เปิดคำร้อง “ณฐพร โตประยูร” คดีร้องศาล รธน. ‘อานนท์-รุ้ง-ไมค์’ ใช้ ‘สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองฯ’ หรือไม่

ในวันที่ 10 พ.ย. 2564 เวลา 15.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดี ชั้น 3 ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดวันนัดฟังคำวินิจฉัยคำร้องของนายณฐพร โตประยูร ขอให้ศาลมีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับการปราศรัยของอานนท์ นำภา, ภาณุพงศ์ จาดนอก และปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล เมื่อวันที่ 3 และ 10 ส.ค. 2563 ในการชุมนุม  #เสกคาถาปกป้องประชาธิปไตย หรือม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์ บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และการชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ในประเด็นว่าการปราศรัยในที่ชุมนุมของทั้งสามคนเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 หรือไม่ และขอให้กลุ่มผู้ถูกร้องเลิกการกระทำดังกล่าวด้วย

ทั้งนี้ศาลรัฐธรรมนูญเพียงพิจารณาจากเอกสารคำร้อง คำคัดค้านคำร้อง และเอกสารที่ทางศาลเรียกจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ก่อนมีคำสั่งยุติการไต่สวน โดยระบุว่าพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้

>> 10 พ.ย. ศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัย อานนท์-ไมค์-รุ้ง ปราศรัยล้มล้างการปกครองหรือไม่ โดยไม่นัดไต่สวนทั้งสามคนก่อน

.

ชวนย้อนอ่านสรุปคำร้องและข้อกล่าวอ้างของณฐพร โตประยูร ที่ได้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ลงวันที่ 3 กันยายน 2563 และขอให้ศาลวินิจฉัยว่าการกระทำของผู้ถูกร้องทั้ง 3 ราย ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญพร้อมกับมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องทั้ง 3 ราย เลิกการกระทำดังกล่าว

คำร้องกล่าวถึงการชุมนุมของกลุ่มกิจกรรมต่างๆ อาทิ กลุ่มกิจกรรมของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับสหภาพนักเรียนนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) และกลุ่มแนวร่วมนิสิตมหาสารคามเพื่อประชาธิปไตย กลุ่มเสรีเทยพลัส เป็นต้น นับตั้งแต่วันที่ 3-30 สิงหาคม 2563 ได้ใช้สถานที่ต่างๆ ในการจัดเวทีชุมนุม ซึ่งกระทำความผิดมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560, ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และมาตรา 116 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง มีการละเมิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพรักต่อปวงชนชาวไทย ซึ่งเป็นการกระทำอันเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และก่อให้เกิดความแปลกแยก ความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน

คณะบุคคลที่ถูกร้องนี้ มีการปราศรัยเนื้อหาเกี่ยวกับ “สถาบันกษัตริย์” มีการกระทำเป็นขบวนการ มีการนําแนวคิด, ทฤษฎี และแนวทางปฏิบัติ มาจากอดีตพรรคการเมืองหนึ่ง คือ พรรคอนาคตใหม่ ซึ่งคอยสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง ปรากฏสัญลักษณ์การชูสามนิ้ว การไม่เคารพครูบาอาจารย์ และการไม่ยอมรับในระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข นอกจากนั้น มีการแจกหนังสือ “สถาบันพระมหากษัตริย์กับสังคมไทย” ในสถานที่ชุมนุมต่างๆ และมีการพยายามออกไปปราศรัยในสถานที่สาธารณะ

ส่วนที่นายณฐพร บรรยายคำร้องถึงการชุมนุม “ธรรมศาสตร์จะไม่ทน” เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 63 ที่ศาลรัฐธรรมนูญได้รับไว้วินิจฉัยนั้น ณฐพรได้บรรยายโดยอาศัยการถอดถ้อยคำปราศรัยของผู้ถูกร้องทั้ง 3 คน ได้แก่ อานนท์ นำภา, ภาณุพงศ์ จาดนอก และปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ในการชุมนุมวันดังกล่าว

.

