ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ปรับ “ต้นอ้อ” นักกิจกรรมเยาวชน 4,000 ร่วม #ม็อบ5กันยา64 ผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ชี้ ร่วมปราศรัยก็ถือว่าเป็นผู้จัด

เมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2567 ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษในคดีฝ่าฝืน พ.ร.กฉุกเฉินฯ ของ “ต้นอ้อ” นักกิจกรรมอายุ 20 ปี จากกรณีร่วมการชุมนุม #ล้วงคองูเห่าเอาให้อ้วกเป็นกล้วย ที่แยกอโศกมนตรี เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2564 ซึ่งก่อนหน้านี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ปรับ 4,000 บาท 

ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น เห็นว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

.

สำหรับการชุมนุม #ม็อบ5กันยา64 สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2564 หลังจบการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สภายังลงมติไว้วางใจรัฐบาล ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำเครือข่ายไล่ประยุทธ์ (อ.ห.ต.) ในช่วงดังกล่าว จึงได้โพสต์นัดหมายรวมตัวกันแสดงออกที่แยกอโศกในช่วงเย็นวันถัดมา

หลังกิจกรรม พ.ต.ท.อัครพล ธนธรรม สว.สส.สน.ทองหล่อ ได้กล่าวโทษให้ดำเนินคดีผู้เข้าร่วมชุมนุมรวม 13 คน ในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยมี “ต้นอ้อ” ซึ่งขณะเกิดเหตุอายุ 16 ปี เป็นเยาวชนเพียงรายเดียวที่ถูกดำเนินคดี แม้ไม่ใช่เป็นผู้จัดกิจกรรมดังกล่าว

ต่อมา วันที่ 25 ก.ย. 2566 ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ขณะเกิดเหตุจำเลยอายุต่ำกว่า 18 ปี ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่ง ลงโทษปรับ 6,000 บาท การนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงปรับ 4,000 บาท และจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ในเวลาต่อมา

.

ในวันที่ 2 ต.ค. 2567 ต้นอ้อและที่ปรึกษากฎหมายเดินทางไปศาลเยาวชนฯ ศาลได้อ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ โดยสรุปสาระสำคัญได้ว่า คดีมีประเด็นที่ต้องพิจารณาตามอุทธรณ์ของจำเลยดังนี้

ประเด็นที่ 1 จำเลยอุทธรณ์ว่า ไม่ได้เป็นผู้จัดการชุมนุมเป็นเพียงผู้เข้าร่วม จึงไม่มีหน้าที่จัดให้มีมาตรการป้องกันโรค

เห็นว่า แม้จำเลยจะเป็นเพียงผู้เข้าร่วมชุมนุมกับผู้ที่รวมกลุ่มการชุมนุม มิได้เป็นผู้จัดกิจกรรมการชุมนุมก็ตาม แต่หากการชุมนุมดังกล่าวเป็นการรวมกลุ่มกันมากกว่า 25 คน อันมีลักษณะเป็นการชุมนุมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดเข้มงวดในช่วงเวลานั้น โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และมิใช่กิจกรรมที่ได้รับการยกเว้น การเข้าร่วมการชุมนุมดังกล่าวก็ถือว่าเป็นการกระทำอันฝ่าฝืนข้อกำหนดและประกาศซึ่งออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 

แม้ข้อเท็จจริงที่ได้ความตามทางนำสืบของโจทก์จะรับฟังเป็นยุติว่า ณัฐวุฒิกับสมบัติเป็นผู้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กเชิญชวนประชาชนให้เข้าร่วมกิจกรรมการชุมนุมในวันเกิดเหตุ โดยจำเลยไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่ตามอุทธรณ์ของจำเลยก็ยอมรับว่าจำเลยเข้าร่วมการชุมนุม ทั้งยังอาสาสมัครขึ้นไปปราศรัยบนเวทีเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้ดีขึ้น

