียงดังกล่าวได้ภายใต้ การควบคุมดูแลของเจ้าหน้าที่ แต่ไม่สามารถบันทึกภาพและเสียงหรือทำซ้ำข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้น”
กระบวนการที่เกิดขึ้น คือหลังมีการบันทึกวิดีโอในการสืบพยานไว้แล้ว พบว่าเจ้าหน้าที่ของศาลจะมีการสรุปประเด็นคำเบิกความของพยานแต่ละปาก แต่ในหลายคดี เป็นไปแบบสั้นๆ บางคดีเพียงระบุว่าพยานปากนั้นเบิกความประเด็นใดจบในหนึ่งย่อหน้า โดยไม่ได้ระบุถึงข้อถามค้านของฝ่ายจำเลย หรือแม้แต่ข้อถามติงของฝ่ายโจทก์เอง ทำให้ตกหล่นประเด็นต่างๆ จำนวนมากไป
การดำเนินการในลักษณะนี้ เป็นไปตามข้อที่ 9 ของข้อบังคับประธานศาลฎีกาดังกล่าว ที่กำหนดว่า “เพื่อประโยชน์แก่การพิจารณาคดี การทำคำพิพากษา และการอุทธรณ์ฎีกา ให้เจ้าหน้าที่จัดทำสรุปคำเบิกความแบบเก็บใจความสำคัญของพยานจากภาพและเสียงที่ได้บันทึกไว้ หรืออาจจะสรุปคำเบิกความดังกล่าวทันทีในขณะที่พยานเบิกความแล้วจึงให้เจ้าหน้าที่จัดพิมพ์ขึ้นโดยเร็วในภายหลังก็ได้…”
โดยที่วรรคสองของข้อนี้ ระบุว่า “สรุปคำเบิกความที่จัดทำขึ้นตามวรรคหนึ่ง เป็นเพียงเอกสารเพื่อความสะดวกในการที่จะทราบถึงสาระสำคัญที่พยานเบิกความ และช่วยให้การย้อนกลับไปดูภาพและเสียงของพยานที่บันทึกไว้เป็นไปได้อย่างรวดเร็วเท่านั้น โดยมิให้ถือว่าเป็นบันทึกคำเบิกความของพยานดังกล่าว”
สำหรับฝ่ายจำเลยในคดีอาญาที่ใช้การบันทึกวิดีโอในการสืบพยานดังกล่าว หลังจากการสืบพยาน หากต้องการนำเนื้อหาการสืบพยานมาใช้อ้างอิงในการจัดทำอุทธรณ์หรือฎีกาต่างๆ จำเป็นต้องไปยื่นคำร้องขอตรวจดูบันทึกวิดีโอดังกล่าวที่ศาล และใช้เวลานั่งดูบันทึกอยู่ภายในศาลในห้องที่เจ้าหน้าที่จัดเตรียมไว้ให้ โดยไม่สามารถสำเนาไฟล์บันทึกดังกล่าวได้
บางคดีหากมีการสืบพยานจำนวนมาก และใช้ระยะเวลาหลายวัน การนั่งดูบันทึกวิดีโอและจดบันทึกเนื้อหามาใช้ ก็อาจต้องใช้ระยะเวลานานด้วยเช่นกัน นอกจากนั้น สถานที่และระบบอำนวยความสะดวกของศาลก็มีจำกัด บางที่จะต้องเปิดห้องพิจารณาทั้งห้อง และมีเจ้าหน้าที่ศาลมาคอยควบคุมในระหว่างการตรวจดูวิดีโออีกด้วย
.
.
