ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คดี #ม็อบ29ตุลา63 ชุมนุมหน้าเนชั่น เห็นว่า ‘จัสติน’ ผิดข้อหากีดขวางทางสาธารณะเพิ่ม ส่วน ‘จ่านิว’ พิพากษายืน

12 พ.ย. 2567 ศาลอาญาพระโขนงนัดฟังคำพิพากษาอุทธรณ์ในคดีของ “จัสติน” ชูเกียรติ แสงวงค์ และ “จ่านิว” สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ สองนักกิจกรรม จากกรณีการชุมนุม #ม็อบ29ตุลา ที่หน้าสำนักงานสำนักข่าวเนชั่น เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2563 

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เฉพาะในส่วนของชูเกียรติ ให้ผิดตามมาตรา 385 เรื่องการกีดขวางทางสาธารณะ อีกหนึ่งบท ลงบทที่หนักที่สุดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และลงโทษปรับเป็นพินัยฐานใช้เครื่องขยายเสียง ส่วนอื่นให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ส่วนของสิรวิชญ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น 

.

สำหรับการชุมนุมดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงที่มีการเคลื่อนไหวสนับสนุน 3 ข้อเรียกร้องของกลุ่มราษฎร ในช่วงปลายปี 2563 และมีกลุ่มนักกิจกรรมนัดชุมนุมหน้าอาคารของเนชั่น เพื่อขอให้ตรวจสอบรูปแบบเนื้อหาการนำเสนอข่าวการเมือง และสถานการณ์การชุมนุมของสื่อในช่วงดังกล่าว

คดีนี้พนักงานอัยการฟ้องสิรวิชญ์และชูเกียรติใน 3 ข้อหา ประกอบด้วย ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต และกีดขวางทางสาธารณะฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385

เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2565 ศาลอาญาพระโขนงมีคำพิพากษาเห็นว่าชูเกียรติมีความผิดใน 2 ข้อหา ได้แก่ ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับรวม 5,200 บาท จำเลยให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษปรับเหลือ 2,600 บาท ด้านสิรวิชญ์ลงโทษเฉพาะในข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ปรับ 5,000 บาท จำเลยให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษปรับเหลือ 2,500 บาท

สิรวิชญ์และชูเกียรติเคยได้ให้สัมภาษณ์ร่วมกันสั้น ๆ หลังฟังคำพิพากษาว่า ทั้งสองยังไม่เห็นด้วยและไม่ควรจะมีใครถูกดำเนินคดีเนื่องจากออกมาเรียกร้องทางการเมือง ในเวลาต่อมาจึงได้มีการยื่นอุทธรณ์

ในวันที่ 25 ก.ย. 2567 ศาลอาญาพระโขนงได้นัดฟังคำพิพากษาอุทธรณ์ โดยมีเพียงสิรวิชญ์ที่ปรากฏตัวต่อศาล ส่วนชูเกียรติไม่ได้เดินทางมาศาล ทำให้ศาลสั่งออกหมายจับ และกำหนดนัดฟังคำพิพากษาใหม่เป็นวันนี้ (12 พ.ย. 2567)

.

ในวันนี้ ในบัลลังก์ 9 ของศาลอาญาพระโขนง สิรวิชญ์เดินทางมาศาล พร้อมผู้รับมอบฉันทะทนายความ ในห้องพิจารณามีคู่ความคดีอื่นนั่งเต็มห้องพิจารณา เวลา 09.58 น. ผู้พิพากษาออกนั่งพิจารณา และเริ่มอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีก่อนหน้าจนเสร็จเรียบร้อย จนเวลา 10.10 น. ศาลได้เริ่มอ่านคำพิพากษาคดีนี้

ศาลอ่านคำพิพากษาอุทธรณ์โดยสรุปว่าคดีมีประเด็นที่ต้องพิจารณาตามอุทธรณ์ของจำเลยดังนี้

ประเด็นที่ 1 จำเลยอุทธรณ์ว่าจำเลยทั้งสองไม่ได้เป็นผู้จัดการชุมนุม จึงไม่ต้องจัดหาหน้ากากอนามัยหรือแอลกอฮอล์ล้างมือแก่ผู้ชุมนุม 

เห็นว่า คำว่า “แกนนำ” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน หมายความว่าผู้ที่เป็นหลักหรือหัวหน้าของกลุ่มที่ชุมนุมเพื่อเรียกร้องหรือประท้วงเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือผู้ที่เป็นหลักในการเจรจาเพื่อดำเนินการเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แกนนำจึงไม่จำเป็นต้องเป็นแค่ผู้จัดกิจกรรมการชุมนุม

จากพฤติการณ์ของจำเลยที่มีการขึ้นพูดปราศรัยและหลังจากจำเลยยุติการปราศรัย การชุมนุมก็ยุติตามถือได้ว่าผู้ปราศรัยคือผู้เป็นหลักในการชุมนุม จำเลยทั้งสองจึงเข้าข่ายเป็นแกนนำในการชุมนุม อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

