ยกฟ้อง! พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ‘วาดดาว-ทาทา-พิมพ์’ เห็นว่าคาร์ม็อบ #ขบวนกี3 ไม่ได้จัดในพื้นที่แออัด-ไม่เสี่ยงต่อโรค

20 ธ.ค. 2566 เวลา 09.00 น. ศาลแขวงพระนครใต้นัดฟังคำพิพากษาคดีของ ‘วาดดาว’ ชุมาพร แต่งเกลี้ยง, ‘ทาทา’ ศิริ นิลพฤกษ์ สมาชิกกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก และ ‘พิมพ์’ แทนฤทัย แท่นรัตน์ สมาชิกกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ ในข้อหาร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากกรณีเข้าร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบ #ขบวนกี3 หรือ #เฟมตัวร้ายกับนายคฝ.ตัวดี ของกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก บริเวณซอยสีลม 2 เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2564 

ศาลพิพากษายกฟ้อง โดยเห็นว่าสถานที่เกิดเหตุไม่ใช่พื้นที่แออัด อีกทั้งพยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบไม่ได้ปรากฏว่าจากเหตุการณ์ดังกล่าวมีการแพร่เชื้อโรคโควิด-19

เกี่ยวกับคดีนี้ เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2564  ‘วาดดาว’, ‘ทาทา’ และ ‘พิมพ์’ ได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหา ที่ สน.บางรัก ใน 4 ข้อหา ได้แก่ ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, กีดขวางทางสาธารณะฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385, พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ และ พ.ร.บ.ความสะอาดฯ โดยวาดดาวได้ถูกแจ้งข้อหาตาม พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ เพิ่มอีก 1 ข้อหา ซึ่งในวันดังกล่าวยังมี “ต้นอ้อ” เยาวชนอายุ 16 ปี (ในขณะเกิดเหตุ) ถูกแจ้งข้อกล่าวหาจากเหตุชุมนุม #ขบวนกี3 ด้วยเช่นกัน แต่ถูกแยกไปดำเนินคดีในส่วนของศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง

หลังจากนั้นในวันที่ 15 ก.พ. 2565 ‘วาดดาว’, ‘ทาทา’ และ ‘พิมพ์’ ได้เข้าไปรับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติมอีกครั้งในข้อหา พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ

เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2565 พนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องทั้งสามคนต่อศาลแขวงพระนครใต้ โดยคำฟ้องมีใจความสำคัญว่า เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2564 จำเลยทั้งสามกับพวกได้รวมกลุ่มรวมกันมากกว่า 5 คน ร่วมกันจัดชุมนุมบริเวณถนนสีลม โดยมีการพูดปราศรัยประณามการทำงานของนายกรัฐมนตรี ทำกิจกรรมระบายสีบนพื้นป้ายผ้า ร้องเพลงและเต้นรำด้วยกัน โดยมีผู้เข้าร่วมชุมนุมเป็นจำนวนมากและอยู่ร่วมกันในลักษณะที่แออัด ไม่มีการสวมใส่หน้ากากอนามัย ไม่มีการเว้นระยะห่างทางสังคม และไม่มีการคัดกรองเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ตามมาตรการของรัฐ และใช้เวลาชุมนุมนาน อันเป็นการเสี่ยงและเพิ่มโอกาสในการแพร่ระบาดโรคโควิด-19

โดยทั้งสามคนถูกฟ้องในข้อหาร่วมกันฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพียงข้อหาเดียว ในวันดังกล่าวศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวทั้ง 3 โดยไม่มีเงื่อนไข และไม่ต้องวางหลักประกัน โดยทั้งสามคนให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