ศาลไม่ให้คัดถ่ายวิดีโอสืบพยานในคดี “บัสบาส” ที่เชียงราย ทนายจำเลยยื่นอุทธรณ์คำสั่งต่อมา
ในปัญหาคัดถ่ายสำเนาวิดีโอบันทึกการสืบพยานดัวกล่าวนั้น ทนายความในคดีของ “บัสบาส” มงคล ถิระโคตร ที่ถูกฟ้องตามข้อหามาตรา 112 ได้เคยยื่นคำร้องขอคัดถ่ายวิดีโอบันทึกการสืบพยานที่ศาลจังหวัดเชียงราย เพื่อใช้ประกอบการจัดทำอุทธรณ์คำพิพากษา เนื่องจากคดีนี้จำเลยถูกฟ้องจากข้อความคิดเป็นจำนวนถึง 27 กรรม และมีการสืบพยานต่อเนื่องกว่า 6 วัน
แต่ศาลจังหวัดเชียงรายมีคำสั่งเมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2566 ไม่อนุญาตให้คัดถ่ายวิดีโอ โดยระบุตามข้อบังคับประธานศาลฎีกา ข้อ 7 วรรคสองดังกล่าว ที่กำหนดไม่ให้ทำซ้ำข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นี้ได้
ศาลยังกล่าวถึงสรุปคำเบิกความที่เจ้าหน้าที่ศาลจัดทำขึ้น และทนายความเห็นว่าเป็นการย่นย่ออย่างยิ่งนั้น โดยอ้างถึงข้อที่ 9 ของข้อบังคับประธานศาลฎีกา ว่ามิได้กำหนดให้เจ้าหน้าที่ศาลต้องถอดคำเบิกความของพยานออกมาทุกถ้อยคำแต่อย่างใด ดังนั้น หากจำเลยประสงค์จะจดบันทึกคำเบิกความของพยานให้ครบถ้วนทุกถ้อยคำแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของจำเลยที่จะต้องขอตรวจดูบันทึกภาพและเสียง และจดบันทึกคำเบิกความของพยานด้วยตนเอง
ในคดีนี้ ทนายความยังยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้คัดถ่ายบันทึกวิดีโอนี้ต่อมาด้วย และศาลจังหวัดเชียงรายได้นัดฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ในวันที่ 16 ส.ค. 2566
สำหรับประเด็นที่ทนายจำเลยในคดีนี้โต้แย้งและยื่นต่อศาลอุทธรณ์ โดยสรุปความได้ว่า
1. ข้อบังคับของประธานศาลฎีกาฯ ไม่ใช่กฎหมาย เป็นเพียงแนวทางปฏิบัติภายในของศาล ดังนั้นในการพิจารณามีคำสั่ง จึงจะต้องพิจารณาบทบัญญัติของกฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายวิธีพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องเสียก่อน
ดังที่ข้อบังคับประธานศาลฎีกาฯ ระบุให้บันทึกภาพและเสียง ที่บันทึกคำเบิกความพยานที่ปรากฏในไฟล์วิดีโอ เป็นคำเบิกความตามกฎหมาย แต่สรุปคำเบิกความมิใช่คำเบิกความนั้น
หากจําเลยไม่มีโอกาสในการคัดสำเนาคำเบิกกความพยานทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลย ย่อมจะทำให้จำเลยเสียเปรียบ โดยไม่สามารถต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะในคดีอาญาที่มีโทษจำคุกร้ายแรง ย่อมไม่เป็นธรรมแก่จำเลย
ทนายความของจำเลยในคีอาญาควรจะมีสิทธิที่จะขอสำเนาไฟล์บันทึกภาพและเสียง ซึ่งเป็นบันทึกคำเบิกความพยานตามความหมายของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งและอาญา เพื่อตรวจสอบความถูกต้องและใช้ทบทวนการสืบพยานหลักฐานทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลยได้ อันเป็นการจำเป็นเพื่อใช้ในการสรุปอ้างอิงช่วงเวลาที่บันทึกในแต่ละบันทึกคำเบิกความพยาน เพื่อนำเสนอข้อเท็จจริงต่อศาลสูง ให้ศาลสูงได้มีความสะดวกรวดเร็วในการตรวจสอบความถูกต้องของพยานหลักฐานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายในการรับฟังพยานหลักฐานในคดีอาญาอย่างแท้จริง
