เปิดคำฟ้องคดีอั้งยี่-ซ่องโจร การ์ดวีโว่-ปชช. 45 ราย หลังถูกจับกุมที่เมเจอร์ 6 มีนา แม้ผู้ต้องหาขออัยการไม่ฟ้องคดี เหตุไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน

22 เมษายน 2564 ที่ศาลอาญา รัชดาฯ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด (สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องมวลชนอาสา We Volunteer หรือการ์ดวีโว่ และประชาชน รวม 45 ราย ในข้อหา ร่วมกันเป็นอั้งยี่, เป็นซ่องโจร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209, 210, ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ, มียุทธภัณฑ์และเครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต หลังผู้ต้องหา 30 ราย เดินทางเข้าฟังคำสั่งอัยการ และอัยการมีคำสั่งฟ้อง จากกรณีที่วีโว่และประชาชนรวม 48 ราย ถูกจับกุมที่ห้างเมเจอร์ รัชโยธิน เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2564 ขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุม REDEM กำลังเดินจากห้าแยกลาดพร้าว ไปหน้าศาลอาญา เพื่อทำกิจกรรมเผาขยะหน้าศาล

เวลา 18.00 น. หลังศาลรับฟ้องคดี และจำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ขอต่อสู้คดี โดยยืนยันว่าไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง ทนายความได้ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี ทั้งนี้ ในท้ายคำฟ้อง พนักงานอัยการไม่ได้คัดค้านการให้ประกันจำเลย โดยระบุว่า ให้เป็นดุลยพินิจของศาล

ต่อมา ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้ง 30 ราย ที่มาศาลในวันนี้ โดยให้วางหลักทรัพย์ประกันเป็นเงินสดคนละ 45,000 บาท สำหรับจำเลย 27 ราย ส่วนอีก 3 ราย ซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดในคดีอื่น ศาลให้วางหลักทรัพย์ประกันคนละ 90,000 บาท ทั้งหมดใช้เงินประกันจากกองทุนราษฎรประสงค์ 

จำเลยทั้ง 30 ราย จึงได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ไม่ถูกควบคุมตัวไว้ระหว่างพิจารณาคดี 

30 ผู้ต้องหา ขณะเดินเท้าไปที่ศาลอาญา หลังอัยการมีคำสั่งฟ้อง เมื่อ 22 เม.ย. 64 จากเพจ We Volunteer

ต่อมา วันที่ 26 เมษายน 2564 ผู้ต้องหาอีก 14 รายได้มารายงานตัวตามสัญญาประกัน และรับทราบคำฟ้อง ที่ศาลอาญา รัชดา โดยทั้งหมดเป็นกลุ่มที่ถูกจับกุมไปควบคุมตัวที่ บก.ตชด.ภาค 1 จ.ปทุมธานี และศาลให้ประกันตัวในชั้นฝากขังตลอดจนถึงชั้นพิจารณา โดยศาลพิจารณาให้ชั้นหลักประกันเดิม ไม่ต้องยื่นประกันอีกครั้ง

ส่วนอีกรายคือ “โตโต้” ปิยรัฐ จงเทพ แกนนำวีโว่ ศาลมีคำสั่งให้ประกันตัวในคดีนี้เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2564 หลังถูกควบคุมตัวและขังระหว่างสอบสวนรวม 28 วัน แต่ขณะได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ กลับถูกตำรวจเข้าอายัดตัวตามหมายจับของศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ที่ 76/2564 ลงวันที่ 2 เมษายน 2564 ในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ปัจจุบัน ปิยรัฐยังคงถูกขังระหว่างสอบสวนในคดีดังกล่าวอยู่ที่เรือนจำจังหวัดกาฬสินธุ์ โดยศาลยังไม่อนุญาตให้ประกันตัว จึงไม่สามารถเดินทางมารับทราบคำฟ้องในคดีนี้ได้  

