วันที่ 12 ม.ค. 2566 เวลา 09.00 น. ศาลแขวงพระนครใต้นัดฟังคำพิพากษา คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมแต่งชุดไทยให้กำลังใจผู้ถูกดำเนินคดี “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2563 บริเวณหน้าสถานีตำรวจนครบาลยานนาวา โดยจำเลยในคดีนี้คือ ปิยรัฐ จงเทพ หรือ “โตโต้” นักกิจกรรมทางการเมืองจากกลุ่ม We Volunteer ปัจจุบันเป็นว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขตบางนา-พระโขนง จากพรรคก้าวไกล
สำหรับเหตุในคดีนี้ มาจากเมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2563 จตุพร แซ่อึง สมาชิกกลุ่มบุรีรัมย์ปลดแอก และ สายน้ำ (นามสมมติ) เยาวชนอายุ 16 ปี ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหามาตรา 112 ตามหมายเรียก จากกรณีแฟชั่นโชว์ในกิจกรรม #ม็อบ29ตุลา รันเวย์ของประชาชน บริเวณถนนสีลม กลุ่ม We Volunteer จึงได้จัดกิจกรรมให้กำลังใจผู้ถูกดำเนินคดีทั้งสองคน บริเวณหน้า สน.ยานนาวา
คดีนี้ปิยรัฐถูกกล่าวหาทั้งหมด 4 ข้อหา ดังนี้
- ร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง (พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ มาตรา 10)
- ร่วมกันจัดกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากในลักษณะมั่วสุมประชุมกัน หรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่าย (ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ)
- วาง ตั้ง ยื่นหรือแขวนสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือกระทำด้วยประการใดๆ ในลักษณะเป็นการกีดขวางการจราจร โดยไม่ได้รับอนุญาต (พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 114)
- ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต (พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ มาตรา 4)
.
ย้อนอ่านข่าวแจ้งข้อกล่าวหา >>> “โตโต้” ถูกแจ้งข้อหาพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เหตุชุมนุมชุดไทยให้กำลังใจผู้ถูกคดี ม.112 หน้าสน.ยานนาวา
.
ศาลพิพากษายกฟ้องฐานกีดขวางจราจร และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต แต่ข้อหาหลักตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ให้ลงโทษปรับ 2,000 บาท
วันนี้ (12 ม.ค. 2566) เวลา 10.05 น. ณ ห้องพิจารณาคดีที่ 4 ศาลออกนั่งอ่านคำพิพากษา มีเนื้อหาสรุปโดยย่อได้ว่า ศาลยกฟ้อง พ.ร.บ.จราจรฯ และพ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ แต่พิพากษาว่า ปิยรัฐมีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ให้ลงโทษปรับ 2,000 บาท เนื่องจากจำเลยโพสต์เชิญชวนจึงเป็นผู้จัดการชุมนุม มีหน้าที่แจ้งการชุมนุม ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 10 เมื่อจำเลยไม่แจ้ง จึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดตามความในมาตรา 9
เมื่อพิจารณาคำพิพากษา พบว่าศาลวินิจฉัยใน 4 ประเด็น ดังนี้
1.ข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในประเด็นร่วมกันชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุม ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัด หรือกระทำการอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย
ศาลชี้ว่า แม้มีข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ฉบับที่ 1 ข้อ 5 จะห้ามไม่ให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมในที่แออัดหรือกระทำการอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ใช้บังคับในขณะเกิดเหตุ แต่ต่อมานายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 ฉบับที่ 5 ข้อ 2(2) และฉบับที่ 13 ข้อ 1 ผ่อนคลายมาตรการ เนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ข้อกำหนดดังกล่าวจึงไม่ได้ห้ามไม่ให้ชุมนุม แต่กำหนดให้สามารถกระทำได้ภายใต้ขอบเขตรัฐธรรมนูญและกฎหมาย โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตามกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ
พยานโจทก์ฟังได้เพียงว่าจำเลยเข้าร่วมกิจกรรม และกล่าวปราศรัยให้กำลังใจผู้ถูกกล่าวหาในคดีมาตรา 112 บริเวณหน้า สน.ยานนาวา บริเวณที่เกิดเหตุเป็นที่โล่ง อากาศถ่ายเทสะดวก ผู้ชุมนุมส่วนมากสวมหน้ากากอนามัย ไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้น ใช้เวลาชุมนุมไม่นาน การกระทำของจำเลยจึงไม่ฝ่าฝืนข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
.