แย้งเรื่องข้อจำกัดเสรีภาพในการแสดงความเห็น ตามรัฐธรรมนูญและกติกาสากลระหว่างประเทศ 

ตอนท้ายของคำร้องฉบับดังกล่าว ณฐพรได้ให้ความเห็นว่า การปราศรัยในวันเวลาและสถานที่ต่างๆ ดังกล่าวข้างต้นของผู้ถูกร้องทั้งสามคนล้วนแล้วแต่มีเนื้อหาบิดเบือน จาบจ้วง ล้อเลียน และหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างรุนแรงที่ไม่เคยมีมาก่อน การกระทําของคณะบุคคลดังกล่าวทําให้ประชาชนไทยผู้รักชาติศาสน์กษัตริย์ที่ได้รับทราบและเห็นภาพการกระทําที่บังอาจเหิมเกริมของคนกลุ่มผู้ชุมนุมนี้แล้ว มีความรู้สึกห่วงใยและกังวลใจอย่างยิ่งที่เยาวชนของชาติกลุ่มนี้มีทัศนคติและการแสดงออกที่จาบจ้วงบังอาจเช่นนี้ เป็นการกระทําที่มีเจตนาล้มล้างระบอบการปกครองอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ผู้ร้องในฐานะประชาชนคนไทยรู้สึกเสียใจและไม่สบายใจอย่างยิ่งต่อการแสดงออกดังกล่าว ของคณะบุคคลประกอบด้วยนักศึกษา อาจารย์ นักการเมืองและอดีตนักการเมือง ที่กล่าวอ้างว่าการกระทําดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพพื้นฐานตามระบอบประชาธิปไตยและไม่ผิดกฎหมาย อีกทั้งอ้างว่าข้อเรียกร้องเหล่านี้ หาใช่ข้อเสนอเพื่อล้มล้างสถาบันกษัตริย์ไม่ แต่เป็น ข้อเสนอโดยความปรารถนาดีเพื่อให้สถาบันกษัตริย์ได้อยู่เป็นมิ่งขวัญให้แก่ประชาราษฎร์ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยต่อไป

การกล่าวอ้างของคณะบุคคลดังกล่าวที่ว่า สถาบันกษัตริย์จะตั้งอยู่มั่นคงสถาพรในโลกยุคปัจจุบันได้นั้น จะต้องเป็นสถาบันกษัตริย์ที่ไม่มีอํานาจข้องเกี่ยวกับการเมือง ถูกควบคุมตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์ได้ และไม่เป็นภาระต่อราษฎร จึงจะนับได้ว่าเป็นสถาบันกษัตริย์ที่สง่างามตามระบอบประชาธิปไตยอย่างสากล แสดงให้เห็นว่ามิได้เคารพเลื่อมใสในการปกครอง ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ เพราะในความเป็นจริงนั้น การใช้สิทธิเสรีภาพพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตยนั้น จะต้องเป็นไปโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ทั้งเป็นเสรีภาพที่มีข้อจํากัดตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 25 ประกอบมาตรา 34

ขณะเดียวกัน ตามที่ได้มีการแถลงการณ์สนับสนุนออกมาจากองค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณาจารย์มหาวิทยาลัยทั่วประเทศจํานวน 105 คน โดยอ้างว่าการกระทําดังกล่าวในการชุมนุมทําได้โดยถูกต้อง ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ในข้อที่ 19 นั้น ณฐพรอ้างว่าเป็นการกล่าวอ้างที่ไม่ถูกต้องครบถ้วนตามบทบัญญัติ เพราะข้อ 19 ได้รับรองถึงสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคล ที่มีข้อจํากัดในการใช้เสรีภาพไว้ ในกรณีการให้ความเคารพต่อสิทธิ หรือชื่อเสียงของบุคคลอื่น และป้องกันความปลอดภัยของประเทศหรือของรัฐ หรือจริยธรรมและคุณธรรม

ดังนั้นการอ้างเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลโดยละเลยข้อจํากัดของการใช้เสรีภาพที่มีอยู่ตามกติกาสากลและการสนับสนุนให้ใช้เสรีภาพโดยไม่เคารพข้อจํากัด จึงเป็นอันตรายร้ายแรง เพราะเท่ากับเป็นการส่งเสริมให้เกิดการใช้เสรีภาพในทางที่ผิดกฎหมาย

.