ทั้งนี้ จำเลย 1 ใน 45 ราย ที่ถูกอัยการส่งฟ้องต่อศาล เป็นศัลยแพทย์จากโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ที่มีรายงานว่า ในวันถูกจับกุมได้เดินทางมาจากต่างจังหวัดเพื่อพูดคุยกับปิยรัฐเรื่องเครื่องกระตุกหัวใจ ซึ่งวีโว่ประกาศรับบริจาคเพื่อจัดหาไว้เป็นอุปกรณ์ช่วยเหลือชีวิตฉุกเฉินในที่ชุมนุม หลังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนเสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ใน #ม็อบ28กุมภา หน้ากรมทหารราบที่ 1  โดยก่อนหน้านี้ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นตำรวจ  

     >> ศาลไม่ให้ประกัน ‘โตโต้’ คดีอ้างจะก่อเหตุใน #ม็อบ6มีนา ส่วนอีก 14 ราย ปล่อยด้วยหลักทรัพย์ 45,000 บาท

คดีนี้นับเป็นคดีแรกของกลุ่มวีโว่ที่อัยการยื่นฟ้องต่อศาล โดยเป็นที่น่าสังเกตว่า อัยการเร่งรัดฟ้องคดี ทั้งที่ในกลุ่ม 30 รายนี้ พนักงานสอบสวนเพิ่งส่งตัวผู้ต้องหาพร้อมสำนวนการสอบสวนให้อัยการเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2564 โดยเมื่อวันที่ 19 เมษายน  ที่ผ่านมา ผู้ต้องหาได้ยื่นหนังสือขอให้การเพิ่มเติมและร้องขอความเป็นธรรมให้สั่งไม่ฟ้องคดี เนื่องจากไม่ได้มีพฤติการณ์ตามที่ถูกกล่าวหา และการฟ้องคดีไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน แต่อัยการกลับเร่งฟ้องคดีใน 3 วันถัดมา ขณะที่คดีจากการชุมนุมอื่นๆ ก่อนหน้านี้  ยังไม่มีการยื่นฟ้อง

ทั้งนี้ นับตั้งแต่การชุมนุมเยาวชนปลดแอกเมื่อ 18 กรกฎาคม 2563 ยังไม่พบกรณีผู้ชุมนุมติดเชื้อโควิด-19 แต่อย่างใด ภายใต้การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 

.

ถูกจับกุมโดยไม่แสดงหมายจับ – ไม่แจ้งข้อหา บางคนถูกทำร้าย ก่อนถูกแจ้งข้อหาหนัก  

มูลเหตุแห่งคดีนี้คือเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2564 กลุ่ม “รีเด็ม” (REDEM) นัดหมายชุมนุม #ม็อบ6มีนา เดินขบวนจากห้าแยกลาดพร้าว ไปหน้าศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก เพื่อทำจัดกิจกรรมเผาขยะหน้าศาล ก่อนเริ่มการชุมนุมกลับมีเจ้าหน้าที่พร้อมอาวุธเข้าจับกุมทีมการ์ดวีโว่ และประชาชน ที่บริเวณห้างสรรพสินค้าเมเจอร์รัชโยธิน โดยไม่ได้แสดงหมายจับ และไม่ได้มีการแจ้งข้อหาที่เป็นเหตุให้ถูกจับกุม รวมทั้งไม่แจ้งสถานที่ที่จะควบคุมตัวไป โดยทั้งหมดยังไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุม #ม็อบ6มีนา แต่อย่างใด ทั้งนี้มีรายงานการทำร้ายร่างกายและใช้อาวุธข่มขู่ผู้ถูกจับกุมบางคน ทั้งยังมีการยึดสิ่งของทั้งหมดที่พกติดตัว เช่น โทรศัพท์ กระเป๋า เงินสด 

หลังการจับกุม “โตโต้” ปิยรัฐ จงเทพ แกนนำวีโว่ และผู้ถูกจับกุมรวมทั้งหมด 18 ราย ซึ่งเป็นเยาวชนอายุ 17 ปี 2 ราย ถูกควบคุมไปแจ้งข้อกล่าวหาที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดน ภาค 1 จังหวัดปทุมธานี (บก.ตชด.ภาค 1) ในข้อหา เป็นอั้งยี่, เป็นซ่องโจร, ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ  ภายหลังพนักงานสอบสวนขอฝากขังต่อศาลอาญาและศาลเยาวชนฯ ทั้งหมดได้รับอนุญาตให้ประกันตัว ยกเว้นปิยรัฐ 