ประเด็นที่ 2 จำเลยอุทธรณ์ว่าการตีความมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต้องตีความโดยเคร่งครัด 

เห็นว่า มาตรา 9 เป็นการออกประกาศกรณีมีความจำเป็น สามารถให้นายกรัฐมนตรีออกประกาศความตามมาตรา 9 ได้ และมีกรณียกเว้นผ่อนผันตามข้อ 11 แม้จำเลยที่สองจะมีการใส่หน้ากากอนามัย มีการเว้นระยะห่าง แต่ผู้ชุมนุมไม่ได้มีการเว้นระยะห่าง และไม่ได้มีการจัดหาหน้ากากอนามัยหรือแอลกอฮอล์ให้ผู้ชุมนุม

แม้การชุมนุมเป็นการชุมนุมทางการเมืองโดยสงบปราศจากความรุนแรง แต่ข้อความในประกาศที่ออกตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กำหนดห้ามไม่ให้มีการชุมนุม การชุมนุมดังกล่าวจึงฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ถึงแม้จำเลยจะอุทธรณ์ว่าภายหลังมีการยกเลิกกฎหมาย แต่เนื่องจากขณะเกิดเหตุมีกฎหมายและมีโทษอยู่ การกระทำจึงคงเป็นความผิดอยู่ อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

ประเด็นที่ 3 จำเลยอุทธรณ์ว่าการชุมนุมเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ

เห็นว่าการใช้สิทธิในการชุมนุมตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญ จำเป็นจะต้องใช้สิทธิโดยที่ไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น การชุมนุมที่ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และมีพยานฝ่ายโจทก์เบิกความว่าขณะการชุมนุม การสัญจรสามารถเคลื่อนตัวได้ช้า การชุมนุมดังกล่าวจึงละเมิดสิทธิของผู้อื่น อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

ประเด็นที่ 4 จำเลยอุทธรณ์ว่าจำเลยทั้งสองไม่ได้กีดขวางทางสาธารณะ 

เห็นว่าไม่มีพยานฝ่ายโจทก์ยืนยันว่าจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันเดินขบวนหรือไม่ และโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องข้อกล่าวหาตามมาตรา 385 มาในส่วนนี้ แต่โจทก์ได้บรรยายรวมในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการบรรยายฟ้องของโจทก์ สามารถเห็นได้ว่าโจทก์ติดใจเอาความในมาตรา 385 ด้วย

ประเด็นสุดท้าย จำเลยอุทธรณ์ว่าจำเลยทั้งสองไม่ได้มีหน้าที่ในการขออนุญาตการใช้เครื่องขยายเสียง

เห็นว่าเป็นการอุทธรณ์ข้อเท็จจริง จึงไม่รับอุทธรณ์ของจำเลย

ในประเด็นอุทธรณ์อื่น ศาลเห็นว่าไม่เป็นสาระแก่การวินิจฉัยและไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป

พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนของชูเกียรติ เห็นว่ามีความผิดตามมาตรา 385 อีกหนึ่งบท เป็นความผิดกรรมเดียว ผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทที่หนักที่สุด คือลงโทษตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในส่วนของการปรับพินัยในความผิดฐานใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต มีการแก้ไข พ.ร.บ.การปรับเป็นพินัย จึงแก้ไขให้ลงโทษปรับเป็นพินัย 200 บาท ส่วนอื่นเป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ในส่วนของสิรวิชญ์ พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น  

ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ลงชื่อในคำพิพากษา ได้แก่ ภัทรศักดิ์ ศิริสินธร์, สมศักดิ์ อุไรวิชัยกุล และ สิทธิพงศ์ ตัญญพงศ์ปรัชญ์

ทั้งนี้ จำเลยได้ชำระค่าปรับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นไปแล้ว จึงไม่ต้องชำระเพิ่ม

นอกจากการชุมนุมที่หน้าอาคารเนชั่นในคดีนี้แล้ว ที่ศาลอาญาพระโขนง ยังมีคดีจากการชุมนุมวันที่ 1 พ.ย. 2563 บริเวณแยกอุดมสุข ถึงสี่แยกบางนา ซึ่งทั้งชูเกียรติและสิรวิชญ์ถูกฟ้องในลักษณะเดียวกันนี้ นอกจากนั้นยังมี นันทพงศ์ ปานมาศ ตกเป็นจำเลยอีกหนึ่งคนด้วย และศาลชั้นต้นพิพากษาปรับทั้งสามคนเช่นเดียวกับคดีนี้ โดยจำเลยทั้งสามก็ได้อุทธรณ์คำพิพากษาเช่นเดียวกัน และศาลนัดฟังคำพิพากษาอุทธรณ์ในวันที่ 25 พ.ย. 2567 นี้

X