2.ข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ในประเด็นเป็นผู้จัดการชุมนุม
ศาลฟังได้ว่า ในวันที่ 15 ธ.ค. 2563 จำเลยโพสต์ลงเฟซบุ๊กส่วนตัว รวมทั้งมีเฟซบุ๊กชื่อ “We Volunteer” เผยแพร่ข้อมูลในลักษณะเชิญชวนให้เข้าร่วมกิจกรรมรวมกลุ่ม แม้โจทก์จะนำสืบไม่ได้ว่าจำเลยเป็นผู้ดูแลเฟซบุ๊กชื่อ “We Volunteer” แต่จำเลยได้แชร์ลงเฟซบุ๊กส่วนตัวและลงข้อความ ซึ่งผู้เห็นภาพและข้อความเข้าใจได้ว่าเป็นการเชิญชวน เป็นการกระทำด้วยวิธีใดๆ ให้มาร่วมชุมนุม ดังนั้นจำเลยจึงถือเป็นผู้จัดการชุมนุม มีหน้าที่แจ้งการชุมนุมตามมาตรา 10 พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ เมื่อจำเลยไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้ง จึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 เรื่องการจัดกิจกรรม
.
3.ข้อหาตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยการใช้เครื่องขยายเสียงฯ ในประเด็นใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้อนุญาต
ศาลชี้ว่า โจทก์ไม่ได้นำเจ้าพนักงานหรือเอกสารที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้มานำสืบว่าจำเลยไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องขยายเสียง พยานหลักฐานของโจทก์จึงไม่เพียงพอที่จะรับฟังและลงโทษจำเลยในฐานความผิดนี้
.
4.ข้อหาตาม พ.ร.บ.จราจรฯ ในประเด็นวาง ตั้ง ยื่นหรือแขวนสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือกระทำด้วยประการใดๆ ในลักษณะเป็นการกีดขวางการจราจร
ศาลชี้ว่า พยานโจทก์ที่มีหน้าที่กวดขันดูแลการจราจร และได้รับคำสั่งให้ไปสังเกตการณ์ เบิกความว่า กลุ่มผู้ชุมนุมเอาแผงเหล็กไปกั้นช่องทางจราจร 2 ช่องทาง พยานโจทก์เห็นกลุ่มผู้ชุมนุมแต่ไม่เห็นจำเลย ส่วนเวทีปราศรัยตั้งอยู่บนถนนส่วนที่เว้าเข้ามาในพื้นที่ สน.ยานนาวา และมีพยานเบิกความว่า กลุ่มผู้ชุมนุมล้ำลงไปบนพื้นที่การจราจรบนถนน ตำรวจจึงนำแผงเหล็กไปกั้นพื้นที่จราจร 2 ช่องทางเดินรถเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่กลุ่มผู้ชุมนุม
เมื่อพยานโจทก์เบิกความขัดแย้งกัน ศาลจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยกับพวกนำแผงเหล็กไปกั้นการจราจร 2 ช่องทางเดินรถ
.
ศาลพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 9 และมาตรา 18, พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ มาตรา 10 และมาตรา 28 ส่วนข้อหาอื่นให้ยกฟ้อง เนื่องจากการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท จึงให้ลงโทษบทหนักสุด คือ ฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ลงโทษปรับ 3,000 บาท จำเลยให้การเป็นประโยชน์ลดโทษลง 1 ใน 3 คงปรับ 2,000 บาท
.
ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่า พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มาตรา 3 (6) กำหนดให้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่สามารถใช้บังคับกับการชุมนุมสาธารณะในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินได้ แต่ในข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 ฉบับที่ 13 ข้อ 1 เรื่องการจัดกิจกรรมรวมกลุ่ม กลับกำหนดให้การชุมนุมภายใต้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินสามารถกระทำได้ภายใต้ขอบเขตรัฐธรรมนูญและกฎหมาย โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตามกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ ดังนั้นข้อกำหนดดังกล่าวจึงไม่สอดคล้องกับ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ซึ่งเป็นกฎหมายลำดับศักดิ์สูงกว่า แต่ในทางข้อเท็จจริงก็มีการนำ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาใช้ดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมควบคู่ไปกับการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ดังเช่นในคดีนี้