ขณะรถคุมขังอีก 2 คัน ที่บรรทุกผู้ถูกควบคุมตัวรวม 30 ราย ถูกประชาชนที่ทราบเหตุการณ์การจับกุมที่ไม่ชอบเข้าสกัด จนรถทั้งสองคันไม่สามารถวิ่งไปต่อได้ ผู้ถูกควบคุมตัวจึงร่วมกันเดินเท้าไปลงบันทึกประจำวันที่ สน.พหลโยธิน ในคืนนั้น เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจว่าไม่ได้หลบหนี ทั้งสอบถามเหตุผลการจับกุม และอำนาจที่เจ้าหน้าที่ใช้จับกุม รวมทั้งขอให้ติดตามทรัพย์สินส่วนตัวที่ถูกยึดไป ทั้งนี้ มีผู้ถูกจับกุม 1 ราย ให้ปากคำกับพนักงานสอบสวนไว้ด้วยว่า ตนเองเพียงแต่มาเอากระเป๋าจากเพื่อนที่เมเจอร์เท่านั้น แต่กลับถูกจับกุมด้วย ก่อนที่ทั้งหมดจะได้รับหมายเรียกจาก สน.พหลโยธิน ให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาใน 4 ข้อหาเช่นเดียวกัน เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2564 

>>>จับ Wevo-ปชช.กว่า 48 คน โดย 18 คนถูกแจ้งข้อหาอั้งยี่-ซ่องโจร-พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อ้างเตรียมสร้างเหตุวุ่นวาย

>>> สมาชิกวีโว่ 29 คน รับทราบข้อกล่าวหาอั้งยี่-ซ่องโจร คดีถูกจับกุม #ม็อบ6มีนา เยาวชนได้ประกันตัว

คดีนี้มี ร.ต.อ.กฤตพร แสงสุระ เป็นผู้กล่าวหา และมี พ.ต.ท.พิภัสสร์ พูนลัน พนักงานสอบสวน สน.พหลโยธิน และคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนตามคำสั่งของกองบัญชาการตำรวจนครบาล ร่วมกันทำการแจ้งข้อกล่าวหาต่อทั้งหมด

ต่อมา พนักงานสอบสวนยังได้ออกหมายเรียกให้ผู้ต้องหาทั้งหมด รวมทั้งเยาวชน เข้ารับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2564 โดยมี 8 คน ถูกแจ้งข้อหา มียุทธภัณฑ์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และ 10 ราย ถูกแจ้งข้อหา มีเครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนกลุ่มที่เดินเข้าไปพบพนักงานสอบสวน สน.พหลโยธิน ในคืนวันเกิดเหตุ ถูกแจ้งข้อหาเพิ่มเติมว่า หลบหนีไประหว่างที่ถูกคุมขัง รวมทั้งมีการเข้าไปแจ้งข้อหาเพิ่มเติมกับปิยรัฐในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในข้อหา มียุทธภัณฑ์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ทั้งหมดให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา

นอกจากนี้ พนักงานสอบสวนยังออกหมายเรียกประชาชนอีก 2 ราย เข้ารับทราบข้อกล่าวหา ทำให้เสียทรัพย์, ขัดขวางเจ้าพนักงาน และกระทำด้วยประการใดให้ผู้ที่ถูกคุมขังหลุดพ้นจากการคุมขังไป เช่นเดียวกัน ทั้งสองให้การปฏิเสธ โดย 1 ใน 2 ราย ยืนยันว่า ไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ คดีของทั้งสองนี้ พนักงานสอบสวนยังไม่สรุปสำนวนการสอบสวนและยังไม่ได้ส่งตัวผู้ต้องหาให้อัยการ 

.