เมื่อการปราศรัยบนเวทีรวมทั้งการแสดงดนตรีเป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งที่ผู้จัดกิจกรรมดำเนินการให้มีขึ้นเพื่อดึงดูดความสนใจของผู้เข้าร่วมชุมนุม เพื่อประโยชน์ในการจัดการชุมนุม การที่จำเลยร่วมปราศรัยบนเวทีจึงถือได้ว่า จำเลยมีส่วนร่วมในการจัดการชุมนุมแล้ว ทั้งยังถือได้ว่าจำเลยเป็นผู้เข้าร่วมการชุมนุมด้วย 

แม้ข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบจะไม่ได้ความชัดแจ้งว่า จำเลยเป็นผู้ร่วมจัดการชุมนุมมาตั้งแต่แรกดังที่จำเลยอุทธรณ์ก็ดี หรือที่จำเลยอ้างว่า จำเลยสวมหน้ากากอนามัยหรือพกเจลแอลกอฮอลล์ติดตัวตลอดเวลาก็ดี ล้วนแล้วแต่ไม่ท้าให้จำเลยหลุดพ้นจากความรับผิดในส่วนนี้ 

เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า การชุมนุมในวันเกิดเหตุได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่และมิใช่กิจกรรมที่ได้รับการยกเว้น การกระทำของจำเลยจึงถือว่าเป็นการกระทำอันฝ่าฝืนข้อกำหนดและประกาศซึ่งออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ  

ประเด็นที่ 2 จำเลยอุทธรณ์ว่า บริเวณพื้นที่แยกอโศกมนตรีที่เกิดเหตุเป็นพื้นที่เปิดโล่ง อากาศถ่ายเทได้โดยสะดวก ไม่ใช่สถานที่แออัดและจำเลยยืนห่างจากบุคคลอื่น

ตามภาพถ่ายซึ่งเป็นพยานหลักฐานของโจทก์เห็นได้ว่า กลุ่มประชาชนมีการยืนปะปนแออัดกันในพื้นที่บางส่วน แม้จะมีส่วนที่เปิดโล่งที่มีผู้ร่วมชุมนุมยืนห่างกันเกินกว่า 1 เมตร ก็ตาม แต่ก็มีพื้นที่หลายส่วนที่มีการยืนใกล้ชิดเบียดเสียดติดกัน โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณรอบเวที ข้ออ้างของจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง

ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยยืนห่างจากบุคคลอื่นนั้น ตามภาพถ่ายเป็นช่วงที่จำเลยขึ้นไปปราศรัยบนเวที แต่ก่อนและหลังจากที่จำเลยขึ้นเวทีย่อมเป็นที่เห็นได้ชัดเจนว่า จำเลยต้องเดินฝ่ากลุ่มประชาชนที่ยืนปะปนกันบริเวณโดยรอบเวที ข้ออ้างของจำเลยในส่วนนี้จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังเช่นกัน

ประเด็นที่ 3 จำเลยอุทธรณ์ว่า พยานโจทก์เบิกความว่าคดีนี้เป็นคดีความมั่นคง จะมีการดำเนินการกับบุคคลที่เป็นเป้าหมายโดยเฉพาะ จึงขัดกับหลักการดำเนินคดีอาญาทั่วไป และเป็นการเลือกปฏิบัติ อันขัดรัฐธรรมนูญ

เห็นว่า ข้อเท็จจริงไม่ได้ความชัดแจ้งว่า เจ้าพนักงานตำรวจดำเนินคดีแก่ผู้มีชื่อเพียงเท่าที่ปรากฏในเอกสาร จึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลดังที่จำเลยอ้างในอุทธรณ์ 

ประเด็นที่ 4 จำเลยอุทธรณ์ว่า การชุมนุมในวันเกิดเหตุเป็นไปโดยสงบ ปราศจากอาวุธและความรุนแรง และเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อแสดงออกทางการเมือง

