กิจกรรมคาร์ม็อบ (CarMob) ของกลุ่มกิจกรรมเฟมินิสต์ปลดแอก หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ขบวนกี” ได้ถูกจัดขึ้นทั้งหมด 4 ครั้ง ตั้งแต่ช่วงเดือน ส.ค. 2564 จนถึงเดือน ต.ค. 2564 พบว่าจากกิจกรรมดังกล่าว ผู้ชุมนุมได้ถูกดำเนินคดีทั้งหมด 4 ครั้ง โดยแบ่งออกเป็นคดีของและคดีผู้ใหญ่ ซึ่งปัจจุบันคดีจากการชุมนุมขบวนกี ครั้งที่ 1-3 ได้มีคำพิพากษาของศาลชั้นต้นออกมาแล้ว ทั้งในส่วนของผู้ใหญ่และเยาวชน รวมแล้วทั้งสิ้น 6 คดี จากทั้งหมด 8 คดี
จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่า คำพิพากษาคดีของเยาวชน ศาลเห็นว่าเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั้งหมดทั้ง 3 คดี โดยเห็นว่ากิจกรรมมีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค แต่ในคดีของผู้ใหญ่ศาลกลับยกฟ้องทั้ง 3 คดี โดยเห็นว่าเป็นกิจกรรมที่ไม่แออัด จัดในสถานที่โล่งแจ้ง ไม่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค แนวทางคำวินิจฉัยกลับตรงข้ามกันแม้เป็นเหตุการณ์เดียวกันก็ตาม
ขบวนกี 1 #แหกกีไปไล่คนจัญไร
เหตุในคดีนี้เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564 กลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอกจัดกิจกรรม Rainbow Carmob #แหกกีไปไล่คนจัญไร เพื่อขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น บริเวณใต้สถานีรถไฟฟ้าศาลาแดง ถนนสีลม ทั้งนี้ ในวันดังกล่าวมีการจัดกิจกรรมคาร์ม็อบ (CarMob) ร่วมกันกว่า 30 จังหวัดทั่วประเทศอีกเช่นกัน
ต่อมาวันที่ 17 ส.ค. 2564 นักกิจกรรมกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอกเริ่มทยอยเข้าไปรับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.ทุ่งมหาเมฆ รวมแล้วทั้งสิ้น 6 คน ได้แก่ ‘แรปเตอร์’, ‘วาดดาว’ และ ‘ทาทา’ รวมถึงเยาวชนอีกสามคน ได้แก่ ต้นอ้อ, โมโม่ และ ปิง (นามสมมติ) คดีจึงถูกแยกฟ้องออกเป็น 2 สำนวน ในศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง สำหรับเยาวชนทั้งสามคน ส่วนในคดีผู้ใหญ่ถูกฟ้องที่ศาลแขวงพระนครใต้
ถัดมาอีกสองปี วันที่ 28 มิ.ย. 2566 ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางพิพากษาปรับจำเลยเยาวชนทั้งสามคน คนละ 4,000 บาท ในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ยกฟ้องในข้อหา พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ และ พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ ส่วนข้อหากีดขวางทางสาธารณะ พิพากษาลงโทษปรับเพียง ‘ปิง’ เป็นเงิน 400 บาท
ส่วนในคดีผู้ใหญ่ทั้งสามคน วันที่ 4 ก.ย. 2566 ศาลพิพากษายกฟ้องข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ และ พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ ทั้งหมด แต่ลงโทษปรับในข้อหากีดขวางทางสาธารณะ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385 คนละ 500 บาท
ข้อหาที่ถูกดำเนินคดี | คดีเด็กและเยาวชน ‘โมโม่ – ต้นอ้อ – ปิง’ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางพิพากษา 28 มิ.ย. 2566 | คดีผู้ใหญ่‘แรปเตอร์ – วาดดาว – ทาทา’ศาลแขวงพระนครใต้พิพากษา 4 ก.ย. 2566 |
พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ | ลงโทษปรับคนละ 4,000 บาท | ยกฟ้อง |
พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ | ยกฟ้อง | ยกฟ้อง |
พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ | ยกฟ้อง | ยกฟ้อง |
ม.385 – กีดขวางทางสาธารณะฯ | ลงโทษปรับจำเลยที่ 3จำนวน 400 บาทส่วนจำเลยที่ 1 และ 2ให้ยกฟ้อง | ลงโทษปรับคนละ 500 บาท |
สรุป | มีความผิดข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ กีดขวางทางสาธารณะฯ รวมทั้งสิ้น 12,400 บาท | มีความผิดฐานกีดขวางทางสาธารณะฯ ลงโทษปรับคนละ 500 บาท รวมทั้งสิ้น 1,500 บาท |
ขบวนกี 2 #อัยจะขยี้ยูวให้แหลกคึ
หลังจากการชุมนุมขบวนกี 1 ถูกจัดขึ้นราวหนึ่งสัปดาห์ กลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอกได้จัดคาร์ม็อบอีกครั้งในวันที่ 10 ส.ค. 2564 เพื่อไปเข้าร่วม “คาร์ม็อบใหญ่ไล่ทรราช” ของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม บริเวณแยกราชประสงค์ ก่อนที่จะเคลื่อนขบวนไปยังหน้าอาคารซิโน-ไทย
หลังจากนั้น เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2564 เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ทองหล่อ ได้ออกหมายเรียกให้นักกิจกรรมและประชาชนรวม 6 คน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นเยาวชนจำนวน 2 คน เข้ามารับทราบข้อกล่าวหา ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
วันที่ 30 ส.ค. 2566 ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางมีคำพิพากษาคดีของเยาวชนสองคน โดยเห็นว่าเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ขณะกระทำผิดจำเลยทั้งสองมีอายุเกิน 15 ปี แต่ต่ำกว่า 18 ปี เห็นสมควรให้ลดโทษ ตาม ป.อาญา มาตรา 75 เหลือปรับคนละ 6,000 บาท และทางนำสืบจำเลยทั้งสองให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษอีกคนละหนึ่งในสาม เหลือปรับคนละ 4,000 บาท
แต่ในคดีของผู้ใหญ่อีกสี่คน เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2566 ศาลแขวงพระนครใต้พิพากษายกฟ้องข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยเห็นว่า แม้หลักฐานพยานโจทก์จะเห็นว่าจำเลยทั้งสี่เข้าร่วมชุมนุมทำกิจกรรม แต่โดยพฤติการณ์ไม่ได้มีลักษณะเป็นแกนนำหรือผู้จัด รวมถึงไม่มีหลักฐานปรากฏว่าทั้งสี่เป็นผู้จัดการชุมนุม จึงยังมีความสงสัยตามสมควรว่าจําเลยได้กระทําความผิดตามฟ้องหรือไม่ จึงต้องยกประโยชน์ความสงสัย
ข้อหาที่ถูกดำเนินคดี | คดีเด็กและเยาวชน ‘ต้นอ้อ – ปิง’ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางพิพากษา 30 ส.ค. 2566 | คดีผู้ใหญ่‘4 นักกิจกรรมและประชาชน’ศาลแขวงพระนครใต้พิพากษา 20 ธ.ค. 2566 |
พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ | ลงโทษปรับคนละ 4,000 บาท | ยกฟ้อง |
สรุป | มีความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ รวมปรับทั้งสิ้น 8,000 บาท | ยกฟ้อง |
ขบวนกี 3 #เฟมตัวร้ายกับนายคฝ.ตัวดี
15 ส.ค. 2564 กลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอกได้จัดคาร์ม็อบ #ขบวนกี3 ในชื่อว่า #เฟมตัวร้ายกับนายคฝ.ตัวดี ที่บริเวณซอยสีลม 2
ครึ่งเดือนหลังจากการชุมนุม เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.บางรัก ได้ส่งหมายเรียกให้ ชุมาพร แต่งเกลี้ยง, ศิริ นิลพฤกษ์, แทนฤทัย แท่นรัตน์ และ “ต้นอ้อ” (เยาวชน) เข้าไปรับทราบข้อกล่าวหา