เปิดคำสั่งฟ้องของอัยการระบุ จำเลยทั้ง 45 มีความผิดข้อหา “อั้งยี่-ซ่องโจร-พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ” เตรียมก่อเหตุความวุ่นวาย

พนักงานอัยการบรรยายฟ้องโดยสรุปว่า จําเลยทั้ง 45 คนกับพวกอีก 3 คน ซึ่งเป็นเยาวชนได้แยกไปดําเนินคดีต่างหากแล้ว และพวกที่หลบหนียังไม่นำตัวมาฟ้องได้ร่วมกันและแยกกันกระทําความผิดต่อกฎหมายหลายบทหลายกรรมต่างกันดังนี้

  1. เมื่อระหว่างประมาณวันที่ 26 สิงหาคม 2563 เวลาใดไม่ปรากฏชัด ถึงวันที่ 5 มีนาคม 2564 เวลากลางวัน ทั้งเวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จําเลยทั้ง 45 คนกับพวกได้ร่วมกันมั่วสุมสมคบกันเป็นอั้งยี่ โดยจําเลยทั้งสี่สิบห้ากับพวกอีกประมาณกว่า 600 คน ได้ร่วมกันเข้าเป็นสมาชิกของคณะบุคคลโดยใช้ชื่อว่า We Volunteer หรือ WEVO หรือ มวลชนอาสา ซึ่งปกปิดวิธีดําเนินการสามารถรับรู้กันได้เฉพาะในระหว่างสมาชิก ทั้งนี้ โดยมี ปิยรัฐ ทงเทพ (จําเลยที่ 1) เป็นหัวหน้า ผู้จัดการ ของคณะบุคคล WEVO ทําหน้าที่ชักชวนประชาชนทั่วไปเข้าเป็นสมาชิก เป็นผู้วางแผนสั่งการ และมีอํานาจตัดสินใจในการดําเนินการต่างๆ ของคณะบุคคลโดยสมาชิกของคณะบุคคล WEVO จะมีการแสดงสัญลักษณ์ของคณะบุคคลในรูปแบบเครื่องแต่งกาย และอุปกรณ์ต่างๆ อาทิ เสื้อ กางเกงยุทธวิธี ผ้าพันคอ ปลอกแขน หมวก โล่กําบัง ปรากฏสัญลักษณ์คําว่า We Volunteer โดยมีวัตถุประสงค์ของคณะบุคคลอันมิชอบด้วยกฎหมาย มีพฤติกรรมร่วมกันชุมนุมมั่วสุมสมคบกันวางแผนเป็นยุทธวิธีขั้นตอน ซ่องสุมกําลัง ฝึกกําลังพล เพื่อแบ่งหน้าที่กันกระทําหน้าที่ต่างๆ ตามระบบสายบังคับบัญชา มีการตระเตรียมซุกซ่อนอาวุธ เช่น หนังสติ๊ก ลูกแก้ว ลูกเหล็ก ระเบิดควัน และวัตถุอื่นที่ใช้เป็นอาวุธในการกระทําความผิดได้ มีวิธีการติดต่อสื่อสารระหว่างสมาชิกของคณะบุคคล โดยใช้แอพพลิเคชั่นออนไลน์ต่างๆ เพื่อแจ้งนัดหมายการชุมนุม โดยประสงค์ให้รู้กันแต่เฉพาะสมาชิกของคณะบุคคล จากนั้นจะแฝงตัวออกมาในกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมืองในบทบาทของการ์ดอาสาสมัครดูแลความปลอดภัยในการชุมนุมทางการเมืองต่างๆ ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดจำนวนหลายครั้งแต่ความจริงคณะบุคคลดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย เพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับการใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือทำอย่างใดอย่างหนึ่งให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง, ฐานทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยในการดูแลการชุมนุม หรือบุคคลอื่นใด, ฐานต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยในการดูแลการชุมนุม, ฐานทําให้เสียหาย ทําลาย ทําให้ไร้ประโยชน์ แก่ทรัพย์สินของรัฐ หรือของบุคคลอื่นใด โดยมีความมุ่งหมายเพื่อสร้างความปั่นป่วนให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน และสร้างความวุ่นวายในบ้านเมือง
  2. เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2564 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสี่สิบห้ากับพวก ซึ่งเป็นบุคคลตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ได้สมคบกันเป็นซ่องโจรโดยจับกลุ่ม นัดหมายประชุมกัน ปรึกษาหารือ ตลอดจนมีการสื่อสารระหว่างกันโดยใช้แอพพลิเคชั่นออนไลน์ต่างๆ  วางแผนยุทธวิธีขั้นตอน เตรียมกำลังคนโดยแบ่งหน้าที่ระหว่างกัน และตกลงกันเพื่อจะไปกระทำความผิดฐานใช้กำลังประทุษร้าย ให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง, ฐานทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานฯ, ฐานต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานฯ, ฐานทําให้เสียหายแก่ทรัพย์สินของรัฐ หรือของบุคคลอื่นใด ในการชุมนุมทางการเมืองที่บริเวณหน้าศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษกโดยได้ร่วมกันตระเตรียมอาวุธ หนังสติ๊ก ลูกแก้ว ลูกเหล็ก ระเบิดควัน และวัตถุอื่นจํานวนหลายชนิด และหลายรายการเป็นอาวุธ และตระเตรียมเสื้อเกราะ จํานวน 16 ตัว และหน้ากากอันเป็นยุทธภัณฑ์เพื่อใช้ในการป้องกันตนจากการปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยในการดูแลการชุมนุมของเจ้าพนักงาน และตระเตรียมวิทยุสื่อสารอันเป็นเครื่องวิทยุคมนาคมที่ต้องได้รับการอนุญาตจากเจ้าพนักงานจํานวน 24 เครื่อง เพื่อติดต่อสื่อสารระหว่างกันในการกระทำความผิดดังกล่าว ซึ่งเป็นความผิดที่กำหนดโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป อันเป็นความผิดฐานซ่องโจร
  3. เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2564 เวลากลางวัน จําเลยทั้ง 45 คนกับพวก ได้ร่วมกันชุมนุมทํากิจกรรม และมั่วสุมกันภายในห้องคาราโอเกะ ของห้างเมเจอร์ สาขารัชโยธิน ซึ่งเป็นสถานที่คับแคบ แออัด อัตราการระบายของอากาศน้อย และบริเวณลานจอดรถภายในตึกอาคารจอดรถของห้าง เพื่อทําการประชุมมั่วสุม และรวมพลกันเพื่อจะเคลื่อนตัวไปกระทําการอันมิชอบด้วยกฎหมายในบริเวณที่มีการชุมนุม หน้าศาลอาญา โดยไม่มีการควบคุมให้มีการสวมหน้ากากอนามัย ไม่จัดให้มีการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลอย่างน้อย 1 เมตร และไม่มีการป้องกันใดๆ ตามมาตรการเพื่อป้องกันและควบคุมมิให้เกิดการแพร่ของโรคติดต่อ โควิด-19 อันเป็นการฝ่าฝืนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ข้อกําหนดและประกาศที่ออกตามประกาศดังกล่าว และประกาศของกรุงเทพมหานคร 
  4. เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2564 เวลากลางวัน จําเลยที่ 1, 5, 12, 13, 15, 30, 33, 41 ได้มีเสื้อเกราะป้องกันกระสุนคนละ 1 ตัว และจำเลยที่ 23 มีเสื้อเกราะป้องกันกระสุน 2 ตัว ทั้งหมดประกอบด้วย เสื้อกั้ก และตัวแผ่นเกราะซึ่งผลิตจากโลหะแผ่นผสม หนา 1.2-2.0 ม.ม. ไม่มียี่ห้อและหมายเลข สภาพยังใช้ได้ ซึ่งสามารถใช้ป้องกันกระสุนได้ อันเป็นยุทธภัณฑ์ตามกฎหมายและประกาศกระทรวงกลาโหมไว้ในครอบครองไม่ได้รับใบอนุญาต
  5. เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2564 เวลากลางวัน จําเลยที่ 5, 6, 7, 8, 10, 16, 30 ได้มีเครื่องวิทยุคมนาคมชนิดมือถือ ย่านความถี่ใช้งานรับ-ส่ง 136-174 และ 240-260 เมกกะเฮิร์ตซ์ คนละ 1 เครื่อง, จำเลยที่ 15, 23 ได้มีเครื่องวิทยุคมนาคมชนิดมือถือ ย่านความถี่ใช้งานรับ-ส่ง 245-246.9875 เมกกะเฮิร์ตซ์ คนละ 1 เครื่อง  และจำเลยที่ 41 ได้มีเครื่องวิทยุคมนาคมชนิดมือถือ ย่านความถี่ใช้งานรับ-ส่งไม่สามารภตรวจสอบได้เนื่องจากชำรุด อันเป็นเครื่องวิทยุคมนาคมตามกฎหมายไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต
  6. ต่อมา วันที่ 6 มีนาคม 2564 เวลากลางคืนหลังเที่ยง ภายหลังจากจําเลยที่ 17-45  ได้กระทําความผิดตามฟ้องข้อ 1-3 ในขณะที่ ร.ต.อ.กฤตพร แสงสุระ, ร.ต.อ.กฤตวัฒน์ ขุนอินทร์, ร.ต.ท อัศวิน มะลิสิทธิ์, ส.ต.อ.นพรัตน์ วงค์ไชย, ด.ต.กฤตภาส น้อยสงวน กับเจ้าพนักงานตํารวจผู้มีอํานาจสืบสวนคดีอาญาได้ร่วมกันคุมตัวจําเลยไปเพื่อส่งให้พนักงานสอบสวน สน.พหลโยธิน ดําเนินการสอบสวนคดีอาญา ในข้อหาร่วมกันเป็นอั้งยี่, ซ่องโจร, ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ที่กองบังคับการตํารวจตระเวนชายแดนภาค 1 จําเลยทั้ง 29 คน ได้หลบหนีไประหว่างที่ถูกคุมตัวตามอํานาจของเจ้าพนักงานดังกล่าว   