เห็นว่า ข้อกำหนด (ฉบับที่ 32) และประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง (ฉบับที่ 9) ที่ออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นข้อกำหนดที่มีวัตถุประสงค์ห้ามการชุมนุมและการจัดกิจกรรมรวมกลุ่มของบุคคลเพื่อป้องปรามมิให้มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงระยะเวลาที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน มิใช่สถานการณ์ปกติ จึงไม่อาจอ้างการชุมนุมทางการเมืองโดยสงบ ปราศจากอาวุธและความรุนแรง และการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญที่สามารถกระทำได้ในช่วงเวลาที่สถานการณ์ปกติมาเป็นเหตุยกเว้นเพื่อฝ่าฝืนข้อกำหนดและประกาศดังกล่าวได้

ประเด็นที่ 5 จำเลยอุทธรณ์ว่า เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2565 ได้มีประกาศยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน จึงไม่อาจนำองค์ประกอบความผิดเรื่องการชุมนุมในสถานที่แออัด และการชุมนุมที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคมาวินิจฉัยลงโทษจำเลยได้

เห็นว่า การประกาศยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ประกาศ ข้อกำหนด และคำสั่งที่เกี่ยวข้องดังกล่าว มีผลเพียงเป็นการยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉิน ประกาศ ข้อกำหนด และคำสั่งที่เกี่ยวข้อง นับแต่วันที่ประกาศดังกล่าวมีผลใช้บังคับเท่านั้น

เมื่อไม่ปรากฏว่ามีข้อความใดในประกาศดังกล่าวที่ให้มีผลเป็นการยกเลิกหรือให้ถือว่าการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนด ประกาศ และคำสั่งที่เกี่ยวข้องที่มีอยู่เดิมไม่เป็นความผิดต่อไป ประกาศดังกล่าวจึงไม่อาจลบล้างผลการกระทำของจำเลยที่เป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดและประกาศก่อนมีการยกเลิกไปได้

อุทธรณ์อื่นของจำเลยนอกจากนี้ไม่มีผลให้คำวินิจฉัยเปลี่ยนแปลงไป จึงไม่จำต้องวินิจฉัย ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องมานั้น ให้เหตุผลประกอบการวินิจฉัยไว้โดยละเอียดและชอบแล้ว ซึ่งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน

ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ลงชื่อในคำพิพากษา ได้แก่ เกียรติยศ ไชยศิริธัญญา, ภีม ธงสันติ และแก้วตา เทพมาลี

.

นอกจากคดีนี้แล้ว ต้นอ้อยังถูกดำเนินคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการร่วมชุมนุมและแสดงออกทางการเมืองในช่วงปี 2564 อีก 5 คดี รวมทั้งหมด 6 คดี โดยอัยการสั่งไม่ฟ้อง 1 คดี, คดียังอยู่ในชั้นสอบสวน 1 คดี อีก 4 คดี รวมถึงคดีนี้ ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษปรับ 4,000 บาท ทุกคดี และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนแล้ว 2 คดี 

โดยคดีจากการเข้าร่วมคาร์ม็อบ15สิงหา64 หรือ #ขบวนกี3 ที่บริเวณถนนสีลม ศาลเยาวชนฯ นัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในวันที่ 11 พ.ย. 2567 แต่ต้นอ้อไม่ได้ปรากฏตัวต่อศาล ศาลจึงเลื่อนไปฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในวันที่ 14 ม.ค. 2568

ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่า คดีของศาลเยาวชนฯ ที่ต้นอ้อและบางคดีมีเพื่อนนักกิจกรรมเยาวชนถูกฟ้องนั้น ศาลมีคำพิพากษาเห็นว่าเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยเห็นว่ากิจกรรมมีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ขณะที่ในส่วนคดีของผู้ใหญ่จากการเข้าร่วมกิจกรรมเดียวกันนั้น ศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง โดยเห็นว่าเป็นกิจกรรมที่ไม่แออัด จัดในสถานที่โล่งแจ้ง ไม่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค 

X