ทั้งนี้ก่อนที่จะเริ่มต้นการสืบพยาน เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2566 ศาลได้นัดไต่สวนคำร้องของ พ.ต.ท.กฤษณ์ธนา จันเทศ พนักงานสอบสวน สน.บางรัก ขอให้เพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวของ ‘พิมพ์’ โดยอ้างเหตุจากการร่วมกันทำกิจกรรมบริเวณหน้าพรรคเพื่อไทยและภูมิใจไทยเมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2566 แต่ในวันนัดไต่สวนถอนประกันผู้ร้องกลับไม่มาศาล จึงถือว่าผู้ร้องไม่มีพยานเข้าไต่สวน ศาลให้ยกคำร้องขอเพิกถอนการประกันตัว 

หลังจากนั้น ศาลได้นัดสืบพยานโจทก์และจำเลยทั้งสิ้น 3 นัด ตั้งแต่วันที่ 4 – 6 ต.ค. 2566 ที่ผ่านมา ก่อนที่ศาลจะนัดฟังคำพิพากษาในวันนี้

วันนี้ (20 ธ.ค. 2566) ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 1 ‘วาดดาว’, ‘ทาทา’ และ ‘พิมพ์’ เดินทางมาศาลพร้อมกับทนายความเพื่อฟังคำพิพากษา จนเวลา 09.35 น. ศาลออกนั่งบัลลังก์และอ่านคำพิพากษา โดยสรุปใจความสำคัญได้ดังนี้ 

จากที่พยานโจทก์เบิกความว่าจำเลยที่ 1 (วาดดาว) เป็นผู้ประสานงานในการจัดกิจกรรมการชุมนุม พื้นที่ภาพถ่ายในจุดเกิดเหตุบริเวณรถไฟฟ้า BTS สถานีศาลาแดง เป็นสถานที่โล่ง เห็นได้ว่าผู้ชุมนุมได้ชุมนุมกันอยู่บนทางเท้าและทางเดินรถ บริเวณที่เกิดเหตุเป็นที่สาธารณะ มีลักษณะเป็นพื้นที่โล่ง ไม่ใช่สถานที่แออัด นอกจากนั้นแล้วได้พิจารณาจากบันทึกวิดีโอการชุมนุม เห็นว่าผู้ชุมนุมได้กระจายตัวไปตามจุดต่าง ๆ ซึ่งยืนห่างกันพอสมควร และสามารถเคลื่อนไหวไปมาได้โดยสะดวก ไม่ใกล้ชิดเบียดเสียดกัน 

เมื่อพิจารณาการแต่งกายของจำเลยทั้งสามและผู้ชุมนุมคนอื่น เห็นว่าส่วนใหญ่มีการใส่หน้ากากอนามัย อีกทั้งพยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบไม่ปรากฏว่าจากเหตุการณ์ดังกล่าวมีการแพร่เชื้อโรคโควิด-19 หรือไม่ พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบจึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสามคนร่วมกันกระทำความผิดฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ตามฟ้อง พิพากษายกฟ้อง 

ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน ได้แก่ ดรุณี สุรีฉัตรไชยยันต์

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ ‘ต้นอ้อ’ ที่ถูกแยกไปดำเนินคดีที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2566 ที่ผ่านมา ศาลได้มีคำพิพากษาว่าต้นอ้อมีความผิดทุกข้อกล่าวหาตามคำฟ้อง ได้แก่ ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ, พ.ร.บ.ความสะอาดฯ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385  ศาลได้ลงโทษปรับต้นอ้อรวมแล้ว 4,000 บาท ตรงกันข้ามกับในคดีของ ‘วาดดาว’, ‘ทาทา’ และ ‘พิมพ์’ ที่มีคำพิพากษายกฟ้องในวันนี้

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่ากิจกรรมคาร์ม็อบของกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอกในช่วงปี 2564 ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีทั้งสี่ครั้ง แยกเป็นทั้งหมด 8 คดี โดยเป็นคดีผู้ใหญ่และคดีเยาวชน ซึ่งปัจจุบันแต่ละคดีเริ่มทยอยมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้นออกมาแล้ว เหลือเพียงคดีคาร์ม็อบ #ม็อบ9ตุลา64 หรือ #ขบวนกีv.4 ที่ยังอยู่ในชั้นสอบสวน

X