ข้อกล่าวหาที่จำเลยถูกฟ้องมีทั้งหมด 7 ข้อหา ได้แก่

  1. ร่วมกันเป็นอั้งยี่ “เป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 โดยมีปิยรัฐเป็นหัวหน้า มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 140,000 บาท 
  2. ร่วมกันเป็นซ่องโจร “สมคบกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป เพื่อกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งมีกำหนดโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 210 มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  3. ร่วมกันชุมนุม ทำกิจกรรมในสถานที่แออัด ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 9 มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  4. ร่วมกันกระทำการก่อให้เกิดสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่อแพร่ระบาดออกไป ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34 มีอัตราโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท 
  5. ฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 35 มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  6. จำเลยที่ 1, 5, 12, 13, 15, 30, 33, 41 มียุทธภัณฑ์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ฯ มาตรา 15 มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  7. จําเลยที่ 5, 6, 7, 8, 10, 16, 30 มีเครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.วิทยุคมนาคมฯ มาตรา 6 มีอัตราโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือจำคุกไม่เกินห้าปี หรือทั้งจำทั้งปรับ
  8. จำเลยที่ 17-45 ซึ่งเดินเท้าไปลงบันทึกประจำวันที่ สน.พหลโยธิน หลังรถผู้ต้องขังถูกสกัด เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจว่าไม่ได้หลบหนี รวม 29 ราย ถูกฟ้องในข้อหา “หลบหนีไประหว่างที่ถูกคุมขังตามอำนาจของเจ้าพนักงานสอบสวน” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 190 อีกด้วย โดยถ้าหากมีความผิด มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ท้ายคำฟ้อง อัยการขอให้นับโทษจำคุกของปิยรัฐในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกในคดีหมายเลขดำที่ 1762/2563 ของศาลแขวงดุสิต (คดีฝ่าฝืนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง จากการชุมนุม #ม็อบ21ตุลา) และขอให้ริบของกลางด้วย

.

