23 ก.ค. 64 พนักงานอัยการ สำนักอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 3 ได้มีคำสั่งฟ้องคดี 4 นักกิจกรรมกลุ่ม “หมู่บ้านทะลุฟ้า” ได้แก่ นวพล ต้นงาม, วีรภาพ วงษ์สมาน, ทวี เที่ยงวิเศษ และวิรัช แซ่คู ต่อศาลแขวงดุสิต ในข้อหา ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และข้อหาอื่นๆ รวม 4 ข้อหา จากกรณีการเข้าร่วมชุมนุมและปราศรัยในกิจกรรม ‘รดน้ำกดหัวประยุทธ์’ ที่บริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ เมื่อวันที่ 15 เม.ย. 64
ต่อมา ศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวทั้งหมด โดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์ และกำหนดวันนัดพร้อมและตรวจพยานหลักฐานในคดีต่อไป ในวันที่ 1 พ.ย. 64 เวลา 09.00 น.
สำหรับคดีนี้มี พ.ต.ท.จงศักดิ์ ชาญศรี เป็นผู้กล่าวหา สืบเนื่องจาก กลุ่ม “หมู่บ้านทะลุฟ้า” จัดกิจกรรม ‘รดน้ำกดหัวประยุทธ์’ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ไขสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 และเยียวยากับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ของโรคระบาด รวมถึงยืนยันข้อเรียกร้องให้ปล่อยนักโทษทางการเมือง เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ยกเลิกมาตรา 112 และขอให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกฯ
เปิดคำฟ้อง ชี้! การชุมนุม ไร้มาตราการป้องกัน เสี่ยงแพร่เชื้อโรค
สำหรับการฟ้องคดีมี น.ส.บุณณดา หาญทวีพันธุ์ พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 3 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีในฐานความผิด 4 ข้อกล่าวหา ได้แก่ ร่วมกันฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ, พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาด้วยเครื่องขยายเสียง โดยบรรยายคำฟ้องสรุปว่า
1. เมื่อวันที่ 15 เม.ย. 64 เวลากลางวัน จําเลยทั้งสี่ ซึ่งเป็นแกนนําผู้จัดการชุมนุม หรือผู้ดูแลรับผิดชอบให้มีกิจกรรมการรวมกลุ่มเพื่อชุมนุมทางการเมือง กับพวกที่ยังไม่ได้ตามตัวมาฟ้อง ได้ร่วมกันจัดให้มีการชุมนุม มั่วสุม และทํากิจกรรมชุมนุมทางการเมืองวิจารณ์โจมตีรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และชักชวนให้ประชาชนเดินทางมาเข้าร่วมรับฟังการปราศรัยและเข้าร่วมกิจกรรมของจําเลยทั้งสี่กันพวก โดยใช้หัวข้อเรื่อง “กดน้ำรดหัวประยุทธ์” โดยมีผู้เข้าร่วมชุมนุมประมาณ 40 คน
จากนั้นร่วมกันเดินขบวนบนพื้นผิวการจราจรของถนนพิษณุโลกมุ่งหน้าทําเนียบรัฐบาล เล่นน้ำสาดสี วางตั้ง หุ่นจําลองบนพื้นผิวถนนพิษณุโลก บริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ ซึ่งเป็นที่สาธารณะในลักษณะกีดขวางการจราจรประชาชนไม่สามารถใช้ถนนพิษณุโลกสัญจรได้ตามปกติ
รวมทั้ง ร่วมกันอ่านแถลงการณ์และกล่าวปราศัยโจมตีกล่าวหาการทํางานของรัฐบาล เรียกร้องให้ปล่อยตัวกลุ่มผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุม ยกเลิกความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และเรียกร้องให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลาออกจากตําแหน่ง โดยมีประชาชนสนใจเข้าร่วมชุมนุมทํากิจกรรมและรับฟังปราศรัยหนาแน่น
อันเป็นการชุมนุม การทํากิจกรรม หรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ อันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย มีผู้เข้าร่วมเป็นจํานวนมากและมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่าย ในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค เนื่องจากไม่มีมาตรการป้องกันการแพร่เชื้อโรคที่ทางราชการกําหนด ซึ่งเป็นสถานการณ์อันกระทบต่อความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยของประชาชน
2. ตามวันเวลาดังกล่าว จําเลยทั้งสี่ได้บังอาจร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกําลังไฟฟ้า ทําการโฆษณา กล่าวปราศรัย เพื่อประกอบการวิจารณ์โจมตีการทํางานของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้แก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมชุมนุมและประชาชนผู้เข้าร่วมกิจกรรมชุมนุมและประชาชนทั่วไปฟัง โดยจําเลยทั้งสี่ไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย
อัยการระบุว่า การกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นความผิดรวม 4 ข้อหา ได้แก่
- ร่วมกันจัดให้มีการชุมนุมจัดกิจกรรมหรือมั่วสุม ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัดในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่ของเชื้อโรค ฝ่าฝืนประกาศและข้อกำหนดที่ออกตามมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
- พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ “ร่วมกันตั้ง วาง สิ่งใด สิ่งหนึ่งหรือกระทำการใดๆ ในลักษณะกีดขวางการจราจร”
- พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ “ร่วมกันติดตั้งวางสิ่งใดๆ ในที่สาธารณะ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น”
- พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาด้วยเครื่องขยายเสียง “ร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกําลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต”
ทั้งนี้ท้ายคำฟ้อง พนักงานอัยการยังได้ขอให้ศาลนับโทษจำคุกจำเลยทั้งสี่ในคดีหมายเลขดําที่ อ.428/2564 ของศาลแขวงดุสิต (คดีตั้งหมู่บ้านทะลุฟ้า) และขอให้นับโทษจำคุก วีรภาพ (จำเลยที่ 2) ในคดีหมายเลขดําที่ อ. 1423/2564 ของศาลอาญา (คดี REDEM ชุมนุมหน้าศาลอาญา)
ด้านศาลแขวงดุสิต ได้รับฟ้องคดีนี้ไว้เป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.750/2564 และกำหนดวันนัดตรวจพยานหลักฐานและวันนัดพร้อมในวันที่ 1 พ.ย. 64
ต่อมา เวลา 15.10 น. หลังทนายความยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี ศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่ต้องวางหลักประกัน เพียงให้จำเลยทั้ง 4 คนทำประวัติ และสาบานตนว่าจะมาตามนัดของศาล