อ้างผู้ถูกร้องทั้งสามไม่เข้าใจ “ประวัติศาสตร์ที่ถูกต้อง” และความผูกพันของสถาบันกษัตริย์กับสังคมไทย

คำร้องของณฐพรยังระบุว่า เมื่อพิจารณาถึงเนื้อหาในประกาศและข้อเสนอต่างๆ ของผู้ถูกร้อง จะพบว่าข้อเสนอหลายเรื่องขัดแย้งกับหลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ในเรื่องการคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์และพระราชอํานาจของพระมหากษัตริย์ที่มีอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญของไทย ซึ่งต้องสอดคล้องตามหลักสากลเช่นเดียวกับประเทศที่ปกครองโดยพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy) อยู่แล้ว โดยปรากฏรับรองไว้อย่างมั่นคงต่อเนื่อง นับแต่รัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรกของไทย คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2475 ที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2475 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งไม่สามารถกระทําการแก้ไขได้ เพราะจะขัดต่อหลักการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่อาจตีความได้ว่าข้อเสนอในการแก้ไขมาตรา 6 ของคณะบุคคลดังกล่าว เป็นการแก้ไขที่ไปทําลายหลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่สัมพันธ์กับข้อห้ามตามมาตรา 255 ของรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2560

การแสดงออกของคณะบุคคลดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงการไม่เข้าใจประวัติศาสตร์ที่ถูกต้อง ในความเป็นมาของการยกร่าง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ในการกําหนดบทบัญญัติในเรื่องการคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ผ่านการตกลงเห็นพ้องตรงกัน ระหว่างพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและคณะราษฎร ผู้ทําการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

นอกจากนี้ คณะบุคคลผู้อ้างว่าต้องการปฏิรูป สถาบันพระมหากษัตริย์ ให้สง่างามตามระบอบประชาธิปไตยอย่างสากล กลับไม่เข้าใจถึงบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยที่มีความผูกพันกับสังคมไทยอย่างลึกซึ้ง ซึ่ง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรีและปัญญาชนคนสําคัญของสังคมไทยที่เคยให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว BBC ของอังกฤษไว้ว่า “สถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นศูนย์ร่วมใจของชาติไทย”

ณฐพรอ้างว่า อาจารย์ นักการเมือง และผู้ที่ออกมาสนับสนุนการกระทําของคณะบุคคลดังกล่าว จะต้องคอยเตือน “สติ” และให้ “ปัญญา” แก่คณะบุคคลผู้เคลื่อนไหวและผู้สนับสนุนได้คิดพิจารณาว่าการกระทําของตน ถูกต้องเหมาะสมอย่างที่คิดเชื่อถือจริงหรือไม่ด้วยตนเอง มิใช่รับเอาความคิดของบุคคลอื่นมาโดยไม่ตรวจสอบด้วยเหตุผล และเต็มไปด้วยอคติในจิตใจด้วยโทสาคติและโมหาคติมากเช่นนี้

.

3 ข้อโต้แย้ง ที่ณฐพรไม่เห็นด้วยกับ 10 ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

นอกจากนี้ ณฐพรยังได้พยายามระบุเหตุผลและข้อกล่าวอ้างโต้แย้ง ข้อเสนอทั้ง 10 ข้อ ที่ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ได้อ่าน “ประกาศกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ฉบับที่ 1” บนเวทีการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ดังนี้

“เหตุผลที่กระผมไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอทั้ง 10 ข้อ ของคณะบุคคลดังกล่าวข้างต้น ซึ่งในความเป็นจริงคือข้อเสนอที่รับเอาความคิดที่เสนอโดย นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล กับอดีตนักการเมืองพรรคอนาคตใหม่ และผู้ไม่ประสงค์ดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ดังที่กระผมได้เคยยื่นคําร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ ในบรรดาข้อเรียกร้องทั้ง 10 ข้อ ดังนี้

“ประการที่ 1 ข้อเสนอของคณะบุคคลที่ให้ยกเลิกมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ ที่ว่า ผู้ใดจะกล่าวฟ้องร้องกษัตริย์มิได้ และเพิ่มบทบัญญัติให้สภาผู้แทนราษฎรสามารถพิจารณาความผิดของกษัตริย์ได้ เช่นเดียวกับที่เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับคณะราษฎร ถือเป็นข้อเสนอที่ล้มล้างหลักการพื้นฐานสําคัญของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ในการคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่รับรองไว้อย่างครบถ้วน และยึดถือเป็นหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญที่สําคัญ ตั้งแต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2475 ที่เป็นรัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรกที่ได้ผ่านการยกร่างถกเถียงกันระหว่างคณะราษฎรและในหลวงรัชกาลที่ 7 ถึงบทบัญญัติที่ถูกต้องเหมาะสมเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญไทย

“ทั้งนี้ พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม (ชั่วคราว) พ.ศ. 2475 วันที่ 27 มิถุนายน 2475 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับคณะราษฎร ที่กลุ่มนักศึกษาเรียกร้องให้นําบทบัญญัติมาตรา 6 มาใช้นั้น ก็เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่มีเนื้อหาที่ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ เพราะเป็นการร่างขึ้นมาของคณะราษฎร โดยหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเพียงฝ่ายเดียว มิได้เป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างฝ่ายต่างๆ ในประเทศ เพื่อจัดโครงสร้างของประเทศสยามขึ้นใหม่ให้เหมาะสมกับระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งปรีดี พนมยงค์ ก็ยอมรับถึงความบกพร่องดังกล่าว จึงนําไปสู่การจัดทํารัฐธรรมนูญ ฉบับวันที่ 10 ธันวาคม 2475 ขึ้นใช้บังคับเป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามฉบับถาวรฉบับแรก

“ประการที่ 2 ข้อเสนอให้ยกเลิก ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 รวมถึงเปิดให้ประชาชนได้ใช้เสรีภาพแสดงความคิดเห็นต่อสถาบันกษัตริย์ได้และนิรโทษกรรมผู้ถูกดําเนินคดี เพราะวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ทุกคนนั้น ถือว่าเป็นข้อเสนอที่ไม่เข้าใจถึงเจตนารมณ์ของมาตรา 112 ที่เป็นบทบัญญัติในเรื่องความมั่นคงแห่งรัฐ และการคุ้มครองประมุขของประเทศที่จะได้รับการคุ้มครองเป็นพิเศษ ซึ่งหลักการนี้เป็นเช่นเดียวกับที่ปรากฏในต่างประเทศ ไม่ว่าจะปกครองในรูปแบบพระมหากษัตริย์หรือประธานาธิบดี แต่อาจมีความแตกต่างบ้างในรายละเอียดของบทบัญญัติที่คุ้มครองไว้ และการกําหนดอัตราโทษซึ่งขึ้นอยู่กับความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ของแต่ละประเทศ

“ปัจจุบันในความเป็นจริงประชาชนชาวไทย ย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่ได้รับการคุ้มครองโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยอยู่แล้ว แต่ทั้งนี้ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลเป็นเสรีภาพที่ได้รับการคุ้มครองโดยไม่สมบูรณ์ และมีข้อจํากัดได้ตามกฎหมายที่อาศัยอํานาจตามรัฐธรรมนูญใน มาตรา 25 และการนิรโทษกรรมสําหรับผู้ที่กระทําผิดดังกล่าว จําเป็นต้องผ่านการเห็นพ้องตรงกันในสังคมไทยระดับหนึ่ง

“ประการที่ 3 ในส่วนข้อเสนออื่นๆ ของกลุ่มผู้ชุมนุม ได้แก่

ข้อ 3. ยกเลิก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2562 และให้แบ่งทรัพย์สินออกเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงการคลัง และทรัพย์สิน ส่วนพระองค์ที่เป็นของส่วนตัวของกษัตริย์อย่างชัดเจน

ข้อ 4. ปรับลดงบประมาณแผ่นดินที่จัดสรรให้กับสถาบันกษัตริย์ ให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ

ข้อ 5. ยกเลิกส่วนราชการในพระองค์ หน่วยงานที่มีหน้าที่ชัดเจน เช่น หน่วยบัญชาการ ถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ให้ย้ายไปสังกัดหน่วยงานอื่น และหน่วยงานที่ไม่มีความจําเป็น เช่น คณะองคมนตรีนั้น ให้ยกเลิกเสีย

ข้อ 6. ยกเลิกการบริจาคและรับบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลทั้งหมด เพื่อกํากับให้การเงิน ของ สถาบันกษัตริย์ อยู่ภายใต้การตรวจสอบทั้งหมด

ข้อ 7. ยกเล็กพระราชอํานาจในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในที่สาธารณะ

ข้อ 8. ยกเลิกการประชาสัมพันธ์และการให้การศึกษาที่เชิดชู สถาบันกษัตริย์ แต่เพียงต้าน เดียวจนเกินงามทั้งหมด

ข้อ 9. สืบหาความจริงเกี่ยวกับการสังหารเข่นฆ่าราษฎรที่วิพากษ์วิจารณ์หรือมีความข้อง เกี่ยวใด ๆ กับสถาบันกษัตริย์

และข้อ 10. ห้ามมิให้ลงพระปรมาภิไธยรับรองการรัฐประหารครั้งใดอีก

“บรรดาข้อเสนอต่างๆ ข้างต้นของคณะบุคคลดังกล่าว เป็นการเสนอโดยไม่ได้ศึกษาความเป็นมาของประวัติศาสตร์ของกฎหมายในหลายเรื่อง ทั้งในส่วนทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการจัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 และเหตุผลของการปรับเปลี่ยนหลักการในการบริหารจัดการในกฎหมายฉบับใหม่ และการพิจารณาจัดสรรงบประมาณรายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือการโอนหน่วยงานรัฐไปเป็นหน่วยงานในพระองค์นั้น ย่อมเป็นอํานาจของฝ่ายรัฐสภา ที่พิจารณาตามความเหมาะสมกับสถานการณ์บ้านเมือง ซึ่งจะต้องเคารพการตัดสินใจของรัฐสภาที่ทําหน้าที่แทนประชาชน หากจะเรียกร้องให้แก้ไข ก็ควรเป็นเรื่องที่ต้องนําเสนอต่อฝ่ายนิติบัญญัติต่อไป

“ในเรื่องการยกเลิกบริจาคและขอรับบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลนั้น ก็เป็นข้อเสนอที่ไม่ได้คํานึงถึงว่าการบริจาคหรือการให้นั้น ถือเป็นเรื่องเสรีภาพในการแสดงเจตนาโดยอิสระของแต่ละบุคคล ที่ย่อมมีเสรีภาพที่จะเลือกให้หรือไม่ให้กับใครก็ได้ จะไปกําหนดห้ามเฉพาะเจาะจงได้อย่างไร

“ทั้งนี้ การบริจาคให้กับสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือการร่วมบริจาคทําบุญโดยเสด็จพระราชกุศลนั้น ถือเป็นความเชื่อของประชาชนชาวไทยจํานวนมากที่มีมายาวนานหลายสิบปี ที่เชื่อกันว่าการทําบุญกับในหลวงหรือร่วมบุญกับในหลวง ตนเองจะได้บุญมากขึ้นไม่ต่างจากการทําบุญกับพระ เพราะคติที่เชื่อว่าพระมหากษัตริย์ท่านเป็นพระโพธิสัตว์ที่บําเพ็ญเพียรในชาตินี้ การยกเลิกบริจาคหรือขอรับบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศล จึงขัดต่อหลักเสรีภาพพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตยสากล เยาวชนคนรุ่นใหม่คงไม่เคยเห็นภาพข่าวที่คนไทยไม่ว่าอายุมากหรือน้อย ในยามที่เฝ้ารับเสด็จพระราชดําเนินไปในที่ต่างๆ จะพร้อมใจทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเงินตามกําลังที่ตนมีให้กับในหลวงรัชกาลที่ 9 และพระราชินี อันเป็นภาพที่ติดตาประทับใจและเกิดที่เดียวบนโลกใบนี้ที่ประเทศไทย

“สําหรับข้อเสนอให้ยกเลิกการประชาสัมพันธ์ และการให้การศึกษาที่เชิดชูสถาบันกษัตริย์แต่เพียงด้านเดียวจนเกินงามทั้งหมด นั้น ก็เป็นข้อเสนอที่ตั้งบนสมมติฐานว่าประชาชนชาวไทยถูกล้างสมองในความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ จากสื่อมวลชนต่างๆ ที่เป็นความเชื่อตามทฤษฏีของนักวิชาการที่เป็นฝ่ายตรงข้ามสถาบัน โดยขาดหลักคิดตามหลัก “กาลามสูตร” ซึ่งนับว่าเป็นการไม่เคารพเสรีภาพพื้นฐานในความคิดความเชื่อส่วนบุคคลและการแสดงออกตามความคิดความเชื่อนั้นของบุคคล อีกทั้งปิดหูปิดตาและปิดใจไม่รับรู้ถึงพระราชกรณียกิจต่างๆ ที่สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ที่ทรงทําเพื่อพสกนิกรชาวไทย

“ขณะเดียวกันคงไม่ทราบจริงหรือแกล้งไม่รู้ว่า ตามหลักของสื่อสารมวลชนนั้นย่อมนําเสนอข่าวที่ประชาชนสนใจและอยากรับรู้เป็นปกติธรรมชาติ ซึ่งข่าวพระราชสํานักคือข่าวที่คนไทยตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย อยากรับรู้รับทราบว่าท่านเป็นอย่างไร อยากได้เห็นภาพของในหลวงรัชกาลที่ 9 และพระราชวงศ์ และอยากได้ยินพระสุรเสียงเพราะพระองค์เปรียบเสมือนพ่อของแผ่นดินที่ชาวไทยผูกพันกับพระองค์มายาวนาน