ผู้ต้องหายื่นหนังสือขอความเป็นธรรม ชี้ใช้เสรีภาพในการชุมนุม-การฟ้องคดีไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน

เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2564 ผู้ต้องหากลุ่มที่ลงจากรถควบคุมตัวและเดินเข้าพบพนักงานสอบสวนในคืนเกิดเหตุ และถูกแจ้งข้อกล่าวหาว่า หลบหนีเจ้าพนักงาน ได้ยื่นหนังสือให้การเพิ่มเติม และร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการ เนื่องจากไม่ได้รับความเป็นธรรมในคดีนี้ และการดำเนินคดีไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน จึงขอให้อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาในคดีนี้ มีเนื้อหาโดยสรุปดังนี้

  1. ขณะถูกจับกุมผู้ต้องหายังไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมใด ๆ เพียงนั่งรับประทานอาหารที่ลาดจอดรถ ห้างเมเจอร์รัชโยธินเท่านั้น   ไม่ได้มั่วสุมอันเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค  ก่อความวุ่นวาย ทั้งไม่ได้เป็นสมาชิกอั้งยี่ หรือกระทำการอันมีลักษณะเป็นซ่องโจร  การจับกุมและดำเนินคดีผู้ต้องหาไม่ตรงกับความเป็นจริง 
  2. ผู้ต้องหาไม่ได้หลบหนี  โดยคืนวันเกิดเหตุได้แสดงความบริสุทธิ์ใจโดยได้เดินทางไปแสดงตัวและไปลงบันทึกประจำวันไว้ที่ สน.พหลโยธิน 
  3. ในการตรวจค้น เจ้าหน้าที่ก็พบเพียงเสื้อเกราะและวิทยุสื่อสารซึ่งไม่ได้ขออนุญาตเท่านั้น  ซึ่งเป็นสิ่งของที่ใช้เพื่อป้องกันตัว   ไม่ได้พบอาวุธหรือสิ่งของผิดกฎหมายอื่นๆ แต่อย่างใด  อีกทั้งไม่ปรากฏว่าพฤติการณ์อย่างใดของผู้ต้องหาที่ถือเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยหรือก่อเกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองตามบันทึกแจ้งข้อกล่าวหา 
  4. การออกประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ  และออกข้อกำหนดตามมาตรา 9 ห้ามชุมนุมของนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เป็นการตรากฎหมายที่มิได้มีวัตถุประสงค์จำกัดสิทธิเสรีภาพการชุมนุมเป็นการทั่วไปเพื่อยับยั้งบุคคลไม่ให้มีความเห็นต่างจากรัฐ แต่มุ่งใช้บังคับเฉพาะการรวมตัวที่กระทบต่อสถานการณ์แพร่เชื้อโรคระบาดเท่านั้น ซึ่งพฤติการณ์ของผู้ต้องหาในคดีนี้ไม่มีลักษณะดังกล่าว การแจ้งข้อกล่าวหาของพนักงานสอบสวนในคดีนี้จึงเป็นการใช้ดุลพินิจตีความกฎหมายผิดพลาดอย่างร้ายแรง เพื่อหวังผลในการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน 
  5. การฟ้องคดีนี้ไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน กล่าวคือ การกล่าวหาและดำเนินคดีนี้เป็นการปิดกั้นการใช้เสรีภาพอันชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ  ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักรเพื่อแก้ไขสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ทั้งขณะเกิดเหตุและปัจจุบันก็ไม่ปรากฏข้อมูลว่ามีผู้ติดเชื้อโควิด-19 สืบเนื่องมาจากการชุมนุมสาธารณะหรือการรวมกลุ่มกันแต่อย่างใด อีกทั้งคดีนี้ไม่ปรากฏว่าผู้ต้องหาได้เข้าร่วมการชุมนุมใดๆ และแสดงความบริสุทธิ์ใจโดยการไปแสดงตัวที่สถานีตำรวจ จึงไม่มีพฤติการณ์หลบหนี 

.

X