2. สรุปคำเบิกความพยานโจทก์และจำเลยที่่ย่นย่ออย่างยิ่งในคดีนั้น เมื่อทนายความได้ตรวจดู เปรียบเทียบกับบันทึกภาพและเสียงคำเบิกความพยานต่างๆ ในแต่ละไฟล์ ปรากฏว่ายังไม่ครบถ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือสรุปคำเบิกความพยานทุกปาก ไม่ปรากฏเนื้อหาส่วนที่จำเลยถามค้าน รวมไปถึงส่วนที่โจทก์ถามติง และไม่ปรากฏการบันทึกสรุปถึงการอ้างพยานเอกสารของทั้งสองฝ่าย
แม้สรุปคำเบิกความไม่จำเป็นจะต้องถอดความคำเบิกความพยานออกมาทุกถ้อยคำ แต่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเก็บใจความสำคัญที่พยานได้เบิกความต่อศาลมา ทั้งในส่วนที่พยานแต่ละปากตอบคำถามฝ่ายโจทก์และจำเลย
การสรุปคำเบิกความพยานจากบันทึกภาพและเสียงที่ย่นย่อเกินไป ย่อมสร้างผลให้ศาลสูงจะต้องมีภาระเพิ่มขึ้นในการตรวจสอบความถูกต้องของคำเบิกความ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการรับฟังพยานหลักฐานในการมีดุลยพินิจ มีคำพิพากษาของศาล
3. ทนายความยังระบุถึงอุปสรรคในการต่อสู้คดีนี้ ที่ตัวทนายความมีภูมิลำเนาในจังหวัดเชียงใหม่ และตัวจำเลยก็มีภูมิลำเนาในอำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ห่างจากศาลกว่า 60 กิโลเมตร
แต่บันทึกภาพและเสียงของการสืบพยานแต่ละปากในคดีนั้น มีระยะเวลายาวนาน จำเป็นจะต้องใช้เวลาตรวจสอบและจดบันทึกหลายวัน แม้ก่อนหน้านี้ ทนายความจะได้ใช้เวลาตรวจสอบไฟล์ไปแล้ว 3 วัน ก็ยังไม่อาจตรวจดูได้ครบถ้วนเสร็จสิ้น การที่ฝ่ายจำเลยจะต้องเดินทางไปศาลชั้นต้นซ้ำๆ หลายครั้ง เพื่อดำเนินการดังกล่าว ก็มีทั้งภาระค่าใช้จ่ายและระยะเวลาเกินสมควร
ทั้งยังเป็นภาระกับเจ้าหน้าที่ศาลในการจัดสถานที่สำหรับการตรวจดูไฟล์บันทึกภาพและเสียงดังกล่าว ทั้งที่สามารถทำได้โดยวิธีอื่นที่สะดวกกว่า คืออนุญาตให้คู่ความคัดสำเนาไฟล์บันทึกไปตรวจสอบเองได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับคู่ความทุกฝ่าย
คำร้องยังระบุตอนท้ายว่า หากศาลมีความกังวลจะเกิดความไม่ปลอดภัยต่อไฟล์บันทึกวิดีโอ หรือข้อมูลคำเบิกความพยาน ศาลอาจมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ศาลประสานงานจัดการดูแลการทำสำเนาไฟล์ หรือกำชับให้คู่ความระมัดระวังหรือห้ามเผยแพร่ไฟล์ดังกล่าวก็ได้
.
* เพิ่มเติมข้อมูล
16 ส.ค. 2566 ศาลจังหวัดเชียงรายอ่านคำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 5 เห็นพ้องกับศาลชั้นต้น โดยสรุปเห็นว่าเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธิพิจารณาความอาญา มาตรา 172 วรรค 4 ที่ให้การบันทึกคำเบิกความเป็นไปตามหลักเกณฑ์ข้อบังคับของประธานศาลฎีกา และข้อบังคับประธานศาลฎีกา พ.ศ. 2564 ข้อ 7 วรรค 2 กำหนดไม่สามารถทำซ้ำข้อมูลภาพและเสียงอิเล็กทรอนิกส์ที่บันทึกนั้นได้ การขอคัดลอกถือเป็นการทำซ้ำ จึงไม่อนุญาต
.