วันที่ 15 ก.ค. 2567 เวลา 9.00 น. ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง นัดฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ในคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของ 3 เยาวชนนักกิจกรรม ได้แก่ “โมโม่” ขณะเกิดเหตุอายุ 16 ปี สังกัดกลุ่ม Secure ranger (จำเลยที่ 1),“ปิง” (นามสมมติ) ขณะเกิดเหตุอายุ 15 ปี สังกัดกลุ่ม Secure ranger (จำเลยที่ 2) และ “ต้นอ้อ” ขณะเกิดเหตุอายุ 16 ปี สังกัดกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอกและกลุ่มภาคี save บางกลอย (จำเลยที่ 3 ) เหตุจากการเข้าร่วมกิจกรรม Rainbow Carmob #ขบวนกีv.1 #แหกกีไปไล่คนจัญไร จัดโดยกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564
ย้อนไปเมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2564 พ.ต.ท.อดิศร แก้วโหมดตาด พนักงานสอบสวน ได้แจ้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต, ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะโดยวางหรือทอดทิ้งสิ่งของตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 385 และนำรถเข้าขบวนแห่ไปตามทาง โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานจราจร ตาม พ.ร.บ.จราจรฯ กับเยาวชนทั้งสามคน โดยทั้งสามคนได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
ต่อมาในวันที่ 30 มี.ค. 2565 พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง และทั้งสามต่อสู้คดี ก่อนศาลมีคำพิพากษาเห็นว่าจำเลยทั้งสามมีความผิดฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ลงโทษปรับคนละ 4,000 บาท
ส่วนในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 385 วางสิ่งกีดขวางการจราจรโดยไม่ได้รับอนุญาต มีเพียงจำเลยที่ 3 หรือต้นอ้อ ที่มีภาพปรากฏชัดว่า ได้ร่วมปูผ้ากีดขวางทางจราจร ศาลจึงลงโทษปรับจำเลยที่ 3 จำนวน 400 บาท ส่วนจำเลยที่ 1 และ 2 ให้ยกฟ้องข้อหานี้
และในความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต ให้ยกฟ้องข้อหานี้ รวมทั้งสามคนต้องชำระค่าปรับต่อศาลเป็นเงิน 12,400 บาท
ภายหลังคำพิพากษาศาลชั้นต้น ปิงและต้นอ้อ (จำเลยที่ 2 – 3) ตามลำดับ ได้ยื่นขออุทธรณ์คดีต่อ ส่วนโมโม่ จำเลยที่ 1 ไม่ประสงค์ยื่นอุทธรณ์ ทำให้คดีสิ้นสุดไปแล้ว
.
ในวันนี้ (15 ก.ค.2567) เวลา 09.30 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 1 จำเลยทั้งสองได้เดินทางมาฟังคำพิพากษาพร้อมครอบครัว โดยศาลเยาวชนฯ ได้อ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ มีใจความสำคัญระบุดังนี้
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พยานโจทก์รับฟังได้ว่าจำเลยทั้งสามอยู่ในที่เกิดเหตุ และจำเลยก็เบิกความรับว่าอยู่ในที่เกิดเหตุจริง โดยรวมตัวกันเกินกว่า 5 คน
เห็นว่า แม้มีการรับรองการใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุม ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 44 แต่เสรีภาพดังกล่าวก็มีข้อยกเว้นในสถานการณ์ฉุกเฉิน เมื่อยังไม่มีกฎหมายยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในขณะนั้น จำเลยทั้งสามจึงมีความผิดฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ลงโทษปรับคนละ 4,000 บาท
ในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 385 วางสิ่งกีดขวางการจราจรโดยไม่ได้รับอนุญาต มีเพียงจำเลยที่ 3 ที่มีภาพปรากฏชัดว่า ได้ร่วมปูผ้ากีดขวางทางจราจร ลงโทษปรับจำเลยที่ 3 จำนวน 400 บาท ส่วนจำเลยที่ 1 และ 2 ให้ยกฟ้องข้อหานี้
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยแล้ว ที่จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงค่าปรับ ตาม ป.อ. มาตรา 385 ศาลอุทธรณ์เห็นว่าประเด็นนี้ห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ อาญา มาตรา 193 ทวิ ที่ห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริงในคดีซึ่งอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ดังนั้นปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.อ.385 ของจำเลยที่ 3 ซึ่งลงโทษปรับ 400 บาท จึงไม่สามารถยื่นอุทธรณ์ได้
ส่วนข้อหาความผิดฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย พิพากษายืน โดยให้เหตุผลว่าเป็นความผิดในลักษณะเดียวกับที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย
มีข้อน่าสังเกตว่าในกิจกรรมคาร์ม็อบ #ขบวนกีv.1 เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564 นอกจากเยาวชนทั้งสามคนแล้ว ยังมีสมาชิกกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอกอีก 3 คน ถูกกล่าวหาในลักษณะเดียวกัน และถูกสั่งฟ้องคดีที่ศาลแขวงพระนครใต้ ซึ่งภายหลังศาลชั้นต้นได้พิพากษายกฟ้องข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และลงโทษปรับเฉพาะข้อหากีดขวางทางสาธารณะตามมาตรา 385 แตกต่างจากแนวทางคำวินิจฉัยในคดีของเยาวชน
ย้อนอ่านทบทวนคดีขบวนกี : ทบทวนคดี “ขบวนกี” หลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว 6 คดี พบว่าศาลลงโทษคดีเยาวชน แต่กลับยกฟ้องคดีผู้ใหญ่ทั้งหมด แม้จากเหตุการณ์เดียวกัน