ตร.แจ้งข้อหา พ.ร.บ.ชุมนุมฯ คู่พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ “ชลธิชา-ชาติชาย” กรณี #ม็อบ19ตุลา

วันนี้ (8 ธ.ค. 63) เวลา 13.00 น. ที่สถานีตำรวจนครบาลประชาชื่น ชลธิชา แจ้งเร็ว และชาติชาย แกดำ สองนักกิจกรรม เข้ารับทราบ 5 ข้อกล่าวหา จากกรณีการชุมนุมหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพ เมื่อ 19 ต.ค. 63 ในช่วงที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง หลังจากที่แกนนำนักกิจกรรมถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำเป็นเวลาเกือบ 1 อาทิตย์ 

มูลเหตุของคดีนี้มาจากการชุมนุมเมื่อ 19 ต.ค. 63 หรือ #ม็อบ19ตุลา ที่แยกเกษตรและหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพ เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักกิจกรรมที่ถูกจับกุมและฝากขังในชั้นสอบสวนที่เรือนจำกรุงเทพและทัณฑสถานหญิงกลางในคดีการชุมนุมทางการเมือง เช่น คดีชุมนุม 19 ก.ย. 63 และคดีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 110 จากการชุมนุมเมื่อ 14 ต.ค. 63 โดยในช่วงดังกล่าวยังมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค. เวลา 4.00 น. 

ผู้ถูกดำเนินคดีนี้ ได้แก่ ชลธิชา แจ้งเร็ว, ชาติชาย แกดำ, และนายแพทย์ทศพร เสรีรักษ์ โดยสองรายแรกได้เดินทางเข้ามารับทราบข้อกล่าวหาในวันนี้ ขณะนายแพทย์ทศพรได้ทำหนังสือเลื่อนและจะเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 14 ธ.ค. 63 

ร.ต.อ.สุรศักดิ์ สังข์แก้ว รองสารวัตร (สอบสวน) สน.ประชาชื่น ได้บรรยายพฤติการณ์ที่กล่าวหาโดยสรุปว่า ชลธิชาประกาศเชิญชวนในเฟซบุ๊กให้ประชาชนเข้าร่วมกิจกรรม “มากินก้อย กินลาบด้วยกัน แสดงจุดยืนร่วมกันกับผองลาบฎร”​ ที่บริเวณหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ในวันที่ 19 ต.ค. 63 ซึ่ง ณ ขณะนั้นยังอยู่ในช่วงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ 

นอกจากนี้ผู้ชุมนุมยังไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะต่อผู้รับแจ้ง ทั้งยังพบผู้ชุมนุมใช้เครื่องขยายเสียงกระจายอยู่บนทางเท้าโดยไม่มีเหตุอันควร รวมไปถึงชลธิชา, ชาติชาย, และนายแพทย์ทศพร ได้ใช้เครื่องขยายเสียงปราศรัยทวงถามการปล่อยตัวนักกิจกรรมทั้ง 19 คน และขอให้นายกรัฐมนตรีลาออก 

จากนั้นร.ต.อ.สุรศักดิ์จึงแจ้ง 5 ข้อหาแก่ 2 นักกิจกรรม ได้แก่ 

  1. ฝ่าฝืนข้อกำหนดออกโดยประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง “ร่วมกันชุมนุมหรือมั่วสุมดันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปหรือกระทําการใดอันเป็นการยุยงไม่เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในเขตพื้นที่ที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง”
  2. ฝ่าฝืนพ.ร.บ.จราจรฯ “กระทําด้วยประการใดๆ บนทางเท้า หรือทางใดๆ ซึ่งจัดไว้สําหรับคนเดินเท้าลักษณะกีดขวางผู้อื่นโดยไม่มีเหตุอันควร”
  3. ฝ่าฝืนมาตรา 10 ไม่แจ้งการชุมนุม ตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ
  4. ฝ่าฝืนพ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง 
  5. ฝ่าฝืนประมวลกฎหมายอาญามาตรา 385 “กีดขวางทางสาธารณะจนอาจเป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัยหรือความสะดวกในการจราจร โดยวางหรือทอดทิ้งสิ่งของหรือโดยกระทำด้วยประการอื่นใด”

ทั้งสองให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การเป็นหนังสือเพิ่มเติมภายใน 20 วัน ส่วนวันนัดส่งสำนวนอัยการพนักงานสอบสวนจะประสานงานกับทนายความอีกครั้ง

คดีนี้นับเป็นคดีที่ 2 ที่เหตุเกิดในช่วงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พร้อมกับไป พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ซึ่งตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 3 (ุ6) ระบุเรื่องการไม่ใช้บังคับพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ในระหว่างที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน 

ก่อนหน้านี้มีการแจ้งข้อกล่าวหาในลักษณะนี้มาแล้ว ในคดีชุมนุม #ม็อบ19ตุลา เช่นเดียวกัน แต่เป็นการชุมนุมที่แยกเกษตร ซึ่งมีการแจ้งข้อกล่าวหาที่สน.บางเขน ต่อนายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ และนายแพทย์ทศพร เสรีรักษ์  จึงเป็นที่น่าจับตาถึงกระบวนการใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ต่อการชุมนุมในช่วงการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง ว่าเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ 

X