“สําหรับข้อ 9. การสืบหาความจริงเกี่ยวกับการสังหารเข่นฆ่าราษฎรที่วิพากษ์วิจารณ์ หรือมีความข้องเกี่ยวใดๆ กับสถาบันกษัตริย์ กระผมรู้สึกเสียใจอย่างยิ่งที่เป็นข้อเสนอมาจากกลุ่มนักศึกษาที่อ้างว่าตนเป็นคนรุ่นใหม่จะไม่เชื่ออะไรง่ายๆ แต่กลับเชื่อข้อมูลข่าวลือ ข่าวลวงในโลกออนไลน์ และทําการกล่าวหาอย่างเลื่อนลอยโดยไร้ความรับผิดชอบในพยานหลักฐานที่น่าเชื่อถือ

“และในข้อ 10. ห้ามมิให้ลงพระปรมาภิไธยรับรองการรัฐประหารครั้งใดอีก ก็เป็นความไม่เข้าใจในบทบาทพระราชสถานะในความเป็นกลางทางการเมือง การที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ปกเกล้า แต่ไม่ได้ปกครอง และประเด็นสําคัญคือ การรัฐประหารเป็นการกระทําในทางความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในทางการเมืองที่เกิดขึ้นจากปัจจัยต่างๆ ที่ผ่านมาในอดีตประเทศไทยมีการรัฐประหารหลายครั้ง แต่ก็ไม่มีครั้งใดที่พระองค์ทรงรับรองการรัฐประหาร นับเป็นความเข้าใจผิดของคณะบุคคลที่ร้ายแรง เพราะเป็นการนําพระองค์ไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง โดยในความเป็นจริงที่ภายหลังการทํารัฐประหารสําเร็จ คณะผู้ก่อการย่อม จะต้องเข้าเฝ้าพระองค์ในฐานะที่ทรงเป็นพระประมุขของราชอาณาจักรไทย การโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งตําแหน่งต่างๆ ให้คณะผู้ทําการรัฐประหารไม่ใช่การรับรองการรัฐประหาร แต่เป็นการทําให้บุคคลเหล่านั้นเข้าสวมบทบาทหน้าที่ในทางการเมืองที่ตนได้ยึดอํานาจเป็นรัฏฐาธิปัตย์แล้วเท่านั้น ‘การรัฐประหารเป็นการกระทําในทางความเป็นจริงทางการเมืองที่ไม่ต้องมีการรับรองใดๆ’

“ท้ายที่สุดข้อเสนอข้อ 7. ที่ให้ยกเลิกพระราชอํานาจในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในที่สาธารณะนั้น นับเป็นข้อเสนอที่ขัดแย้งต่อหลักการสากล ในเรื่องพระราชอํานาจของพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่สามารถกระทําได้ เพราะพระราชดํารัสในทางการเมืองนั้น เป็นสิ่งที่มีอยู่ในทุกประเทศที่ปกครองโดยพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ดังที่นักกฎหมายรัฐธรรมนูญอังกฤษผู้หนึ่งคือ นายวอลเตอร์ แบทช็อต (Walter Baqchot – สะกดตามคำร้อง) กล่าวสรุปถึงในเรื่องพระราชอํานาจของกษัตริย์อังกฤษ ว่า “ทรงมีพระราชอํานาจ 3 ประการ คือ ประการแรกทรงมีพระราชอํานาจที่จะทรงรับการปรึกษาหารือจากรัฐบาล (the Right to be consulted) ประการที่สอง ทรงมีพระราชอํานาจที่จะสนับสนุนรัฐบาล (the Right to encourage)” และประการสุดท้าย ทรงมีพระราชอํานาจที่จะทรงตักเตือน (the Right to warn) ซึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทยย่อมแสดงให้เห็นประจักษ์แจ้งว่า การที่ประเทศรอดพ้นวิกฤติการเมืองร้ายแรงมาได้ นับแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 หรือพฤษภาทมิฬ 2535 ก็เพราะพระราชดํารัสของในหลวงรัชกาลที่ 9”

ในตอนท้ายสุดของคำร้อง ณฐพรได้อ้างหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยมีทั้งบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 6, มาตรา 49 และมาตรา 50 ประกอบกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และมาตรา 116

จากข้อเท็จจริง, ความเห็นโต้แย้งของนายณฐพร และข้อกฎหมายที่กล่าวอ้าง ณฐพรจึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการกระทำของผู้ถูกร้องทั้ง 3 ราย ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญพร้อมกับมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องทั้ง 3 ราย เลิกการกระทำดังกล่าว

.

X