ในครั้งนี้ คดีของเยาวชนได้ถูกสั่งฟ้องก่อน ทั้งในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ, พ.ร.บ.ความสะอาดฯ และกีดขวางทางสาธารณะ ในขณะที่คดีผู้ใหญ่สามคนถูกสั่งฟ้องเพียงข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เนื่องจากข้อหาอื่น ๆ ขาดอายุความในเวลา 1 ปีไปแล้ว
เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2566 ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางพิพากษาว่า ‘ต้นอ้อ’ มีความผิดทุกข้อหา โดยศาลเห็นว่าจำเลยข้าร่วมการรวมกลุ่มของผู้ชุมนุมที่มีความเสี่ยงในการแพร่เชื้อโควิด-19 และขณะเกิดเหตุยังมีรายงานการติดเชื้อโควิด-19 โดยลงโทษปรับ 4,000 บาท ส่วนความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรฯ, พ.ร.บ.ความสะอาดฯ และกีดขวางทางสาธารณะ ตามมาตรา 385 เป็นการกระทำผิดกรรมเดียวต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทที่หนักสุดคือมาตรา 385 ลงโทษปรับ 2,000 บาท
จำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี มีเหตุบรรเทาโทษ 1 ใน 3 ลดโทษปรับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เหลือ 3,000 บาท และลดโทษปรับตามมาตรา 385 เหลือ 1,000 บาท รวมโทษปรับทั้งสิ้น 4,000 บาท*
ถัดมา วันที่ 20 ธ.ค. 2566 ศาลแขวงพระนครใต้พิพากษายกฟ้องในคดีของผู้ใหญ่สามคน โดยเห็นว่าสถานที่ชุมนุมเป็นพื้นที่โล่ง ไม่แออัด ผู้ชุมนุมไม่ได้ยืนใกล้ชิดเบียดเสียดกันและยังมีการใส่หน้ากากอนามัย การนำสืบไม่ได้ปรากฏหลักฐานว่ามีการแพร่เชื้อโควิด-19 จึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้ร่วมกันกระทำผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ตามฟ้อง
ข้อหาที่ถูกดำเนินคดี | คดีเด็กและเยาวชน ‘ต้นอ้อ’ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางพิพากษา 31 ต.ค. 2566 | คดีผู้ใหญ่‘วาดดาว-ทาทา-พิมพ์’ศาลแขวงพระนครใต้พิพากษา 20 ธ.ค. 2566 |
พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ | ลงโทษปรับคนละ 4,000 บาท | ยกฟ้อง |
พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ | มีความผิดทุกข้อหา ลงโทษบทที่หนักที่สุดคือฐานกีดขวางทางสาธารณะฯ ลงโทษปรับ 2,000 บาท | ไม่ฟ้องข้อหานี้ |
พ.ร.บ.ความสะอาดฯ | ไม่ฟ้องข้อหานี้ | |
ม.385 – กีดขวางทางสาธารณะ | ไม่ฟ้องข้อหานี้ | |
สรุป | *มีความผิดทุกข้อหาตามฟ้อง รวมปรับทั้งสิ้น 4,000 บาท | ยกฟ้อง |
ขบวนกี 4 เปลือย (คาร์ม็อบ) และปราศรัยหยุดโลก
หลังจากกิจกรรม #ขบวนกี3 ผ่านไปราวสองเดือน กลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอกได้จัดกิจกรรม #ขบวนกีv.4 “เปลือย (คาร์ม็อบ) และปราศรัยหยุดโลก” ซึ่งมีการเคลื่อนขบวนรถยนต์จากซอยสีลม 2 ไปตั้งเวทีปราศรัยที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 9 ต.ค. 2564
เช่นเดียวกับทุกการชุมนุม ‘ขบวนกี’ ที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2564 นักกิจกรรมและประชาชนรวมทั้งสิ้น 13 คน (ซึ่งในจำนวนนี้เป็นเยาวชน 3 คน) ทยอยเข้าไปรับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.สำราญราษฎร์ใน 4 ข้อหาหลัก ได้แก่ ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, กีดขวางทางสาธารณะ, พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ และ พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ
จนถึงปัจจุบัน (4 ก.พ. 2567) คดีนี้ยังอยู่ในชั้นสอบสวนมานานกว่า 2 ปีแล้ว